"...สมัยที่คุณนุกูล เป็นผู้ว่าการแบงค์ชาติ เห็นว่ากระทรวงการคลังใช้จ่ายเงินเกินตัว ท่านได้ทำหนังสือที่เราเรียกกันว่า 'กระบี่เขียว' เพราะชอบเซ็นชื่อด้วยหมึกสีเขียว ส่งถึงรัฐมนตรีให้ปรับการคลังให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่ทำให้ประเทศล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อแบงค์ชาติ ทุกวันนี้หายากแล้วที่จะมีผู้บริหารประเทศบอกนักการเมืองให้แก้ไขปัญหาแบบนี้..."
คำว่าคุ้มค่า ไม่ได้หมายถึงการมีตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือการขึ้นสู่ตำแหน่ง รมว. กระทรวงคมนาคม แต่หมายถึง คนทำงานที่ยืนหยัดในความสัตย์ซื่อ ความถูกต้อง มีจริยธรรม มีความกล้าที่จะดำรงความชอบธรรมเป็นที่ประจักษ์และยอมรับโดยทั่วไป
หลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจาก พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหาร ส่งเทียบเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
จากนั้น นายอานันท์ ได้ทำความเข้าใจกับ คณะผู้นำ รสช. ว่า กระทรวงคมนาคม มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จึงต้องการมืออาชีพจริงๆ มาบริหารกระทรวงคมนาคม ในเวลานั้น ปรากฏว่าผู้นำ รสช. ทุกคนยอมรับในเหตุผล และไม่ติดใจอะไร
ตัดฉากไปที่ฮ่องกง
นายนุกูล ประจวบเหมาะ ซึ่งอยู่ในงานเลี้ยงทางธุรกิจได้รับแจ้งให้โทรศัพท์ไปหานายอานันท์ ปันยารชุน โดยด่วน
หนังสือ 'ชีวิตที่คุ้มค่า' ของ นุกูล ประจวบเหมาะ ผู้เขียนเล่าว่า
ขณะนั้นเป็นเวลาสามทุ่มเศษ ต้นสายคือโรงแรมแมนดาริน ฮ่องกง ปลายสายคือบ้านซอยไปดีมาดี
“ลื้อปฏิเสธไม่ได้นะ อั๊วขอร้อง” ปลายสายพูดแกมบังคับ
“เรื่องอะไร” ต้นสายถาม
“ขอให้ลื้อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม”
“ลื้อคิดว่า รสช. เขาจริงใจที่จะให้พวกเราเข้าไปทำงานเพื่อส่วนรวมจริงๆหรือ”
“อั๊วพูดกับคุณสุจินดาแล้ว เขาให้อำนาจปฏิบัติตามแต่จะเห็นสมควร จะทำอะไรเขาก็ยอมทั้งนั้น ถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม”
“แล้วมีใครอยู่ในคณะรัฐบาลบ้าง”
ฝ่ายผู้ขอร้องเอ่ยชื่อรัฐมนตรีบางคน ซึ่งนายนุกูล ประจวบเหมาะ รู้จักและยอมรับ จึงยอม ตกลงรับตำแหน่งที่เสนอ
ดึงอ้อยออกจากปากช้าง โทรศัพท์สามล้านเลขหมาย
ในเวลานั้นโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ที่มีบริษัท ซีพีเทเลคอม เป็นคู่สัญญากับรัฐบาล ได้รับความเห็นชอบแล้วจาก ครม. เมื่อเดือนตุลาคม 2533 ในยุคที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายมนตรี พงษ์พานิช เป็น รมว. คมนาคม
ในขณะที่โครงการมีเงื่อนงำชวนสงสัยหลายอย่าง เช่นดำเนินการอย่างปกปิด สื่อมวลชน มารับรู้ภายหลังว่า โครงการนับแสนล้านบาทมี TOR เพียง 3 หน้ากระดาษ ไม่มีตัวแทนสภาพัฒน์ ตัวแทนอัยการ ตัวแทนกระทรวงการคลัง และตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา แถมมีส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐบาลต่ำเพียง 6 % ในขณะที่บริษัทอัลคาเทล (ฝรั่งเศส) เสนอแบ่งรายได้ให้รัฐบาลสูงสุดถึง 51 % หนำซ้ำร่างสัญญายังมีการผูกขาดครอบงำการบริการโทรศัพท์ทั่วราช อาณาจักรตลอดเวลา 25 ปีของการรับสัมปทาน
ในฐานะประธานคณะทำงานเรื่องนี้ นายนุกูล ประจวบเหมาะ เล่าไว้ในหนังสือ “ชีวิตที่คุ้มค่า” ถึงการเจรจาต่อรองที่มีนายกรัฐมนตรีร่วมเจรจาว่า
"....ท่าทีคุณธนินท์ (เจียรวนนท์) ค่อนข้างแข็งกร้าว ไม่ยอมลดราวาศอกอะไรง่ายๆ คุณธนินท์ แสดงคล้ายกับว่า สัญญาดังกล่าวเป็นของคุณธนินท์ อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผละไรที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอีก ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะสัญญาดังกล่าวพร้อมจะลงนามอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะคุณธนินท์เชื่อหมอดู เลื่อนการลงนามออกไปอีก 2-3 วัน พอดีเกิดยึดอำนาจโดย รสช. เสียก่อน จึงทำให้เรื่องล่าช้ามาจนบัดนี้
ท่านนายก (นายอานันท์) เป็นนักเจรจาที่มีความอดทนยอดเยี่ยม เป็นนักเจรจาต่อรองที่ฉลาดรอบคอบ มีอารมณ์ดีตลอดเวลา สมเป็นปรมาจารย์ทางการทูต มีหลายครั้งที่การเจรจาพบทางตันตกลงกันไม่ได้ ท่านก็จะเปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นๆก่อน แล้วจึงกลับมาพูดเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ใหม่....”
การเจรจาเรื่องนี้ใช้เวลา 6 ครั้งๆละ 4-5 ชั่วโมง โดยมีผู้สื่อข่าวติดตามอย่างใกล้ชิด นับเป็น สุดยอดของการเจรจาต่อรองที่มีผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นเดิมพัน
ผลการเจรจาต่อรอง ทางซีพีเทเลคอมตกลงจำกัดขอบเขตงานเพียง 2 ล้านเลขหมาย และยอมรับที่จะไม่เข้าประมูลโครงการ 1 ล้านเลขหมายในเขตภูมิภาค โดยมีการปรับปรุงร่างสัญญาใหม่ ที่รัฐบาลจะได้ประโยชน์เพิ่มเติมเป็นเงินถึงสามแสนล้านบาท ในระยะเวลา 25 ปีของสัมปทาน
นับว่าเป็นการยกเลิกการผูกขาดกิจการโทรศัพท์โดยบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวอีกด้วย
นายนุกูล เกิดในครอบครัวคหบดีที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับทุนไปศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ ที่ออสเตรเลีย และปริญญาโทที่ ม. ยอร์ช วอชิงตัน USA กลับมารับราชการที่กอง ศก. การคลัง ด้วยการชักชวนของ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบดีกรมสรรพากร และเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สืบต่อจากคุณเสนาะ อูนากุล เป็นบุคคลที่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศได้อย่างงดงาม
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ที่เคยร่วมงานใกล้ชิดที่ธนาคารชาติ กล่าวว่า
“สมัยที่คุณนุกูล เป็นผู้ว่าการแบงค์ชาติ เห็นว่ากระทรวงการคลังใช้จ่ายเงินเกินตัว ท่านได้ทำหนังสือที่เราเรียกกันว่า “กระบี่เขียว” เพราะชอบเซ็นชื่อด้วยหมึกสีเขียว ส่งถึงรัฐมนตรีให้ปรับการคลังให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่ทำให้ประเทศล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อแบงค์ชาติ ทุกวันนี้หายากแล้วที่จะมีผู้บริหารประเทศบอกนักการเมืองให้แก้ไขปัญหาแบบนี้”
อายุขัยที่ยืนยาวถึง 93 ปี ของนายนุกูล ประจวบเหมาะ นับว่าเป็นมิ่งมงคลทั้งกับตนเอง ครอบครัว และตระกูลอยู่แล้ว
ยิ่งเป็นชีวิตที่พร้อมสรรพด้วยความสามารถ ความซื่อสัตย์ ความหาญกล้าทางจริยธรรม ความเป็นตัวของตัวเอง และความดีความงาม ก็ยิ่งน้อมนำชีวิตให้มีแต่สุคติในสัมปรายภพเป็นที่หมายนั่นเอง