"...หลังรายการเสวนา ตัวแทนภาคี SAVE บางกลอย อ่านแถลงการณ์สรุปว่า “เรายืนยันจะติดตามเรียกร้องความเป็นธรรมสู่ครอบครัวเหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหายโดยรัฐติดตามเร่งรัดให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาทางคดีความให้กับพี่น้องบางกลอยที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติ รวมถึงเราขอประกาศสืบทอดเจตนารมณ์ของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ที่มีความฝันอยากจะกลับขึ้นไปใช้ชีวิตตามวิถีอย่างสงบสุข ณ บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ให้พี่น้องบางกลอยที่ประสงค์จะกลับขึ้นไปบรรลุเป้าหมายให้จงได้”..."
เมื่อ 23 เม.ย .66 เวลา 17.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรม กทม. มีเวที 'เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน'
หลังรายการเสวนา ตัวแทนภาคี SAVE บางกลอย อ่านแถลงการณ์สรุปว่า “เรายืนยันจะติดตามเรียกร้องความเป็นธรรมสู่ครอบครัวเหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหายโดยรัฐติดตามเร่งรัดให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาทางคดีความให้กับพี่น้องบางกลอยที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติ รวมถึงเราขอประกาศสืบทอดเจตนารมณ์ของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ที่มีความฝันอยากจะกลับขึ้นไปใช้ชีวิตตามวิถีอย่างสงบสุข ณ บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ให้พี่น้องบางกลอยที่ประสงค์จะกลับขึ้นไปบรรลุเป้าหมายให้จงได้”
กรณีบางกลอยแบ่งเป็น 2 เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน
1. เรื่องคดี บิลลี่ พอละจี นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่สูญหายไป 9 ปีแล้ว
2. การกลับคืนถิ่น “ใจแผ่นดิน” ของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม
เรื่องคดีบิลลี่สูญหาย
ปี 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ พบหลักฐานโครงกระดูกของบิลลี่ พอละจี ในถังน้ำมัน ซึ่งพิสูจน์ทางดีเอ็นเอ พบว่าเป็นกระดูกของบิลลี่ ทำให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับพวกรวม 4 คนในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรอง ไว้ก่อน
24 เม.ย. 66 / 9.00 น. น.ส. พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ และนาง โพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่ เข้าให้การที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานะพยานโจทก์
คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 9 ปี ผลคดีจะเป็นเช่นไร อยู่ที่การพิจารณาวินิจฉัยของศาลสถิตย์ยุติธรรม
ยังมีคดีที่ชาวบ้าน ที่กลับคืนถิ่นใจแผ่นดิน แต่ทางการนำเฮลิคอปเตอร์ไปจับกุมชาวกะเหรี่ยง 80 กว่าคน ขณะนี้มี 29 คนถูกสั่งฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า เป็นคดีที่น่าศึกษาว่าชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นมาแต่เดิม กลับกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินของตนเองไปได้อย่างไรกัน
ความจริงแล้วคดีนี้ อัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ให้ว่า หากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อสส. วินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องได้
มีความจริงเชิงประจักษ์ ดังนี้
1. มติ ค.ร.ม. เมื่อ 3 สค. 2553
เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ประเด็นการจัดการทรัพยากร ระบุว่า “ยุติการจับกุม และให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” (ทส.มท.)
“ส่งเสริมและยอมรับระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมทางกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และวิถีชีวิตพอเพียง รวมทั้งผลักดันให้ระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม” (ทส.กษ.วธ.)
2. ยุทธการตะนาวศรี
ในการอพยพชาวกะเหรี่ยงระลอกที่ 2 จากบ้านบางกลอย (ใจแผ่นดิน) มาอยู่บางกลอยล่าง ปรากฏว่าระหว่างปี 2553-2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้จุดไฟเผาบ้านเรือนและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยง จำนวน 98 หลังคาเรือน ถูกเพลิงผลาญจนพินาศเพื่อบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เป็นตราบาปอีกครั้งหนึ่งของภาครัฐที่กระทำต่อประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม
3. คำสั่งศาลปกครองสูงสุด
12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ “ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ เข้ารื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของนายโคอิ กับพวก เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ในคดีนี้ประกอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ สามารถใช้ดุลพินิจ ไม่ใช้มาตรการที่มีความรุนแรง กระทำต่อสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้ แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ก็ตาม การเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สิน จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกต้องสูญเสียปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรงกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการดำรง ชีวิตและสิทธิในทรัพย์สิน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย...”
4. ชุมชนดั้งเดิม
หมู่บ้าน “ใจแผ่นดิน” หรือบางกลอยบนนั้น ปรากฏตามหลักฐานของกรมแผนที่ทหารบกแจ่มชัดว่า ในปี 2455 มีบ้าน “ใจแผ่นดิน” เกิดขึ้นแล้ว ปู่คออี้ หรือโคอิ มีมิ มีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งระบุว่าเกิดในปี 2454 เป็นการเกิดก่อน พรบ. ป่าไม้ฉบับแรก 30 ปี (พ.ศ. 2484) และเกิดก่อน พรบ. อุทยานแห่งชาติฉบับแรก 50 ปี (พ.ศ. 2504)
5. ไร่หมุนเวียน
นักวิชาการหลายสำนักลงพื้นที่ ศึกษาวิจัยจากพื้นที่จริง ยอมรับตรงกันว่า ไร่เลื่อนลอย คือการทำไร่แบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นการปลูกพืชจนดินเสื่อม หมดความอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชไม่ได้อีกต่อไป
ส่วนไร่หมุนเวียน ชาวบ้านจะปลูกพืชหลากหลาย นอกจากข้าว ยังปลูกพริก เผือก มัน ถั่ว งา มะเขือ ฟักทองและพืชอื่นๆ ผสมกันไป เป็นการปลูกไว้กินเอง พอพ้นฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะย้ายไปทำไร่ ในพื้นที่ถัดไป วงจรจะเป็นเช่นนี้จนครบ 7 ปี ก็จะกลับมาที่ไร่เดิมใหม่ ซึ่งเนื้อดินจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติด้วยตัวเอง
ด้วยอคติทางชาติพันธุ์ที่คิดว่า “เขาเป็นอื่น” และไม่ยอมรับในการดำรงวิถีภูมิปัญญาไร่หมุนเวียน ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติเพื่อการมีอยู่มีกิน แต่กลับถูกตอบแทนด้วยการรุกไล่และเผาบ้านเรือนทรัพย์สิน นำไปสู่เงื่อนปมขัดแย้งที่ร้าวลึกจนยากจะแก้ไข
ในที่สุด คก.อิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งมีนายอนุชา นาคาสัย เป็นประธานได้ทำสรุปและทำบันทึกบนพื้นฐานของการตรวจสอบความเป็นจริงอย่างรอบด้าน นำเสนอผ่านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามเห็นชอบ เมื่อ 19 เม.ย. 66 ในแนวทางที่ คก.นำเสนอโดยสรุปคือ
1. ให้ตั้งคณะทำงานสำรวจข้อมูลครัวเรือนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำเนินชีวิตแบบไร่หมุนเวียนที่บ้านใจแผ่นดิน (เดิม) ซึ่งมีจำนวน 150 คน และที่ประสงค์จะอยู่บางกลอยล่าง จำนวน 732 คน
2. เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามที่ คก. เสนอ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์กรรมการอิสระ และผู้แทนกระทรวง ทส. ร่วมดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามวิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จัดทำแผนที่ระบุขอบเขตการใช้ที่ดินและดูแลการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป
นายอภินันท์ ธรรมเสนา นักวิชาการในนามของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งร่วมกับชาวบ้านและภาครัฐในการร่วมคิด ร่วมหารือ ร่วมทำงาน เรื่องกะเหรี่ยงบางกลอยมาตลอด ชี้ให้เห็นว่า “นับเป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน เปลี่ยนความเป็นคู่ขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือกัน บนพื้นฐานเคารพข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แห่งวิถีชีวิตชุมชนกะเหรี่ยง การที่มีชาวกะเหรี่ยงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ทั้งกลับไปอยู่ที่เดิม กับกลุ่มที่มาอยู่ที่ใหม่ ทำให้ได้บทเรียนเชิงเปรียบเทียบที่มีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัยในเวลา 5 ปี นับจากนี้ไป หากจัดการได้ดี ย่อมมีผลที่เป็นคุณต่อทุกฝ่ายและยังมีเงื่อนไขเอื้อต่อการขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกด้วย”
มหากาพย์บิลลี่ 9 ปี บ้านบางกลอย 30 ปี สะท้อนว่าวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมเป็นทั้งอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาที่พึงเคารพ หากมีการคุกคาม เบียดเบียนอย่างไม่เป็นธรรม ชาวบ้านพร้อมสู้ และไม่ยอมจำนน
ไมตรีจิต ต้องแทนที่ความเป็นอริ ผู้เสียเปรียบกว่าควรได้รับความเอื้ออาทร เมตตาธรรม ต้องมีค่าและสำคัญกว่าการเอาถูกเอาผิดตามตัวบทกฎหมายดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “กฎหมายต้องรับใช้ความเป็นธรรม ไม่ใช่รับใช้ตัวบทกฎหมายเอง”
ปู่คออี้ มีมิ ปราชญ์กะเหรี่ยงที่ล่วงลับไปแล้ว เปล่งวาจาที่มีค่ายิ่งนักว่า
“เราไม่ได้โกง หรือแย่งชิงที่ดินของใครมา
เพราะน้ำนมหยดแรก เราก็ดื่มที่นี่
ข้าวเม็ดแรก เราก็กินที่นี่
รอยเท้าแรก เราก็ย่ำที่นี่
เราอยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม”
ปรารถนาของปู่ จะเป็นจริงได้แค่ไหน เพียงไร ต้องติดตามดู