"...ดัชนีการทุจริตของประเทศไทยก็สูงขึ้นทุกวันทุกวัน เขาทำให้เรากลายเป็นรัฐราชการ คือนายทุนมาตกเขียวข้าราชการตั้งแต่เป็นข้าราชการเด็กๆ 30 กว่าปีจนเป็นอธิบดี เขารู้ซึ้งถึงทุกระบบของข้าราชการ เขาใช้คำว่าทำตามระบบ นักการเมืองที่เพิ่งจะเข้ามาไม่สามารถจะทุจริตได้ ถ้าข้าราชการไม่สนับสนุน..."
คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างคือเป้าหมายใหญ่ของพวกโกงชาติ แต่ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและนายทุน ใครคือตัวร้าย ใครบงการใคร ใครสร้างหายนะได้มากกว่ากันในเกมวิบัตินี้?
ล่าสุดมีคำบอกเล่าถึงวิธีจับมือกันโกงและกลโกงตามระบบ โดยเลขาธิการพรรคการเมืองใหญ่ท่านหนึ่ง ความว่า
“ดัชนีการทุจริตของประเทศไทยก็สูงขึ้นทุกวันทุกวัน เขาทำให้เรากลายเป็นรัฐราชการ คือนายทุนมาตกเขียวข้าราชการตั้งแต่เป็นข้าราชการเด็กๆ 30 กว่าปีจนเป็นอธิบดี เขารู้ซึ้งถึงทุกระบบของข้าราชการ เขาใช้คำว่าทำตามระบบ นักการเมืองที่เพิ่งจะเข้ามาไม่สามารถจะทุจริตได้ ถ้าข้าราชการไม่สนับสนุน
ทำตามระบบคืออะไร ก็คือเขาตั้งระบบไว้เรียบร้อยแล้ว และเขาก็ทุจริตกัน แต่เขาบอกว่า นักการเมืองได้เท่าไร ส่วนนักการเมืองถ้าทำนอกระบบมีสองอย่างก็คือ คุณโปร่งใส คุณไม่ทุจริต ตรงไปตรงมา แต่งานคุณไม่ออก เพราะว่าเขาจะขวางคุณ
ถ้าเกิดนักการเมืองอยากได้หลายต่อได้มากขึ้น เขาก็จะขวางเช่นเดียวกัน ระบบมันเป็นแบบนี้ เราประมูลใส่ซอง เขาก็ผ่าซอง ทำ e-Auction เขาก็รู้ซอร์สโค้ด เขาเข้าไปดูเบื้องหลังได้หมด ไม่มีทางเลย หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของการประมูลหนึ่งหมื่นล้านบาทคือหนึ่งร้อยล้านบาท เงินง้างได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นนักการเมืองทำไม่ได้ เดิมนักธุรกิจนอบน้อมนักการเมือง ปัจจุบันนักธุรกิจใหญ่โตมาก แล้วก็นักธุรกิจขายนู่นขายนี่ กลายเป็นประมูลสร้างทางรถไฟได้หมด”
ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านพูด แต่ด้วยเวลาจำกัด อาจทำให้ท่านเล่าไม่หมดและเน้นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับนักธุรกิจ โดยมิได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ที่นักการเมืองเป็นผู้กำหนดเกมให้กับข้าราชการและนักธุรกิจเดินตาม ซึ่งเลวร้ายกว่ามาก ดังเช่นคดีต่อไปนี้
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 5 ปี ส.ส. ข้อหาตบทรัพย์อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 5 ล้านบาทในการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีของสภาผู้แทนฯ
ก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้อง ส.ส. ชื่อดังกับพวก 89 คน ฐานทุจริตเชิงนโยบายในการจัดซื้อสนามฟุตซอลให้โรงเรียนราว 400 แห่ง ใน 18 จังหวัด มูลค่า 4,459 ล้านบาท มีครูติดหลังแหกว่า 800 คน คดีใหญ่นี้ก็เริ่มต้นด้วยการโยกงบในการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณฯ เช่นกัน
การจัดทำงบประมาณประจำปีของรัฐบาลทุกปี เรามักเห็นข่าวเสมอว่า ทั้งหน่วยงานและผู้ประกอบการต้องวิ่งงบประมาณกับผู้มีอำนาจในกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง มหาดไทย สำนักงบประมาณ และเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นช่วงที่ ส.ส. นักธุรกิจ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องมีการวิ่งเต้น วางงาน ป้องกันงบ ดึงงบลงพื้นที่ ถึงตรงนี้บ่อยครั้งที่ข้าราชการต้องหาเงินมาจ่ายให้แก๊งนักการเมืองที่มีอิทธิพลเพื่อให้งบโครงการของตนผ่านการพิจารณา เงินที่นำมาจ่ายในกรณีเช่นนี้จะมีนักธุรกิจที่ฮั้วกันไว้เป็นผู้ออกให้ หรืออาจแลกด้วยข้อตกลงลับบางอย่าง
พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากนักการเมือง การจัดทำงบประมาณจึงเป็นคอร์รัปชันทางการเมืองที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ คุณขอมาผมให้ แต่ผมขอสิ่งตอบแทน ทหารอยากได้เรือดำน้ำ นักการเมืองอยากได้รถไฟความเร็วสูง คุณอยากได้ถนน ผมอยากได้เสาไฟกินรี ทั้งหมดล้วนแลกด้วยภาษีประชาชนและทรัพยากรของชาติ ทำลายโครงสร้างการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาประเทศ เป็นความเสียหายระดับ Grand Corruption เพราะเกิดขึ้นกับทุกกระทรวง เกิดขึ้นซ้ำๆ เกี่ยวพันกับทุกองคาพยพ เป็นคอร์รัปชันตามระบบ (Systematic Corruption) ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย (Legalized) จนยากจะเอาผิดใครได้ สมประโยชน์กันและกัน คนทั่วไปจึงไม่รู้ข้อเท็จจริง แน่นอนว่าผลร้ายทั้งปวงตกอยู่กับประชาชน
จริงอยู่ว่าภาครัฐมี พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ทำหน้าที่กำหนดแบบแผนขั้นตอนดำเนินการจัดซื้อไว้แล้ว แต่ทุกวันนี้ ขบวนการของคนโกงได้พัฒนาการล็อคสเปก ฮั้วประมูลทั้ง “ก่อนและหลัง” ขั้นตอนการจัดซื้อได้แนบเนียน แล้วยังมีกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.บ. ร่วมทุนรัฐและเอกชน พ.ร.บ. อีอีซี พ.ร.บ. กำจัดขยะ และการจัดซื้อเชิงพาณิชย์ของรัฐวิสาหกิจ ที่ยกเว้นกฎหมายจัดซื้อฯ ยอมให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจหรือวางกติกาใหม่ได้แม้ไม่เป็นไปตามจารีต ธรรมเนียมปฏิบัติหรือขัดแย้งกับเสียงประชาชน ดังที่เกิดกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม การสร้างโรงกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าของ กทม.
อีกข่าวใหญ่คือ การจัดซื้อ “เสาไฟกินรี” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก แต่วันนี้ยังไม่มีกติกาอะไรไปควบคุมให้ชัดเจน ประชาชนก็ไม่ได้รับการอธิบายว่าการซื้อของแพงๆ เหล่านั้น ต้องแลกกับอะไร ประชาชนเสียโอกาสอะไร สักแต่อ้างว่าชาวบ้านอยากได้ พื้นที่อื่นมีพื้นที่ฉันก็ต้องซื้อบ้าง
ทำไม! นักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากยังดื้อแพ่ง ไม่เกรงกลัวการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. สตง.? ส่วนมหาดไทยและสำนักงบประมาณก็ดูจะนิ่งเฉย
นักวิชาการหลายท่านอธิบายว่า เครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองระดับชาติ เขาจึงมั่นใจว่าจะมีการช่วยเหลือปกป้องกัน ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้สนใจว่าสังคมจะมองอย่างไร สนใจแต่คะแนนเสียงของคนในพื้นที่ เหมือนกับพวกนักการเมืองสังกัดบ้านใหญ่ในหลายจังหวัดชอบพูดว่า ใครด่าว่าเขาเป็นคนไม่ดีก็ช่าง แต่ขอให้ไปถามประชาชนในจังหวัดดูว่ารักชอบเขาขนาดไหน
โดยสรุป คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าข้าราชการไม่ร่วมมือหรือยอมเซ็นชื่ออนุมัติเมื่อถูกนักการเมืองบงการ แต่ในเกมวิบัตินี้ท่านผู้อ่านคิดว่า ใครคือตัวร้าย ใครสร้างหายนะให้บ้านเมืองมากกว่ากันและใครที่ทำให้ “คอร์รัปชันซับซ้อนและป้องกันได้ยากขึ้นทุกวัน”
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
2 พฤษภาคม 2566