"...ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนคนอื่นสามารถไปนักข่าวมีโทรศัพท์อันเดียวก็ทำข่าวได้ เผยแพร่ภายในเสี้ยววินาทีเป็นข่าวทั่วประเทศ ปัญหานี้เริ่มไม่มีการควบคุมคุณภาพของข่าวที่กระจายไปทั่วบางครั้งก็มีการชี้นำสังคม สิ่งที่ประชาชนได้รับและถูกทำให้เชื่อไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่สำนักงานอัยการได้รับ นี่คือที่เป็นปัญหาอยู่ สิ่งที่เราทำได้ คือ ประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้รวดเร็ว แล้วก็ถ้าเป็นข้อบกพร่องที่เกิดจากระบบงานหรือกระบวนงานก็ต้องมาแก้ไขที่ระบบหรือกระบวนงาน..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 22 มี.ค 2566 สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาทางวิชาการ ‘Stronger OAG Symposium 2023 : A New Era of Justice’ นำเสนอทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรอัยการ ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2566 - 2580) และแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่บุคลากรในองค์กรอัยการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในการสร้างสรรค์แนวทางในการดำเนินงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมในยุคใหม่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แนวโน้มใหญ่ของโลกที่ส่งผลต่อระบบยุติธรรมไทย
โดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อัยการในสายธารของกระบวนการยุติธรรมและความคาดหวังของประชาชน’ ว่า แนวโน้มใหญ่ของโลกที่ส่งผลต่อประเทศไทย มีดังนี้
แนวโน้มที่ 1 สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรต่ำกว่าสามประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่าง จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซึ่งสามประเทศนี้มีนโยบายที่หลากหลายเพื่อดึงผู้สูงอายุมาทำงาน ในปัจจุบันผู้สูงอายุส่วนมากเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
แนวโน้มที่ 2 ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร ทำให้ผู้บริโภคเปิดรับข้อมูลการบริโภคได้มากขึ้น ในด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่องการเงินแบบดิจิทัลนำไปสู่ blockchain ซึ่งตำรวจและข้าราชการในชั้นศาลจะต้องตามให้ทันในเรื่องของการกระทำความผิดโดยเฉพาะในเรื่องของ financial technology
อย่างประเทศสวีเดน และจีนที่มีเงินดิจิทัลเป็นของตนเอง ดังนั้นองค์กรยุติธรรมและราชการต้องมองออกไปข้างนอก ต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มีความสำคัญขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ Chat GPT ที่ทำได้หลายอย่าง เช่น แก้ไขบทความภาษาอังกฤษ ขณะนี้ในอเมริกามีความกังวลอย่างมาก เนื่องจากเด็กนักเรียนใช้ Chat GPT ทำการบ้าน ฉะนั้นองค์กรยุติธรรมต้องติดตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน เพื่อให้รู้เท่าทัน ป้องกัน ดูแล และออกนโยบายที่สอดคล้องกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
แนวโน้มที่ 3 คือเรื่อง Climate change หรือที่รุนแรงกว่า Climate Crisis ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 ที่มาจากเรื่องการเผา การใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รัฐจะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ แนวโน้มใหญ่อีกอันหนึ่งคือเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) องค์กรอัยการ และองค์กรยุติธรรม ต้องคิดถึงเรื่อง ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ซึ่งมีการซื้อขายเรื่องคาร์บอนเครดิต และการทุจริตการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน องค์กรอัยการและองค์กรยุติธรรมจะต้องเตรียมการป้องกันเรื่องนี้
แนวโน้มที่ 4 คนชนชั้นกลางมีมากขึ้น โดยสิ่งที่ตามมา คือ สังคมกลายเป็นสังคมผู้บริโภคมีความตื่นรู้ทางการเมืองมากขึ้น มีความสนใจการเมืองมากขึ้น มีความคาดหวังทางการเมืองมากขึ้น อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมความเป็นกลาง
แนวโน้มที่ 5 ความเป็นสังคมเมือง คดีความที่เกิดขึ้นในเมืองกับคดีความที่เกิดขึ้นในสังคมชนบทย่อมแตกต่างกัน สังคมเมืองเป็นที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น บางครั้งในเรื่องของอาชญากรรมหรือการเกิดความไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นแนวโน้มใหญ่ของโลกที่เกิดขึ้นและเกิดจะขึ้นในประเทศไทย
“สำนักงานอัยการสูงสุดมีสิ่งที่กำกับดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นมาตรการต่างๆแผนการต่างๆ แต่ผมคิดว่าเราจะเป็นที่จะต้องเงยหน้าขึ้นมาดูแนวโน้มใหญ่ของโลกแล้วมาดูว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วมันใช้ได้ไหมกับแนวโน้มของโลก นอกจากนี้ยังมีปัญหาของเราก็คือปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย” ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า คาดว่าปีนี้ ประเทศไทยจะเดินเข้าสู่การถดถอยของเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายๆประเทศ นำไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน (Lay off) ส่วนประเทศไทยมีต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นเนื่องจากสงครามของรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ค่าพลังงานสูงขึ้น ค่าขนส่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง อีกทั้งหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสูงมากสูงถึง 90% ของ GDP ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดการฉ้อโกงหลอกลวงที่มาจากเทคโนโลยี เช่น ทางด้านออนไลน์ หรือบัญชีม้า
“ในที่สุดมันก็กระทบต่อคนสุจริต เช่น ธนาคารบอกว่าโอนเงินเกิน 50,000 บาท ต้องทำสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน มันขัดกับนโยบายที่จะเปิดเสรีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก”
ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมา คือ ค่านิยมระหว่างประเทศ ที่มีความแตกต่างระหว่างประเทศกึ่งเผด็จการกับประเทศประชาธิปไตย โดยประชาธิปไตยกลายเป็นค่านิยมมากขึ้นทำให้เกิดการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ต่อมา คือ สิทธิมนุษยชน ไทยต้องมาคิดว่าสิทธิมนุษยชนของตะวันออกต่างจากตะวันตกหรือเปล่าหรือต้องยึดถือมาตรฐานของตะวันตกตามอนุสัญญาต่าง ๆ หรือยึดถือมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของไทยที่อยู่กันมาอย่างยาวนาน
อีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ ธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังว่า องค์กรอัยการต้องมีธรรมาภิบาลสูงสุด โดยเฉพาะอัยการที่ต้องมีธรรมาภิบาล ต้องตระหนักไว้เสมอว่า การตัดสินใจอะไรก็ตาม สังคมจะพอใจหรือไม่พอใจเราจะต้องทำโดยมีธรรมาภิบาล เพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็น มีการสร้างสมดุลในการแสดงความคิดเห็น มีการรับฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ กระบวนการที่ชอบธรรม ไม่ใช่ถูกกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องถูกต้องและชอบธรรมเป็นที่ยอมรับได้ด้วย อีกสิ่งหนึ่ง คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 เป้าหมาย (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นการสร้างแนวคิดของความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคมขึ้นใหม่
“ทุกปีเราต้องรายงานสหประชาชาติว่าใน 17 เป้าหมายเราทำอะไรไปบ้างโดยเฉพาะการขจัดความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ ความหิวโหย การลดความเหลื่อมล้ำ การมีเมืองที่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ในอนาคตจะหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมามากขึ้น”
“โดยเป้าหมายที่ 16 มีความน่าสนใจมาก คือ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ที่เราบอกว่าต้องมีการจัดให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป้าหมายที่ 16.3 พูดถึงหลักนิติธรรม ต้องมีหลักยุติธรรมในการบริหารบ้านเมือง โลกให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม เห็นว่าสำนักงานอัยการสูงสุดทำอยู่แล้วแต่ก็อยากจะเน้นว่าให้ทำงานภายใต้หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลอย่างสูงสุด” ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ดุลยภาพแห่งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
ต่อมา น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด กล่าว ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘ดุลยภาพแห่งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย’ ว่า กฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน จากการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมระหว่างประเทศในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของ SDGs ในข้อที่ 16 เรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
“เราคงได้ยินกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐที่เป็นคดีดังไปทั่วโลก คือ คดีของจอร์จฟลอยด์ (George Floyd) ซึ่งเป็นการที่ตำรวจจับกุมชายผิวดำจนถึงแก่ความตาย จึงนำไปสู่การเรียกร้อง Black Llive matter ประเทศไทยโชคดีที่ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างรุนแรง จึงไม่มีปัญหาจากความรุนแรงการแบ่งแยกเชื้อชาติ”
“เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยกฎหมายภายในของเราเอง เราต้องตระหนักรู้ถึงกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีของสัญญาระหว่างประเทศฉบับหลัก 2 ฉบับ ฉบับแรกเรียกว่า ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม โดยฉบับแรกได้ลงนามและมีผลผูกพันกับประเทศไทยแล้ว ส่วนฉบับที่ 2 เป็นสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองประชาชนในเหตุการณ์บังคับให้บุคคลสูญหาย ประเทศไทยลงนามแล้วแต่ยังไม่ผูกพัน” น.ส.นารี กล่าว
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้ยอมรับหลักการของอนุสัญญา 2 ฉบับ เห็นได้จากหลักการที่อยู่ในรัฐธรรมนูญว่าสิทธิของประชาชนย่อมได้รับการคุ้มครอง และป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย
น.ส.นารี กล่าวอีกว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อยู่ในส่วนหนึ่งของ สายธาร กระบวนการยุติธรรม คือ ‘คดีถุงดำ’ ที่ถูกจับกุมโดยใช้ถุงดำครอบศีรษะจนถึงแก่ความตาย สิ่งสำคัญคือ CCTV ที่อยู่ที่สถานีตำรวจ ท้ายสุด ศาลก็ลงโทษตำรวจที่กระทำผิดก็คือจำคุกตลอดชีวิต หรือคดีจอร์จฟลอยด์ ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงการมีกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานหรือการบังคับสูญหาย จึงออก จึงออกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับปี 2566 อยากสื่อสารถึงผู้นำองค์กรถึงความพร้อมและไม่พร้อมของสำนักงานอัยการสูงสุดในขณะที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว
ขณะนี้ทั่วประเทศมีอัยการอยู่ 4,500 คนเจ้าหน้าที่ธุรการมี 5,800คน พนักงานในองค์กรอัยการจะต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนี้ อย่างที่บอกว่า ความยุติธรรมจะอยู่เหนือตัวบทกฎหมาย โดยหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจอัยการและศาล ล้วนแต่เป็นบุคลากรหลักที่จะส่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายฉบับนี้ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในส่วนของ สำนักงานอัยการสูงสุด มีการดำเนินการด้านนโยบาย,ด้านการตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคล ,การสอบสวนการดำเนินคดีความผิด,การคุ้มครองเยียวยาความเสียหายต่อผู้เสียหายและ ด้านต่างประเทศ
ในด้านนโยบายผู้บริหารทั่วประเทศ ถึงพนักงานอัยการระดับปฏิบัติการ จะมีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงและรับเรื่องการตรวจสอบร้องเรียนจากการกระทำเสียหายจากการทรมานและสูญหาย
ในด้านการตรวจสอบการควบคุมบุคคลคือ กฎหมายระบุว่าต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะจับกุมหรือควบคุมตัว ไม่มีการตัดต่อ จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งพนักงานอัยหลังจากที่มีการบันทึกภาพและเสียงเสร็จ แต่อย่างไรก็ตามอัยการได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัว กฎหมายไม่ได้บอกว่าให้รับแจ้งโดยระบบดิจิทัล หรือระบบแมนนวล ซึ่งจะเห็นได้ถึงความไม่สมบูรณ์ที่กฎหมายฉบับนี้
“ตรงนี้เป็นส่วนที่ดิฉันขอ comment อย่างเป็นส่วนตัวว่ายังเห็นความไม่สมบูรณ์ และต้องการให้กฎหมายฉบับนี้บรรลุวัตถุประสงค์เต็มร้อยตามที่กฎหมายฉบับนี้ได้เกิดขึ้น”
เช่นที่เขียนว่า พนักงานอัยการอาจรับทราบพบเห็น เหตุการณ์ซ้อมทรมานโดยอัยการจะเป็นผู้ตรวจสอบว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ถ้ามีอัยการจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ เพื่อสั่งยุติการกระทำเช่นนั้นทันที เเต่ในข้อเท็จจริงอย่างในต่างจังหวัดที่อัยการกับศาลจะมีระยะทางห่างกันซึ่งคำว่าทันทีจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มีระบบดิจิทัล
ถ้าประชาชนจะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายจะต้องมีการเชื่อมต่อตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นว่าในความเป็นจริงแล้ว ถ้อยคำในตัวบทเขียนไว้ เเต่เหตุการณ์จริงจะไปสั่งยุติทันได้อย่างไรหากต้องส่งคำร้องเป็นกระดาษ เรื่องนี้บางครั้งก็ดูง่าย แต่ต้องดูความเป็นไปได้
สิ่งที่เราอยากได้ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่งบประมาณ ในฐานะผู้บริหารดีใจที่ได้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามการให้งบในส่วนนี้ ว่าไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือไม่ยินดี คือได้เข้าเวร ทั้งอัยการและเจ้าหน้าที่ธุรการ จุดประสงค์ของการมีกฎหมายฉบับนี้ ต้องเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่แน่ใจ
“การอยู่เวรไม่ได้สำคัญเท่ากับการเข้าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันที สิ่งสำคัญคือต้องมีระบบเทคโนโลยี ปราศจากเทคโนโลยีและทำงานก็ต้องใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปกับการอยู่เวร” น.ส.นารี กล่าว
น.ส.นารี กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของกฎหมายฉบับนี้ที่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เป็นแกนของกระบวนการยุติธรรมทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อตำรวจอัยการ หรือศาล แต่ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อตำรวจ อัยการ และศาลร่วมมือกัน จะนำไปสู่ความยุติธรรมที่ดีขึ้น กฎหมายดีอยู่แล้ว แต่ความยุติธรรมที่ดีขึ้น สำคัญยิ่งกว่าการมีกฎหมาย กฎหมายฉบับนี้จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ คือ จะต้องมีการรับรู้เชื่อมโยงข้อมูลโดยระบบ IT” น.ส.นารี กล่าว
ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนเดิม
นอกจากนี้ ยังมีงานเสวนาเรื่อง Moving Forward to the Better Justice : ความยุติธรรมบนการก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนเดิม
พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมาผบ.ตร.คนเก่าได้พัฒนาให้มีระบบแจ้งความออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพักอีก และคดีออนไลน์ในช่วงระหว่าง 1 มี.ค. 2565 - 17 มี.ค. 2566 มีคดีสะสมถึง 222,431 คดี จึงเกิด พ.ร.บ.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ในปัจจุบันคนร้ายมีความเก่งกาจมากขึ้นตำรวจต้องเร่งความเก่งกาจให้ทันคนร้าย แต่ทางตำรวจยังช้า ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน จึงอยากจะเสนอว่าให้หลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ประชุมหารือกันบ่อย ๆ ร่วมถึงบูรณาการ เพื่อเก็บตกปัญหาต่าง ๆ หรือมีมาตรการเพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉบับนี้ และให้ช่วยกันปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมเขียนอำนาจหน้าที่กระทรวงยุติธรรมมีอยู่ 2 ประการ 1.การบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรม 2.อำนวยความยุติธรรม โดยกระทรวงยุติธรรมมี 10 กรม 2 องค์การมหาชน สามารถจัดกลุ่มการบริหารและอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมได้ในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นยันปลาย มีหน่วยงานอำนวยความยุติธรรมเช่น DSI สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำหน้าที่พิสูจน์หลักฐานนำวิทยาศาสตร์มาอำนวยความเป็นธรรมให้กับสังคม ในด้านปรับเปลี่ยนตัวองค์กรก็คือทำอย่างไรให้หน้าที่ภายในกิจกระทรวงยุติธรรมสามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ตรงนี้คิดว่าการเข้าถึงของประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดสามารถเข้าถึงสามารถเข้าใจและใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ นี่เป็นสิ่งที่กระทรวงยุติธรรมต้องมองไปในอนาคตข้างหน้า เราจะต้องปรับเปลี่ยนภารกิจอย่างก้าวกระโดดเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเร็วมาก
นายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร เลขาสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการไม่ว่าจะยากดีมีจนก็แล้วแต่ ซึ่งเรามีการบัญญัติต้องจัดกระบวนการในเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน และประชาชนต้องสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยง่ายและสะดวกและไม่มีค่าใช้จ่าย ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเทคโนโลยีสาระสนเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะฉะนั้นในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมศาลจะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ที่เราเรียกตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมของไทย ปัจจุบันมองว่าเป็นอย่างไร
รุก รับ ปรับ เปลี่ยน ก้าวให้ทันเทคโนโลยี
ต่อมา มีการเสวนาเรื่อง Resilience OAG : รุก รับ ปรับ เปลี่ยน ก้าวให้ทันเทคโนโลยี หมุดหมาย และฉากทัศน์แห่งโลกอนาคต
โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเห็นแนวโน้มของโลกที่ไม่ค่อยปกติ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ aging Society เรื่องของแรงกดดันที่เกิดขึ้น เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและเรื่อง Climate Change โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่โตขึ้นในช่วงที่มีปัญหาโควิด เราต้องเดินหน้าในแง่ของการที่ต้องปรับเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในด้านการเกษตรมากขึ้น นอกจากนี้เราควรตั้งเป้าหมายว่าเราจะเดินหน้าประเทศอย่างไรเพราะตอนนี้เราพยายามที่จะปรับโครงสร้างเพื่อเดินหน้าประเทศไปสู่ ได้รายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับหลัก SDGs มากขึ้น
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า โลกในปัจจุบันมันผันผวนและไม่มีทางเดาได้ว่าปัจจุบันว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือเรื่องธนาคารในสหรัฐอเมริกาล่ม ซึ่งการผันผวนไม่แน่นอนนี่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวเร็ว
ในเรื่องงบประมาณของภาครัฐที่ผ่านมา รัฐเก็บภาษีทางรถยนต์ น้ำมัน แต่ในอนาคตมีแนวโน้มการใช้น้ำมันลดลง และรถยนต์น้อยลงอาจจะส่งผลให้รายได้ของรัฐน้อยลง ดังนั้นต้องส่งเสริมด้านสุขภาพ และ Soft Power มาเป็นรายได้ใหม่ทดแทนในอนาคต
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องแรกการจัดการ เรื่องที่ 2 ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้อย่างชัดเจนขึ้น การแจกเงินไม่ใช่การแก้ปัญหา เรื่องที่ 3 ความขัดแย้งที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องความขัดแย้งมาจากความมิติหนึ่งก็คือการที่คนจำนวนมากมารวมกันซึ่งมีพื้นฐานแตกต่างกันแล้วมาอยู่รวมกันจึงมีความขัดแย้ง เทคโนโลยีก็มีส่วนที่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมากขึ้น สื่อและเทคโนโลยีนำคนที่มีความคิดเหมือนกันไปอยู่รวมกัน คุณเกลียดใครคุณก็ไปอยู่กับสื่อหนึ่ง ซึ่งจะทำให้สังคมแตกแยกมาก เรื่องที่ 4 เศรษฐกิจของโลก ในตอนนี้เขาไม่ได้แข่งกันเรื่องการลงทุน แต่เป็นการแข่งกันหาคนเก่งมาลงทุน ถามว่ากรุงเทพฯจะอยู่รอดหรือเปล่า ประเทศไทยจะอยู่รอดหรือเปล่า คือ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถดึงคนเก่งมาอยู่ที่เมืองไทยได้มากแค่ไหน
กระบวนงาน’ และ ‘คน’ แบบไหนที่จะพาองค์กรไปสู่ทางรอด
สุดท้าย มีงานเสวนาเรื่อง Reimagine OAG: ‘กระบวนงาน’ และ ‘คน’ แบบไหนที่จะพาองค์กรไปสู่ทางรอด ทางเลือก บนเส้นทางแห่งการเปลี่ยนผ่าน
โดยนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการทำงานเพื่อที่จะตอบสนองสังคม ภาคประชาชน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานผ่านกลไกทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมมีการเคลื่อนไหวเป็นแนวทิศทางที่ดีขึ้น แต่อาจจะมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่ในเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งตรงนี้ปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนคนอื่นสามารถไปนักข่าวมีโทรศัพท์อันเดียวก็ทำข่าวได้ เผยแพร่ภายในเสี้ยววินาทีเป็นข่าวทั่วประเทศ ปัญหานี้เริ่มไม่มีการควบคุมคุณภาพของข่าวที่กระจายไปทั่วบางครั้งก็มีการชี้นำสังคม สิ่งที่ประชาชนได้รับและถูกทำให้เชื่อไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่สำนักงานอัยการได้รับ นี่คือที่เป็นปัญหาอยู่ สิ่งที่เราทำได้ คือ ประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้รวดเร็ว แล้วก็ถ้าเป็นข้อบกพร่องที่เกิดจากระบบงานหรือกระบวนงานก็ต้องมาแก้ไขที่ระบบหรือกระบวนงาน
นายสมเกียรติ คุววัฒนานนท์ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตนมองว่าการที่มีคนมองว่ากระบวนการยุติธรรมของเรามีปัญหาหรือขาดความเชื่อมั่นอะไรหรือสิ่งต่าง ๆ ในความเห็นของตนมองว่าเป็นวิวัฒนาการปกติของกระบวนการยุติธรรมของเรา กระบวนการยุติธรรมของเรามันเป็นไปในแง่ที่ดี เราจะเห็นว่าโลกและสังคมเราเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เฉพาะการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบการซักถามการเข้าถึงของประชาชนผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องในด้านที่ดี ถ้าประชาชนเข้าถึง ชาวบ้านเข้าถึง เราจะทำให้เกิดระบบธรรมาภิบาลมากขึ้นไม่ว่า ตำรวจ อัยการ นอกจากธรรมาภิบาลแล้วเราก็จะสร้างความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมถ้าเราไม่ตรวจสอบ ปัญหาเหล่านี้ก็มีอยู่แล้ว ในอดีตมันมีแต่เราไม่เห็นมันเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้มันมีคนเข้ามาตรวจสอบช่วยกันดูช่วยกันทวงจริง เป็นนิมิตรใหม่ที่ดีเลยมองว่ามันจะยิ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมของเราและระบบของเราเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นแต่มันก็ผ่านความเจ็บปวดตรงนี้ไปได้สักพักนึงก่อน
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับบุคลากร เราจะต้องปรับตัวอย่างมากเนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสถานการณ์สังคมปัจจุบัน ปรับความคิดของเราในส่วนของพนักงานอัยการว่าเราจะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง
นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่าเห็นด้วยกับ 2 ท่านที่กล่าวมา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตเป็นสิ่งที่องค์กรอัยการจำเป็นต้องปรับตัว ไม่ว่าเราจะดำเนินคดีอาญาในระบบกล่าวหาหรือระบบไต่สวน ต้องถามตัวเองว่าเรามีทักษะที่จะดำเนินคดีในทั้งสองระบบมากน้อยเพียงใด ดังนั้นทักษะของคนในองค์กรตนคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้านี้ นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการนำระบทัฟฟี่ฟองดูมาใช้งาน