"...อย่างไรก็ดี หากเราเห็นว่างานที่ทำอยู่มีคุณค่า ทำให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้องค์กรและตนเองขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งงานในลักษณะนี้ต้องอาศัยการใช้ความคิดอย่างลึกซึ้งและรอบคอบ และใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า แคล นิวพอร์ต (Cal Newport)เรียกการทำงานแบบนี้ว่า Deep work หรือการทำงานแบบดำดิ่ง..."
โดยปกติผมมักจะใช้เวลาช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ร้านกาแฟใกล้บ้าน เพื่อเขียน 'Weekly Mail' เพราะค้นพบว่าสถานที่และบรรยากาศการทำงานมีส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถจดจ่ออยู่กับการเขียนจนแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม สมาธิถือว่ามีส่วนสำคัญ ผมพยายามไม่ให้มีสิ่งเร้ามากวนใจ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยสารพัดเครื่องมือในการสื่อสาร นั่งทำงานอยู่ เดี๋ยวก็ติ๊ง เดี๋ยวก็ติ๊ง ไลน์เด้งบ้าง อีเมลบ้าง หรือแม้แต่เสียงโทรศัพท์เรียกเข้า มานั่งคิดดูแล้ว ในแต่ละวัน เราเสียเวลาไปกับการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้เยอะมาก ทั้งนี้ จากงานวิจัยของบริษัทแมคคินซีย์ ในปี 2012 พบว่าปัจจุบันคนที่ทำงานใช้เวลากว่าร้อยละ 60 ในแต่ละสัปดาห์ในการติดต่อสื่อสาร และเกือบร้อยละ 30 ของเวลาถูกใช้ไปกับการตอบอีเมลเพียงอย่างเดียว เรียกว่าเป็นภาวะที่สมาธิแตกกระเจิง เป็นงานแบบตื้นเขิน (shallow work) ไม่ซับซ้อนและไม่ต้องอาศัยการคิดอย่างลึกซึ้ง เป็นงานที่มักจะไม่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าต่อโลกและลอกเลียนแบบได้ง่าย
อย่างไรก็ดี หากเราเห็นว่างานที่ทำอยู่มีคุณค่า ทำให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้องค์กรและตนเองขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งงานในลักษณะนี้ต้องอาศัยการใช้ความคิดอย่างลึกซึ้งและรอบคอบ และใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า แคล นิวพอร์ต (Cal Newport) เรียกการทำงานแบบนี้ว่า Deep work หรือการทำงานแบบดำดิ่ง นิวพอร์ต เป็นนักเขียนและอาจารย์ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Deep Work พร้อมให้ความหมายการทำงานแบบดำดิ่งว่า “เป็นการทำงานในภาวะที่มีสมาธิจดจ่อและปราศจากสิ่งรบกวน ซึ่งกระตุ้นความสามารถด้านการรู้คิดให้อยู่ในจุดสูงสุด การทำงานรูปแบบนี้ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าใหม่ซึ่งลอกเลียนแบบได้ยาก และช่วยพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของตัวเรา”
ในช่วงต้นฤดูหนาวปี 2007 เจ. เค. โรว์ลิ่ง เริ่มต้นเขียนหนังสือเรื่อง The Deathly Hallows ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของหนังสือชุด “Harry Potter” และเธอทราบดีว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่แฟนพันธุ์แท้ต่างรอคอยและคาดหวังมาก การนำเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือ 6 เล่มมาร้อยเรียงและนำมาเขียนเป็นตอนสุดท้ายเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด แต่เธอค้นพบว่า การทำงานในห้องทำงานที่บ้านในเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ มีสิ่งรบกวนจิตใจต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะมีพนักงานเข้ามาทำความสะอาดกระจกหน้าต่างด้านนอกบ้าน หรือลูก ๆ ที่วิ่งเล่นทั่วบ้าน ไปจนถึงสุนัขตัวโปรดที่เห่าไม่หยุด เธอจึงตัดสินใจยอมจ่ายเงินเพื่อเช่าห้องพักในโรงแรมหรู ชั้นบนสุดที่สามารถมองเห็นปราสาท แล้วจดจ่อ ดำดิ่ง ไปกับการเขียนตรงหน้า จนสามารถเขียนหนังสือเล่มสุดท้ายจนแล้วเสร็จ
ถ้าต้องการความคิดดี ๆ ใหม่ ๆ บางครั้งเราอาจไม่ต้องลงทุนขนาดนั้นก็ได้ บางทีแค่ไม่ต้องทำอะไรเลย การอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ พักสมอง ความคิดดี ๆ ก็จะผุดขึ้นมาเอง เพราะการที่ร่างกายพร้อม สมองพร้อม ก็ถือเป็นการทำงานแบบดำดิ่งอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างจดจ่อและตั้งใจ
เรามักจะได้ยินคนพูดว่า “งานเยอะ ไม่มีเวลาเลย ต้องทำงานหลายอย่างพร้อม ๆ กัน” งานเยอะ งานยุ่ง ไม่สามารถวัดอะไรได้มากนัก การทำหลายอย่างพร้อม ๆ กันก็ไม่ได้แปลว่าเก่ง ตรงกันข้ามกลับทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คนเรามักคิดว่าสามารถทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วอาจเพียงแค่ถ่วงดุลไม่ให้พังทั้ง 2 อย่างต่างหาก
การทำงานที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน (multi tasking) ราวกับเป็นยอดมนุษย์ และหัวหน้ามักจะชื่นชม เพราะสามารถทำงานได้หลายหน้างาน ดูจะใช้เวลาแต่ละวินาทีได้อย่างคุ้มค่า แต่ผลการวิจัยกลับพบว่า การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันกลับส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ยิ่งเพิ่มภาระงานมากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพของสมองก็ยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น และการมุ่งมั่นงานที่สำคัญจริง ๆ ก็จะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ซูซาน เรย์โนลด์ (Susan Reynolds) ได้กล่าวถึงผลกระทบของ multi-tasking ว่า “เราไม่ได้กำลังทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันแบบที่คิด สมองและความสนใจของเราสลับไปสลับมาระหว่างงานแต่ละชิ้นต่างหาก หรือเรียกว่า tasking-switching และระหว่างการสลับไปยังงานอีกชิ้น ก็ใช้พลังงานในการรื้อฟื้นข้อมูลหนักมาก ซึ่งห่างไกลจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง เพราะในที่สุด งานแต่ละชิ้นก็จะเสร็จไปแบบผิว ๆ”
นิวพอร์ต ได้เสนอแนวทางการทำงานแบบดำดิ่งไว้ 2 รูปแบบ คือ 1. แนวทางแบบสองโหมดที่ต้องแบ่งเวลา โดยจัดสรรช่วงเวลาหนึ่งไว้อย่างชัดเจนกับการทำงานแบบดำดิ่ง และ 2. แนวทางแบบบ่มเพาะความเคยชิน โดยกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำงานแบบดำดิ่งอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัย โดยไม่ต้องจัดสรรเวลาไว้ล่วงหน้าแบบแนวทางแรก ซึ่งแนวทางที่สองน่าจะเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ในสภาพการทำงานปัจจุบัน เพราะความสามารถในการจัดสรรเวลามีค่อนข้างจำกัด และในบางช่วงเวลาหัวหน้าก็คงคาดหวังให้เราตอบอีเมลทันที
ในโลกที่มีแต่ความผันผวนและมีสิ่งคอยดึงดูดความสนใจเราอยู่ตลอดเวลา ทักษะการทำงานแบบดำดิ่ง จึงเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด เพราะเราจะใช้เวลาในการทำงานน้อย แต่ได้งานที่มีคุณภาพสูง เหมือนกฎ 80/20 ของพาเรโต (Pareto principle) คือการทำน้อยให้ได้มาก เราไม่มีเวลามากพอที่จะทำทุกอย่าง เราจึงควรเลือกทำบางอย่างที่สำคัญจริง ๆ กฎ 80/20 จะช่วยจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ และทำให้เราเลือกโฟกัสและดำดิ่งไปกับงานได้อย่างถูกจุด
ทั้งนี้ นิวพอร์ตได้แนะนำกฎ 4 ข้อที่จะทำให้สามารถทำงานได้อย่างดำดิ่ง คือ 1. ทำงานอย่างมีสมาธิ จดจ่อ 2. เปิดใจรับความเบื่อ 3. บอกลาโซเชียลมีเดีย และ 4. ลดงานแบบตื้นเขิน หรืองานทั่ว ๆ ไป ซึ่งผมจะนำมาขยายความใน Weekly Mail สัปดาห์หน้า
แหล่งที่มา
-แคล นิวพอร์ต (Cal Newport), Deep Work, พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล จัดพิมพ์โดย
สำนักพิมพ์วีเลิร์น 2022 หน้า 12
-แคล นิวพอร์ต (Cal Newport), Deep Work, พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล หน้า 9
#Goodsmorning #TheMATTER, เหนื่อยเกินไปเพราะ Multi-Tasking ทำไงดี? ลองใช้การทำงานสไตล์ ‘Mono-tasking’ ที่ดีต่อสมองและประสิทธิภาพการทำงาน, The Matter, 7 July 2020
https://thematter.co/brief/goodsmorning/goodsmorning-1594946455/117797
-แคล นิวพอร์ต (Cal Newport), Deep Work, พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล หน้า 129-130
-แคล นิวพอร์ต (Cal Newport), Deep Work, พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล หน้า 114-121
หมายเหตุ
ขอขอบคุณ คุณประภาศรี รงคสุวรรณ ที่มีส่วนร่วมในการเขียน Weekly Mail ฉบับนี้