"...โครงการ 'การพัฒนาผ่านวัฒนธรรมชุมชนและการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี และสร้างวัฒนธรรมใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่' เป็นการวิจัยที่ไกลเกินกว่าแผ่นกระดาษ เป็นวัฒนธรรมประจักษ์ที่เห็นของจริงได้ด้วยตา หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้สัมผัสและใจได้รู้สึก..."
ธรรมดาการวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆนั้น ที่ไหนๆ ก็อยู่ในกรอบกระดาษ A4 ทั้งในระยะต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
เริ่มจากเขียนโครงการลงบนแผ่นกระดาษ พออนุมัติแล้ว จะมีกองกระดาษเต็มโต๊ะเพื่อใช้ค้นคว้า บางคนอาจทำสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) จากนั้นเขียนบทสรุปตามแบบแผนวิธีวิจัย ทำให้แผ่นกระดาษผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา แล้วนำเสนอ หากผ่านการพิจารณา ก็เอากระดาษมาทำเล่มเก็บเข้าตู้ ก็จะได้แผ่นกระดาษประกาศนียบัตรมาอีกแผ่นเท่านั้นเอง
แต่โครงการ “การพัฒนาผ่านวัฒนธรรมชุมชนและการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี และสร้างวัฒนธรรมใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่” เป็นการวิจัยที่ไกลเกินกว่าแผ่นกระดาษ เป็นวัฒนธรรมประจักษ์ที่เห็นของจริงได้ด้วยตา หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้สัมผัสและใจได้รู้สึก
เมื่อ 24-25-26 กพ. 66 ผู้เขียนได้ร่วมคณะวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ ไปสัมผัสของจริง 3 พื้นที่ ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ที่ชุมชนไทลื้อ อ.เชียงคำ จ.พะเยา และที่กาดวัฒนธรรมเวียงเก่า อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ทั้งสามแห่งใช้ฐานทางวัฒนธรรมชุมชนมาแสดงให้เห็น
ที่ ม.แม่ฟ้าหลวงนั้น บริเวณอาคาร พลเอกสำเภา ชูศรี เรียกว่างาน “ฟื้นใจเมือง” (Reviving a City ’s Soul Festival) ถือเป็น จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ ซึ่งบริหารจัดการโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มี ศ.ดร.วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง เป็นหัวหน้าโครงการ ทำโครงการเช่นนี้ทั้ง 4 ภาค รวม 48 โครงการ 33 จังหวัดทั่วประเทศ โดยอาศัยมหาวิทยาลัยมากกว่า 40 แห่ง เป็นแกนร่วมกันในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยความสนับสนุนของ สก.สว. ซึ่งสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)
ที่ร้านค้าของ มรภ. กำแพงเพชร เป็นผลงานอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ 6 ชนเผ่าบนพื้นที่สูงจากพื้นที่ ต. คลองลานพัฒนา การปักผ้าของอาข่าอันประณีตแบบโบราณที่ทำดีไซน์ใหม่ การทำเครื่องเงิน และตีมีดม้ง เป็นมรดกบรรพชนยาวนานกว่า 100 ปี ทุกผลิตภัณฑ์ บ่งบอกวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ตราตรึงใจยิ่ง
ในขณะที่ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ใช้ทุนวัฒนธรรมเมืองปากน้ำโพนำเอาศิลปะการแสดงมังกร และการเชิดสิงโต 5 ชาติพันธุ์ (โหงวซก) มาแสดงอย่างอลังการ และแสดงอาหารอัตลักษณ์จีน เป็นการเสริมคุณค่าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ศ. ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. กระทรวง อว. ให้ข้อคิดในการกล่าวเปิดงาน “ฟื้นใจเมือง” วันนั้นว่า
“ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ยุคโบราณ คนไทยทำการเกษตรแค่ 4 เดือน ในหน้าฝน เวลา อีก 8 เดือนในแต่ละปี จึงใช้เวลาทำงานสร้างสรรค์หลายอย่าง ผู้หญิง ทอผ้าย้อมผ้า ทำจักสานทำอาหารหวานคาว ผู้ชายตีมีด เป็นช่างฝีมืองานหัตถศิลป์ต่างๆ บางคนเป็นศิลปิน เล่นดนตรี การแสดงและอื่นๆ ทุกชุมชนจึงอุดมไปด้วยศักยภาพทางวัฒนธรรม ที่ชาติอื่นทำไม่ได้ แต่คนไทยทำได้เมื่อก่อนนี้ไม่ค่อยมีเวที เดี๋ยวนี้มีเวที มีพื้นที่ที่สามารถเปลี่ยนคุณค่าให้เป็นมูลค่าได้ ขณะนี้โครงการวิจัยด้วยทุนทางวัฒนธรรม ทำไปแล้วกว่า 60 พื้นที่ สร้างผู้ประกอบการวัฒนธรรมขึ้นมามากกว่า 6,000 ราย เสน่ห์ทางวัฒนธรรมกลายเป็นแรงดึงดูดให้คนทั่วโลก มีจุดมุ่งหมายในใจ จัดให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายระดับต้นที่จะเดินทางมาเที่ยวมาชม”
25 กพ. 66 ไปดูชุมชนไทลื้อ ที่ เชียงคำ จ.พะเยา โดยเฉพาะโบสถ์วัดแสนเมืองมา กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ปี 2527 โบสถ์เป็นหลังคาไม้ 2 ชั้น 2 ระดับ มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด ช่อฟ้าเป็นไม้แกะสลักรูปหงส์ หางหงส์เป็นนาคคาบแก้ว หน้าบันเป็นฉลุไม้รูปเทพนม ประตูใหญ่ด้านหน้าเป็นประตูนาค มุขขวาเป็นประตูเสือ มุขซ้ายเป็นประตูสิงห์ ซึ่งเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อของของชาวไทลื้อที่ทำหน้าที่ปกป้องศาสนสถาน พระประธานในโบสถ์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบไทลื้อ
แม่แสงดา สัมฤทธิ์ อายุ 94 ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรงเดินขึ้นลงบันไดบ้านได้เป็นปกติ สื่อสารได้ดี ตั้งแต่ครั้งยังสาวแม่แสงดาใช้ฝีมือทอผ้าแต่ละผืนนานกว่า 3 เดือน ขายผ้าทอได้เอามาสะสมสร้างเฮือนไทลื้อ ชื่อ “บ้านแสงดา” เป็นสถาปัตยกรรมไทลื้อผสมล้านนาที่หาดูได้ยาก เวลานี้เป็นเฮือนเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ
26 กพ. 66 นายกเทศมนตรีหญิง ต.เวียงเชียงแสน จัดพื้นที่โรงงานยาสูบเก่ากว่า 15 ไร่ริมน้ำโขง เป็นพื้นที่วัฒนธรรม มีต้นสักเป็นสัญลักษณ์ ทุกวันศุกร์ -เสาร์-อาทิตย์ มีตลาดเรียกว่า “กาดวัฒนธรรม” ไม่มีการเก็บเงินค่าพื้นที่ แต่กำหนดให้ร้านค้าขายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านเท่านั้น เช่นผ้าทอ ย่าม เสื้อผ้าดีไซน์ทันสมัย ไข่ป่าม ใครจะซื้อสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงานต้องไปที่อีกตลาดหนึ่ง
คนลาวข้ามโขงมาจ่ายตลาด นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเห็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของแท้ที่มีดีไซน์ จึงจ่ายเงินซื้อ มีรายงานว่าแต่ละวันมีเงินหมุนเวียน 40,000 - 50,000 บาท มีอยู่วันหนึ่งนักท่องเที่ยวมากันมาก วันนั้นขายของได้ถึง 120,000 บาท
บนเวทีมีการแสดงฟ้อนรำของกลุ่มแม่บ้าน การแสดงของเด็กจาก รร.ต่างๆ พ่อบ้านรวมกลุ่มกันเล่นดนตรีแบบสะล้อซอซึง ลมเย็นๆ พัดผ่านแม่น้ำโขงมาปะทะใบหน้าขณะที่เคี้ยวขนมจีนน้ำเงี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย เป็นความรื่นรมย์ริมโขงที่ต้องจำจดไปนาน
โครงการวิจัยวัฒนธรรมเชิงปฏิบัติการนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย รศ. ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ มี อ.ธนภณ วัฒนกุล เป็นนักวิจัยหลัก มีนักวิจัยในพื้นที่อีก 48 คน ทางฝั่ง สก.สว. มี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา และ ดร. ลีลาภรณ์ บัวสาย เป็นผู้บริหารและที่ปรึกษาหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
อ. ธนภณ วัฒนกุล ให้ข้อมูลว่า ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ “หลาดชุมทางทุ่งสง” จ.นครศรีธรรมราช ทุกวันอาทิตย์นั้น มีร้านค้าราว 198 ร้าน ในวันแรกที่เปิดพื้นที่ เมื่อปี 2563 สร้างรายได้ 173,000 บาท มาถึงวันนี้ มีรายได้ราว 600,000 บาทต่อวัน โดยจัดกิจกรรมนี้มามากกว่า 200 ครั้งแล้ว
“ตัวอย่างเช่น เดิมร้านขายขนมจีน ขายได้วันละ 15 กิโลกรัม ขณะนี้ขายได้วันละ 70 กิโลกรัม ญาติพี่น้องของแม่ค้าต่างประกอบส่วน บางคนทำเส้น บางคนทำน้ำยาน้ำพริก บางคนปลูกผัก ทุกคนได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด”
ดร. ลีลาภรณ์ บัวสาย เรียกงานนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “Area Based Collaborative Research” หมายถึง การวิจัยที่เป็นเหงื่อแรงร่วมกันของผู้คนโดยใช้พื้นที่เป็นฐานของงาน
ควรบันทึกไว้ด้วยว่า การสร้างพื้นที่และเวทีให้แก่ทุนทางวัฒนธรรมนั้น ต้องอาศัยชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่เป็นเจ้าของ เป็นกำลังหลัก เป็นผู้ขับเคลื่อนโดยร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น อบต.อบจ. เทศบาล ภาคการศึกษาในพื้นที่ เป็นการเริ่มต้นจากข้างล่าง (Bottom up) ไม่ใช่การทุบโต๊ะมาจากข้างบน (Top Down) จึงจะทำให้งานมั่นคงและยั่งยืน เพราะชาวบ้านเป็นเจ้าของงาน ไม่ใช่หน่วยราชการมาสั่งการ แบบที่เรียกว่า “ทางการเขาสั่งมาว่า....”
เมื่อต้นปี 2564 นิตยสาร CEOWORLD จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีอิทธิพลด้านมรดกทางวัฒนธรรมเป็นลำดับที่ 5 ของโลกรองจากอิตาลี กรีซ สเปน และอินเดีย วัฒนธรรมจึงเป็นมรดกไทยเลอค่าที่ควรแก่การอนุรักษ์ พัฒนา และสร้างสรรค์ให้เกิดผลเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งผลต่อการยกระดับคุณค่าทางใจให้กับผู้คน
เห็นได้ว่าการวิจัยบนแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยมแบบเดิมนั้นไม่สามารถเกิดผลที่เป็นจริงได้ เมื่อใช้การวิจัยด้วยปฏิบัติการเชิงประจักษ์ งานวิจัยจึงปรากฏรูปธรรมให้เห็น ที่กลางตาและกลางใจ
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติเรียงร้อยกวีที่รวบยอด“วัฒนธรรม” ไว้อย่างหมดจดว่า
ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
เอกราชเอกลักษณ์เอกศักดิ์ศรี
เป็นคันฉ่องส่องความงามและความดี
เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน