"...การปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบที่ Fed อาจจะคาดไม่ถึง และการล่มสลายของ SVB อาจจะกระพือปัญหาเป็นทอดๆ ไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ เป็นลูกโซ่เหมือนกับปี 2008 จนต้องล้มลงอย่างต่อเนื่อง..."
SVB (Silicon Valley Bank) ถือเป็นสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจ Start Up มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ มีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 209,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้เสียหรือ NPL ไม่ถึง 1%
แต่เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม 2566 SVB ได้สร้างความตื่นตระหนกให้วงการการเงินธนาคาร การลงทุน และเทคโนโลยี กับบรรดา Start Up ไปทั่วโลก
เพราะจู่ๆ แบงก์ก็ออกมาประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อใช้พยุงงบดุลตนเองถึง 2,250 ล้านดอลลาร์ในวันพุธที่แล้ว จนสร้างความตื่นตระหนกให้บรรดา Venture Capitals และ Start Ups รวมถึงลูกค้ารายบุคคลที่เป็นลูกค้าเงินฝากของ SVB พากันแห่ถอนเงิน ทำให้ SVB จำต้องขายพันธบัตรรัฐบาลที่ตนเองลงทุนในอดีตที่ได้ดอกเบี้ยในอัตราต่ำ (0%-1%) เพื่อหาเงินสดมาคืนลูกค้าที่แห่ถอนเงินฝาก
การนำพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำ 0%-1% มาขายในปัจจุบันซึ่งมีดอกเบี้ยสูง 4%-5% ย่อมได้ราคาที่ถูกลดลงไปมาก เป็นผลให้ SVB ขาดทุนไปประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์
ก็ใครอยากจะถือพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำขนาดนั้น ในเมื่อวันนี้มีพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าตั้งเยอะ ดังนั้นผู้รับซื้อจึงกดราคาลงไปมาก ทำให้ SVB ต้องขาดทุนจากการเร่งขายพันธบัตร ทั้งๆ ที่ถ้าถือจนครบกำหนดก็จะได้เงินต้นคืนครบ ไม่ต้องมาขาดทุนแบบนี้
เหตุการณ์นี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการที่ Silvergate Capital ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ให้พวกคริปโทเคอร์เรนซี ประกาศในวันเดียวกันนี้ว่าบริษัทจะเลิกกิจการ และจะขายสินทรัพย์ของ Silvergate Bank เพื่อชำระหนี้ หลังจากที่ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับการล้มระเนระนาดของบริษัทคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหลายในปีก่อนอย่าง FTX, BlockFi และ Three Arrows Capital
ข่าวนี้ทำให้เกิดกระแสแห่ถอนเงินฝากซ้ำอีก เพราะคนกลัวว่าเหตุการณ์นี้จะลุกลามจนถอนเงินออกไม่ทัน
การแห่ถอนเงินนี้อาการคล้ายกับอยู่ในโรงหนัง แล้วมีคนตะโกนว่า 'ไฟไหม้ๆ' ซึ่งทุกคนก็จะแห่กันวิ่งไปออกที่ประตูต่างๆ ที่เขามีให้ โดยไม่มีการคำนึงถึงเหตุผลใดใดทั้งสิ้น เพราะต่างคนต่างกลัวว่าไฟจะลุกลามมาถึงแล้วตัวเองจะหนีไม่ทัน
ธนาคารใดก็ตามหากลูกค้าเงินฝากตื่นตระหนกกลัวว่าแบงก์จะล้ม ธนาคารนั้นก็คงไร้ปัญญาที่จะหาเงินสดคืนให้กับลูกค้าที่แห่ถอนจำนวนมากในทันทีได้ ต่อให้เป็นธนาคารที่เข้มแข็งแค่ไหนก็ล้มเอาได้ง่ายๆแม้ว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เกี่ยวกับธนาคารนั้นเลย แต่เพียงแค่มีการปล่อยข่าวให้ผู้ฝากตกใจ ผู้ฝากก็จะเหมือนคนที่อยู่ในโรงหนังแล้วมีคนตะโกนว่าไฟไหม้นั่นแหละ
อาการแห่ถอนเงินเป็นไปอยู่ 2 วัน พอถึงวันศุกร์ก็ End Game 'จบแล้วครับนาย' เพราะหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ได้สั่งปิดกิจการ SVB ในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 จนกลายเป็นเหตุการณ์แบงก์ล้มครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 และเป็นเหตุการณ์แบงก์ล้มครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของสหรัฐฯ
แล้วนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเลวร้ายเหมือนปี ค.ศ.2008 อีกครั้งหรือไม่ ?
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้พยายามคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในวงกว้าง ส่วน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง ก็แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ว่าระบบธนาคารของสหรัฐฯ ยังคงมีความยืดหยุ่น และผู้ควบคุมกฎก็มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับจัดการกับเหตุการณ์ลักษณะนี้
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งผลที่ทำให้เห็นกันว่าระบบการเงินของสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยภาระหนี้สินนั้นช่างเปราะบางยิ่ง
การปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบที่ Fed อาจจะคาดไม่ถึง และการล่มสลายของ SVB อาจจะกระพือปัญหาเป็นทอดๆ ไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ เป็นลูกโซ่เหมือนกับปี 2008 จนต้องล้มลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ ข้าพเจ้ายังไม่พบว่า SVB เป็นแบงก์ที่ทำเลวร้ายอะไร
มันคงจะดีกว่านี้ถ้า Fed มีกองทุนที่ช่วยรักษาภาพคล่อง BSF เหมือนอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยจัดตั้งเมื่อไม่กี่ปีก่อนในยุคที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยชื่อ ดร.วิรไท สันติประภพ และรัฐมนตรีคลังชื่อ ดร.อุตตมะ สาวนายน ซึ่งช่วยประคองระบบการเงินของเราไม่ให้เสียหายหรือพังทลายในวงกว้างจากความตื่นตระหนกแบบไฟไหม้โรงหนังได้
ปัญหาสำคัญสุดในขณะนี้คือถ้าไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ ลูกค้าจะพากันแห่ถอนเงินฝากออกจากหลายๆ ธนาคาร การที่ทางการสหรัฐฯ ปล่อยให้ตลาดคาดเดากันเองแบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกค้าตื่นตระหนกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤตศรัทธาและวิกฤตสภาพคล่องของธนาคาร SVB ได้ส่อแววว่าจะลุกลามต่อไปยังธนาคารอื่นๆ ให้ล้มตาม SVB รัฐบาลสหรัฐฯ จึงเริ่มหารือถึงการจัดตั้งกองทุนหนุนเงินฝาก ขณะที่ FED เตรียมเรียกประชุมด่วนทันทีในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม เพื่อหาทางป้องกันและรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา
ส่วนมาตรการต่างๆ จะออกมาในรูปแบบใดบ้างยังไม่มีใครทราบ แต่นักลงทุนบางส่วนก็คาดว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยถึง +0.5% ในครั้งนี้ เพราะจะซ้ำเติมให้ตลาดตึงเครียดมากขึ้นอีก เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่ตลาดเงิน แต่ด้านตลาดทุนนั้นก็ลามจากราคาหุ้น SVB ที่ตกอย่างมหาโหด ไปยังราคาหุ้นแบงค์ต่างๆ เช่นFirst Republic และ PacWest ที่หุ้นร่วงตาม SVB มาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะถ้าแบงก์ล้มแบบลูกโซ่เกิดขึ้น ราคาอสังหาฯ ที่สูงลิ่วก็น่าจะร่วงลงมาอย่างมีนัยสำคัญ
ในช่วงเวลาที่ฝุ่นกำลังตลบอยู่นี้จึงน่าติดตามดูว่าวันนี้ราคาหุ้น ทองคำ พันธบัตร และ Crypto จะเคลื่อนไหวรุนแรงและผันผวนขนาดไหน หรือไม่
ดร อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้ว่า “ทิศทางการบริหารนโยบายการเงินควรต้องปรับให้รับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจเหล่านี้ และแบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องรีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 29 มีนาคม นี้แล้วเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก การส่งออกชะลอตัวแรง และกำลังการผลิตส่วนเกินยังเหลืออยู่จำนวนมาก จึงไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ในภาคการผลิต และแม้ว่าการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็ไม่ได้มีผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของประเทศ Emerging and Developing Asia ที่สูงกว่าทุกภูมิภาคที่ระดับ 4.9-5.0% จะกระตุ้นให้เงินไหลเข้าภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้อีกและสถาบันการเงินในไทยและเอเชียตะวันออกยังคงมีฐานะการเงินแข็งแกร่งจนสามารถรองรับกรณีการล้มละลายของธนาคาร SVB ได้”
บางทีสิ่งที่สหรัฐฯ ทำอยู่นี้ บางทีอาจพุ่งเป้าไปที่การล้างหนี้สินของดอลลาร์ ซึ่งถ้าไม่ทำอะไรเลยก็พังแน่ๆ ก็ได้ ตรงนี้รออาจารย์ทนง ขันทอง วิเคราะห์ก่อน
ส่วนข้าพเจ้ามองว่า สิ่งที่สหรัฐฯ ทำกับชาวโลกทั้งเรื่องค่าเงินและดอกเบี้ย จะยังส่งผลต่อแบงก์ต่างๆ ไปเรื่อยๆ และจะยังไม่หยุดในระยะเวลาอันสั้น เราเองจึงต้องทำใจและระมัดระวัง ทั้งๆ ที่ด้วยสถานะของประเทศไทยนั้นเราไม่ควรไปยากลำบากอะไรกับเขาเลย ยิ่งถ้าเรามุ่งเน้นเรื่องมีกินมีใช้เพียงพอในประเทศแม้ว่าจะลำบากบ้างตามเกมการเงินโลก แต่เราจะลำบากน้อยกว่าคนอื่นมาก
และตามที่เคยกล่าวบ่อยๆ ว่า 'ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส' กับ 'ให้สำรองเงินสดไว้รอโอกาส' และ 'ทุกวิกฤตสร้างคนรวยได้' นั้น ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันตามเดิม
ขณะนี้มีหุ้นหลายตัวใน ตลาดหุ้นไทย (SER) ที่เป็นกิจการที่ดี มีอนาคต มีการบริหารที่ดี แต่ราคาตกลงไปมากๆ ข้าพเจ้ามองว่านั่นคือโอกาสถ้าเรามีเงินสด (cash) แต่ต้องค่อยๆ สะสม ไม่ต้องรีบร้อนเท cash ลงไปทั้งหมด
อย่าเพิ่งหวังว่าต่างชาติจะกลับเข้าตลาดในเร็ววันนี้ จากนี้ไปเป็นเรื่องของพวกเรา … นี่ถ้ามีเงินสดเยอะๆข้าพเจ้าจะทยอยตุนของไว้ปล่อยขายให้ต่างชาติในอนาคต
ว่าแล้วก็อยากชักชวนกันระดมเงินมาหาของดีราคาถูกไว้ขายต่อจริงๆ เลย
หมายเหตุ :
Fed ประกาศมาตรการ 'Bank Term Funding Program' เพื่อปล่อยกู้ให้ธนาคารต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนคลายกว่าปกติ โดย Fed จะตีมูลค่าหลักทรัพย์ที่ธนาคารนำมาค้ำประกันที่ Par
วิธีการที่ผ่อนปรนนี้จะทำให้ธนาคารได้เงินกู้มากกว่ามูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำ
หากแบงค์นำพันธบัตรรัฐบาลที่มูลค่าตลาดในปัจจุบันลดลงอย่างมากจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องของ Fed มาวางเป็นหลักประกันขอกู้ ก็จะได้มูลค่าเต็มตามหน้าตั๋ว
ทั้งนึ้ ทางการสหรัฐฯ จะเป็น Backstop ให้เงินฝาก 'ทั้งหมด' ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่ได้รับความคุ้มครอง
อันนี้ก็ตรงกับที่ข้าพเจ้าเคยบอกไว้หลายปีแล้วว่า หากการแห่ถอนเงินจะลุกลามในวงกว้าง การรับประกันเงินฝากแบบจำกัดวงเงินต่อรายที่สถาบันประกันเงินฝากกำหนดก็จะไม่เวิร์กเนื่องจากวิธีหยุดที่ดีที่สุดคือการออกมาประกาศว่าจะอุ้มทั้งหมด
เราต้องติดตามกันต่อว่าจะได้ผลหรือไม่
วรวรรณ ธาราภูมิ
13 มีนาคม 2566
แหล่งที่มา :