"...'นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก' พระเจ้ามังระจึงตรัสให้เอาตัวนายขนมต้มนักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่า นายขนมต้มชกพม่า ไม่ทันถึงยกก็ชนะถึงเก้าคนสิบคน พระเจ้ามังระ ทอดพระเนตร ยกพระหัตถ์ตบพระอุระ ตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า..."
งานไหว้ครูมวยไทย 6 กุมภาพันธ์ 2566 ชื่อ AMAZING MUAYTHAI FESTIVAL 2023 ณ อุทยานราชภักดิ์ ลานหน้าพระบรมรูปบูรพมหากษัตริย์ 7 พระองค์ จะมีนักมวยไทย 5,000 คน ร่วมกันไหว้ครู และแสดงแม่ไม้มวยไทย โดย บัวขาว บัญชาเมฆ เป็นผู้นำ จะมีการบันทึกเป็นสถิติโลก (Guinness World Records) ด้วย
มวยไทยวันนี้ ไม่ใช่กีฬาหมัดมวยเฉพาะของประเทศไทยเท่านั้น แต่กลายเป็นกีฬากระเดื่องโลกที่ชาติตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ถึงกับตั้งค่ายสอนมวยไทยนับพันแห่ง คนต่างชาติมาเรียนมวยไทยก็มากมาย จนเกิดภาวะขาดแคลนครูมวยไทยที่มีฝีมือแล้ว
สภาวะเช่นนี้ มีที่มาที่ไป
ปี 2310 ที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่านั้น เด็กวัดอายุ 10 ขวบชื่อ ขนมต้ม ฝึกวิทยายุทธมวยไทยจนแกร่งกล้า พ่อแม่ของเขาถูกทหารพม่าฆ่าตาย ขนมต้มถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกไปอยู่พม่า
พงศาวดาร บันทึกไว้ว่า
'เมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ. 2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วให้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า
'นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก'พระเจ้ามังระจึงตรัสให้เอาตัวนายขนมต้มนักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่า นายขนมต้มชกพม่า ไม่ทันถึงยกก็ชนะถึงเก้าคนสิบคน พระเจ้ามังระ ทอดพระเนตร ยกพระหัตถ์ตบพระอุระ ตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า
'คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้'
หลังชนะนักมวยพม่า พระเจ้ามังระได้ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นายขนมต้ม แต่งตั้งเป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่เขาปฏิเสธและขอให้พระเจ้ามังระปลดปล่อยตนและเชลยคนไทยทั้งหมดให้เป็นอิสระเพื่อกลับบ้านเกิด พระเจ้ามังระยอมทำตามความประสงค์ ในที่สุดนายขนมต้มและเหล่าเชลยไทยได้อิสรภาพและกลับแผ่นดินไทย
Facebook ของวินทร์ เลียววาริณ เมื่อ 26 มค. 66 เขียนเรื่องนายขนมต้มไว้อย่างออกรสออกชาติ โดยเล่าว่านักมวยพม่า 10 คน แต่ละคน เข้ามาสู้แล้วแพ้ คนใหม่เข้ามาอีกสู้แล้วแพ้อีก
....นักมวยพม่าคนที่เจ็ดปราดเข้าหานายขนมต้มที่เริ่มจะหมดแรง เสียงหอบหายใจของนักสู้จากอยุธยาแรงขึ้น นักมวยพม่าก็รู้ และชิงประโยชน์จากจุดอ่อนนี้
หมัดซ้ายของนักมวยพม่าฉกเข้าหมายหน้าของนักมวยอยุธยา นายขนมต้มใช้ท่ามอญยันหลัก ยกแขนทั้งสองขึ้นป้องหน้า ไม่ทันที่หมัดคู่ต่อสู้เดินทางมาถึง เท้าขวาที่ยาวกว่าหมัดก็ถีบเข้าที่ยอดอกของนักมวยพม่า แต่การเคลื่อนตัวของเขาเริ่มช้าลง ทำให้พม่าหลบรอด
พม่ารุกต่ออีกหลายหมัด วืดวาดปาดซ้ายขวา พลันก็จู่โจมด้วยหมัดขวาอย่างแรง นายขนมต้มสืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า ประชิดตัว สองมือจับต้นคอฝ่ายพม่ากระแทกเข่าขวาที่หน้าของอีกฝ่าย คือ ไม้ตายนาม หักคอเอราวัณ ที่มีพิษสงร้ายกาจ
ครูมวยสอนว่า เมื่ออ่อนกำลัง ปล่อยให้ศัตรูเชื่อว่าตนเองสิ้นฤทธิ์ แล้วจู่โจมในห้วงยามที่อีกฝ่ายคาดไม่ถึง
ชนะไปเจ็ดคน....
ทั้งสิบคนถูกนายขนมต้มปราบจนสิ้นลาย
วินทร์ บอกด้วยว่า ที่เขียนนี้เป็นการเขียนแบบประวัติศาสตร์อ่านสนุก (Edutainment) “อย่าเอาไปอ้างอิงทางวิชาการ” และยังชี้ตอนท้ายด้วยว่า
นายขนมต้ม “เอาชนะนักมวยพม่า แต่ยังชนะพระทัยของพระเจ้ามังระ”
นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ 5 กพ. 66 รายงานคู่ชกประวัติศาสตร์ ที่ถือเป็นการชกคาดเชือก (ชกหมัดเปล่าไม่สวมนวม) ครั้งสุดท้ายระหว่าง นายแพ เลี้ยงประเสริฐ กับ เจียร์ พระตะบอง แห่งกัมพูชา เมื่อ 24 พย. 2471 โดยผู้ใช้ชื่อว่า “พันเมือง” เขียนบรรยายว่า
“แพ เลี้ยงประเสริฐ เป็นยอดมวยฝีมือดี เลื่องชื่อลือไกลไปถึงเมืองพระตะบอง ประเทศเขมร ทำให้เจียร์ พระตะบอง ดั้นด้นมาประกบคู่มวยแบบท้าทาย
นายแพ เป็นรองตั้งแต่รูปร่าง นายเจียร์นั้นใหญ่กว่ามากชนิดนิ้วโป้งกับนิ้วก้อย บนเวทีคราวหนึ่ง นายเจียร์รุกเป็นการใหญ่ จนนายแพไปติดเชือกกั้นเวทีตรงมุม นายโพล้ง ซึ่งเป็นพี่ชายเห็นได้จังหวะจึงตะโกนบอกนายแพว่า “หนุมานถวายแหวน” อันเป็นไม้ตายของสำนัก พอนายเจียร์โถมเข้ามา นายแพถีบเข้าที่ท้องน้อยจนนายเจียร์ตัวงอมาข้างหน้า นายแพจึงใช้หมัดคู่เสยเข้าซอกคอ (ที่เรียกว่า “หนุมายถวายแหวน”) ทำให้นายเจียร์ชะงัก จากนั้นนายแพก็ใช้มือซ้ายเหนี่ยวคอนายเจียร์เข้ามาพร้อมกับชกด้วยหมัดขวาอัดเข้าที่อกอีกหลายหมัด จนนายเจียร์ทรุดลง หมดสติหน้าคว่ำกับพื้นเวที ผู้ตัดสินนับถึงสิบ และชูมือนายแพให้เป็นผู้ชนะ”
ปรากฏว่า นายเจียร์เสียชีวิต นายแพถูกตำรวจจับเข้าห้องขังข้อหาฆ่าคนตาย แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดี ก. มหาดไทย สั่งระงับคดี เพราะถือเป็นวิถีการต่อสู้ ไม่มีเจตนาฆ่า
ก.มหาดไทย เห็นว่าการชกหมัดเปล่าโหดร้ายทารุณเกินไปจึงประกาศห้ามการชกมวยแบบคาดเชือก นับแต่นั้นมา
แล้วก็มาถึงยุค บัวขาว บัญชาเมฆ เด็กหนุ่มจาก จ.สุรินทร์ ที่อยู่ยงคงกระพันในฐานะนักมวยไทยสะท้านโลกครบเครื่องแม่ไม้มวยไทย ทั้งมอญยันหลัก หักคอเอราวัณ เอาชนะมาแล้วหลายแชมป์ ได้มาหลายเข็มขัด เขาขึ้นชก 330 ครั้ง ชนะ 295 ครั้ง เป็นชนะน็อก 72 ครั้ง เสมอ 12 ครั้ง แพ้ 23 ครั้ง
เมื่อ 1 ตค. 2551 บัวขาวแพ้น็อกให้กับ ซาโตะ นักมวยญี่ปุ่น เจ้าของฉายา “หมัดสไนเปอร์พิฆาต” ในศึก K-1 World Max ที่โตเกียว
15 ปีต่อมา เมื่อ 28 ตค. 2565 ณ สนามมวยราชดำเนิน ในนัดล้างตา เป็นการชกแบบคิกบ็อกซิ่ง กติกา 3 ยก ซาโตะรูปร่างสูงกว่าใช้ลูกถีบหยั่งเชิงในยกแรก บัวขาวระดมหมัดเข้าใส่อย่างไม่รั้งรอ ด้วยหมัดขวาชกเข้าหน้าอย่างรุนแรง ส่งซาโตะลงไปกองกับพื้นด้วยเวลาเพียง 2.13 นาที
นักมวยไทยยอดฝีมือสามยุค 3 คน ต่างสมัย ได้แสดงฝีมือให้โลกรู้ ถึงพลังละมุน (SOFT POWER) กีฬามวยที่ฤทธิ์แรงแกร่งไกร ในกระแสกีฬาของโลก
นวอาวุธ คืออาวุธทั้ง 9 ประกอบด้วย 2 หมัด 2 เท้า 2 เข่า 2 ศอก 1 ศีรษะ ถูกนำมาใช้อย่างครบเครื่อง ผนวกกับแม่ไม้มวยไทย เช่น จระเข้ฟาดหาง หักงวงไอยรา หนุมานถวายแหวน ซึ่งทั้งสืบทอดและพัฒนาต่อเนื่องกันมาอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่ยุคสุโขทัย
ในวันนี้ได้พัฒนาและปรับเข้ากับกติกาสากลตามที่จะกำหนดกัน แต่ละครั้งในแต่ละประเทศ แต่ศิลปะมวยไทยยังเป็นแม่ไม้หลักที่นักมวยต่างชาติยอมรับ ถึงขนาดที่กำลังเข้าสู่การพิจารณารับรองของคณะกรรมการกีฬาโอลิมปิคโลกแล้ว
เห็นใช่ไหมว่า มวยบางชาตินั้น ใช้ลมปราณ แม้จะมีพลังแต่เป็นกำลังภายในที่มองไม่เห็น ขณะที่อาวุธของมวยไทยนั้นเห็นกระจะแจ่มแจ้ง และเห็นผลทันที ศอกและเข่าใช้ระยะประชิดตัวแบบคลุกวงใน ซึ่งเป็นพื้นที่จำกัด ไม่เอื้อต่อการออกหมัดออกเท้า เตะเป็นการใช้ ขา สะโพก แขน แกนลำตัว การหมุนร่างกายทั้งหมด รวมศูนย์ส่งน้ำหนักไปที่เท้า เหมือนจุดระเบิดลงตรงไหนก็แรงร้ายตรงนั้น มีระยะทำการไกลกว่าหมัดและศอกเข่า
ข้อถกเถียงเรื่องมวยไทย มาจากไหน ไทย พม่า หรือกุน ขแมร์ นั้น เถียงกันอย่างไรก็ยากจะมีใครสามารถชี้ขาดให้เป็นข้อยุติได้ เพราะความจริงแล้ว ศิลปวัฒนธรรมแถบเอเชีย เป็นวัฒนธรรมร่วม ที่มีลักษณะคล้ายกัน ประเทศไหนๆ ก็สามารถนำ เพลง โขน ละคร ดนตรี มวย ตะกร้อ ว่าว ไปสืบสาน พัฒนา ยกระดับ เผยแพร่ตามบริบทของประเทศตนเอง
แต่ที่เห็น คือ มวยไทยนั้น ได้ก่อเกิด กลายเป็นรูปแบบ นวอาวุธ มีแม่ไม้มวยไทยนับร้อยกระบวนท่า มีท่าไหว้ครู มีการวางกฎเกณฑ์ กติกา และพัฒนามาโดยลำดับ จนบัดนี้มวยไทย ได้จำหลักเป็นค่ายมวยไทย นับพันแห่ง ในประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา
นายขนมต้ม นายแพ เลี้ยงประเสริฐ พุฒ ล้อเหล็ก บัวขาว บัญชาเมฆ ได้ตอกเสาเข็ม ลงหลักปักฐานไว้อย่างมั่นคงแข็งแกร่ง
ชาติไหนๆ ก็แย่งไปไม่ได้