"...เวลาที่ไปอธิบายงานตามหน่วยงานต่าง ๆ มักจะมีคนกล่าวอ้างว่า ได้ยินว่ามีการซื้อนั่นนี่ หรือเวลาที่มีการอภิปรายจะมีคนพูด ถ้าติดตามสภาก็จะมีคนพูดถึง ก็เลยจัดทำระบบที่ป้องกันในเรื่องที่อาจจะเป็นไปได้ แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้มีการจับได้ เป็นการเผื่อไว้ เป็นการปิดหลุมต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดความผิดพลาดได้..."
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ทำหนังสือถึง ปลัดกระทรวง เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการ หัวหน้ารัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e- bidding) ผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP) (ระยะที่ 5) โดยระบุว่า ด้วยมีการกล่าวอ้างจากบุคคลภายนอกว่า มีการรั่วไหลของข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) เช่น ข้อมูลผู้ซื้อเอกสารหรือผู้ดาวน์โหลดเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายได้เสนอราคาในระบบ e-GP เป็นต้น ประกอบกับระบบ e-GP มีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของระบบ e-GP ลดลง
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีประเด็นข้อกล่าวอ้างดังกล่าว และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานผ่านระบบ e-GP จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 46 ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 9 และข้อ 10 ดำเนินการปรับปรุงระบบ e-GP และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในระบบ e-GP
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐดังกล่าว
มีรายละเอียดดังนี้
อิศรา: ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบ?
นางสาวกุลยา: "ไม่ได้ทราบว่ามีข้อมูลรั่วไหล แต่มักจะมีคนกล่าวอ้างว่ามีข้อมูลรั่วไหล เราก็เลยป้องกันการกล่าวอ้างว่ามีข้อมูลรั่วไหลด้วยการแก้ระบบ"
อิศรา: คนที่บอกว่าข้อมูลรั่วคือใคร?
นางสาวกุลยา: "เป็นการทั่วไป เวลาที่ไปอธิบายงานตามหน่วยงานต่าง ๆ มักจะมีคนกล่าวอ้างว่า ได้ยินว่ามีการซื้อนั่นนี่ หรือเวลาที่มีการอภิปรายจะมีคนพูด ถ้าติดตามสภาก็จะมีคนพูดถึง ก็เลยจัดทำระบบที่ป้องกันในเรื่องที่อาจจะเป็นไปได้ แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้มีการจับได้ เป็นการเผื่อไว้ เป็นการปิดหลุมต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดความผิดพลาดได้"
"บางทีผู้ประกอบการก็พูด บางทีนักการเมืองก็พูดว่า บางทีอาจมีการซื้อขายข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง แต่ว่าไม่ได้มีการค้นพบว่ามี ก็พยายามหาว่ามีไหมแต่ก็ไม่มี ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการซื้อขายข้อมูล แล้วก็มาดูว่าระบบสามารถปิดช่องว่างอะไรได้บ้าง ที่คนกล่าวหาว่าอาจมีการซื้อขายข้อมูล ก็เลยมาปิดช่องว่างสองจุดหลัก"
"จุดที่ 1 คนชอบบอกว่ามีการฮั้วประมูลกัน ฮั้วประมูลอาจเกิดขึ้นได้ถ้าตอนที่ให้มีการซื้อขายเอกสารประกวดราคา หมายความว่าคนซื้อมาซื้อเตรียมประกวดโครงการนี้ ทีนี้เวลาเข้ามาก็จะล็อกอินในระบบ ก็จะมีชื่อ สมมุติว่ามี 5-6 รายของเดิมระบบก็จะรู้ว่ามีใครอยู่ในนั้นบ้างสำหรับโครงการนี้ สมมุติว่ามีการครหาว่ามีการขายข้อมูลเพื่อฮั้วประมูล การปิดข้อนี้ซึ่งจะใช้ในวันที่ 3 เม.ย."
"คือว่าต่อไปนี้ไม่มีแล้ว ก็คือใครที่จะเข้ามาโหลดเอกสารในการประกวดราคา ใครจะเข้ามาก็ได้เลย ไม่คิดเงิน ยอมปล่อยฟรี พอเข้ามาผ่านทางเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถเข้ามาโหลดเอกสารได้ ก็จะไม่มีการเก็บข้อมูลไว้ ใครจะฮั้วใคร จะโหลดกัน 100 คน 10 คนก็ได้ ตรงนี้ก็หมดเรื่องของการตีว่ามีการขายข้อมูลของการฮั้ว"
"จุดที่ 2 มีคนบอกว่านอกจากฮั้วแล้วอาจจะยังมีการขายข้อมูลตอนเสนอราคา เช่น ใครเสนอราคาต่ำกว่าแล้วก็ไปขายข้อมูลแบบว่าคนนี้เสนอราคาต่ำเท่านี้ อีกคนก็เสนอต่ำกว่า อันนี้คือที่เขากล่าวหา อันที่จะปิด คือ ของเดิมให้ระยะเวลาเสนอราคาค่อนข้างยาว ทั้งวันเลย แต่วิธีปิด คือ เปลี่ยนเป็นการเสนอราคาให้สั้นขึ้นเหลือแค่ 3 ชั่วโมง 9.00-12.00 น. 13.00-16.00 น. อันนี้ปิดไปแล้วช่องหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งคือ ป้องกันการแฮ็คข้อมูล คือ การนำระบบบล็อกเชนมาใช้ ให้กรุงไทยมาช่วยทำ ก็คือจะทำเป็นระบบที่มีการเข้ารหัส 2 ที หมายความว่าสมมุติคนเข้ามาเสนอราคาในระบบของกรมบัญชีกลาง เสนอราคาเสร็จก็จะ เอ็นคริป (Encryption) ให้อ่านไม่ออก เป็นเหมือนการเข้ารหัสรูปแบบหนึ่ง พอเข้ารหัสเสร็จตรงนี้ก็ส่งรหัสไปให้กรุงไทย ฉะนั้นจะไม่อยู่ที่เรา (กรมบัญชีกลาง) ข้อมูลเข้ารหัสแล้วก็จะอ่านไม่เห็น เอาไปเก็บไว้ที่กรุงไทย กุญแจเปิดรหัสอยู่ที่เรา พอไปถึงกรุงไทย กรุงไทยเข้ารหัสอีกรอบหนึ่ง รอบที่ 2 อ่านไม่ออก 2 ที เก็บไว้ที่กรุงไทยจนกระทั่งคนเข้ามาเสนอราคาก็ทำเช่นนี้ กระทั่งหมดเวลาที่กำหนดไว้ กรุงไทยก็จะ ดีคริป (Decryption) หรือเอารหัสออกแล้วส่งข้อมูลกลับมาที่กรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางก็เอารหัสออกรอบที่ 2 แล้วข้อมูลราคาก็จะขึ้น ฉะนั้นคราวนี้ก็ไม่มีคนมาอ้างว่ามีการเห็นราคาได้ ก็เลยเป็นการแก้ คิดว่าทำเช่นนี้แล้วก็จะไม่มีคำครหาดังกล่าว"
@ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท
อิศรา: การปรับปรุงระบบครั้งนี้จะปิดระบบหรือไม่อย่างไร?
นางสาวกุลยา: "ไม่ เราเปลี่ยนระบบเลย วันที่ 3 เม.ย. ก็จะเป็นระบบที่กล่าวไปข้างต้น ในตอนนี้ก็ใช้ระบบของเก่าไปก่อน ต้องบอกล่วงหน้า ไม่งั้นบอกวันนี้ใช้พรุ่งนี้ คนเขาทำไม่ทัน เพราะต้องมีการสอนวิธีให้เข้าใจก่อน ต้องมีระยะเวลาการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานรับทราบ ผู้ประกอบการรับทราบ และทำความเข้าใจระบบ"
อิศรา: ประชาชนก็ยังเข้าไปดูข้อมูลได้ปกติใช่ไหม?
นางสาวกุลยา: "ข้อมูลปกติที่โปร่งใสที่เห็นได้ปกติอยู่แล้ว แต่ข้อมูลที่รั่วไหลนี่หมายความว่ามีคนแฮ็คเข้ามา ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี แต่ก็จะปิดจุดอ่อนพวกนี้ไปก่อน ประชาชนยังสามารถเห็นข้อมูลได้ตามปกติเหมือนเดิม พอมีอันใหม่มาก็เห็นข้อมูลได้เหมือนเดิม"
อิศรา: การเปลี่ยนระบบเกี่ยวกับการเลือกตั้งไหม?
นางสาวกุลยา: "ไม่ได้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือว่า เรื่องนี้ก็รับทราบมาตั้งแต่ตอนเข้ามารับตำแหน่ง ก็เข้าใจว่ามีประเด็นนี้จึงเร่งแก้ปัญหานี้ จนมาเสร็จในระยะเวลานี้พอดี ไม่ได้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง"
อิศรา: ถ้าเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่สำเร็จประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลส่วนไหนได้บ้าง?
นางสาวกุลยา: "ดูข้อมูลได้เหมือนเดิม อันนี้เป็นแค่การเปลี่ยนระบบของการบิด (bidding) แต่การเปิดเผยข้อมูลจะเหมือนเดิม อันนี้เป็นการป้องกันข้อมูลที่อาจจะรั่วไหลจากระบบได้"
***********
ทั้งหมดนี้ คือ บทสัมภาษณ์ที่นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ซึ่งระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐรูปแบบใหม่จะเริ่มใช้งานในวันที่ 3 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป
ส่วนจะสามารถแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหล ซื้อขายตามที่มีการกล่าวอ้างกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา ได้หรือไม่
ต้องคอยดูกันต่อไป