"...เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ไม่ได้เป็นต้นกำเนิดโดยตรงให้กับการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ของประเทศที่เกิดขึ้นตามหลังมา แต่เหตุกาณ์ 14 ตุลาคม เหมือนกับการเปิดช่องขนาดใหญ่ ที่ไม่มีอำนาจใดไปปิดกั้นได้จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ช่องว่างนี้เปิดทางพลังสร้างสรรค์ของคนไทยที่ถูกปิดกั้นมานานสามารถแสดงพลังอำนาจของมันได้ในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การธนาคาร การผลิตอุตสาหกรรม เกษตร การค้าปลีก-ส่ง การเมืองในส่วนกลาง ท้องถิ่น พลังทางสังคม พลังทางวัฒนธรรม และพลังของคุณธรรม..."
19 เม.ย.66 ยามแดดร่มลมตก ณ ห้องประชุมชั้น 3 กระทรวงอุดมศึกษาฯ รมว. อว. ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เชิญคนอายุ 70 บวก/ลบ จำนวน 30 คน มาพบกัน ทุกคนเป็นผู้อาวุโสร่วมสมัยมาคุยกันในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม
ณ วันนี้ล่วงมาถึงกึ่งศตวรรษแล้วของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หากรอเวลาให้ครบ 60 ปีหรือ 70 ปี ก็คงจะเหลือคนที่เกี่ยวข้องอยู่ไม่กี่คน และถ้าบังเอิญยังเหลืออยู่ ก็น่าจะหมดแรงคิดแรงทำอะไรแล้ว จึงชวนกันมาคุยกันด้วยบรรยากาศมิตรภาพ ไม่มีสีสัน ไม่แยกพวก ไม่แขวนป้ายความเป็นฝักฝ่ายใดๆ
ทุกคนตระหนักว่า 14 ตุลาคม 2516 เป็นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เริ่มขึ้นจากนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นทวงสิทธิเสรีภาพจากผู้ปกครองรัฐ ซึ่งเผด็จอำนาจมายาวนาน แม้การต่อสู้จะไม่ก่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงใหญ่แบบทั่วด้าน แต่เป็นที่ยอมรับว่า
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
“คือ การเกิด Big Bang แห่งจิตสำนึกของคนหนุ่มสาว อันหาได้ยาก เป็น ‘หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์’ การระเบิดตูมใหญ่แห่งหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ ได้แผ่รังสีกระจายไปเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมไทย การเคลื่อนไหวเพื่อคนจน และความยุติธรรมก็ดี เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ดี เรื่องการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยก็ดี เรื่องศิลปะเพื่อชีวิตก็ดี เรื่องการแพทย์เพื่อประชาชนก็ดี แม้แต่การเกิดขึ้นของมูลนิธิเด็กก็ดี ล้วนมีเหตุปัจจัยมาจากการระเบิดจิตสำนึกใหม่ หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น เป็นความงดงามที่เกิดบนแผ่นดินไทย ซึ่งควรเข้าไปสู่จิตใจของเด็กๆ” (ศ. ประเวศ วะสี)
ส่วน ศ. ธีรยุทธ บุญมี ชี้ไว้ว่า
“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ไม่ได้เป็นต้นกำเนิดโดยตรงให้กับการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ของประเทศที่เกิดขึ้นตามหลังมา แต่เหตุกาณ์ 14 ตุลาคม เหมือนกับการเปิดช่องขนาดใหญ่ ที่ไม่มีอำนาจใดไปปิดกั้นได้จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ช่องว่างนี้เปิดทางพลังสร้างสรรค์ของคนไทยที่ถูกปิดกั้นมานานสามารถแสดงพลังอำนาจของมันได้ในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การธนาคาร การผลิตอุตสาหกรรม เกษตร การค้าปลีก-ส่ง การเมืองในส่วนกลาง ท้องถิ่น พลังทางสังคม พลังทางวัฒนธรรม และพลังของคุณธรรม”
การแลกเปลี่ยนในค่ำวันนั้น จึงเริ่มจากงานที่มีคน องค์กร และคณะทำงานที่กำลังดำเนินกิจกรรมไปตามอัธยาศัยของแต่ละส่วน
ดร. เมธี จันทร์จารุภรณ์ ในนามของสถาบันวิชาการ 14 ตุลาคม 2516 เล่าว่า
“ขณะนี้ได้รวมคนและรวมทุนทำกิจกรรม 2 ด้าน
1.จะจัดเสวนา 14 ตุลา รวม 4 ครั้ง
2.กำลังจัดทำหนังสือ 2 เล่ม
เล่มแรกเป็นบทสัมภาษณ์ และข้อเขียนของคนยุค 14 ตุลา รวม 50 คน เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) ว่าใคร อยู่ตรงไหน ทำอะไรในเวลานั้น
เล่มสอง เป็นข้อเขียนของ ผู้ทรงคุณวุฒิและบุคคลภายนอก รวมทั้งเยาวชน ที่จะสะท้อนทัศนะของตนต่อ 14 ตุลา และมองไปยังสังคมไทยในอนาคต”
ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา เล่าสู่กันฟังว่า
“เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์และมองไปข้างหน้ามูลนิธิ 14 ตุลา ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ที่จะผลิตรายการสารคดี สัมภาษณ์ และอื่นๆ ในเชิงลึกอย่างรอบด้าน และต่อเนื่อง เราได้รับความกรุณาจากคุณชวน หลีกภัย ในขณะที่เป็นประธานรัฐสภา ที่จะขอให้ทางรัฐสภาและสถาบันพระปกเกล้า เข้ามาร่วมกิจกรรม และมูลนิธิเตรียมจัดดนตรีซิมโฟนี 14 ตุลา ณ เวทีกลางแจ้ง และจัดมหกรรม 14 ตุลา ใหญ่ในช่วงเดือนตุลา
ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิเด็ก ได้จัดพิมพ์สมุดบันทึก (ไดอารี่) นิทานจินตนาการประวัติศาสตร์ 2516 ซึ่งมีประวัติการต่อสู้ของ 14 ตุลา และพฤษภา 35 อยู่ในเล่ม เผยแพร่ไปแล้วกว่า 60,000 เล่ม และกำลังทำบันทึก ปวศ. 14 ตุลา เป็นการเฉพาะอย่างละเอียดอีกหนึ่งเล่มพร้อมเหรียญที่ระลึก 14 ตุลา 16 ”
ประสาร มฤคพิทักษ์ กก.มูลนิธิ 14 ตุลา แจ้งว่า
“ขณะนี้ผู้กำกับหนังมืออาชีพ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ กำลังเตรียมการสร้างภาพยนตร์ 14 ตุลา โดยขอความร่วมมือกับเครือข่ายหนังต่างประเทศที่สามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วโลก ผู้กำกับหนังบอกว่า มีหนัง ปวศ. เรื่อง “ชินเล่อร์ลิสต์” สมัยสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ครั้งสำคัญของคนไทย ก็สามารถสร้างหนังให้โลกดูและเรียนรู้ได้”
ปนัดดา รักษ์ประชาไท ตัวแทนมูลนิธิเด็ก ชี้แจงว่า “ขณะนี้มีศิลปินชั้นนำ จำนวน 50 คน โดยมีระดับศิลปินแห่งชาติ 13 คน วาดภาพให้ เป็นภาพที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณเสรีภาพและประชาธิปไตยของ 14 ตุลา จำนวน 50 ภาพ จะเผยแพร่ ประมูล และขายระดมทุน มาจัดงานนี้”
ในขณะที่ ประเดิม ดำรงเจริญ คนเดือนตุลา ประธานฝ่ายกิจกรรมวรรณกรรม แจ้งว่า “เราได้รับความกรุณาจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาคมภาษาและหนังสือฯ จะร่วมกันทำโครงการ ‘50 วรรณกรรม 50 งานเขียน’ และประกวดงานเขียนในรูปแบบต่างๆ ด้วย”
ที่ประชุมค่ำวันนั้น ยังได้ต้อนรับความเห็นของ สมพงษ์ สระกวี , ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย , นิศานารถ โยธาสมุทร , รสนา โตสิตระกูล , ชัยวัฒน์ สุรวิชัย , ธนภณ วัฒนกุล , รศ. ประพันธ์พงษ์ เวชชาชีวะ อดีตรองอธิการบดีจุฬาฯ และ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ในวงสนทนามีการสะท้อนความเห็นว่า คนรุ่นใหม่บางกลุ่มไม่ยอมรับเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สยบยอมต่อชนชั้นนำบางส่วน บางคนบอกว่า ควรมีบทสรุปทาง ปวศ. ต่อ 14 ตุลา อย่างถูกต้องเผยแพร่ออกมา บางคนเสนอให้มีการมอบรางวัลยกย่องนักประชาธิปไตยยอดเยี่ยมเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สังคมไทยรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ทุกความเห็นล้วนมีค่า ที่ต่างคนต่างมีอิสระในการนำมาแลกเปลี่ยน ใคร องค์กรใด หรือคณะบุคคลใดก็สามารถคิด และทำกิจกรรมอย่างเป็นอิสระที่โยงใยจิตวิญญาณประชาธิปไตยของ 50 ปี 14 ตุลา ได้ตามอัธยาศัย
14 ตุลาคม 2516 เป็นการเปลี่ยนการเมืองของชนชั้นนำ ให้กลายเป็นการเมืองของภาคประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์สังคมไทยในทุกมิติ รวมตลอดถึงสิทธิสตรี กรรมกร ชาวนา คนพิการ คนด้อยโอกาส คนยากคนจนและอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับในเวลาต่อมาต้องบัญญัติรับรองสิทธินั้นไว้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย
อำนาจที่เป็นจริงของประชาชนเกิดขึ้น และมีพลัง ด้วยจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพของ 14 ตุลา แม้จะถูกทำให้ลบเลือน เป็นบางช่วงบางคราว แต่ก็เป็นพลังที่ไม่ตายและยังมีบทบาท มีชีวิตชีวา ต่อเนื่องตลอดมา