"...หัวเราะ เป็นกิริยาอาการของทางธรรมชาติของมนุษย์ สะท้อนถึงจิตใจที่ร่าเริงเป็นสุขของเจ้าของเสียงหัวเราะ แสดงถึงความสมบูรณ์ทางจิตใจ เป็นสายใยแห่งความเข้าใจผู้อื่น..."
'ร้องไห้' เป็นด้านตรงข้ามกับ 'หัวเราะ' ทั้งสองด้านตรงกันข้ามควรมีอยู่คู่กัน หรือเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กัน เช่นดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ มืดกับสว่าง โศกกับสุข แต่ร้องไห้กับหัวเราะไม่ใช่เช่นนั้น
เด็กแรกเกิดจากครรภ์มารดา ทันทีที่กายเด็กปรากฏ เด็กจะร้องไห้ส่งเสียงดัง ถ้าทารกคนไหนไม่ร้อง หมอ พยาบาลหรือญาติก็จะตบก้น หรือจับทารกพาดไหล่ขย่มตัวให้เด็กร้อง เด็กส่งเสียงร้องไห้เมื่อไร ก็สบายใจได้ว่าเด็กรอดแล้ว
พูดบนพื้นฐานความเชื่อทางพุทธศาสนา ร้องไห้แรกของทารก สะท้อนว่าการเกิดเป็นทุกข์ ซึ่งตามมาด้วย แก่ เจ็บ ตาย และคนเราจะล่วงทุกข์ได้ด้วยการบรรลุถึงความเข้าใจในอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทำไมทารกแรกเกิดจึงร้องไห้แต่ไม่หัวเราะ กว่าจะหัวเราะก็ล่วงไป 3-4 เดือน ทารกจึงยิ้มและหัวเราะได้
เมื่อหันไปปรึกษาตำราได้ความว่า
“ร้องไห้เป็นพฤติกรรมทางสัญชาตญาณ ที่จำเป็นเพื่อแสดงว่าทารกจะอยู่รอด เมื่อทารกร้องไห้ เขาต้องการสื่อความต้องการและความคับข้องเพื่อเรียกหาความใส่ใจที่จำเป็นจากคนที่เกี่ยวข้อง ในทางตรงกันข้าม หัวเราะเป็นพฤติกรรมที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และปฏิบัติ ทารกจะยิ้มหรือแสดงอาการดีใจกับประสบการณ์ที่ถูกใจ ทารกจะไม่ยิ้มจนกว่าเวลาจะล่วงไปราว 3-4 เดือน ความสามารถที่จะหัวเราะ จึงต้องการการรับรู้และการพัฒนาทางอารมณ์มากกว่าการร้องไห้”
หัวเราะ เป็นกิริยาอาการของทางธรรมชาติของมนุษย์ สะท้อนถึงจิตใจที่ร่าเริงเป็นสุขของเจ้าของเสียงหัวเราะ แสดงถึงความสมบูรณ์ทางจิตใจ เป็นสายใยแห่งความเข้าใจผู้อื่น
นักจิตวิทยาบอกว่า เมื่อเราหัวเราะ ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความปิติ เรียกชื่อว่า เอนโดร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นเพชฌฆาตความเจ็บปวด ทำให้เราอารมณ์ดี สมองจะถูกกระตุ้นให้มองโลกในแง่ดี ความเครียดลดลง ความซึมเศร้าหายไป ความจำดีขึ้น การขยับกล้ามเนื้อบริเวณปากและใบหน้า รวมถึงการโยกตัวไปมาทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันจะดีขึ้นด้วย
นี่เป็นแง่มุมคุณูปการทางสุขภาพ
ความจริงหัวเราะ ยังมีมิติอื่นๆ อีกหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น
-หัวเราะทำได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่มีคุณค่าอเนกประการ (Laugh cost nothing but value of fortune.)
-หัวเราะสร้างความเป็นกันเองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คนทั้งกลุ่มเข้ามาใกล้ชิดกันโดยไม่ต้องร้องขอ
-หัวเราะเป็นโรคระบาดที่สังคมต้อนรับ เริ่มจากหนึ่งคน หรือ 2-3 คน จะขยายตัวไปได้แบบฉับพลัน
-หัวเราะ สร้างบรรยากาศเบาสบายปูทางให้แก่กลุ่มที่จะดำเนินกิจกรรมอะไรอื่น ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วรรณกรรมหัวเราะ
ครูอบ ไชยวสุ เป็นนักเขียนยุคเดียวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ชอบเขียนเรื่องขบขันโดยใช้นามปากกาว่า 'ฮิวเมอริสต์' ให้ข้อคิดว่า
“ผู้ที่เขียน เรื่องให้ขบขัน คือ ผู้ที่เห็นขันในเรื่องธรรมดา แล้วถ่ายทอดให้ผู้อ่านเห็นขันได้ และการเขียนเรื่องขบขัน ควรอิงเรื่องความจริง แต่ต้องเป็นเรื่องเกินจริง หย่อนความจริง หรือผิดความจริง”
ทำให้นึกถึงวรรณกรรมล้อเลียนเรื่อง 'ระเด่นลันได' ของมหามนตรี (ทรัพย์) ที่เป็นบทละครสมัยต้นรัตนโกสินทร์
“มาจะกล่าวบทไป ถึงระเด่นลันไดอนาถา
เสวยราชย์องค์เดียวเปลี่ยวรำภา ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์
อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม คอยปราบปรามปัจจามิตรที่คิดร้าย
เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง เป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย
ไม่มีใครชิงชังทั้งหญิงชาย ต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี
พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์ ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่
บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณี ภูมีซบเซาเมากัญชา....”
ได้อ่านระเด่นลันไดทีไร ก็รู้สึกขำกลิ้งเมื่อนั้น สะท้อนถึงเรื่องอิงความจริงที่เขียนให้เกินจริงกลายเป็นความสนุกสนาน
ใช่หรือไม่ว่า
1.หัวเราะคลี่คลายสถานการณ์
เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2518 มีอยู่ช่วงหนึ่ง รัฐบาลกำลังจะแถลงเรื่องสำคัญที่สังคมรอคอย สื่อมวลชนเฝ้ารอทำข่าว
ตอนนั้นเพลง 'รักสิบล้อ รอสิบโมง' ของรอแยลสไปรท์ กำลังดังมาก
พอได้จังหวะ นักข่าวรุมกันเซ้าซี้นายกฯ ให้แถลงเพราะรอมาหลายวันแล้ว นายกฯตอบนักข่าววรรคเดียวว่า “รักสิบล้อ ต้องรอสิบโมง”
นักข่าวเฮกันลั่น ไม่มีใครกล้าถามอะไรต่อ
ในปี 2518 นั้นเอง พลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ เป็น ผบ.ทบ. ปรากฏว่ามีปรากฏการณ์เคลื่อนย้ายขบวนรถถังและรถทหาร ผู้คนพากันตกใจ นายกฯกลับจากต่างประเทศมาถึงดอนเมือง
นักข่าวยิงคำถามแรกทันทีว่า
“ท่านนายกฯทราบไหมครับ ทหารกำลังเคลื่อนกำลัง มีข่าวว่าจะเกิดรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลนะครับ”
นายกฯ อ. คึกฤทธิ์ หัวเราะแล้วสวนกลับทันทีว่า
“ก็ผมสั่งเขาเองนะ”
กองทัพนักข่าวเฮลั่นอีกครั้ง โดยไม่มีใครติดใจที่จะซักถามอะไรอีกต่อไป
หัวเราะคลี่คลายสถานการณ์ได้จริง
2.หัวเราะเปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี
หลายปีก่อนรับเชิญไปบรรยายให้กับสจ๊วตและแอร์โฮสเตสของสายการบินในประเทศ แห่งหนึ่ง
สจ๊วต คนหนึ่งออกมาเล่าถึงประสบการณ์ตรงของการบริการว่า
“ขณะที่เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ฟ้าจากกระบี่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพ พอบินได้ระดับ ผมเข็นรถอาหารกล่องไปเสิร์ฟผู้โดยสาร ฝรั่งคนหนึ่งเปิดกล่องแซนด์วิชที่เพิ่งเสิร์ฟ เห็นมียุงตัวหนึ่ง ตายติดฝากล่องสีขาวด้านใน ก็ส่งเสียงดังประจานว่า
‘Mosquito Mosquito’
ผมรีบหยิบกล่องใหม่ เปิดดูก่อนให้แน่ใจว่าเป็นกล่องที่สะอาด แล้วยื่นเปลี่ยนให้พร้อมกับพูดว่า
‘The mosquito want to go to Bangkok’
ผู้โดยสารบริเวณนั้น หัวเราะลั่น ขณะที่ฝรั่งคนนั้นยิ้มกว้างแล้วยกนิ้วโป้งให้ผม เหมือนจะสื่อว่า ‘นายแน่มาก’
เหตุร้ายกลายเป็นดีในบัดดล ด้วยเสียงหัวเราะ ฝรั่งคนนั้นไม่มีเหตุผลที่จะมีอารมณ์โกรธอีกต่อไป”
3.หัวเราะนำไปสู่ความเสมอภาคอย่างฉับพลัน
ประเด็นนี้ยังไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึง หรือเขียนถึง
วันหนึ่งบนรถทัวร์ไปเที่ยวต่างจังหวัด มีทั้งผู้อาวุโส และวัยกลางคน ราว 50 คน หลังจากรถแวะจอดที่ปั๊มน้ำมันให้ผู้คนถ่ายทุกข์และซื้อกาแฟ พอขึ้นบนรถพร้อมไปต่อ หัวหน้าคณะส่งไมโครโฟนมาให้ผู้เขียนพร้อมประกาศดังๆ ว่า “เชิญพูดอะไรก็ได้”
เมื่อถูกท้าทายอย่างนี้ ผู้เขียนจึงตั้งหลักด้วยคำถามกับทุกคนว่า
“เมื่อสักครู่เข้าห้องน้ำ สังเกตไหมว่า ห้องน้ำผู้หญิงจะอยู่ด้านขวา ส่วนผู้ชายต้องเดินไปห้องน้ำที่อยู่ด้านซ้าย ทำไมเขาออกแบบแยกซ้ายขวาตามเพศไว้อย่างนี้”
บางคนว่าเป็นเรื่องของ สมองสองซีก บางคนเดาตอบอย่างอื่น ชายคนหนึ่งตอบอย่างฉาดฉานว่า “Woman is always right” (ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกต้องเสมอ)
เท่านั้นเองทุกคนในรถฮากันลั่น ผู้หญิงหลายคนตบมือชอบใจ ยกนิ้วโป้งให้ผู้ตอบ
ผู้เขียนเล่าต่อว่า
“เมื่อ 4 เดือนก่อนนี้เอง ผมมีอันจะต้องไปอวยพรหลานสาวที่แต่งงานกับชาวฮอลแลนด์ จัดที่โพธาลัยปาร์ค ตอนท้ายของคำอวยพร ผมหันไปแซวเจ้าบ่าวว่า
‘In Thailand we have two rules for a happy couple. Rule no.1 , The wife is always right.’
เจ้าบ่าวพยักหน้ายิ้มรับ เจ้าสาวยิ้มกว้างกว่า ผู้เขียนพูดต่อว่า
Rule no.2 , If the wife is wrong , see rule no.1”
พอพูดจบตรงนี้ แขกแทบทุกคนหัวเราะดังลั่นไปทั่วห้องจัดเลี้ยง ญาติผู้ใหญ่จากฮอลแลนด์ 3 คน ทั้งปรบมือ หัวเราะและโยกตัวอย่างสบอารมณ์ เจ้าสาวหัวเราะเสียงใสและปรบมือไปด้วย ส่วนเจ้าบ่าวยิ้มรับโดยดุษณี
สังเกตได้ว่าทุกคนมีหัวเราะเป็นอารมณ์ร่วมโดยมิได้นัดหมาย ไม่แยกหญิงชาย ไม่แยกวัย ไม่มีชนชั้น ไม่แยกศาสนาและความเชื่อใดๆ เป็นความเสมอภาคอย่างแท้จริงที่ทุกคนเข้าถึงได้แบบฉับพลัน โดยไม่ต้องบอกกล่าว ไม่ต้องร้องขอ
สิ่งที่เรียกว่า สัญญาประชาคม ของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ ที่พูดถึง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ นั้น อาจนำเอาหัวเราะมาอธิบาย โดยเทียบเคียงได้
คนเรามีเสรีภาพ ที่จะยิ้มและหัวเราะตั้งแต่ยังเป็นทารก แต่เมื่อโตขึ้น อายุมากขึ้นคนเรา กลับยิ้มและหัวเราะน้อยลง ทั้งๆที่ “เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์...” (บทแปลอังกฤษเป็นไทยของ หลวงวิจิตรวาทการ)
หัวเราะ เปิดทางสะดวกให้แก่ความเสมอภาค ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่เราก็ยังไม่ได้ให้คุณค่าของหัวเราะในมุมนี้เท่าที่ควร
หัวเราะ สามารถสร้างสรรค์ภราดรภาพ ก่อเกิดไมตรีจิตและความเป็นกันเองได้อย่างเป็นไปเอง แต่คนเราจำนวนหนึ่งกลับเลือกใช้โทสาคติและอคติมาแทนที่การหัวเราะ
สำหรับผู้คนจำนวนหนึ่ง โลกที่ควรเบิกบานสดใส จึงกลายเป็นโลกแห่งความหมองหม่น หรือมิใช่