"...จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเจริญวัยนานกว่าศตวรรษมีจารึกในบทเพลง'เกียรติภูมิจุฬาฯ' ตอนหนึ่งว่า “ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วนชาวจุฬาจึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬา ....” เป็นการเคลื่อนตัวจากน้อยสู่มากจากเล็กสู่ใหญ่จากแคบสู่กว้างจากตื้นสู่ลึกจากภายในประเทศสู่ต่างประเทศเป็นการเติบโตที่ก้าวไปพร้อมกับวิวัฒน์ของโลก..."
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 106 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เมื่อ 26 มีนาคม 2566
“ในรัชกาลที่ 6 นั้น ถ้าชาติไทยไม่มีนักศึกษาชั้นพิเศษคนเดียวคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะตั้งมิได้เป็นอันขาด แต่ถึงกระนั้นข้าพเจ้าได้เห็นน้ำตาพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อกรุณาเล่าเรื่องการต่อสู้ เพื่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกแก่ข้าพเจ้า ใน พ.ศ. 2479
ในปีนั้นข้าพเจ้าสอนภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ผู้ขัดขวางการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร้ายแรงที่สุดคือ เจ้าพระยายมราช (มหาปั้น สุขุม) ได้ต่อว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีว่า
‘ขืนตั้งขึ้นราชวงศ์จักรีจะแย่ แต่ถ้าเจ้าคุณจะตั้ง ผมตายก็อย่ามาเผาผม เจ้าคุณตายผมก็จะไม่ไปเผาเจ้าคุณ มันยังไม่ถึงเวลาตั้ง’
ผู้บอมบ์เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี คนที่ 2 คือ กรมพระจันทบุรีนฤนาท เสนาบดีกระทรวงพระคลังสมัยนั้น ถึงกับบันทึกว่า
‘การตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ได้นั้น เสนาบดีกระทรวงธรรมการจะพารัฐบาลเข้าปิ้งทางการเงิน’ ”
(ส.ธรรมยศ พระเจ้ากรุงสยาม กรุงเทพฯ มติชน 2547 หน้า 380-381)
นี้เป็นคำประกาศชนิดที่เรียกได้ว่า “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” กันเลยทีเดียว
แสดงว่า ก่อนการก่อเกิดจุฬาฯ มีความขัดแย้งกันรุนแรง ระหว่างฝ่ายเห็นด้วยกับฝ่ายต่อต้านเหตุผลทางฝ่ายต่อต้านคือ ความไม่พร้อมในทุกๆด้าน ทั้งด้านงบประมาณและด้านบุคลากร ที่ถึงขั้น “เสนาบดีกระทรวงธรรมการจะพารัฐบาลเข้าปิ้งทางการเงิน”
อย่างไรก็ตาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการสถาปนาจากบัดนั้น จนบัดนี้ยาวนานถึง 106 ปี
จากพื้นที่ 1,100 ไร่ บริเวณปทุมวันซึ่งเป็นพื้นที่จุฬาฯ ในเวลานี้ แต่ก่อนเป็นทุ่งจามจุรีและสวนผัก ในวันนี้กลายเป็นชุมชนการศึกษา ซึ่งเดิมมี 4 คณะวิชา กลายเป็น 19 คณะวิชา วิชาเรียนมากกว่า 500 หลักสูตร มีสำนักวิชาต่างๆ มีพิพิธภัณฑ์ มีอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ มีศูนย์วิจัยนานาชาติ มีเครือข่ายเรียนรู้ผ่านระบบดิจิตัล มีพื้นที่เชิงพานิชย์ มีนวัตกรรมทางการศึกษามากมาย เป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพที่ได้รับการคัดเลือกติดอันดับโลกเรื่อยมา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจริญวัยนานกว่าศตวรรษ มีจารึกในบทเพลง 'เกียรติภูมิจุฬาฯ' ตอนหนึ่งว่า
“ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน ชาวจุฬาจึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬา ....”
เป็นการเคลื่อนตัวจากน้อยสู่มาก จากเล็กสู่ใหญ่ จากแคบสู่กว้าง จากตื้นสู่ลึก จากภายในประเทศสู่ต่างประเทศ เป็นการเติบโตที่ก้าวไปพร้อมกับวิวัฒน์ของโลก
เมื่อ 12 กรกฎาคม 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเรื่องการเลิกทาสเข้าสู่ที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และต่อมาทรงมีพระราชดำรัสถึงเครื่องมือที่ทาส เมื่อเป็นไทแล้วจะนำไปใช้ในการยังชีพว่า
“.... การหนังสือนี้จะช่วยทาสให้เปนไทได้จริงๆ .... ก็คนซึ่งรู้หนังสือรู้วิชาอย่างนี้แล้วก็คงจะมีผู้ต้องการเอาไปใช้สอย เปนขุนหมื่น ขุนพัน เปนเสมียนทนาย ฤาจะคิดรับจ้างทำการต่างๆ ก็ได้ เหนว่าคนซึ่งจั่วกลับลงเปนทาสอีกนั้นก็จะน้อยลง ต่อที่ชั่วจริงๆ จึงจะวนกลับไปดังนั้น....”
พระราชดำรัสนี้เปรียบเสมือนประกาศครั้งสำคัญที่ทั้งชัดเจนทั้งกระจ่างแจ้งถึงเหตุและผลที่ราษฎรสยามสมควรจะเรียนหนังสือ และหากพิจารณาให้ลึกซึ้ง การ “หนังสือ” ไม่เพียงช่วยให้ทาสเป็นไทแก่ตัว แต่ยังช่วยให้สามารถเปลี่ยนสถานะหรือเลื่อนชั้นทางสังคมได้อีกด้วย
“วิชาหนังสือเปนวิชาที่นับถือ แลเปนที่สรรเสริญมาแต่โบราณว่า เปนวิชาอย่างประเสริฐ ซึ่งผู้ที่เปนใหญ่ยิ่ง นับแต่พระมหากษัตริย์เปนต้น จนตลอดราษฎรพลเมืองสมควรแลจำเปนจะต้องรู้ เพราะเป็นวิชาที่อาจทำให้การทั้งปวงสำเร็จได้ทุกสิ่งทุกอย่าง.....”
“.... เจ้านายราชตระกูลตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะให้ได้มีโอกาศเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉนั้นจึ่งขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุสาห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้”
(พ.ศ. 2427 – พระราชดำรัสพระราชทานที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในการเสด็จฯ พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่ผ่านการ “ไล่หนังสือ”)
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หรือที่เรียกว่าครูเทพ เรียนวิชาครูมาจากอังกฤษ กลับมาเป็นครูสอนวิชาครูและวิชาคำนวณ ที่ รร.ฝึกหัดครูอาจารย์ เมื่อปี 2441 ต่อมาเป็นปลัดทูลฉลองและเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในปี 2457 เป็นผู้นำการศึกษาสมัยใหม่มาสู่ประเทศไทย เป็นคนนำเอากีฬา 'ฟุตบอล' จากยุโรปมาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นคนแรกและด้วยกีฬาฟุตบอลนั้นเอง ทำให้ครูเทพมีแรงบันดาลใจแต่งเพลง 'กราวกีฬา' ให้นักเรียนร้องและเป็นการฝึกจิตฝึกใจนักกีฬากันทั่วทั้งประเทศ และยังเป็นผู้ที่นำเอาลีลาทำนองเพลงยิปซีมูน มาแต่งเพลง 'คิดถึง' (จันทร์กระจ่างฟ้า) ที่เป็นเพลงคลาสสิคยอดนิยมตลอดมา
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเป็น รมว. ก. ศึกษาธิการ ในชุดที่ 1 (2475-2476) โดยมีการประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติในยุคนั้นด้วย
ครูเทพได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลที่ 6 ให้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จะสถาปนามหาวิทยาลัยหรือไม่ ข้อโต้แย้งสำคัญคือ ความพร้อมหรือไม่พร้อม
พูดอีกนัยหนึ่ง ความพร้อมเป็นกระบวนการสั่งสมที่จะเกิดขึ้นตามมา เมื่องานได้เริ่มต้นและดำเนินต่อไป ทฤษฎีความพร้อมมักเป็นข้ออ้างของคนรักษาสถานะเดิม คนที่มีความสุขอยู่ในพื้นที่สะดวกได้สบายดี (Comfort Zone) เพื่อจะได้ไม่ต้องออกเหงื่อออกแรงเพิ่มขึ้น
ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 นั้น เป็นยุคแห่งการปฏิรูปใหญ่ของประเทศไทยทุกมิติ ทั้งระบบบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา คมนาคม กฎหมาย สาธารณสุข การสร้างความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก รวมถึงการเลิกทาส และอื่นๆ ทั้งหมดนั้นล้วนเกิดจากความไม่พร้อมทั้งนั้น
ในมุมกลับทฤษฎีความพร้อม จึงเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางวิวัฒนาการของสังคม เพราะหากไม่มีวันเริ่มต้น ไฉนจะมีความพร้อมเกิดขึ้นตามมาได้
พระปรีชาญาณ ของในหลวงรัชกาลที่ 6 เพื่อสืบทอดพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 นั้น ยิ่งใหญ่เพียงใด ดูได้จากพระราชดำรัสถาม-ตอบ นี้
“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงสอบถามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึงเรื่องตั้งมหาวิทยาลัยในสยามว่า
“เราพร้อมแค่ไหน”
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกราบบังคมทูลว่า
“ถ้าถือเอาออกซ์ฟอร์ดหรือเคมบริดจ์เป็นมาตรฐาน เรายังไม่พร้อมที่จะสถาปนามหาวิทยาลัย จะต้องลงทุนรอนมากมายนัก ทั้งเงินทั้งคนของเรายังไม่พร้อม แต่ถ้าจะลดหย่อนลงมาเพียงมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นสะพรั่งราวกับดอกเห็ดทั้งในตะวันตกและตะวันออก เราก็พอทำได้
มหาวิทยาลัยใหม่ ๆ นี้เปรียบเหมือนเป็นโรงเรียนกลางวัน แต่ออกซ์ฟอร์ด เคมบริดซ์ เปรียบเหมือนโรงเรียนประจำ (ตัดข้อความลง) มหาวิทยาลัยเก่าของอังกฤษเท่ากับเป็นที่ประทับตราว่า คนนี้ออกไปทำงานอะไรๆ ก็ไว้ใจได้เขาเป็นสุภาพบุรุษโดยสมบูรณ์แล้ว แต่มหาวิทยาลัยใหม่จะประทับตราให้ได้แต่เพียงว่า คนนี้มีวิชาเอนจิเนีย, แพทย์, กฎหมาย, วิทยาศาสตร์, อักษรศาสตร์ ฯลฯ จำนวนนักเรียนจบมัธยมบริบูรณ์ของเรายังน้อยมาก โรงเรียนข้าราชการพลเรือนยังต้องรับผู้จบมัธยมหก ในแง่นี้แง่เดียวก็อาจมีผู้คัดค้านได้ว่ายังไม่ถึงเวลา”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า
“เดินเถิดอย่าคอยเวลาเลย อย่างไรเสียเราก็ต้องการมหาวิทยาลัย ตั้งเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว จะได้เป็นตลาดวิชาของเมืองไทย ไม่เป็นแต่เพียงที่เพาะข้าราชการไว้ใช้”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐาน “โรงเรียนข้าราชการพลเรือน” ของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ พระราชทานนามว่า
"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย นับตั้งแต่บัดนั้น
หมายเหตุ Cr. ข้อมูล
1.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ 5 มีค. 60
2.ปิยมหาราชานุสรณ์ 2561
3.จุฬาฯ 100 ปี 26 มีค. 60
4.จุฬาสัมพันธ์ ตุลาคม 2018