"...ประเด็นที่ รฟม. กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลไม่เคยแจกแจงให้สมเหตุสมผลได้เลยว่า 'จริงเท็จอย่างไร' ที่ผลประโยชน์ของรัฐมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาทอาจสูญเสียไปกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในรัฐสภา นักวิชาการและประชาชนทั่วไป..."
ผลประโยชน์และความถูกต้องของบ้านเมืองที่ต้องปกป้องไว้ ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ประเด็นที่ รฟม. กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลไม่เคยแจกแจงให้สมเหตุสมผลได้เลยว่า 'จริงเท็จอย่างไร' ที่ผลประโยชน์ของรัฐมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาทอาจสูญเสียไปกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในรัฐสภา นักวิชาการและประชาชนทั่วไป
เงิน 6.8 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนเป็นอะไรให้ประชาชนได้บ้าง หากปกป้องไว้ได้
1. เราจะมีเงินมากพอที่จะสร้างรถไฟฟ้าอีกหนึ่งสายให้ประชาชนในจังหวัดใดของประเทศไทยก็ได้ เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มูลค่า 43,104 ล้านบาท สายสีชมพู มูลค่า 45,764 ล้านบาท สายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต – ลำลูกกา มูลค่า 9,803 ล้านบาท และสายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ – บางปู มูลค่า 12,146 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดขอนแก่น มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท
2. เป็นการสร้างบรรทัดฐานและป้องกันค่าโง่ในอนาคตสำหรับโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) 110 โครงการ มูลค่าประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท ในช่วง พ.ศ. 2563 – 2570 และช่วยให้เรามองย้อนไปได้อีกว่า บรรดาโครงการที่ลงทุนไปแล้วมากมายตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา มีเรื่องถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร
3. สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาของคนไทย ว่ายังมี 'ผู้นำ' หรือสถาบันที่เชื่อถือได้ว่าผดุงความยุติธรรมและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมือง
4. ชื่อเสียง ความสง่างามและความมั่นใจของระบบราชการไทยในสายตานักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ
การวิเคราะห์แจกแจงข้อมูลอาจทำได้หลายวิธี เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน การศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอของเอกชนอื่นจากการประมูลรอบแรกและรอบที่สองประกอบกับผลประกอบการธุรกิจการเดินรถไฟฟ้าสายอื่นๆ การเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดแล้วเชิญชวนสถาบันวิชาการและองค์กรวิชาชีพที่สังคมเชื่อถือมาวิเคราะห์ร่วมกัน เป็นต้น
คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของผู้มีอำนาจในโครงการ ด้วยการยืนยันว่าทุกอย่างถูกระเบียบเป็นไปตามขั้นตอนแล้วเหมือนกับที่หน่วยงานของรัฐนิยมกล่าวอ้างกัน ดูเป็นเรื่องน่าละอายเพราะการประมูลโครงการนี้ไม่สง่างาม ทำผิดธรรมเนียมปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาแต่แรก ดังนั้น การลุแก่อำนาจเพื่อเอาชนะจะยิ่งทำลายความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน
ตามความจริง รฟม. และ ครม. มีอำนาจหน้าที่มากกว่าอนุมัติตามกฎระเบียบ กล่าวคือยังมีอำนาจในการปฏิเสธผลการประมูลที่สร้างภาระต่อประชาชนสูงเกินความสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการประมูลที่ไม่มีคู่แข่งขัน และไม่ยอมเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการประมูลที่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย
สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ การบริหารบ้านเมืองโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน ทุกข้อกังขาต้องถูกขจัดด้วยการเปิดเผยและการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตัดสินด้วยความจริงทางธุรกิจและความสมเหตุสมผลบนหลักการเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
13 มีนาคม 2566