เรื่องการเปิดเผยข้อมูล พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารนั้นตั้งแต่มีฉบับแรก ปี 2540 เป็นต้นมา ก็มีพรรคการเมืองบางพรรค รับปากว่าจะเป็นกฎหมายสำคัญ เป็นนโยบายสำคัญ จนบัดนี้ 26 ปีก็ยังไม่ได้แก้ รับปากแล้ว ผมเห็นว่าพอเป็นรัฐบาลปุ๊บ เห็นลืมทุกที เพราะว่าพอเปิดปั๊บมันเจอผลประโยชน์ตัวเอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่สถานีโทรทัศน์องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไทยพีบีเอส ได้มีการจัดงาน Hack นโยบาย 12 โจทย์ใหญ่ของประเทศ ภายใต้ 6 มิติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมสุขภาพ รัฐและความมั่นคง ระดมไอเดียออกแบบนโยบายประเทศ สู่ภาพอนาคต 10 ปี ข้างหน้า
โดยในระหว่างการเสวนาดังกล่าว มีการเสวนาในเรื่องประเด็นรัฐทันสมัย โปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น เป็นหนึ่งใน 12 โจทย์ใหญ่
ทั้งนี้ก่อนหน้าการชี้แจงทางทางฝ่ายพรรคการเมือง ทีมงาน HACK ได้กล่าวถึงปัญหาการทุจริตและสิ่งที่อยากเห็นในส่วนของการแก้ไขว่าแค่ยื่นเอกสาร ก็มีข้อกำหนดมากมาย การติดต่อหน่วยงานราชการบางทีก็อาจจะไม่มีเวลาไปติดต่อ เสาร์อาทิตย์ ราชการก็ไม่เปิดให้บริการ งบประมาณบางทีอาจจะดูว่ายิ่งใหญ่ แต่ถามว่ามันคือสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงหรือไม่ งบประมาณสามารถมาถึงประชาชนจริงๆเท่าไร อาจจะหยิบมือหรือไม่มีเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดในสังคมไทย และมีอย่างต่อเนื่อง ตามข่าวที่รายงานอยู่ทุกยัง
ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหยุดในเรื่องของการผลาญงบประมาณชาติ และเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้มีส่วนร่วม ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งการทุจริต การบริหารจัดการของรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ การหวงแหนอำนาจของภาครัฐที่หลายกลุ่มได้พูดถึงไปแล้ว การขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การให้บริการประชาชนที่เชื่องช้า ซ้ำซ้อนและไม่มีความทันสมัย การกำกับดูแลในภาพรวมของการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ค่าตอบแทนของบุคลากรทางภาครัฐ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ความกล้าของพวกเราไม่ว่าจะเป็นประชาชน บุคลากรในภาครัฐและนักการเมือง ถามว่าคนเหล่านี้กล้าพอหรือไม่ หรือคุณยึดติดกับความเคยชินกับคำพูดว่า ถ้าเราไม่ทำใครๆเขาก็ทำกัน หรือเขาทำมาเป็นแบบนี้ คุณก็เลยทำตามมาเป็นแบบนี้ เป็นระเบียบวิธีปฏิบัติ มันใช่แล้วหรือ
ธรรมาภิบาลหรือ Good Governance นั้นเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ติดตามได้ และที่สำคัญที่สุด ภาครัฐเองก็ต้องมีจิตใจให้บริการ และนี่คือสิ่งที่พวกเราอยากเห็นจากการเลือกตั้ง เราอยากจะให้มีกลไกของรัฐสภาในการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรี อีกทั้งการจะทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลได้นั้น ควรอ้างอิงจากการบริหารงานของภาคเอกชน เพื่อที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่จะขับเคลื่อนจริง รวมถึงจิตใจบริการนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝัง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหาการทุจริต ซึ่งตรงนี้จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบทำให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพได้
ทางด้านของนายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนากล้ากล่าวว่าเห็นด้วยเรื่องการใช้เทคโนโลยี เพราะว่าทุกวันนี้อย่างเทคโนโลยีภาคราชการยังใช้กันน้อย และแต่ละกระทรวง ทุกกระทรวงมีแอปพลิเคชันหมดเลย คิดดูว่าถ้าเราต้องมีเรื่องพึ่งพาอาศัยทุกกระทรวง เราต้องดาวน์โหลดเป็นสิบแอปพลิเคชัน และอย่างการดำเนินการ เราก็น่าจะสามารถติดตามลดการทุจริตได้
ทางด้าน น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าก่อนที่เราจะเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้นั้น มีหลายเรื่องที่เราดำเนินการ ซึ่งก็คือในเรื่องของกฎหมาย เราจะต้องมีการประมวลกฎหมายใหม่หลายฉบับเพื่อทะลุเรื่องนี้เพราะมิฉะนั้นมันจะเกิดความซ้ำซ้อนของหน่วยราชการที่มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบและหวงซึ่งงบประมาณของตัวเอง ทำไมถึงมีหลายแพลตฟอร์ม ในหลายๆแอปพลิเคชัน ในหลายๆกระทรวง เพราะว่ามันคืองบประมาณที่เขาได้รับ
ดังนั้นถ้าพรรคเพื่อไทยมา 1.เราจะแก้กฎหมายความซ้ำซ้อนในเรื่องนี้ ในภาระหน้าที่งานที่ซ้ำซ้อน 2. เราจะทำให้ระบบรัฐบาลเป็นวันคิก ให้เป็นระบบเดียวกันและประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้อันนี้เราทำแพลตฟอร์มคล้ายกับเลิร์นทูเอิร์นที่เราทำเรื่องการศึกษา 3. การชำระเงิน ค่าธรรมเนียมต่างๆ คุณอยากได้ความเร็ว คุณต้องจ่ายแพง ความเป็นวีไอพี จะต้องนำมาสู่ภาษีของรัฐ
ส่วนนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่าก้าวไกลขอให้คำมั่นสัญญา 6 ข้อว่าเราจะยกเลิกใบอนุญาต 50 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้รัฐบาลก้าวไกลเพื่อลดปัญหาปัจจุบันที่ธุรกิจบางแห่งนั้น จ่ายสินบนเพื่อแลกมาด้วยความรวดเร็ว 2. รัฐบาลก้าวไกลให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เอาภาษีประชาชนมาประชาสัมพันธ์ตัวเอง ซึ่งเป็นรูปแบบการทุจริตรูปแบบหนึ่ง 3.รัฐบาลก้าวไกลจะผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเปิดเผยข้อมูลของรัฐทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันคนอาจจะสงสัยว่ามันก็เปิดเผยข้อมูลอยู่แล้ว เราจะพลิกภาระการพิสูจน์ ไม่ใช่ว่าให้ประชาชนต้องไปพิสูจน์เพื่อให้เปิดอันนี้ และต้องให้เหตุผล แต่ว่ารัฐต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติ และถ้าจะปกปิดอะไรต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน และไม่มีงบลับตลอดกาล ถ้าจะบอกว่าอะไรเป็นงบลับก็ต้องมีวันหมดอายุ ต้องระบุต่อประชาชนไว้ว่าจะสามารถเปิดเผยให้ประชาชนได้เมื่อไร
4.ติดตั้งระบบเอไอจับโกง เป็นเทคโนโลยีที่มาวิเคราะห์ว่าถ้าหากมีสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะมีการทุจริต ก็จะมีการแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ 5.ออกกฎหมายคุ้มครองข้าราชการและประชาชนที่ออกมาเปิดโปงการทุจริต เพื่อเพิ่มความกล้าให้เขาออกมาเปิดโปงการทุจริตให้เห็นได้ และ 6.ปฏิรูปที่มาขององค์กรอิสระรวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะเราไม่สามารถมี ป.ป.ช.ที่มีประสิทธิภาพได้ถ้า ป.ป.ช.ถูกแต่งตั้งโดย ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงฝ่ายเดียว
ส่วน น.ต.ศิธา ทิวารี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทยกล่าวว่านับตั้งแต่ คสช.รัฐประหารมา ดัชนีการทุจริตของประเทศไทยก็สูงขึ้นทุกวันทุกวัน เขาทำให้เรากลายเป็นรัฐราชการ รัฐราชการนั้นก็คือนายทุนมาตกเขียวข้าราชการตั้งแต่เป็นข้าราชการเด็กๆ 30 กว่าปีจนเป็นอธิบดี เขารู้ซึ้งถึงทุกระบบของข้าราชการ เขาใช้คำว่าทำตามระบบ นักการเมืองที่เพิ่งจะเข้ามาไม่สามารถจะทุจริตได้ ถ้าข้าราชการไม่สนับสนุน
ทำตามระบบคืออะไร ก็คือเขาตั้งระบบไว้เรียบร้องแล้ว และเขาก็ทุจริตกัน แต่เขาบอกว่านักการเมืองได้เท่าไร ส่วนนักการเมืองถ้าเกิดทำนอกระบบมีสองอย่างก็คือคุณโปร่งใส คุณไม่ทุจริต ตรงไปตรงมา งานคุณไม่ออก เพราะว่าเขาจะขวางคุณ ถ้าเกิดนักการเมืองอยากได้หลายต่อได้มากขึ้น อันนั้นก็คือนอกระบบ เขาก็จะขวางเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นระบบมันเป็นแบบนี้ เราประมูลใส่ซอง เขาก็ผ่าซอง ทำอีออคชั่น เขาก็รู้ซอร์สโค๊ด เขาเข้าไปดูเบื้องหลังได้หมด ไม่มีทางเลย หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของการประมูลหนึ่งหมื่นล้านบาท คือหนึ่งร้อยล้านบาท เงินมันง้างได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราทำไม่ได้ เดิมนักธุรกิจนอบน้อมนักการเมือง ปัจจุบันนักธุรกิจใหญ่โตมากแล้วก็นักธุรกิจขายนู่น ขายนี่ กลายเป็นประมูลสร้างทางรถไฟได้หมด
ขณะที่ น.ส. ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติกล่าวพรรคเพื่อชาติเห็นว่าควรต้องมีการอภิปรายว่าที่รัฐมนตรีก่อนรับตำแหน่ง สิ่งนี้ควรจะผลักดันและขยายไปถึงกระบวนการยุติธรรมอื่นๆเช่นผู้พิพากษา ที่ว่าอย่างน้อยจะต้องเป็นคนของสาธารณะ เพราะทุกันนี้ลึกลับเหลือเกินไม่ว่าจะเป็นทั้งศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง รวมถึงศาลยุติธรรม อันนี้คือสิ่งที่พรรคเพื่อชาติต้องการในกระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
เรื่องที่สองที่พรรคเพื่อชาติต้องการก็คือการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก ดังนั้นสิทธิ หน้าที่ของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนตั้งแต่เด็กๆ กฎหมายที่ควรรู้รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วยว่าเรามีสิทธิตรวจสอบรัฐบาล อย่างเช่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เรามีสิทธิที่จะสอบถามข้อมูลของทุกหน่วยงานราชการได้ แต่ว่าทุกวันนี้มันลึกลับจริงๆ
ด้านนายนิกร จำนง ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนากล่าวว่ากลไกรัฐสภานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่สิ่งที่เป็นทั้งฮาร์ดพาวเวอร์และซอฟพาวเวอร์ นั้นคือต้องทำทั้งสองอย่าง ก็คือการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือการเพิ่มมูลค่าทางสังคม ส่งเสริมบทบาทประชาชน ทำให้เกิดจิตสำนึก
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี ต้องให้เขารู้ด้วยตัวเอง ให้ข้าราชการรู้ด้วยตัวเองจะดีกว่า อีกอันที่เราไม่ค่อยพูดกันก็คือเราบอกว่าสิงคโปร์นั้นดีแบบนั้นแบบนี้ เราลองไปดูเงินเดือนของเขาสิ อธิบดีได้ตั้ง 4-5 แสน แล้วของเราเท่าไรสำหรับตำแหน่งอธิบดี เพราะฉะนั้นถ้าหากข้าราชการเองเขาได้เกินความจำเป็นพื้นฐาน เขาจะไม่ทุจริตหรอก ตรงนี้เราต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย และสุดท้ายเราต้องใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วย เพราะว่าจะสามารถลดจำนวนข้าราชการลง
ส่วนนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศราในฐานะผู้ให้ความเห็นได้กล่าวว่าจริงๆเรื่องนี้มีการเสนอเป็นแพคใหญ่มากแล้วก็ที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงปัญหานี้มาก ผมในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน มานานก็ขอเน้นอยู่สองเรื่อง ก็คือ 1.เรื่องการเปิดเผยข้อมูล พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารนั้นตั้งแต่มีฉบับแรก ปี 2540 เป็นต้นมา ก็มีพรรคการเมืองบางพรรค รับปากว่าจะเป็นกฎหมายสำคัญ เป็นนโยบายสำคัญ จนบัดนี้ 26 ปีก็ยังไม่ได้แก้ รับปากแล้ว ผมเห็นว่าพอเป็นรัฐบาลปุ๊บ เห็นลืมทุกที เพราะว่าพอเปิดปั๊บมันเจอผลประโยชน์ตัวเอง
ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลต้องเน้นบางจุด ถ้าหากไปเปิดแบบกวาดจะไม่ได้จุดสำคัญ เน้นบางจุดเช่นเรื่อง การเปิดเผยข้อมูลของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่การเปิดเผยสำนวนถ้าหากยังสอบไม่เสร็จ คำพิพากษาของศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น แค่เฉพาะคู่ความขอได้เท่านั้น ซึ่งผมก็แปลกใจว่าทำไมต้องขอได้เฉพาะคู่ความ หรือแม้แต่เรื่องงบจัดซื้อจัดจ้างก็ถูกดองอยู่ ไปเปิดเข้าเว็บของกรมบัญชีกลาง ใครบอกว่าเข้าง่าย ผมว่าไม่จริง ดังนั้นต้องไปจัดการในเรื่องเหล่านี้
2.ต้องรื้อระบบตรวจสอบทุกองค์กร เพราะไปดูที่เว็บองค์กรเหล่านี้ ถามเลยว่าท่านได้ข้อมูลอะไรบ้าง ไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นสรุปคือ 2 เรื่องคือ 1.การเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ แต่เน้นจุดสำคัญไม่ใช่ทำทีเดียวทั้งหมด เพราะเขาอาจอ้างว่างานเยอะได้ และ 2.รื้อระบบตรวจสอบทั้งระบบ โดยเฉพาะองค์กรอิสระอย่างที่พูดไปแล้ว