"...งานที่เห็นเมื่อบ่ายถึงค่ำวันนั้น ที่สี่แยกถนนชนปรีดาถึงหอนาฬิกา ต.ปากแพรก อ.ทุ่งสง คือขบวนแห่หลายชุด เช่น หุ่นทองสูง กลองยาวผู้สูงอายุ ชุดผ้าปาเต๊ะ หนังตะลุงคน เดินผ่านอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทุ่งสงมายังเวทีหน้าหอนาฬิกา ตรงชุมทางรถไฟ ขณะที่ด้านหลังเวทีเป็นร้านค้าจำนวนกว่า 150 ร้าน ซึ่งจัดจำเพาะให้มีแต่สินค้าผลิตภัณฑ์จากชุมชนในภาคใต้เท่านั้น ตลาดไม่ต้อนรับสินค้าจากห้างใหญ่ และสินค้าจากโรงงาน เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ในมือของชาวบ้าน พื้นถิ่นอย่างแท้จริง..."
ได้เห็น ได้รู้ ได้สัมผัส 'หลาดชุมทางทุ่งสง' เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มีค. 66 ช่วงบ่ายถึงค่ำ ทำให้ผู้เขียนลองตั้งคำถามกับผู้มาชมงานว่า “หากวันข้างหน้า มีผู้มีอำนาจคนใดมาสั่งยกเลิก ‘หลาดชุมทางทุ่งสง’ อะไรจะเกิดขึ้น”
ชายคนที่ถูกถามตอบว่า “ก่อนอื่นเขาจะต้องทะเลาะกับร้านค้า ราว 200 ร้าน ที่หาอยู่หากินกับตลาดนี้มา 5 ปีแล้ว และจะมีแรงต้าน จากคนทุ่งสงทั้งหมด ที่เขารู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของตลาดวัฒนธรรมแห่งนี้แล้ว เชื่อเถอะครับ ไม่มีใครกล้ามายกเลิกหรอก มีแต่จะต้องเข้ามาส่งเสริม เกื้อหนุน ให้ตลาดรูปแบบนี้ขยายตัวออกไปให้มากยิ่งขึ้น”
'หลาดชุมทางทุ่งสง' เป็นวัฒนธรรมรังสรรค์ของชาวบ้านโดยมีประชาคมวัฒนธรรมทุ่งสงเป็นแกนกลาง
งานที่เห็นเมื่อบ่ายถึงค่ำวันนั้น ที่สี่แยกถนนชนปรีดาถึงหอนาฬิกา ต.ปากแพรก อ.ทุ่งสง คือขบวนแห่หลายชุด เช่น หุ่นทองสูง กลองยาวผู้สูงอายุ ชุดผ้าปาเต๊ะ หนังตะลุงคน เดินผ่านอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทุ่งสงมายังเวทีหน้าหอนาฬิกา ตรงชุมทางรถไฟ ขณะที่ด้านหลังเวทีเป็นร้านค้าจำนวนกว่า 150 ร้าน ซึ่งจัดจำเพาะให้มีแต่สินค้าผลิตภัณฑ์จากชุมชนในภาคใต้เท่านั้น ตลาดไม่ต้อนรับสินค้าจากห้างใหญ่ และสินค้าจากโรงงาน เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ในมือของชาวบ้าน พื้นถิ่นอย่างแท้จริง
ก่อนจะเป็น หลาดชุมทางทุ่งสง
คุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง เล่าว่า ตอนแรกๆ ทางเทศบาลมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ปัญหาขยะ ที่ต้องจัดการ ทางเทศบาลก็ลองผิดลองถูกกันมาตลอด
เมื่อวันที่ 18 กค. 58 คณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ นำโดย อ. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นำคณะมาจัดเวทีเสวนากับพี่น้องชุมชนบ้านพักรถไฟ คุยกันเรื่องวัฒนธรรมทุ่งสง โดยระดมความคิดทุกภาคส่วน มีมติให้เทศบาล แต่งตั้งคณะกรรมการประชาคมวัฒนธรรมทุ่งสง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันว่าจะกำหนดให้มีพื้นที่กิจกรรม การวางผัง 'หลาดชุมทางทุ่งสง' การคัดเลือกอาหารและผู้ประกอบการร้านค้า งานศิลปวัฒนธรรม และรายละเอียดอื่นๆโดยเทศบาลให้การสนับสนุน
จึงมีการตั้งกรรมการดังกล่าว เมื่อปี 2561 โดยมีคุณมรินทร์ ตันติชำนาญกุล (โกยี) เป็นประธานประชาคม มีตัวแทนชุมชนหลายอาชีพร่วมเป็นกรรมการ เช่น นักธุรกิจ นักประชาสัมพันธ์ นักวิจัย ศิลปิน ผู้นำชาวบ้าน คุยกันแล้วคุยกันอีกว่า จะร่วมคิดร่ามทำร่วมสร้างเมืองทุ่งสงอย่างไรดี
“ดร. ธนภณ วัฒนกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการนำทางพวกเรา โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของงานศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนเดิมที่มีค่ายิ่งของทุ่งสง เช่น อาคารโรงซ่อมหัวรถจักร (รถไฟ) อาคารยิบอินซอย อาคารธนาคารสยามกัมมาจล (ไทยพาณิชย์) แห่งแรกในต่างจังหวัด เป็นอาคารสถานที่เชิดหน้าชูตา งานศิลปวัฒนธรรม เช่น หนังตะลุง มโนรา การแสดงพื้นบ้านมากมาย อาหารท้องถิ่นนับร้อยชนิด ดร.ธนภณ ยังมีทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ใต้การสนับสนุนของ สก.สว. ในกำกับของกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้ามาสนับสนุนงานในพื้นที่ กลายเป็นพื้นที่วัฒนธรรม 'หลาดชุมทางทุ่งสง' ทุกวันอาทิตย์ วันนี้
(12 มีค. 66) เป็นครั้งที่ 219” คุณทรงชัย ย้ำ
ห่วงโซ่แห่งคุณค่า (VALUE CHAIN)
คุณมรินทร์ (โกยี) ชี้แจงว่า “ทุกชิ้นงานที่เราทำจะต้องมีข้อมูล มีการวิจัย จนได้ข้อสรุป เช่นเรื่องอาหารขายในตลาด จะเอาขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือน้ำพริกอ่อง มาขายไม่ได้ ผู้ค้าต้องยอมรับกติกาที่ประชาคมกำหนดร่วมกันว่า ตลาดต้องการขายอาหารใต้ ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่กับชาวบ้านอย่างเป็นจริง ทุนใหญ่ที่ไหนจะเข้ามาเบียดขับหรือเข้ามาครองตลาดไม่ได้ เพราะสินค้าแต่ละอย่าง เป็นการกระจายรายได้สู่ครัวเรือนและชุมชนโดยทั่วถึง
เช่นยาหนม เป็นขนมสูตรโบราณ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ทุ่งสง ต้องใช้ข้าวเหนียวดำ ต้องกวนด้วยมือนานถึง 12 ชั่วโมง และต้องใช้เตาถ่านเท่านั้น
- ต้องเป็นข้าวเหนียวดำที่ปลูกในพื้นที่
- ใช้น้ำตาลจาก จากปากพนัง
- ใช้กะทิสด ไม่ใช้กะทิกล่อง
- ใช้กาบหมากย่างไฟ แล้วใช้ห่อยาหนม
เห็นได้ว่า คนปลูกข้าวเหนียว คนกวนยาหนม คนทำน้ำตาลจาก คนคั้นกะทิ คนทำกาบหมาก รวมแล้ว 5-6 คน มีรายได้จากยาหนม”
นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย หัวหน้าทีมวิจัย เรียกว่า ห่วงโซ่แห่งคุณค่า หรือ เรียกภาษาอังกฤษว่า Value Chain ปรากฏว่า ร้านขายยาหนม สามารถขายได้ถึงครั้ง (วัน) ละ 5,000 – 6,000 บาท ใครไปถึงร้านยาหนมช้าไป ก็ไม่มีของขายแล้ว
คุณปิยะนาถ กลิ่นภักดี อดีตบรรณารักษ์ ซึ่งเป็นนักวิจัยของโครงการในพื้นที่ แจงตัวเลขว่า ยอดรายได้ตั้งแต่เปิดตลาดครั้งแรก เมื่อ 14 มค. 61 นับถึงวันนี้ มีผู้ค้าโดยเฉลี่ย 150-200 ร้านค้า มีผู้เข้าร่วมงาน 2,000-3.000 คน เฉลี่ยแล้วมีเงินหมุนเวียน ครั้ง (วัน) ละ 500,000 บาท นับถึงวันนี้ รายได้รวมมากกว่า 100 ล้านบาท
นอกจากภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นถิ่นแล้ว การแสดงพื้นบ้านต่างๆ มีทั้งถนนและเวทีเปิดพื้นที่ให้แก่การแสดงศิลปะพื้นบ้าน คนสูงวัย หนุ่มสาว และเด็กจากทุกโรงเรียน ฝึกฝนและหมุนเวียนกันมาเล่นดนตรี มโนราห์ นาฏมวยไทย หนังตะลุงคน หุ่นรูปทรงต่างๆ ทุกวันอาทิตย์
จากคุณค่าสู่มูลค่า
ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. กระทรวง อว. กล่าวเปิดงาน ในวันนั้นว่า “ผมมาหลาดชุมทางทุ่งสง เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ด้วยความภาคภูมิใจร่วมกับพี่น้องทุกคน อ.ธนภณ วัฒนกุล ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา เป็นกำลังสำคัญของโครงการ โดยนายกเทศมนตรีทรงชัย วงษ์วัชรดำรง และคุณมรินทร์ ตันติชำนาญกุล ประจำการเป็นแกนหลักในพื้นที่ และด้วยความร่วมมือของชาวทุ่งสง ทำให้ 'หลาดชุมทางทุ่งสง' เป็นต้นแบบให้แก่ 60 พื้นที่ ใน 50 จังหวัดที่เกิดขึ้นตามมา และยังจะมีพื้นที่อื่นๆ อีก ที่จะฟื้นใจเมืองตามอย่างทุ่งสง
วัฒนธรรมทุ่งสง เป็นต้นทุนที่มีคุณค่า ซึ่งถูกพัฒนาให้เป็นมูลค่าขึ้นมาแล้ว ขณะเดียวกันมูลค่าก็ย้อนกลับไปสู่การยกระดับจิตใจของผู้คนและชุมชนให้รู้สึกในคุณค่าและภาคภูมิใจในพื้นถิ่นของตนเอง จึงมีแต่เรื่องดีกับดีเกิดขึ้นในทุ่งสง”
บนเวทีเดียวกันนั้นเอง วินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติได้รับเกียรติขึ้นเวทีขับร้องเพลง 'บ้านเรา' อันเสนาะโสตยิ่งว่า “ทุ่งสง แสนสุขใจ แม้จะอยู่แห่งไหน ไม่สุขใจเหมือนทุ่งสง ..........” ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศค่ำวันนั้น ผู้คนไม่ต่ำกว่า 3,000 คน รู้สึกปิติ ไปด้วยกันทั้งหมด
เมื่อได้ชมนาฏยโนราห์ ชุดนางมโนราห์กับนายพราน อันประณีต ได้เดินตลาดที่จัดวางรูปแบบสอดประสานรับกันกับห้องแถวสองข้างอย่างสวยงาม คลาสสิค ได้เห็นรอยยิ้มแจ่มใสของผู้คนในชุดผ้าปาเต๊ะหลากสีละลานตา ได้กินยาหนมกวนมือ 12 ชม. ที่อร่อยลิ้นยิ่งนัก นอกจากจะอิ่มตาอิ่มใจแล้ว ยังรู้สึกอิ่มทิพย์ไปนานแสนนาน
ในวันนี้อลังการงานสร้าง 'หลาดชุมทางทุ่งสง' ติดลมบนแล้ว เมื่อชาวทุ่งสง ตระหนักค่าแห่งภูมิบ้านภูมิเมือง จึงพากันปักธงวัฒนธรรม ให้ปลิวไสว งามเด่นประดับหอนาฬิกา และเรียงรายไปทั่วแผ่นดินทุ่งสงเช่นนี้แล้ว ใครเลยจะกล้ามารอนรานหักหาญน้ำใจชาวทุ่งสง
ประสาร มฤคพิทักษ์