อสส.จัดเสวนา 'Stronger OAG Symposium 2023 : A New Era of Justice' ปรับองค์กรสู่ระบบยุติธรรมยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ‘นารี’ อสส. เผยช่องโหว่กระบวนการในการแจ้ง อัยการยังไม่ชัดเจน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ยังไม่สมบูรณ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค 2566 สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาทางวิชาการ ‘Stronger OAG Symposium 2023 : A New Era of Justice’ นำเสนอทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรอัยการ ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2566 - 2580) และแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 - 2570) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่บุคลากรในองค์กรอัยการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในการสร้างสรรค์แนวทางในการดำเนินงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมในยุคใหม่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรอัยการ ระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566 - 2580) และแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ 'เป็นองค์กรแห่งความยุติธรรมของสังคมเพื่อความมั่นคงของชาติและความสุขของประชาชน' ซึ่งจะได้เริ่มนำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่าง 1 ของสำนักงานอัยการสูงสุดในปีงบประมาณนี้ ประกอบกับในวันที่ 1 เม.ย. 2566 เป็นวันสถาปนาองค์กรอัยการ ครบรอบ 130 ปี จึงได้ถือโอกาสนี้จัดกิจกรรมการเสวนาวิชาการ 'Stronger OAG Symposium 2023 : A New Era of Justice' ขึ้น เพื่อเป็นการสื่อสารทิศทาง การนำองค์กร ถ่ายทอดยุทธศาสตร์ฯ และแผนปฏิบัติราชการดังกล่าวแก่บุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งเผยแพร่ให้แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์แนวทางในการดำเนินการเพื่ออำนวยความยุติธรรมในอนาคตต่อไปในทุกมิติ
น.ส.นารี กล่าวต่อว่า การผลัดเปลี่ยนของระเบียบโลกใหม่ (New World Order) และการเกิดขึ้นของสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้การดำรงชีวิตของผู้คนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำงานที่ไม่จำกัดสถานที่จากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) การประชุมออนไลน์ (Online Meeting) การปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อันเกิดจากความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง การเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลต่อทิศทางการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานขององค์กรทั้งสิ้น การตระหนักรู้ (Self-Awareness) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะต้อง 'รุก รับ ปรับ เปลี่ยน' คือ ปฏิบัติงานเชิงรุก พร้อมรับในสิ่งใหม่ ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า สร้างองค์กรอัยการ ให้เข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมในยุคสมัยใหม่
ทั้งนี้ ภายในงาน น.ส.นารี กล่าว ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘ดุลยภาพแห่งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย’ ว่า
กฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน จากการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมระหว่างประเทศในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของ SDGs ในข้อที่ 16 เรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
“เราคงได้ยินกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐที่เป็นคดีดังไปทั่วโลก คือ คดีของจอร์จฟลอยด์ (George Floyd) ซึ่งเป็นการที่ตำรวจจับกุมชายผิวดำจนถึงแก่ความตาย จึงนำไปสู่การเรียกร้อง Black Llive matter ประเทศไทยโชคดีที่ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างรุนแรง จึงไม่มีปัญหาจากความรุนแรงการแบ่งแยกเชื้อชาติ”
“เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยกฎหมายภายในของเราเอง เราต้องตระหนักรู้ถึงกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีของสัญญาระหว่างประเทศฉบับหลัก 2 ฉบับ ฉบับแรกเรียกว่า ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม โดยฉบับแรกได้ลงนามและมีผลผูกพันกับประเทศไทยแล้ว ส่วนฉบับที่ 2 เป็นสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองประชาชนในเหตุการณ์บังคับให้บุคคลสูญหาย ประเทศไทยลงนามแล้วแต่ยังไม่ผูกพัน” น.ส.นารี กล่าว
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้ยอมรับหลักการของอนุสัญญา 2 ฉบับ เห็นได้จากหลักการที่อยู่ในรัฐธรรมนูญว่าสิทธิของประชาชนย่อมได้รับการคุ้มครอง และป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย
น.ส.นารี กล่าวอีกว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่อยู่ในส่วนหนึ่งของ สายธาร กระบวนการยุติธรรม คือ ‘คดีถุงดำ’ ที่ถูกจับกุมโดยใช้ถุงดำครอบศีรษะจนถึงแก่ความตาย สิ่งสำคัญคือ CCTV ที่อยู่ที่สถานีตำรวจ ท้ายสุด ศาลก็ลงโทษตำรวจที่กระทำผิดก็คือจำคุกตลอดชีวิต หรือคดีจอร์จฟลอยด์ ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงการมีกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานหรือการบังคับสูญหาย จึงออก จึงออกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับปี 2566 อยากสื่อสารถึงผู้นำองค์กรถึงความพร้อมและไม่พร้อมของสำนักงานอัยการสูงสุดในขณะที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว
ขณะนี้ทั่วประเทศมีอัยการอยู่ 4,500 คนเจ้าหน้าที่ธุรการมี 5,800 คน พนักงานในองค์กรอัยการจะต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนี้ อย่างที่บอกว่า ความยุติธรรมจะอยู่เหนือตัวบทกฎหมาย โดยหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจอัยการและศาล ล้วนแต่เป็นบุคลากรหลักที่จะส่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายฉบับนี้ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในส่วนของ สำนักงานอัยการสูงสุด มีการดำเนินการด้านนโยบาย,ด้านการตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคล ,การสอบสวนการดำเนินคดีความผิด,การคุ้มครองเยียวยาความเสียหายต่อผู้เสียหายและ ด้านต่างประเทศ
ในด้านนโยบายผู้บริหารทั่วประเทศ ถึงพนักงานอัยการระดับปฏิบัติการ จะมีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงและรับเรื่องการตรวจสอบร้องเรียนจากการกระทำเสียหายจากการทรมานและสูญหาย
ในด้านการตรวจสอบการควบคุมบุคคลคือ กฎหมายระบุว่าต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะจับกุมหรือควบคุมตัว ไม่มีการตัดต่อ จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งพนักงานอัยหลังจากที่มีการบันทึกภาพและเสียงเสร็จ แต่อย่างไรก็ตามอัยการได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัว กฎหมายไม่ได้บอกว่าให้รับแจ้งโดยระบบดิจิทัล หรือระบบแมนนวล ซึ่งจะเห็นได้ถึงความไม่สมบูรณ์ที่กฎหมายฉบับนี้
“ตรงนี้เป็นส่วนที่ดิฉันขอ comment อย่างเป็นส่วนตัวว่ายังเห็นความไม่สมบูรณ์ และต้องการให้กฎหมายฉบับนี้บรรลุวัตถุประสงค์เต็มร้อยตามที่กฎหมายฉบับนี้ได้เกิดขึ้น” น.ส.นารี กล่าว
เช่นที่เขียนว่า พนักงานอัยการอาจรับทราบพบเห็น เหตุการณ์ซ้อมทรมานโดยอัยการจะเป็นผู้ตรวจสอบว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ถ้ามีอัยการจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ เพื่อสั่งยุติการกระทำเช่นนั้นทันที เเต่ในข้อเท็จจริงอย่างในต่างจังหวัดที่อัยการกับศาลจะมีระยะทางห่างกันซึ่งคำว่าทันทีจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มีระบบดิจิทัล
ถ้าประชาชนจะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายจะต้องมีการเชื่อมต่อตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นว่าในความเป็นจริงแล้ว ถ้อยคำในตัวบทเขียนไว้ เเต่เหตุการณ์จริงจะไปสั่งยุติทันได้อย่างไรหากต้องส่งคำร้องเป็นกระดาษ เรื่องนี้บางครั้งก็ดูง่าย แต่ต้องดูความเป็นไปได้
สิ่งที่เราอยากได้ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่งบประมาณ ในฐานะผู้บริหารดีใจที่ได้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของสำนักงานอัยการสูงสุดและหน่วยงานต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามการให้งบในส่วนนี้ ว่าไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือไม่ยินดี คือได้เข้าเวร ทั้งอัยการและเจ้าหน้าที่ธุรการ จุดประสงค์ของการมีกฎหมายฉบับนี้ ต้องเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่แน่ใจ
“การอยู่เวรไม่ได้สำคัญเท่ากับการเข้าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันที สิ่งสำคัญคือต้องมีระบบเทคโนโลยี ปราศจากเทคโนโลยีและทำงานก็ต้องใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปกับการอยู่เวร” น.ส.นารี กล่าว
น.ส.นารี กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของกฎหมายฉบับนี้ที่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เป็นแกนของกระบวนการยุติธรรมทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อตำรวจอัยการ หรือศาล แต่ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อตำรวจ อัยการ และศาลร่วมมือกัน จะนำไปสู่ความยุติธรรมที่ดีขึ้น กฎหมายดีอยู่แล้ว แต่ความยุติธรรมที่ดีขึ้น สำคัญยิ่งกว่าการมีกฎหมาย กฎหมายฉบับนี้จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ คือ จะต้องมีการรับรู้เชื่อมโยงข้อมูลโดยระบบ IT” น.ส.นารี กล่าว