..."การจะช่วยให้กลุ่มคนจนและกลุ่มคนเปราะบางหลุดพ้นกับกับดักหนี้และมีขีดความสามารถทางการเงินสูงขึ้นได้ ธปท. และสภาพัฒนาฯ จำเป็นต้อง สร้างช่วงความยืดหยุ่นให้กว้าง และกำหนดมาตรการและช่องทางโอกาสของการแก้ไขปัญหาหนี้ที่เปิดกว้างมากขึ้น"...
ความน่าสนใจของข่าวหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 4 มีนาคม 2566 เวลา 08.31 น. (ส่วนหุ้น-การเงิน) พาดหัวข่าวว่า “...สภาพัฒน์ห่วง “วัยเกษียณ” หนี้เสียพุ่ง ธปท.ชูโมเดลคิดดอกเบี้ยตามเสี่ยง...” ในเนื้อข่าวได้นำเสนอไว้น่าสนใจ 3 ประการ คือ
หนึ่ง ...ธปท. กำลังออกนโยบายแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในส่วนที่จะให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตาม “ความเสี่ยงของลูกค้า” แต่ละราย หรือ risk based pricing ธปท.จะมีการออกเกณฑ์และแนวนโยบายมาอีกครั้ง แต่ยังคงเพดานอัตราดอกเบี้ย... แปลว่า ผู้กู้เงินจากสถาบันการเงินที่มีภาวะเครดิตไม่ดีหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการคืนเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงิน จะแบกรับภาระดอกเบี้ยสูงขึ้นตามอัตราความเสี่ยง เข้าใจว่า ฐานของการคิดดอกเบี้ยจะคิดจากฐานดอกเบี้ยในปัจจุบัน แล้วเพิ่มอัตราเดอกเบี้ยขึ้นไปตามความเข้มข้นของความเสี่ยง นั่นหมายความว่า ยิ่งเครดิตไม่ดี / เสี่ยงมาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ยังดีว่าเพดานดอกเบี้ยสูงสุดยังคงกำหนดไว้
สอง ผู้ประกอบการสถาบันการเงิน 2 แห่ง ให้ความเห็นตอบรับต่อนโยบายดังกล่าว เนื้อข่าวที่น่าสนใจ (1) เบื้องต้น ธปท.ต้องการให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบางเข้าสู่กลไกตลาดแหล่งเงินได้ คือกลุ่มลูกค้าจะมีความเสี่ยงสูง แต่ผู้ประกอบการก็ยังกล้าปล่อยสินเชื่อ (2) ควรมีการปลดเพดานดอกเบี้ย หาก ธปท.ปลดล็อกเพดานให้ผู้ประกอบการสามารถปล่อยสินเชื่อและคิดอัตราดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสนใจ (3) บริษัทต้องการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ใช้เงินกู้นอกระบบที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับ ทำให้สถาบันการเงินเลือกปล่อยแต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันรุนแรงในตลาด ดังนั้นบริษัทจึงต้องการเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงเฉลี่ยกว่า 100% ต่อปี หรือประมาณ 10-20% ต่อเดือน ซึ่งหาก ธปท.ปลดล็อก หรือขยับเพดานให้บริษัทสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับ 4-5% ต่อเดือน หรือ 40-50% ต่อปี
ความเห็นของผู้ประกอบการสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง น่าสนใจว่า ถ้ามีการกำหนดค่าความเสี่ยงที่เป็นระบบและปลดล็อกเพดานดอกเบี้ยสูงสุดได้ จะดึงดูดให้สถาบันการเงินสนใจเข้ามาทำตลาดกับกลุ่มเปราะบางที่กู้ยืมเงินนอกระบบจำนวนมากให้เข้ามาในระบบ แต่การเข้ามาในระบบก็ช่วยให้ได้รับดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ดอกเบี้ยที่ลดลง ก็มิได้ลดลงมากเหมือนการกู้ยืมเงินตามภาวะปกติ คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไป ต้องมีการบวกอัตราค่าความเสี่ยงเข้าไปด้วย
สาม หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ไตรมาส 3 ปี 2565 จำนวน 14.9 ล้านล้านบาท หนี้สินครัวเรือนขยายตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่มีการขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ขยายตัวถึง 11.8% และ 21.4% ตามลำดับ โดยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการขยายตัวระดับ 20% ต่อเนื่องมา 4 ไตรมาสแล้ว สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเสมือนกับดักต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ดังนั้น ในระยะถัดไปมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญคือ 1) การเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการตกชั้นของลูกหนี้ที่มีจำนวนมาก และ 2) การมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียจากผลกระทบของ COVID-19 เช่น ขยายเวลาชำระหนี้ กำหนดสัดส่วนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เป็นต้น เพื่อลดจำนวนลูกหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้นในระยะถัดไป และรักษาสถานะลูกหนี้ให้อยู่ในระบบการเงิน
ข่าวที่แสดงถึงความไม่เข้าใจสภาวะความยากจนและการเคลื่อนไหวของเงินสดในมือ (cash flow) แต่ละช่วงเวลาของกลุ่มคนเปราะบาง ยิ่งเงินสดขาดมือมาก ก็จะยิ่งต้องกู้เพื่อการใช้ในชีวิตประจำวัน ดอกเบี้ยสูงเท่าไรก็ต้องกู้ ธปท. ออกมาตรการแบบนี้ เท่ากับซ้ำเติมกลุ่มคนจนและกลุ่มคนเปราะบางมากขึ้นไปอีก ขณะที่สภาพัฒนาฯ นำเสนอการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ อยู่กับที่
กรณีตัวอย่าง ทุกวันนี้
(1) ความยากจนที่ยังซ้ำซาก ไม่ใช่คนจนกู้เงินมาแล้วไม่มีเงินคืน ส่วนที่คืนให้สถาบันการเงินแต่ละปี คือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจากเงินต้นที่ยังคงเดิม ที่เงินต้นไม่ลดลง เพราะหลักทรัพย์ค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นสังหาริมทรัพย์ ที่มีค่าเสื่อมทุกปี สถาบันการเงินจึงคิดอัตราดอกเบี้ยแบบเหมารวมตลอดระยะเวลาการกู้ ที่สำคัญ คือ สังหาริมทรัพย์ด้อยค่าเร็วมาก ส่งผลให้ดอกเบี้ยยิ่งสูงขึ้นด้วย
(2) กรณีที่กลุ่มคนจนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม การกู้แม้จะบอกว่า ส่วนใหญ่กู้มาเพื่อการอุปโภคบริโภค คิดในทางกลับกัน เงินกู้บางส่วนเป็นเงินที่นำมาลงทุนการเพาะปลูกทางการเกษตร แต่ผลผลิตที่ได้เติบโตไม่เท่ากับอัตราดอกเบี้ยงเงินกู้ที่เติบโตมากกว่า เกษตรกรกู้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อเดือน หรือร้อยละ 12.00 ต่อปี ขณะที่ มูลค่าผลผลิตที่ได้รับแต่ละปี บางปีเติบโตร้อยละ 1.00 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10.00 แล้วเกษตรกรจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายคืนดอกเบี้ยส่วนต่างอีก ร้อยละ 9.00 - 11.00 เงินต้นไม่ลดลง ก็เท่ากับต้องทบเงินต้นเข้าไปอีก หลักฐานยืนยันชัดเจน ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 นำเสนอไว้ว่า ในช่วงแผนพัฒนา ฉบับที่ 13 จะพัฒนาเป้าหมายที่ 1 มูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปสูงขึ้น และตัวชี้วัดที่ 1.1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเติบโต ร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจน ว่า เกษตรกรกู้ยืมเงินมาลงทุนการเกษตรอย่างไรก็ขาดทุน อัตราการเติบโตต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยต่อปี
(3) อัตราดอกเบี้ยในระบบก็ซ้ำเติมคนที่ไม่มีเครดิตที่ดี ซึ่งเป็นกลุ่มคนจนและกลุ่มคนเปราะบางอยู่แล้ว นายทุนกู้เงินได้อัตราดอกเบี้ยในระบบไม่เกินร้อยละ 2.50-3.00 ต่อปี ขณะที่คนจนกู้ในอัตราร้อยละ 5.50 - 7.50 ต่อปี ยังไม่รวมอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในกรณีผิดนัดชำระเงินติดต่อกันเกิน 90 วัน (3 เดือน) อัตราดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 18 ขณะที่นายทุนมีทางเลิกการออกหุ้นกู้ พันธบัตรการเงิน หรือขายหุ้นเพิ่มทุน เพื่อนำมาซ้ำระหนี้เงินกู้ หรือนำทรัพย์สินออกมาขาย
(4) การหกตัวของเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศหดตัวลดลงร้อยละ 6.1 โดยภาคการบริการ (การท่องเที่ยว) หดตัวร้อยละ 7.4 ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5.9 และภาคเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 3.6 การหดตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มแรงงานรับจ้างทั่วไปกลายเป็นกลุ่มคนจนและกลุ่มคนเปราะบางเฉียบพลัน ภาวะวิกฤตทำให้เกิดคนจนเพิ่มขึ้น การกู้ยืมเงินนอกระบบมีเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า มีมูลหนี้เท่าไรที่เกิดขึ้น
กรณีตัวอย่างเป็นหลักฐานแบบกระจอก กระจอก ใคร ๆ ก็รู้ ธปท. และสภาพัฒนาฯ ไม่รู้คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าเจาะลึกปัญหาความยากจนซ้ำซาก จำนวนหนี้เสีย สถานภาพผู้กู้ที่ไม่มีเครดิตเพิ่มขึ้น จะพบว่า คนกำหนดนโยบายไม่ใช่คนจน แต่เป็นคนที่สมคบคิดกับนายทุนสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง มาตลอด อย่างยาวนาน ระบบการเงินไทยไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนจนในสังคมได้ลืมตาอ้าปากได้แน่นอน
การจะช่วยให้กลุ่มคนจนและกลุ่มคนเปราะบางหลุดพ้นกับกับดักหนี้และมีขีดความสามารถทางการเงินสูงขึ้นได้ ธปท. และสภาพัฒนาฯ จำเป็นต้อง สร้างช่วงความยืดหยุ่นให้กว้าง (financial flexibility range) และกำหนดมาตรการและช่องทางโอกาสของการแก้ไขปัญหาหนี้ (loan opportunity measurement) ที่เปิดกว้างมากขึ้น หมายความว่า ธปท. และสภาพัฒน์ จำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้สถาบันการเงินกับลูกหนี้มีพื้นที่การเจรจาหนี้สินให้กว้างมากขึ้น สามารถต่อรองมูลหนี้ที่เกิดจากดอกเบี้ยได้มากขึ้น การให้สถาบันการเงินยอมรับภาระการขาดทุนดอกเบี้ยบางส่วนจากลูกหนี้ที่พยายามแก้ไขปัญหา ฯลฯ
กลุ่มคนจนและกลุ่มคนเปราะบางไม่ได้ต้องการเป็นหนี้ตลอดเวลาและระยะยาว การขาดโอกาสที่จะมีโอกาสต่อรองทางการเงินกับสถาบันการเงินเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้คนจนและกลุ่มคนเปราะบางลุกไม่ขึ้นกับกับดักหนี้สิน การขยันทำงานหนักเท่าไร ภาระดอกเบี้ยที่ทับถมที่มากขึ้น ยิ่งทำให้ภาวะความจนหนักหนาสาหัสมากขึ้น
คนจนยิ่งทำงานยิ่งจน กลุ่มนายทุนยิ่งทำงานยิ่งมีเพิ่มขึ้น ตรรกะความจริงที่เกิดขึ้นของสังคมไทย
สมบัติ เหสกุล
4 มีนาคม 2566