12 ปี อิศรา เปิดทิศทางข่าวสืบสวนสอบสวน ‘ประสงค์’ ชี้ข่าวสืบสวนคือหน้าที่ในการเสนอสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะ ก่อนยกข่าวใหญ่ในอดีตฉายภาพ เสนอภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมากกว่านี้ ด้าน ‘ปรางทิพย์’ ชี้ทิศทางข่าวสืบสวนโลก ยก ‘ปานามา-แพนโร่าเปเปอร์’ ชี้ชัดข่าวสืบสวนใหญ่ ต้องแชร์กันทำทั้งโลก สร้างแรงกระเพื่อมมีคุณค่ากับประชาน
หมายเหตุ: สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จัดงานครบรอบ 12 ปี Investigative news of THAILAND ณ ห้องจามจุรีบอลรูม โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566
@ทุจริต ภัยคุกคามประเทศ
โดยคุณมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า ชื่อของสำนักข่าวเป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอิศรา อมันตกุล นักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีชื่อเสียงและมีเกียรติคุณอย่างยิ่งในอดีต โดยได้ตั้งขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนภายใต้มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 ปี มาแล้ว เพื่อทำหน้าที่ในการทำข่าวต่างๆ รวมทั้งการทำข่าวสืบสวน เพื่อนำเสนอความจริงด้านการทุจริตและประพฤติไม่ชอบ มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ เพราะการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศในหลายๆด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉ้อราษฎรบังหลวงในภาครัฐ ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผู้กระทำผิดมีวิธีการกระทำผิดที่ซับซ้อน แยบยล ซ่อนเงื่อนมากขึ้น คู่ขนานไปกับเทคโนโลยีที่เอื้อให้การกระทำผิดมิชอบง่ายขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่ต้องรู้ร้อน รู้หนาว เพื่อให้เกิดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ
ขอแสดงความยินดีกับสำนักข่าวอิศรา ที่มุ่งมั่นในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้านที่มีคุณภาพมายาวนานนับทศวรรษ ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อมั่นในการทำงานและการสนับสนุนจากท่านทั้งหลาย ในอนาคตไม่ว่าภูมิทัศน์หรือธุรกิจสื่อมวลชน จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สำนักข่าวอิศราก็ยังคงยืนหยัดในบทบาทในการเป็นสื่อมวลชนที่มุ่งแสวงหาความจริง ปกป้องประโยชน์สาธารณะต่อไปอย่างมั่นคง
@เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คือ ทางออกในการทำข่าวสืบสวน
ด้านคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวในหัวข้อ ‘ISRA TALK บทบาทข่าวสืบสวนในการเปลี่ยนแปลงสังคม’ ว่า อาจมีคำถามว่า ทำไมต้องทำข่าวสืบสวน? ก็เพราะว่าข่าวสืบสวนถือเป็นภารกิจหลักของสื่อมวลชนที่เรียกกันว่า สุนัขเฝ้าบ้าน สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในการทำข่าวเพื่อประโญชน์สาธษรณะอาจจะนำเสนอข้อเท็จจริงพื้นๆไม่พอ ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ ตรวจสอบเอกสาร และการลงพื้นที่ ซึ่งในยุคปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก การสืบค้นเอกสารต้องใช้ระบบดิจิทัลในการค้นคว้าข้อมูล
ต้นแบบของข่าวเชิงสืบสวน คือ คดีวอเตอร์เกตอันโด่งดัง ซึ่งนักข่าวที่เกี่ยวข้องกับคเีนี้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ต้องยึดเป็นแบบอย่างคือ ความอดทนและกัดไม่ปล่อย อีกจุดสำคัญคือ ต้องรักษาความลับของแหล่งข่าว หรือที่เรียกว่า Deep Throat แล้วถามว่าประเทศไทยมีข่าวแบบนี้หรือไม่?
จริงๆในไทยมีข่าวสืบสวนจำนวนมาก เช่น ข่าวการทุจริตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งข่าวนี้เริ่มจากจุดเล็กๆ คือ การที่มีองค์กรหนึ่งคิดค้นกระบวนการบริจาคเงิน โดยบริจาคมากก็ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์เยอะ วิธีการคือ ทำใบอนุโมทนาบัตรปลอมขึ้นมา มีพระชั้นผู้ใหญ่ เอกชน เข้ามาร่วมขอเครื่องราชฯ ซึ่งในช่วงนั้นมีผู้บริจาคถึงหลักพันล้านบาท เมื่อขุดคุ้ยขึ้นมา ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ จนตำรวจต้องมาขอแฟ้มไป คดีนี้อยู่ในชั้นศาลยาวนาน 20 ปี ผลกระทบทำให้เกิดการปฏิรูประบบการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใหม่ทั้งหมด
อีกข่าวหนึ่งคือ กระบวนการทุจริตขอเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นมีนโยบายแจกเอกสารสิทธิให้ประชาชนปีละ 4 ล้านไร่ จนกระทั่งมีรัฐมนตรีรายหนึ่งให้เอกสารสิทธิ์กับเศรษฐีในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จึงเปิดโปงว่า ทำไมเศรษฐีเหล่านี้ได้เอกสารสิทธิ์จำนวนมาก เป็นการขุดคุ้ยเอกสารและช่องโหว่ทางกฎหมาย มีกระบวนการเปลี่ยนมือและเกิดการรุกป่ามากขึ้น สุดท้าย พรรคประชาธิปัตย์ต้องยุบสภาไป
หรือกรณีข่าวกลุ่ม 16 ในอดีต จากความขัดแย้งทางการเมือง ที่นักการเมืองคนหนึ่งไปทำธุรกิจไม้ที่ชายแดน แล้วมีหญิงชาวเมียนมาติดมาด้วย จากข่าวเชิงชู้สาวพบว่า กลุ่มนักการเมืองนี้ไปเทคโอเวอร์บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ใช้ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการในการไปเทคโอเวอร์ต่อๆกันหลาย 10 บริษัท ซึ่งเมื่อสืบค้นไปก็พบว่า การที่ไปเทคโอเวอร์ต่อๆกันนั้นมีบุคคลสำคัญอยู่เบื้องหลังนั่นคือ นายราเกซ สักเสนา ซึ่งในท้ายที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เข้าไปยึดธนาคารนี้ โดยเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ระบบธนาคารพาณิชย์ถึง150,000 ล้านบาท
กรณีถัดมาคือ การแสดงบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง กรณีของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในยุคนั้น พบว่าในบัญชีทรัพย์สินนั้น มีรายการกู้เงินจากเอกชน 45 ล้านบาท แต่ในบัญชีและงบการเงินของเอกชนรายนั้นไม่พบเจอรายการนี้ ทำให้มั่นใจว่าเป็นการกู้เท็จจริง และในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เข้ามาตรวจสอบ จนท้ายสุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ถือเป็นคดีแรกที่รัฐธรรมนูญปี 2540 บังคับใช้
อีก 1 คดี คือ คดีซุกหุ้นภาค 1 ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในช่วงก่อนปี 2544 กำลังจะลงสนามการเมือง พบว่า มีการโอนหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า สำหรับเตรียมตัวเป็นรัฐบาล ซึ่ง ณ ตอนนั้นมีกฎหมายจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรี โดยมีระบุข้อหนึ่งว่า ห้ามถือครองหุ้นในอัตราร้อยละ 5 จากการสืบค้นการถือหุ้นทั้งหมด พบชื่อคนใช้ ยาม ถือหุ้นกว่าหมื่นล้านบาท โดยท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายทักษิณชนะคดีไป และกลายเป็นชนักติดหลังยาวนานถึง 10 ปี และนำไปสู่การยึดทรัพย์ 73,000 ล้านบาทในภายหลัง
ต่อมาเป็นกรณีซื้อขายที่ดินของบิดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเห็นความผิดปกติในรายการขายที่ดินย่านฝั่งธนบุรี มูลค่า 600 ล้านบาท ซึ่งซื้อขายในสมัยที่พล.อ.ประยุทธ์เป็น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งพบว่าบริษัที่ซื้อเป็นของเศรษฐีท่าหนึ่งระดับประเทศ ทำให้เห็นสายสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจทางการเมืองและกลุ่มทุน ลามมาสู่การที่เครือญาติพล.อ.ประยุทธ์ตั้งบริษัทในค่ายทหารและมีการประมูลรับงาน โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช.
และอีกข่าวหนึ่ง คือ การถือหุ้นในกิจการสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งสำนักข่าวพบว่า มีหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า ห้ามถือหุ้นสื่อ และได้นำเสนอทุกแง่มุม ข้อเท็จจริงต่างๆ วันเวลาในการจ่าย-โอนต่างๆ ในท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้นายธนาธรพ้นสภาพความเป็น ส.ส.ไปในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายข่าวที่สร้างแรงสะเทือนในสังคมไทย เช่น ข่าวจำคุกและยึดทรัพย์นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กรณีโกงภาษี 4,000 ล้านบาท, ข่าวเทปลับคดีนายบอส อยู่วิทยา หลังมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ก็มีการตรวจสำนวนคดีฉบับเต็มจนพบพยาน 6 คน ซึ่งหนึ่งในพยานคือ นายจารุชาติ มาดทอง พบที่อยู่ สอบถามผู้ใหญ่บ้านพบว่า เสียชีวิตแล้ว รวมถึงมีเทปลับที่พยายามจะเปลี่ยนความเร็วรถที่นายบอสขับขี่เหลือ 70-80 กม.ชม. จาก 170-180 กม./ชม. มีทั้งนายตำรวจ อัยการ และทนายความร่วมมือกัน
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
จากข่าวทั้งหมด ปัญหาสำคัญในการทำข่าวของประชาชนคือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แม้จะมีนโยบายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่ยังมีอีกหลายหน่วยที่ไม่เปิดเผยข้อมูล อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายงบประมาณ ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีการปรับปรุงก็เชื่อว่า จะมีส่วนสำคัญในการเข้าถึงและป้องกันการคอร์รัปชั่นได้มาก
“น่าเสียดาย มีการพูดว่าข่าวเชิงสืบสวนลดน้อยถอยลง เพราะเข้าถึงยาก ประชาชนไม่ดู เรามีคนสืบสวนให้เสร็จครับ แล้วเอามาแฉ แล้วสื่อก็เอาไปตาม เราไม่ได้สืบสวนด้วยตัวเอง แนวโน้มของสื่อในการนำเสนอน้อยลง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก” นายประสงค์ทิ้งท้าย
@สืบสวนโลก แชร์กันทำมากขึ้น
ขณะที่คุณปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระด้านมาเลเซีย และนักข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) กล่าวในหัวข้อ ‘อนาคตและทิศทางข่าวสืบสวนโลก’ ว่า สำนักข่าวอิศรา เป็นสำนักข่าวที่มีปรัชญาเป็นของตัวเอง ไม่แสวงหากำไร มีเป้าหมายเพื่อที่จะรื้อ ค้น ขุด นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะคือ ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยได้เคยจับมือกันทำข่าวเอกสารจำนวนมาก ที่ในเวลาต่อมาคือ การเปิดโปงธุรกรรมอื้อฉาว ปานามาเปเปอร์
ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการทำข่าวสืบสวนของโลก คือ การแชร์ข้อมูล เพราะในกรณีปานามาเปเปอร์ มีข้อมูลมหาศาล ครั้งนี้ ทำกันเองไม่ไหว จึงมีการติดต่อ ICIJ เพื่อร่วมกันทำงานนี้ เฉพาะในไทยมีถึง 10,000 ไฟล์ หน้าที่ของตนคือ นั่งอ่าน หาชื่อ หาความเกี่ยวโยง แล้วส่งต่อสำนักข่าวอิศรา ในการหาความเชื่อมโยงอย่างเมกเซ้นส์ที่สุด จนเจอตระกูลผู้ร่ำรวยในประเทศแทบทุกตระกูล และมีการตั้งบริษัทนอกอาราเขตมากมายหลายร้อยบริษัท
“เราเชื่อว่า การทำข่าวอย่างยุติธรรม จะต้องให้โอกาสแหล่งข่าวชี้แจง เราจัดการอย่างระมัดระวัง เขียนจดหมายติดต่อหาคำตอบ แต่น่าเสียใจที่เราไม่เคยได้รับคำตอบตรงๆเลย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพบคือ ลูกค้า 1 ราย ไม่ได้มีบริษัทเดียว แต่มีเครือข่ายโยงไปมา หน้าที่ของนักข่าวคือ ไปดูเครือข่ายนี้ แล้วแลกดูว่าใช้ทำอะไร เชื่อมโยงกับอะไร บางครั้งก็ได้คำตอบ บางครั้งก็ไม่ได้คำตอบ บางครั้งก็ใกล้จะได้คำตอบ แต่ส่วนใหญ่เรามีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ” คุณปรางทิพย์กล่าวตอนหนึ่ง
สำหรับปานามาเปเปอร์ ส่งผลกระทบหลายอย่างมาก เช่น ไอซ์แลนด์ นายกรัฐมนตรีต้องประกาศลาออก เพราะเกิดการประท้วงใหญ่ในประเทศ เพราะตัวนายกฯและภรรยาไปมีบริษัทในต่างประเทศ หรือที่สเปนและมองโกเลีย นักการเมืองที่เกี่ยวข้องต้องลาออก ที่ปากีสถาน ประธานาธิบดี ก็ต้องลี้ภัยหนีคดีไปอยู่มหานครดูไบ เพราะตรวจพบการมีบริษัทนอกประเทศ จนเสียชีวิต
โดย 3 ปี หลังจากปานามาเปเปอร์ได้รับการเผยแพร่ ประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องภาษีโดยเฉพาะประเทศตะวันตก ติดตามเอาภาษีที่หลุดรั่วออกไปจากกลไกการตั้งบริษัทนอกอาณาเขตรวมกว่า 1,200 ล้านบาทเลยทีเดียว ถือได่ว่าปานามาเปเปอร์ เป็นการปักหมุดการทำข่าวสืบสวนยุคดิจิทัล ซึ่งแสดงถึงโลกยุคใหม่ที่ไม่เหมือนในอดีต และเราก็ไม่รู้ว่า การทำข่าวในอนาคตจะออกมาในลักษณะใด
และในปี 2564 ก็มีแพนโดร่าเปเปอร์เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปานามาเปเปอร์ มีไฟล์รวบรวมไว้ 12 ล้านไฟล์ มีนักข่าวช่วยกันทำ 600 คนทั่วโลก มีองค์สื่อทั่วโลกช่วยกัน 100 กว่าองค์กร ซึ่งมีกรณีกองทุน One MDB เกิดขึ้นจากเอกสารชุดนี้ทำให้นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีต้องถูกจำคุก โดยตัวการหลบหนีไปแล้ว เป็นต้น ส่วนไทยพบตระกูลที่ร่ำรวย 6 ตระกูลตั้งบริษัทนอกอาณาเขตรวม 100 บริษัท
“ข่าวสืบสวนสอบสวน จะไม่ไปไหน ตราบเท่าที่นักข่าวสืบสวนทำตัวให้เป็นสถาบันที่ใครก็เขื่อถือได้ ประชาชนและสังคมต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจกับแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถทำความเข้าใจกับโลก และความซับซ้อนต่างๆ เพื่อให้รู้สิทธิ์ของตัวเอง สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้อง ดำเนินชีวิตและแสวงหาความยุติธรรมให้กับตัวเอง ที่สำคัญ เวลาไปเลือกตั้งจะได้คิดว่า ต้องการอะไรจากการเลือกตั้ง เป็นการไปใช้สิทธิอย่างมีความหมาย ของขวัญที่ดีที่สุดทีสื่อมวลชนมอบให้สังคมได้ คือ ข้อมูลข่าวสารที่ว่านี้” คุณปรางค์ทิพย์กล่าวทิ้งท้าย
ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง