"...4.ถ้าคนแก่มีสุขภาพดี เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว มีหัวใจแจ่มใส และกระตือรือร้นเต็มที่ ความสามารถทางปัญญาจะไม่ลดลงตามอายุที่มากขึ้น..."
อยากได้หรือไม่อยากได้มันก็มาเหย้าเยือน ต้องการหรือไม่ต้องการมันก็ปรากฏ 'แก่' เป็นสภาวะที่ใครๆ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อไม่ให้คนเราผิดหวังแบบฉับพลัน ภาวะความแก่จึงคืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ แบบค่อยๆ แก่อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จะเฝ้าบอกกับตนเองว่า “ไม่แก่ๆ ๆ” ร่างกายมันก็ ไม่เชื่อเรา เพราะ “แก่” เป็นภาวะที่อยู่เหนือหรือพ้นไปจากการบงการของใจ จะไปแข็งขืนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ
อายุ 75 ปี นับว่าแก่แล้ว มีหลานปู่ 4 คน ไม่มีวาสนาได้เป็นตา เพราะมีแต่ลูกชาย 2 คน ทั้งสองคนให้หลานชายหญิงคนละคู่ มองตนในกระจกเห็นใบหน้าเปื้อนรอยตีนกา มองผิวหนังทั่วร่างก็หย่อนยานไปทั้งหมด มีอย่างเดียวที่ตึงคือหู
มีแง่มุมควรคิดว่า ประสบการณ์อย่างอื่นนั้น จะกินจะเที่ยว ใครที่พอมีเงินจ่ายก็สามารถเข้าถึงได้ แต่ 'แก่' เป็นประสบการณ์ตรงที่ผูกขาดไว้เฉพาะคนแก่เท่านั้น คนหนุ่มคนสาวจะตะเกียกตะกายใฝ่หาอย่างไรก็ไม่อาจพบเจอได้ ต้องรอเวลาสถานเดียว
มีคำโบราณล้อเลียนคนแก่ว่าเป็นคน “กินของขม ชมเด็กสาว ตื่นแต่เช้า เล่าความหลัง”
ฟังดูแล้วก็พบว่ามีความจริงพอสมควร
ผู้เขียนเพิ่งมาชอบของขมเอาตอนแก่ ตอนเด็กหรือครั้งยังหนุ่มนั้น เมื่อถึงเวลากิน จะไม่แตะต้องมะระ ไม่กินสะเดาเอาเสียเลย เดี๋ยวนี้ เห็นมะระ เห็นสะเดาน้ำปลาหวาน ก็จะบอกกับตนเองว่ามื้อนี้มีลาภปากแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่น่าสนใจ
เมื่อ 12 กพ. 66 วารสารการแพทย์ นิวอิงแลนด์ รายงานว่า
ศาสตราจารย์ Monchi Uri จากมหาวิทยาลัยมองทรีออล พบว่า ในการดำเนินชีวิต สมองคนแก่ จะเลือกใช้วิธีที่ใช้พลังงานน้อยลง กำจัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป เหลือแต่ทางเลือกในการแก้ปัญหา โดยชี้ว่าในขณะที่คนหนุ่มสาวสับสนในการทดสอบ แต่คนอายุมากกว่า 60 ปี จะตัดสินใจถูกต้องมากกว่า
Uri ให้เหตุผลว่า
1.เซลล์สมองไม่ได้ตายอย่างที่คนเข้าใจกัน การเชื่อมต่อของเซลล์สมองจะขาดตอนเพราะสมองไม่ทำงาน
2.ความฟุ้งซ่านและหลงลืมเกิดจากข้อมูลมากเกินไป ดังนั้นอะไรไม่จำเป็นก็ตัดทิ้งไปได้
3.เมื่ออายุเกิน 60 ปี การตัดสินใจจะใช้สมองทั้งสองซีก ต่างกับยุคหนุ่มสาว ที่ใช้สมองซีกเดียว
4.ถ้าคนแก่มีสุขภาพดี เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว มีหัวใจแจ่มใส และกระตือรือร้นเต็มที่ ความสามารถทางปัญญาจะไม่ลดลงตามอายุที่มากขึ้น
นี่นับเป็นการเปิดความเข้าใจใหม่ ที่น่าสนใจ
การที่คนเรา
ไม่ต้องไปนั่งทำงานประจำ ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือจากกลุ่มงานสังกัด ซึ่งเป็นงานที่จะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องทำ เพราะมันเป็นหน้าที่
ไม่ต้องขับรถไปติดอยู่บนถนนนานๆ ที่ทำให้อารมณ์เสีย
ไม่ต้องเร่งทำชิ้นงานให้เสร็จตามกำหนดของแผนงานนั้นๆ
ไม่ต้องไปตอบสนองความต้องการของคนอื่นที่ขอร้องมา
สิ่งที่เรียกว่า “งาน” กินพื้นที่ชีวิตประจำวันมากมาย
เมื่องานทั้งหลายซึ่งมาพร้อมกับแรงกดดันจากภาระหน้าที่และกำหนดเวลา ถูกถอดทิ้งไป จึงเหลือแต่งานที่ใจชอบ
อยากออกไปเดิน ก็ไป อยากว่ายน้ำ ไปว่ายน้ำ อยากซื้อหนังสือไปซื้อ อยากอ่านก็อ่าน อยากเขียนอะไรก็เขียน อยากเป่าขลุ่ยก็หยิบขลุ่ยมาเป่า อยากเล่นแอคคอร์เดียนก็เล่น ไม่ต้องให้ใครมาบอกให้ทำ ไม่ต้องอยู่ในสายตาของใครที่จะมาประเมินผลงาน
สิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพ” จึงมีความสำคัญต่อคนแก่ยิ่งนัก
เมื่อได้ศึกษาผู้อาวุโส ที่เป็นบุคคลสำคัญซึ่งสังคมรู้จักกันดี
อาจารย์พุทธทาสภิกขุ ละสังขารเมื่ออายุได้ 87 ปี (8 กค. 2536) ก่อนคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบท่านยังเรืองปัญญา มีความแม่นยำในทุกถ้อยวาทะธรรม
อาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี อายุ 84 ปี ก่อนถึงอสัญกรรม ได้แสดงให้เห็นสติปัญญา และความทรงจำที่แม่นยำ ไม่ได้หลงลืมไปตามอายุขัย และยังได้เขียน “ชรากถา” 10 ข้อ ที่มีค่า ซึ่งยังมีคนนำมาเผยแพร่กันอยู่ในทุกวันนี้ เช่น การเป็นตัวของตัวเอง อย่าคาดหวังว่าลูกเต้าจะดูแลตอนแก่ ฟังคนอื่นแต่คิดอย่างเป็นอิสระ และอย่าเพิ่งตาย
พลเอกสายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมูลนิธิอันเฟรล (Asian Network for Free Election) ขณะนี้อายุ 102 ปีแล้ว ยังสามารถสื่อสารกับทุกคนได้ดี ยังเขียนหนังสือชื่อ “บทเรียนของใคร” ออกมาเผยแพร่ เมื่อปีที่แล้ว
อาจารย์รตยา จันทร์เทียร อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษามูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ผู้สืบทอดอุดมการณ์รักษาผืนป่าของสืบ นาคะเสถียร นั้น ในวันนี้อายุ 92 ปี ในช่วง 3 ทศวรรษหลังเกษียณ ยังมีใจกายแกร่งกล้า เมื่อเดือน กพ. 65 อาจารย์เดินสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว เทือกเขาสูงอันดับ 3 ของประเทศ เพื่อทำโครงการติดตามดูแลกวางผาก่อนปล่อยสู่ป่า ในวันนั้น เมื่อเดินไปได้ระดับหนึ่ง รู้ว่าไม่ควรเดินต่อ อาจารย์จึงบอกกับคณะว่า
“หัวใจอยากเดินต่อ แต่ขาเตือนสติว่าพอแล้ว”
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อายุ 90 ปีแล้ว (เกิด 2476) เป็นปราชญ์สยามที่ยังตอบคำถามทุกเรื่องอย่างฉาดฉานประหนึ่งปัญญาชนวัย 60 ปี
อาจารย์ น.พ. ประเวศ วะสี อายุ 91 ปี แต่สามารถถ่ายทอดความรู้ และสติปัญญาต่อสาธารณะได้อย่างลื่นไหล ไม่ติดขัดใดๆเลย
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เช่นกัน ปีนี้อายุ 91 ปี ให้สัมภาษณ์ล่าสุดอย่างมีพลังกับสำนักข่าว The Better เมื่อ 3 กพ. 2566 และให้ข้อคิดน่าสนใจมากว่า “เมืองไทยต้องการ
ธรรมาภิบาลมากกว่าประชาธิปไตย”
บรรดาผู้อาวุโสที่เอ่ยนามมาทั้งหมด ทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและที่ยังดำรงกายใจอยู่ อาจมีวัตรปฏิบัติที่เหมือนและแตกต่างกันไป
แต่ที่เห็นและเป็นอยู่คือ ทุกท่านมีเสรีภาพแห่งการดำเนินชีวิตตามที่ใจปรารถนา
เซลล์สมองของทุกท่านยังถักทอทำงานอย่างแข็งขัน ผ่านการอ่าน การฟัง การพบปะ การเดินทาง การเขียน ประหนึ่งเป็นลมหายใจ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตโต) อายุ 85 ปี ได้ฝากวาทะธรรมเรื่องเสรีภาพพื้นฐานไว้
เมื่อ 2 มค. 66 ว่า
“เมื่อร่างกายไม่ถูกผูกมัด ไม่เจ็บไข้หมดเรี่ยวแรง กายนั้นก็เคลื่อนไหว ทำอะไรๆ ไปที่ไหนๆ ได้ ตามที่ใจต้องการ โดยไม่ต้องมีใครมาอุ้มมาจูงเราไป เมื่อจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกโมหะ คือความโง่เขลา หลงใหล ปิดกั้น ไม่ถูกความเห็นแก่ตัวที่ไม่เป็นธรรมผูกรัดไว้ คนก็จะทำอะไรๆ ที่ปัญญารู้เข้าใจบอกให้ว่าเป็นจริง ดีงาม ถูกต้อง เป็นคุณเป็นประโยชน์ ได้ตามต้องการ โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับควบคุม มีเสรีภาพพื้นฐานเป็นแกนยืนยันไว้ เสรีภาพอื่นทั้งหลาย จึงจะมีความหมายเป็นจริงได้”
การเลือกใช้ชีวิตที่ไม่ร้อยรัดไว้ด้วยพันธนาการใดๆ
การแสดงทัศนะอย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องกังวลต่อสรรเสริญและนินทา
เลือกกินอาหาร เลือกออกกำลังกาย เลือกสถานที่พักผ่อน เลือกคบผู้คน เลือกใช้ชีวิตแนบสนิทกับลูกหลาน เลือกที่จะมีอารมณ์ดี
การเลือกสรรทั้งหมดนี้ ทำให้ผู้สูงอายุยังรักษาสติปัญญา และท่วงท่าสง่างามไว้ได้
เมื่อเสรีภาพพื้นฐาน แปรผลเป็นวิถีปฏิบัติอย่างเป็นอิสระตามใจปรารถนาของผู้อาวุโสที่ เอ่ยนาม จึงประกายแสงศักยภาพเรืองรองไปทุกทิศทาง