"...สมัยก่อนจะมีคล้าย ๆ กัน แต่ก็ไม่เหมือนกัน มีประมาณว่ามีความพยายามจะให้ค่าเดินทาง ค่าจากการพาสื่อไปทำข่าวในที่ต่าง ๆ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเงินขวัญถุง ในวงการสื่อก็พูดกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะรับ แต่ว่ารูปแบบล่าสุดเป็นเหมือนกับการให้ที่ตัวองค์กรเลย เหมือนกับการจ้าง หรือว่าการคิดค่าแถลงข่าว อันนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่..."
กรณีที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายษิทรา มีข้อขัดแย้งกับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุด นายชูวิทย์โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพใบเสร็จรับเงิน 3 แสนบาทในชื่อของบริษัทนายษิทรา ที่ระบุว่าเป็นค่าแถลงข่าวออกสื่อ
โดยนายษิทราออกมาชี้แจงว่า มีผู้เสียหายที่มีความเกี่ยวข้องกับเว็บพนันมาปรึกษาตนเองแต่ต้องการให้ตนตามเรื่องกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) แต่เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนายตำรวจใหญ่ ตนจึงเรียกเงินค่าฟ้องร้อง และเก็บเพิ่มอีก 15 เปอร์เซ็นต์ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ตกลงกัน
อย่างไรก็ตามเกิดคำถามว่า 'มีค่าใช้จ่ายให้สื่อมวลชนมีแบบนี้ด้วยหรือ?'
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์ นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงกรณีค่าใช้จ่ายดังกล่าว
อิศรา: จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเคยเจอการแถลงข่าวที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกรณีทนายษิทราหรือไม่?
นายมงคล: ส่วนตัวไม่เคยเจอ แต่คิดว่าเดี๋ยวนี้การสื่อสารเปลี่ยนไปจากอดีตเยอะ สำนักข่าวที่ไม่ใช่สำนักข่าวแบบเดิม ๆ หรือเป็นโซเชียลที่ไม่เหมือนเดิม ก็มีรูปแบบการแข่งขันที่ต่างไปจากเดิมมาก ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง
อิศรา: ยังไม่เคยเจอเรื่องค่าใช้จ่ายในการแถลงข่าวออกสื่อใช่หรือไม่?
นายมงคล: ไม่มี สมัยก่อนจะมีคล้าย ๆ กัน แต่ก็ไม่เหมือนกัน มีประมาณว่ามีความพยายามจะให้ค่าเดินทาง ค่าจากการพาสื่อไปทำข่าวในที่ต่าง ๆ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเงินขวัญถุง ในวงการสื่อก็พูดกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะรับ แต่ว่ารูปแบบล่าสุดเป็นเหมือนกับการให้ที่ตัวองค์กรเลย เหมือนกับการจ้าง หรือว่าการคิดค่าแถลงข่าว อันนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่
อิศรา: มองเรื่องนี้อย่างไร?
นายมงคล: เป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น มันเป็นการเกิดข่าวที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ การไม่เป็นไปตามธรรมชาติอาจเกิดจากการสร้างข่าว การเขียนบทให้เป็นข่าว หรือว่าการจงใจให้เกิดข้อมูลเสมือนเป็นข่าว ก่อนหน้านี้เราเคยเจอเหตุการณ์กรณีหลวงปู่แสง ถ้าจำได้นะ ของหลวงปู่แสงจะมีเหตุการณ์การเตี๊ยมกันของนักข่าวในการเอาคนเข้าไปเหมือนกับไปจับผิดทำนองนี้ ซึ่งเป็นการเกิดข่าวที่ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งสื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปทำตรงนั้นด้วย
อิศรา: ทางสมาคมนักข่าวหรือนักข่าวมีระเบียบกับการทำข่าวหรือไม่อย่างไร?
นายมงคล: โดยปกติมันเป็นโดยจริยธรรมของสื่ออยู่แล้วว่าจะไม่มีการทำข่าวอันเนื่องมาจากอามิสสินจ้าง หรือเขียนข่าวที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ได้ประโยชน์ร่วมกันกับคนแถลงข่าว มันเป็นหลักจรรยาบรรณพื้นฐานอยู่แล้ว
อิศรา: ทางสมาคมนักข่าวยังไม่มีระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนใช่หรือไม่?
นายมงคล: ในจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อมันครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ว่าในเงื่อนไขเดียวกันมันจะเกิดปรากฏการณ์ที่ประหลาดในวันนี้ หรือในอนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นแบบไหน แต่ถ้าเข้าข่ายว่าการทำข่าวนั้นเกิดจากอามิสสินจ้าง หรือผลประโยชน์ทับซ้อนมันเป็นสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณอยู่แล้ว เหมือนกับการมีศีล 5 ที่ไม่จำเป็นต้องเขียนละเอียด เช่น การขโมยของ ที่ไม่จำเป็นต้องเขียนละเอียดว่าขโมยของชิ้นใหญ่หรือชิ้นเล็ก ขโมยก็คือขโมย ความหมายก็คืออย่างนี้
อิศรา: มีมาตรการป้องกันดูแลอย่างไรบ้าง?
นายมงคล: เป็นสิ่งที่สมาคมนักข่าวได้ตระหนักเรื่องนี้อยู่ก่อน ช่วงประมาณต้นปีที่ผ่านมาประจวบกับสภาทนายความได้เปลี่ยนกรรมการบริหารชุดใหม่ เลยได้ไปพบปะพูดคุย เนื่องจากมี MOU ระหว่างสมาคมนักข่าวกับสภาทนายความ ทางนายกสภาทนายความท่านใหม่ได้พูดถึงปัญหาบรรดาทนายความที่ทำตัวเองเป็นคนโดดเด่นทางสื่อสารมวลชนว่ามีแนวโน้มลักษณะผิดมรรยาททนาย เราพูดคุยกันว่าสื่อมวลชนควรจะต้องเรียนรู้เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อด้วย เพราะว่าการใช้สื่อเป็นเครื่องมือแล้วไปหากินในฐานะทนายความ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดมรรยาททนาย ซึ่งก็คือหลักจริยธรรมของทนายความ เหตุการณ์ครั้งหลังสุดเริ่มมีการสื่อสารกันว่าจะต้องจัดเวทีให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวว่ามรรยาททนายเป็นอย่างไร แนะนำสื่อมวลชนว่าเวลามีข่าวอะไรควรจะหาทนายความมืออาชีพที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีนั้นเป็นผู้ให้ข่าว ไม่ใช่ให้ทนายโซเชียลเป็นผู้กำหนดทิศทางของข่าว
ทั้งหมดนี้ คือ บทสัมภาษณ์ที่นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา