"...สิ่งที่พอทำได้ในเวลานี้คือการทำธนาคารขยะ ทำตลาดนัดขยะบนเกาะ เพื่อให้ขยะถูกนำมารวบรวม เพื่อการขายให้ร้านรับซื้อบนฝั่ง ผมมองเองว่า คงจะดีถ้าค่อยๆพัฒนาไปใช้เงื่อนไขการแลกเปลี่ยนขยะกับสิ่งที่คนบนเกาะจำเป็นต้องแบ่งกันใช้ เช่นไฟฟ้า น้ำจืด น้ำมัน หรือไข่ไก่ได้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่เห็นขยะเป็นสิ่งมีค่ามากขึ้น..."
ต้นสัปดาห์นี้ ผมร่วมคณะเดินทางตามคำเชิญของผู้บริหารสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เดินทางไปตามเกาะในอันดามันของจังหวัดตรังและกระบี่ สองสามเกาะ เพื่อศึกษาการจัดการปัญหาขยะของฮีโร่ตัวเล็กๆที่กำลังต่อสู้กับปัญหาอยู่ตามเกาะและหมู่บ้านชายฝั่ง
ขยะตามเกาะและชุมชนชายฝั่งขนาดขนาดเล็กๆ เป็นปัญหาที่ท้าทายต่อการจัดการมากๆ
ที่ดินที่ชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเอกสารสิทธิที่ดินแปลงรวม อย่างที่ดินคทช. ตามกติกาของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ดังนั้น ในสายตาของกฏหมาย สิทธิการอยู่อาศัยทำกินส่วนใหญ่ของชุมชนอย่างนี้จึงยังกำกวม เพราะตกอยู่ในเขตป่าสงวน
พวกเขาจึงยังรอการประกาศพระราชกฤษฎีกาตามกติกาคนอยู่กับป่า ที่รัฐบาลเคยแก้ไขกฏหมายป่าไม้ไว้สำเร็จเมื่อ2562
บัดนี้การสำรวจปักปันเขตป่าที่เคยกำกวมเสร็จสิ้นเป็นส่วนมากแล้ว เหลือแต่ขั้นตอนการสำรวจยืนยันตัวตนของคนที่อยู่ในพื้นที่โดยฝ่ายปกครองนั้นยังไม่จบ ชุมชนในเขตแผนที่ป่าทั้งประเทศจึงยังได้เพียงรอกันอยู่
เมื่อไม่มีความแน่ชัดมั่นคงในเขตที่ดินอาศัยทำกิน ราษฏรท้องถิ่นจึงได้เพียงอยู่แบบไม่กล้าลงทุนทำที่อยู่แบบลงทุนถาวร ผลก็คือคุณภาพชีวิตแทบทุกด้านยังขลุกขลัก ขาดโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน
ชุมชนเหล่านี้มักมีรายได้จากการประมงชายฝั่งเล็กๆน้อยๆ สภาพของที่อยู่อาศัยเป็นไปแบบตามมีตามเกิด อาศัยในเขตป่าชายเลนที่น้ำทะเลท่วมถึง ขยะทะเลจึงเป็นของชินตาของชุมชนมานานปีแล้ว
ขยะส่วนใหญ่เหล่านี้เดินทางมาไกล เพราะคลื่นพามาจากที่ไกลๆ มีทั้งขยะแม่น้ำที่ลงทะเลที่ไหนก็พอสังเกตได้จากภาษาบนสลากที่ติดอยู่ หลายชิ้นมาข้ามประเทศ และถ้าไปดูที่ประเทศนั้นๆก็คงเจอขยะจากไทยที่ลอยไปติดที่บ้านเขาเช่นกัน บางส่วนของขยะก็ดูใหม่เอี่ยม เพราะมาจากชาวเกาะชาวชุมชนชายฝั่งก็ต้องใช้สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ไม่ต่างจากคนเมือง เช่นขวดแชมพู กล่องนม เปลือกลูกอม ซองขนมขบเคี้ยว ครั้นจะตั้งถังขยะก็หาพื้นที่ได้ยาก แม้มีถังให้ทิ้งแต่การบริการเก็บไปกำจัดโดยเทศบาลท้องถิ่นก็เข้าถึงไม่ง่าย น้ำขึ้นน้ำลงแต่ละหน เหมือนกวาดเหมือนถูกโถมใส่ด้วยขยะสารพัดประเภทให้อยู่เกลื่อนกลาดใต้ถุนเรือนที่ก็ต้องก่อไว้ยกสูงให้พ้นคลื่น บางเรือนไม่ได้ทำด้วยซีเมนต์แต่ใช้วัสดุเบา เช่นไม้ก็จะโยกเยกตามแรงน้ำขึ้นลง ข้าวของบนพื้นไม้ร่วงหล่น แม้ข้าวของบนพื้นซีเมนต์ก็ถูกน้ำขึ้นน้ำลงกวาดตกน้ำเป็นประจำ ผมสังเกตหลังตู้หรือบนชั้นวางในบ้านของชาวบ้านในพื้นที่จะเต็มไปด้วยข้าวของวางกองซ้อนกัน เพราะพื้นที่วางกองของกับพื้นอย่างคนในเมืองมีข้อจำกัด
บางครั้งขยะที่เห็นก็มาจากนักท่องเที่ยวที่ถือติดมา หรือเข้ามาซื้อสินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์ต่างๆบนเกาะหรือตามชุมชนชายฝั่ง ขยะบางส่วนมาจากความจำเป็นของเรือประมงที่ต้องเตรียมวัตถุดิบอาหารในถุงพลาสติกใส่เรือแช่น้ำแข็งไว้เพื่อออกทะเลทีละหลายๆวัน มีลังโฟมเก่าๆใส่น้ำแข็งจำนวนมาก มีทั้งอวนมีทั้งแหที่ใช้แล้วคลื่นซัดไปขูดกับแง่งหิน กลายเป็นขยะทะเล มีเชือกที่ผูกยางรถยนต์หนักๆแขวนข้างกราบเรือเพื่อป้องกันการเบียดกระแทก นานวันเข้าเชือกเปื่อยหลุดร่วงลงทะเลขณะกำลังแล่นโดยไม่รู้ตัว มีแกลลอนน้ำมันเครื่อง ตลับจารบี สารพัดที่ต้องมีเพื่อบำรุงเครื่องเรือ
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นขยะทะเลที่เก็บยาก ย่อยสลายไม่ได้ และมีแต่เพิ่มจำนวนขึ้น
การจะรวบรวมจึงยาก การรวมแล้วขนออกจากเกาะไปจัดการให้ถูกต้องมีต้นทุนค่าเดินทางขนส่งสูง
ครั้นจะตั้งเตาเผาขยะอย่างมีมาตรฐานบนเกาะก็มีค่าลงทุนสูงเกินกำลังของเกาะ จะปล่อยชาวบ้านตั้งเตาเผากันเองก็จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพของชาวบ้านเสียเอง เพราะเผาต่ำกว่า600องศาเซลเซียสจะเกิดสารก่อมะเร็งฟุ้งขึ้นมา
สิ่งที่พอทำได้ในเวลานี้คือการทำธนาคารขยะ ทำตลาดนัดขยะบนเกาะ เพื่อให้ขยะถูกนำมารวบรวม เพื่อการขายให้ร้านรับซื้อบนฝั่ง ผมมองเองว่า คงจะดีถ้าค่อยๆพัฒนาไปใช้เงื่อนไขการแลกเปลี่ยนขยะกับสิ่งที่คนบนเกาะจำเป็นต้องแบ่งกันใช้ เช่นไฟฟ้า น้ำจืด น้ำมัน หรือไข่ไก่ได้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่เห็นขยะเป็นสิ่งมีค่ามากขึ้น
ความท้าทายของวิธีนี้คือ ต้องมีผู้ยอมออกทุนตั้งต้นให้เกิดการหมุนเวียน ต้องฝึกการคัดแยกขยะที่ได้มาไม่รู้จบตามคลื่นทะเลมาส่ง เพื่อจะได้คัดแยกใส่เรือกลับไปชั่งกิโลขายบนฝั่ง แถมยังต้องมีพื้นที่ตากขยะ แยกขยะ รวบรวมขยะตามกลุ่มวัสดุ และมีภาชนะรวบรวมผลการคัดแยก จัดให้มีหลังคาคลุม มีจุดที่ตั้งที่เหมาะสมบนเกาะ ไม่อยู่ในจุดที่น้ำฝนชะกองขยะจนน้ำขยะหรือชิ้นขยะไหลกลับลงทะเล ไม่อยู่ในที่ต่ำจนน้ำท่วมกองขยะเอาง่ายๆ ขยะหลายอย่างโดนฝนไม่ได้เช่นกระดาษ ส่วนพลาสติกถุงดำถุงหิ้วหลายอย่างถูกแดดนานนักจะย่อยตัวเองเป็นขุยขาดวิ่นปลิวลมไปได้ง่ายๆ
แปลว่าถ้าเราหวงและห่วงเกาะเหล่านี้ ประชาสังคมและรัฐอาจต้องต้องช่วยให้แต่ละเกาะมีทุนทรัพย์ตั้งต้น มีการจัดอบรมสร้างทีมบุคลากรนักบริหารขยะบนเกาะอย่างมุ่งมั่น ต้องมีระบบบัญชีควบคุม ติดตามยอด ต้องมีที่ดินที่ตั้งที่เหมาะสม
แต่สำคัญที่สุดคือทุกฝ่ายต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อเรื่องนี้
ขยะทะเล80%มาจากคนบนบกนั่นแหละ ไหลตามคลองลงแม่น้ำแล้วออกมาทะเล 20%มาจากคนเรือ และคนชายฝั่ง
คนชายฝั่งก็ไม่ใช่มีแต่คนท้องถิ่นแต่ยังมีนักท่องเที่ยวมาเยอะด้วย
คนท้องถิ่นเก็บขยะกันเองไม่ไหวแน่ครับ
เรายังต้องหาวิธีสร้างสรรค์ เพื่อลดการเกิดขยะบนเกาะรวมทั้งคำนวนค่าบริหารและกำจัดขยะบนเกาะที่อนาคตสามารถนำมาสู่การเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวที่มาขึ้นเกาะ คิดค่าบริหารพื้นที่กลางกับผู้ใช้ทรัพยากรบนเกาะ เพื่อให้เกิดกองทุนจัดการปัญหาแบบนี้ในที่สุด
ในอิสราเอล เขาออกกติกาว่าระวางสินค้าส่วนหนึ่งใต้ท้องเครื่องบินทุกลำต้องถูกกันไว้ใช้ขนผลผลิตการเกษตรของอิสราเอลเพื่อส่งออกได้สะดวก แนวทางนี้อาจนำมาปรับใช้กับระวางเรือที่จะออกจากเกาะให้ต้องรับฝากถุงขยะกลับสู่ฝั่งไปจัดการโดยไม่คิดค่าฝาก
แต่เท่าที่ทราบ ตอนนี้ในไทยยังไม่มีที่ใดที่สามารถขจัดปัญหาขยะของเกาะได้สมบูรณ์แบบสักแห่ง
สิ่งที่พอทำได้คือทำธนาคารขยะทำตลาดนัดขยะให้ได้โดยดึงภาคีทุกฝ่ายในพื้นที่บนเกาะมาร่วมกันให้ได้อย่างจริงจังเสียก่อน
ขยะอินทรีย์ทำปุ๋ย ทำน้ำหมัก ขยะพลาสติก ขวดแก้ว และเศษโลหะ ต้องพยายามนำมา reuse แต่ไม่ว่าอย่างไร ขยะหลายประเภทก็ปล่อยให้อยู่บนเกาะไม่ได้หรอก เช่นโฟม ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถ่านไฟฉาย ขยะอันตราย รวมทั้งขยะที่รีไซเคิลได้ก็คงต้องส่งไปขึ้นฝั่ง เพราะโรงงานรีไซเคิลอยู่บนฝั่งเท่านั้น
เกาะ เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว เพราะได้ไปอยู่ในที่ที่ไปถึงยาก มีอะไรไปรบกวนได้ช้ากว่า
ขยะบนเกาะเป็นหลักฐานสำคัญของการไปรบกวนธรรมชาติที่ต้องหยุดลงให้ได้ เพียงแต่มนุษย์ยังไม่มีสูตรสำเร็จในการจัดการมัน
ทางเลือกที่บางกลุ่มท่องเที่ยวเกาะเริ่มทำกันบ้างแล้วคืองดใช้พลาสติก โฟมเด็ดขาด หันมาพกกระติกน้ำกันเอง ทำระบบคูลเลอร์เติมน้ำ ใช้ใบหูกวางแทนใบตอง ใช้ปิ่นโต มีระบบลดราคาให้ถ้าลูกค้านำพาชนะมาซื้ออาหารทาน แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่หมูเลยครับ ที่จะฝึกตัวเองจนชินเป็นนิสัย
อีกทางเลือกคือกำหนดหลักความรับผิดชอบที่ไปให้ถึงผู้ผลิตสินค้า ให้ต้องมีระบบคืนบรรจุภัณฑ์ ระบบออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับการจัดการง่ายขึ้นหลังบริโภค
ชุมชนเกาะมุกด์ เกาะกระดาน และชุมชนเกาะลันตาตื่นตัวขึ้นมากต่อปัญหาขยะบนเกาะ แต่ปริมาณนักท่องเที่ยวก็มากจนเสี่ยงว่าเกาะสวรรค์เหล่านี้จะเสียหาย ไม่อาจรักษาตัวเองได้ ถ้าไม่เร่งใช้กติกาพื้นที่ที่เข้มงวดให้เต็มที่
ในความน่ากังวลนี้ เราได้เห็นนวัตกรรมดีๆและกำลังใจของนักสู้ประจำถิ่นอีกหลายอย่าง
ขยะแหอวนของชุมชนมดตะนอย ของจังหวัดตรังใช้ทักษะที่เคยใช้ซ่อมแหอวน มาเย็บร้อยเศษไนล่อนของอวนมาเย็บเป็นถุงตาข่าย ขายได้ราคาเพราะเหนียวทน ขยายได้ใหญ่ เบา และใช้บรรจุขยะทะเลที่เปียกๆได้สะดวกกว่าถุงดำมากๆ
ฝีมือทำอาหารท้องถิ่นของกลุ่มแม่บ้านชาวประมงที่นี่ก็อร่อย ประหยัดและสามารถทำได้พอดีกับจำนวนแขกที่มาอุดหนุนโดยไม่มีอะไรต้องเหลือ
ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพ คณะเราได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานการลงนามปฏิญญาของ40ภาคีเครือข่ายที่เกาะลันตา ที่ประสานงานผ่านเครือข่ายอันดามัน ในงานลงนามนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เดินทางมาเป็นประธาน มีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้นำองค์กรในท้องถิ่นมาร่วมกันคับคั่ง
ผมจึงยินดีร่วมภาวนาขอให้พลังอย่างนี้สำเร็จ ผนึกมือกันแน่นทันรับมือกับสะพานใหม่ที่จะเชื่อมแผ่นดินใหญ่กับเกาะลันตาที่กำลังจะพาให้ความทะลักทลายของผู้มาเยือนทะลุขีดจำกัดของการท่องเที่ยวเกาะได้ทันเวลา
ส่วนพวกเราที่อยู่ห่างชายฝั่งทะเลก็ต้องพยายาม’’ใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบ’’ คัดแยกขยะช่วยพนักงานเก็บขยะให้ทำงานง่ายขึ้น และออกเที่ยวเดินทางไปไหนก็ช่วยเก็บขยะไม่ว่าจะมาจากไหนออกไปลงถัง เพื่อสร้างนักท่องเที่ยวคุณภาพและรับผิดชอบกันให้มากๆครับ