"...นิวพอร์ต ได้กล่าวว่า หากเราไม่แน่ใจว่างานใดต้องทำงานแบบดำดิ่ง ให้จิตนาการไปถึงช่วงเข้าทำงานใหม่ ๆ เป็นน้องหน้าใส และลองประมาณคร่าว ๆ ว่า เราต้องใช้เวลานานแค่ไหนกับการทำงานที่ได้รับมอบหมาย หากงานนั้นต้องใช้เวลานาน เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญหรือทักษะเฉพาะ ต้องอาศัยประสบการณ์ที่สะสมมา งานชิ้นนั้นถือได้ว่าเป็นงานที่จะสร้างคุณค่าให้กับตนเองและองค์กร ต้องใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ถือเป็นงานที่ต้องดำดิ่ง..."
สัปดาห์ที่แล้วผมได้เขียนถึงการทำงานแบบ 'ดำดิ่ง' (Deep Work) การทำงานในภาวะที่มีสมาธิจดจ่อและปราศจากสิ่งรบกวน ซึ่งก่อนที่จะอธิบายถึงกฎ 4 ข้อที่ แคล นิวพอร์ต (Cal Newport) ได้เขียนไว้ในหนังสือ Deep Work เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างดำดิ่ง พวกเราคงมีคำถามค้างคาใจว่างานในลักษณะใดควรจะเข้าลักษณะการทำงานแบบดำดิ่ง
นิวพอร์ต ได้กล่าวว่า หากเราไม่แน่ใจว่างานใดต้องทำงานแบบดำดิ่ง ให้จิตนาการไปถึงช่วงเข้าทำงานใหม่ ๆ เป็นน้องหน้าใส และลองประมาณคร่าว ๆ ว่า เราต้องใช้เวลานานแค่ไหนกับการทำงานที่ได้รับมอบหมาย หากงานนั้นต้องใช้เวลานาน เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญหรือทักษะเฉพาะ ต้องอาศัยประสบการณ์ที่สะสมมา งานชิ้นนั้นถือได้ว่าเป็นงานที่จะสร้างคุณค่าให้กับตนเองและองค์กร ต้องใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ถือเป็นงานที่ต้องดำดิ่ง ในขณะที่งานบางชิ้นอาจใช้เวลาไม่นาน สามารถเรียนรู้ได้เร็ว เพราะไม่ซับซ้อนและไม่ต้องอาศัยการคิดอย่างลึกซึ้ง ไม่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญ งานลักษณะนี้น่าจะถือว่าเป็นงาน 'ทั่วไป' (shallow work)
ลองมาพิจารณางาน 3 ชิ้น คือ 1. งานแก้ไขบทความวิชาการที่กำลังจะจัดส่งให้วารสารพิจารณาตีพิมพ์ 2. การจัดทำ PowerPoint นำเสนอยอดขายเพื่อเตรียมเสนอในที่ประชุม และ 3. การเข้าร่วมประชุมเพื่อทราบถึงความคืบหน้าของโครงการ และสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งผมคงไม่ต้องเฉลยนะครับว่า งานชิ้นไหนที่ต้องใช้วิธีการทำงานแบบดำดิ่ง
สำหรับกฎ 4 ข้อที่นิวพอร์ตได้แนะนำเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างดำดิ่ง คือ 1. ทำงานอย่างมีสมาธิ จดจ่อ 2. เปิดใจรับความเบื่อ 3. บอกลาโซเชียลมีเดีย และ 4. ละ ลด เลิก งานแบบทั่ว ๆ ไป สรุปแบบง่าย ๆ กฎข้อที่ 1 เริ่มต้นที่การจัดการตัวเราเองให้มีสมาธิ จดจ่อ ทำให้ไม่มีข้อแก้ตัวในการทำงานแบบดำดิ่ง ตั้งแต่การสร้างบรรยากาศรอบตัวให้ปราศจากสิ่งเร้า เราไม่จำเป็นต้องปลีกวิเวกเหมือนกับ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ไปพักในโรงแรมหรูเพื่อเขียนหนังสือ “Harry Potter” แต่หาสถานที่ทำงานที่เราจะมีสมาธิ ไม่วอกแวก และที่สำคัญต้องมีการบริหารจัดการเวลาที่จะทำงานแบบดำดิ่งให้ได้
กฎข้อที่ 2 ถือเป็นเรื่องที่ต้องฝืนใจตัวเองจริง ๆ เพราะเมื่อเราดำดิ่งกับการทำงานไปซักพัก จะเริ่มรู้สึกเบื่อ อยากจะพุ่งขึ้นมาแตะขอบสระบ้าง ดังนั้น หากไม่สามารถจะละทิ้งการทำงานทั่ว ๆ ไปในขณะทำงานดำดิ่งได้ ก็ควรกำหนดเวลาพักให้ชัดเจนไปเลยว่าทุก ๆ 30 นาที หรือหลังจากเราเขียนรายงานเสร็จ 1 บท เราจึงจะหยิบมือถือขึ้นมาดู ตั้งกฎกับตัวเองให้ลงมือทำงานแบบดำดิ่งอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัย นิวพอร์ตกล่าวว่า “อย่ากำหนดเวลาเพื่อวางมือจากสิ่งรบกวน แต่ให้กำหนดเวลาเพื่อวางมือจากการจดจ่อ” เพราะจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราทำงานแบบดำดิ่ง เหมือนกับเป็นการให้รางวัลกับตัวเองเมื่อเราได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับกฎข้อที่ 3 น่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดคือ การบอกลาโซเชียลมีเดีย ในช่วงการทำงานแบบดำดิ่ง (ไม่ได้บอกให้เลิกใช้แบบถาวรนะครับ) ขอให้กลับขึ้นไปอ่านกฎข้อที่ 2) หากหักห้ามใจกันไม่ได้จริง ๆ คงต้องทำดีท็อกซ์เหมือนกับแบบอื่น ๆ เรียกว่า “Internet Detox” ด้วยการกำหนดอย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่ง หรือ 1 วันในสัปดาห์ ที่เราจะใช้ชีวิตแบบ offline ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ไม่เล่นคอมพิวเตอร์ คือเราไม่จำเป็นต้องฆ่าเวลา หรือแก้เหงาด้วยการหยิบมือถือขึ้นมาไถตลอดเวลา สมัยก่อนเราไม่มีมือถือเรายังหาอะไรทำได้ และอยู่กับมันได้ ปัจจุบันช่วงเวลาที่ผมเป็นประธานการประชุมจะวางโทรศัพท์ไว้ที่โต๊ะทำงาน เพราะอยากจะมีสมาธิกับการประชุม ในขณะที่การเขียน Weekly Mail จะเลือกทำงานบน Laptop แบบ offline จะได้ไม่เผลอไปท่องอินเทอร์เน็ต
ท้ายสุดคือกฎข้อที่ 4 คือ การละ ลด เลิก งานแบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งแต่ละคนคงต้องหาวิธีในแบบตัวเอง แต่ก่อนที่จะด่วนสรุป และละทิ้งงานทั่วไปได้ทั้งหมด อยากจะทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเช็คอีเมล การวางแผนการประชุม หรืองานทั่ว ๆ ไป เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ประเด็นคือ เราจะจัดการตัวเองได้อย่างไร ให้สามารถมีช่วงเวลาในการทำงานแบบดำดิ่งต่างหาก
ปัจจุบัน หลายองค์กรในต่างประเทศเริ่มหันมาทบทวนรูปแบบการทำงานรูปแบบใหม่ ด้วยการลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออีกนัยยะหนึ่งคือ ใช้เวลาทำงานให้น้อยที่สุด เพื่อการละ ลด เลิก งานแบบทั่ว ๆ ไป ให้มีเวลาดำดิ่งไปกับงานสำคัญ ทั้งนี้ เจสัน ฟรายด์ (Jason Fried) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท BestCamp ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในสหรัฐฯ หนึ่งในบริษัทที่ปรับวันทำงานเหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “มีพนักงานน้อยคนที่จะได้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงจริง ๆ ถ้าเราเหลือเวลาทำงานแบบดำดิ่งได้ 2-3 ชั่วโมง ถือว่าเก่งแล้ว เพราะแต่ละวัน ต้องวุ่นวายกับการประชุม ถูกรบกวนจากสารพัดสิ่งเร้า ตรวจสอบอีเมล ท่องโลกโซเชียล พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงการจัดการธุระส่วนตัว ดังนั้น การลดวันทำงาน และทำให้พนักงานได้เคารพเวลาของตัวเองมากขึ้น และทำให้เวลาเป็นของมีค่า มีข้อจำกัดและมุ่งเน้นกับการทำงานที่ดำดิ่งมากขึ้น”
ตามที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า การทำงานแบบดำดิ่ง คือ การทำงานที่ต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญ ซึ่งไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์ แต่เกิดจากความมุ่งมั่น และจดจ่อ ไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps) นักกีฬาว่ายน้ำชาวอเมริกันและได้รับการยกย่องให้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ สมัยเด็ก คุณหมอบอกว่าเฟลป์สเป็นโรคสมาธิสั้น เขาเริ่มว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 7 ปี และว่ายไม่หยุด ว่ายทุกวัน 365 วันต่อปี มุ่งมั่นทุ่มเท จดจ่ออยู่เรื่องเดียว (deep work) ภายใต้การฝึกสอนของโค้ช บ็อบ โบว์แมน (Bob Bowman) ภายใน 5 เดือนถัดมา เฟลป์ส สามารถสร้างชื่อในวงการว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถทำลายสถิติโลกในรายการ ผีเสื้อ 200 เมตร ด้วยวัยเพียง 15 ปี 9 เดือน ทำให้เฟลป์สเป็นเจ้าของสถิติที่อายุน้อยที่สุด
ลองถามตัวเองว่า เราพร้อมที่จะก้าวข้ามภาวะความกดดันทางจิตใจ เพื่อทำงานแบบดำดิ่งกับงานที่มีคุณค่า ทำให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะต่าง ๆ และทำให้องค์กรและตนเองขับเคลื่อนไปข้างหน้าหรือยัง ตามคำกล่าวของ วินิเฟรด กัลป์ลาเกอร์ (Winifred Gallagher) นักประพันธ์ชาวสหรัฐฯ ที่ว่า “ฉันจะใช้ชีวิตอย่างจดจ่อ เพราะมันคือรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่” (I’ll live the focused life,because it’s the best kind there is)
แหล่งที่มา:
- แคล นิวพอร์ต (Cal Newport), Deep Work, พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น 2022 หน้า 233-237
- แคล นิวพอร์ต (Cal Newport), Deep Work, พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล หน้า 166-168
- Deep Work : เราจะทำงานอย่างมีโฟกัสได้อย่างไรในโลกที่มีแต่สิ่งรบกวน Schoolofchangemakers, 17 มกราคม 2018
https://www.schoolofchangemakers.com/journal/2329/
- แคล นิวพอร์ต (Cal Newport), Deep Work, พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล หน้า 221-224
- แคล นิวพอร์ต (Cal Newport), Deep Work, พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล หน้า 269