"...มุมมองแบบดั้งเดิมที่ถือว่า ครูเป็นแหล่งความรู้ในห้องเรียนและเน้นการสอนแบบมีครูเป็นศูนย์กลางนั้น เมื่อมี ChatGPT ยิ่งถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยี ChatGPT กลายเป็นแหล่งความรู้ทางเลือกที่ครอบคลุมกว่า รวดเร็วกว่า และแม่นยำกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้เรียนรู้และครูผู้สอน..."
โมเมนต์แห่ง ChatGPT ในขณะนี้ มีบรรยากาศคล้ายในทศวรรษ 1980 เมื่อเครื่องคิดเลขพกพาได้แพร่หลายไปถึงเด็กนักเรียน ทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ผู้ปกครองและนักการศึกษาด้วยความเป็นห่วงว่า “เด็กรุ่นใหม่ต่อไปนี้ คงไม่สนใจฝึกฝนการคิดเลขในใจอีกแล้ว” ในทำนองเดียวกัน ความสามารถที่น่ามหัศจรรย์ของ ChatGPT ในการแต่งภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นมืออาชีพ ทำให้นักการศึกษาไทยหลายคนได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า ต่อไปนี้ “ต่อไปนี้ คนไทยรุ่นใหม่คงจะไม่สนใจที่จะฝึกฝนการแต่งเรียงความภาษาอังกฤษอีกแล้ว” เพียงแต่ว่า ถ้านักการศึกษาเหล่านั้นได้ประจักษ์ว่า ความสามารถของ ChatGPT ที่ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่การแต่งเรียงความภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะ ChatGPT สามารถทำหน้าที่ทั้งเป็นครู เป็นพี่เลี้ยง เป็นติวเตอร์ และเป็นเพื่อนคุย โดยนักเรียนนักศึกษาทุกคนสามารถเรียกใช้ตลอดเวลายามเมื่อมีคำถามหรือข้อสงสัย ทั้งหมดนื้ ChatGPT สามารถให้บริการได้ภายในชั่วพริบตาและด้วยความถูกต้องแม่นยำ ดังนั้น นักการศึกษาเหล่านั้นอาจจะต้องเป็นห่วงหนักยิ่งกว่าเดิมว่า “ต่อไปข้างหน้า คนไทยรุ่นใหม่เขายังสนใจเข้าห้องเรียนเพื่อฟังอาจารย์บรรยายอีกไหม”
เมื่อมี ChatGPT : การศึกษาต้องคิดใหม่ทำใหม่
เมื่อกลุ่มควันแห่งความฉงนสนเท่ห์จางลง ก็เริ่มมีนักวิชาการออกมายอมรับกระแสของ ChatGPT มากขึ้น ปฏิกิริยาของนักวิชาการต่อ ChatGPT แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มอนุรักษ์นิยมมองว่า การยอมรับ ChatGPT เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มี 'การทุจริตในขบวนการศึกษา' อย่างเป็นระบบ กลุ่มที่เป็นกลางขอเพียงให้มีการอ้างอิงในส่วนงานที่ทำโดย ChatGPT ส่วนกลุ่มหัวก้าวหน้าได้เปิดใจต้อนรับเทคโนโลยีใหม่นี้ เพียงแต่การเรียนการสอนจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ให้เหมาะกับสถานการณ์ใหม่ กลุ่มสุดท้ายนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า ChatGPT-4 มีพลังความสามารถเพิ่มจาก ChatGPT-3.5 มากถึงกว่า 10 เท่า (OpenAI, 2021) และทาง OpenAI ได้ประกาศว่า ChatGPT-5, 6, 7 กำลังจะค่อย ๆ ตามมาในไม่ช้า ในเวลานี้ จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี AI ซึ่งกำลังถาโถมเข้ามาอย่างก้าวกระโดด และจะส่งผลกระทบต่อสังคมมนุษย์ในมิติและขนาดที่มนุษย์ไม่เคยมีประสบมาก่อน ดังนั้น ใครก็ตามที่ปฏิเสธเทคโนโลยี AI จะถูกทอดทิ้งให้อยู่เบื้องหลัง เหมือนบุคคลที่ตกยุคเพราะยังไม่ยอมใช้สมาร์ตโฟน
เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อการศึกษา จะต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่กันอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม การปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เดิมพันที่ใหญ่หลวงทำให้ไม่มีใครปฏิเสธได้ กุญแจสำคัญในการยอมรับและนำเครื่องมือ AI เช่น ChatGPT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน อยู่ที่การทำความเข้าใจว่าเครื่องมือ AI ไม่ได้มาแทนที่มนุษย์ แต่จะเป็นผู้ช่วยส่วนตัวในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ดังนั้น สถาบันการศึกษาทุกระดับจะต้องจัดการเรียนการสอนโดยนำ ChatGPT มาใช้ และเน้นให้เยาวชนของเราสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ตกยุคและสามารถเติบโตเป็นพลเมืองโลกพันธุ์ใหม่ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
ในเบื้องต้น การนำ ChatGPT มาใช้ในระบบการศึกษา มีประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
1. นิยามใหม่ของความซื่อสัตย์ทางวิชาการจะเป็นอย่างไร เมื่อ ChatGPT จะมาช่วยสร้าง 'ผลงาน' ให้แก่มนุษย์ ตัวอย่างคำถามคือ ใครเป็นเจ้าของผลงานตัวจริง สมมตินักเรียนไทยเขียนเรียงความในภาษาไทย แล้วใช้ ChatGPT แปลและเขียนใหม่เป็นภาษาอังกฤษ (ภาพที่ 1) ถามว่างานเรียงความภาษาอังกฤษที่ออกมาอย่างมีคุณภาพนั้น จะถือว่าเป็นของนักเรียนหรือไม่ และถือว่าเป็นการทุจริตหรือไม่
ภาพที่ 1 การบ้านเรียงความภาษาอังกฤษที่ผู้เรียนให้ ChatGPT แต่งให้ ต่อไปนี้ เราจะไม่สามารถประเมินความสามารถในการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษของผู้เรียนได้ การประเมินในอนาคต ต้องให้ผู้เรียนรู้ฝึกวิจารณ์การเรียงความของ ChatGPT ว่ามีการเรียงความที่ดีนั้น ควรมีโครงสร้างอย่างไร
2. ความสามารถในการให้ข้อมูลข่าวสารทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างของ ChatGPT-4 จะทำให้เส้นแบ่งระหว่างครูมนุษย์กับครู ChatGPT แทบจะมองไม่เห็น ยกตัวอย่างกรณีของ Khanmigo (ภาพที่ 2) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ล่าสุดของ Khan Academy ที่ใช้ ChatGPT-4 เป็นพี่เลี้ยง ในขณะเรียนผ่านทางออนไลน์ ผู้เรียนสามารถถามและขอคำอธิบายจาก ChatGPT ได้ตลอดเวลา ในกรณีนี้จะถือว่า ChatGPT เป็นครูด้วยได้หรือไม่
ภาพที่ 2 Khanmigo แพลตฟอร์มใหม่การเรียนรู้ด้วยตัวเองของ Khan Academy ที่บูรณาการ ChatGPT-4 ให้เป็นติวเตอร์ที่สามารถตอบคำถามและอธิบายในระหว่างเรียนได้ นี่คืออนาคตของการเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยมี AI เป็นผู้ช่วย AI-Assisted Life-Long Learning
3. การเกิดขึ้นของ ChatGPT ถือเป็นโอกาสดีในการเปลี่ยนผ่านจากการเรียนการสอนแบบป้อนความรู้ มาเป็นการเรียนรู้แบบเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง กระบวนทัศน์การศึกษาใหม่ที่นำเทคโนโลยี ChatGPT มาบูรณาการได้อย่างเหมาะสม คือ การเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐานที่ขับเคลื่อนโดย ChatGPT (ChatGPT-Powered Project-Based Learning) ด้วยความสามารถเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรแบบเวลาจริง (real time) ของ ChatGPT จะสนับสนุนให้การเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนักเรียนจะพัฒนาความเข้าใจในบริบทของความเกี่ยวพันกับโลกจริง (real world) แล้ว วิธีการเรียนรูปในแบบใหม่ที่มีการทำงานกันเป็นทีมนี้ ยังจะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะต่างๆที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์
4. การใช้ ChatGPT มาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินผลการเรียนใหม่ จากการสอบที่วัดความสามารถของนักเรียนในการจดจำและเรียกคืนข้อมูล มาเป็นการให้นักเรียนนำเสนอผลการเรียนรู้จากโครงงาน เพื่อประเมินความเข้าใจของนักเรียนในบริบทที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยที่นักเรียนสามารถแสดงมุมมองและแนวคิดในการใช้งานจริงจากวิชาที่เรียนมา และเปิดโอกาสรับคำวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองของครูและเพื่อนร่วมชั้น
5. ประเด็นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของผลงานที่ ChatGPT สร้างหรือช่วยสร้าง เช่น วรรณกรรม มีข้อโต้แย้งว่า เมื่อผลงานนั้นสร้างโดย ChatGPT เจ้าของลิขสิทธิ์ก็น่าจะเป็น ChatGPT แต่ในเชิงกฎหมาย หุ่นยนต์ไม่สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ พื้นที่สีเทานี้จึงอาจส่งผลให้เกิดมีการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นของใคร
การนำ ChatGPT หรือเทคโนโลยี AI อื่นๆที่กำลังจะตามมา มาบูรณาการใช้ในการศึกษานั้น จะมีทั้งความท้าทายและโอกาส จำเป็นที่ผู้บริหารการศึกษาต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของตนเองเสียก่อน มุมมองแบบดั้งเดิมที่ถือว่า ครูเป็นแหล่งความรู้แหล่งเดียวในห้องเรียนและเป็นศูนย์กลางนั้น ถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยี ChatGPT จะกลายเป็นแหล่งความรู้ทางเลือกที่ครอบคลุมข้อมูลได้มากกว่าทั้งเวลาและพื้นที่ อีกทั้งค้นหาได้รวดเร็วกว่าและได้คำตอบที่แม่นยำกว่า การบูรณาการ ChatGPT ในกระบวนการเรียนรู้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้เรียนและครูผู้สอน บทบาทของครูจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นพี่เลี้ยงและโค้ชแทน โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนรู้แต่ละคน เพื่อปรับให้เข้ากับภูมิทัศน์ใหม่ของการศึกษา การเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนจากระบบที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางไปสู่รูปแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 'การเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน' จึงเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมที่สุด เมื่อสามารถนำ ChatGPT มาบูรณาการกับการเรียนการสอนเพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆได้แบบทันเวลาจริง (real time) นอกจากนี้ วิธีการประเมินผลก็ต้องปรับเปลี่ยนจากการสอบซึ่งทดสอบความจำ มาเป็นกระบวนการประเมินความเข้าใจของผู้เรียนแทน
ปัจจุบันนี้ มนุษย์ชาติกำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนผ่านจากระบบการศึกษาเดิม เข้าสู่ระบบการศึกษาใหม่ในยุควิวัฒนาการปัญญาประดิษฐ์ของโลก หัวใจสำคัญในใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในอนาคต คือ การตอบรับเทคโนโลยีอุบัติใหม่ด้วยใจที่เปิดกว้าง เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะไม่ตกยุค แต่จะสามารถปรับตัวและได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่กำลังเข้ามาไม่ขาดสาย ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย