"...ด้วยพี่นกได้ให้บริการกับพนักงานแบงก์ชาติมาหลายรุ่น จากรุ่นพ่อมาจนถึงรุ่นลูก กล่าวถึงพนักงานแบงก์ชาติว่า มีความเป็นกันเอง อยู่กันแบบพี่ ๆ น้อง ๆ มีอัธยาศัยดี พี่นกยังจำได้ถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจหลาย ๆ เหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี เช่น ตอนที่ตั้งโต๊ะขายอยู่หน้าปากซอยที่ต้องตะโกนบอกให้ลูกค้าคอยช่วยหุบร่มให้เวลารถยนต์แล่นเข้ามา หรือช่วงที่ลมแรงที่ต้องช่วยกันจับเอียงกันไปมาตามกระแสลม มือหนึ่งถือร่ม มือหนึ่งปั้นข้าวเหนียวเข้าปาก โดยที่ลูกค้ายินดีทำตามโดยไม่มีเสียงบ่น..."
“ตื่นตี 2 มาหุงข้าว พร้อมกับคิดว่าวันนี้จะทำกับข้าวอะไร พอตี 4 ไปตลาดซื้อของสดเพื่อกลับมาทำกับข้าวตามที่คิดไว้ และนำไปวางขายให้กับแม่บ้าน คนสวน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จากนั้น จึงกลับมาที่ร้านเพื่อจัดเตรียมอาหารส้มตำ ไก่ทอดตามที่ลูกค้าสั่งจองไว้ล่วงหน้า พร้อมตระเตรียมสำหรับลูกค้าที่มานั่งทานภายในร้าน ซึ่งกว่าลูกค้าจะกลับก็เกือบบ่ายโมง พอดีเวลาจัดทำอาหารเย็นตามที่ลูกค้าสั่งผ่านไลน์ ที่มีลูกค้าประจำกว่า 200 คน ก่อนทำความสะอาดร้าน และเข้านอนตอน 2 ทุ่ม”
นี่คือชีวิตประจำวันของแม่ค้า ผู้อยู่เคียงคู่แบงก์ชาติมายาวนานกว่า 40 ปี และชาวแบงก์ชาติรู้จักกันดีในนาม “พี่นก ส้มตำ” ที่ร้านอยู่ข้างในตรอกหลังอาคาร 7 และแม้ว่าร้านจะอยู่ไม่ไกล แต่ต้องเดินเข้าไปแบบเขาวงกตที่ลูกค้าใหม่ต้องอาศัยแฟนพันธุ์แท้พาเดินเข้าไป
“พี่นก ส้มตำ” ชื่อจริงว่า พรเพิ่ม สาหรับ (นก) เล่าถึงชีวิต 66 ปีที่ผ่านมาว่า ชีวิตผูกพันย่านนี้มาตั้งแต่เกิด พ่อเสียตั้งแต่วัยเด็ก แม่จึงตัดสินใจฝากลูก 5 คนให้ญาติที่ต่างจังหวัดเลี้ยงดู มีเพียงตนและน้องชาย 1 คนที่อยู่กับแม่ อาศัยทำขนมขายอยู่แถวถนนหน้ารั้ววังบางขุนพรหม เดิมเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ที่ตนเองมักเข้ามาวิ่งเล่นเป็นประจำ พอเรียนจบมัธยม 3 ลาออกมาช่วยแม่ทำขนมแบบเต็มตัว แม่ทำขนมอร่อยมาก โดยเฉพาะขนมลอดช่อง เป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้า มีดารานักแสดง เช่น อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา มานั่งทานเป็นประจำ เมื่อแม่มีอายุมากขึ้นและมีโรคมารุมเร้า ต้องเลิกทำขนมไปโดยปริยาย พี่นกจึงตัดสินใจเซ้งร้านส้มตำที่อยู่หน้าปากซอย พร้อมกับเริ่มเรียนรู้การตำส้มตำแบบตำไปลองไปจนรสชาติเป็นที่ถูกปากของลูกค้า สามารถขยายโต๊ะจากปากซอยไปถึงสุดตรอกหน้าโรงยา (สถานพยาบาลเดิม) ก่อนที่จะต้องถูกขยับเขยื้อนเข้ามาข้างในบ้านที่เช่าอยู่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นบ้านที่สร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นบ้านร้างที่คุณแม่ตัดสินใจย้ายมาอยู่ พร้อมมาบูรณะทำให้การรับประทานไก่ทอดส้มตำคลุกเคล้าไปด้วยบรรยากาศเก่า ๆ ย้อนยุคไปถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง
ด้วยรสชาติส้มตำ ไก่ทอดที่ติดอกติดใจ ทำให้ลูกค้าเต็มร้านแทบทุกวัน พี่นกตัดสินใจมาเปิดขายที่อาคารสโมสรแบงก์ชาติเดิม (ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา) และเมื่อกระทรวงสาธารณสุขย้ายไปที่ตั้งใหม่ ถูกชวนไปขายภายในกระทรวงฯ ขายดิบขายดี จนกระทั่งตัดสินใจไปซื้อบ้านอยู่ใกล้ ๆ และลงมือทำเอง ปล่อยให้ลูกน้องขายอยู่ที่แบงก์ชาติ แต่ทำได้ไม่ถึง 3 ปีปรากฏว่าสัญญาว่าจ้างถูกยกเลิก ต้องกลับมาที่รังเดิม แต่คราวนี้ค้นพบว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไป ลูกค้าแทบไม่มี เพราะที่ผ่านมาปล่อยให้ลูกน้องทำเอง กว่าจะเรียกลูกค้ากลับมา ใช้เวลาพอสมควร พอมีการก่อสร้างอาคารแบงก์ชาติสำนักงานใหญ่หลังใหม่ จึงมาเช่าร้านอยู่ใกล้ ๆ ประตูทางออกถนนสามเสน พร้อม ๆ กับการต้องปรับตัวเมื่อสถานการณ์โควิดประทุขึ้น จนวันนี้จึงกลับไปขายรังเก่าที่บ้านเช่าหลังเดิม พร้อมกับขายอาหารตามสั่งทั้งจากที่เรียนรู้จากแม่และเรียนรู้ด้วยตนเอง จนวันนี้สามารถทำอาหารตามสั่งได้มากกว่า 100 รายการ
ด้วยพี่นกได้ให้บริการกับพนักงานแบงก์ชาติมาหลายรุ่น จากรุ่นพ่อมาจนถึงรุ่นลูก กล่าวถึงพนักงานแบงก์ชาติว่า มีความเป็นกันเอง อยู่กันแบบพี่ ๆ น้อง ๆ มีอัธยาศัยดี พี่นกยังจำได้ถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจหลาย ๆ เหตุการณ์ได้เป็นอย่างดี เช่น ตอนที่ตั้งโต๊ะขายอยู่หน้าปากซอยที่ต้องตะโกนบอกให้ลูกค้าคอยช่วยหุบร่มให้เวลารถยนต์แล่นเข้ามา หรือช่วงที่ลมแรงที่ต้องช่วยกันจับเอียงกันไปมาตามกระแสลม มือหนึ่งถือร่ม มือหนึ่งปั้นข้าวเหนียวเข้าปาก โดยที่ลูกค้ายินดีทำตามโดยไม่มีเสียงบ่น แม้กระทั่งในตอนที่จานใส่อาหารหมด ลูกค้ายังบอกให้เอาไก่ที่ทอดแล้วใส่มือเพื่อนำไปทานที่โต๊ะ ในขณะที่ระดับผู้บริหาร (รวมทั้งอดีตผู้ว่าการฯ) ยังมานั่งทานกันแบบติดดินกลมกลืนกัน แม้ปัจจุบัน พนักงานใหม่จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างไป ไม่ได้เน้นการพูดคุยกัน เพราะเพลินกับการเล่นมือถือ แต่ก็ยังมีความเป็นชาวแบงก์ชาติ แสดงความเป็นกันเองอยู่เสมอ
ด้วยพี่นกได้พบปะกับผู้คนหลากหลาย ทำให้รู้สึกอยากจะคืนกำไรให้แก่สังคม จึงตัดสินใจทำอาหารที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยาให้กับกลุ่มลูกจ้าง แบบอิ่มท้อง กับข้าวถุงละ 20 บาท ข้าวสวยถุงละ 5 บาท ทำเช่นนี้ทุก ๆ เช้า “พี่นกเข้าใจเลยว่า 1 บาท มีคุณค่าแค่ไหนสำหรับพวกเขา เมื่อเห็นรอยยิ้มของพวกเขา ทำให้สุขใจ อิ่มเอมใจ และมีความสุขมาโดยตลอด พร้อมตั้งใจจะคงทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจับสากครกไม่ไหว”
คำพูดของคุณอารีย์ แนบกระโทก ที่พี่นกรับเลี้ยงมาตั้งแต่อายุ 14 ปีจนถึงปัจจุบัน ที่ยังคงช่วยงานพี่นกอยู่แม้จะอายุย่าง 50 ปีแล้วก็ตาม สรุปถึงชีวิตของคุณพรเพิ่ม สาหรับ ได้เป็นอย่างดีว่า “พี่นกเป็นนักสู้ ทำงานหนัก ไม่เคยท้อแท้ ดูภายนอกเป็นคนใจดี แต่จริงใจ และจริงจัง อยู่กันแบบพี่น้อง ทำงานกันด้วยความสุขและสนุกกับงาน”
จากการใช้ชีวิตอยู่กับรอบรั้ววังบางขุนพรหมมาหลายยุคหลายสมัย เริ่มต้นขายส้มตำจานละ 6 บาท ทำให้พี่นกได้เรียนรู้และปรับตัวตลอดตามยุคตามสมัย สิ่งที่พี่นกได้ฝากข้อคิดไว้ให้พวกเรา คือ “ต้องเข้าใจงานที่ทำอย่างลึกซึ้ง เวลาทำงานจะต้องมีความสุขและ สนุกสนานกับงานที่ทำ ถ้าไม่สนุก จะชิมอะไรก็ไม่อร่อย และใช้ชีวิตอยู่กันแบบพี่น้อง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน พูดกันตรง ๆ อะไรที่ดี อะไรที่ต้องปรับปรุง สำหรับรางวัลชีวิต อยากทำอะไรก็ทำเลย วันหยุดได้พักผ่อนเต็มที่ กิน นอน เที่ยวเพื่อเพิ่มพลังมาทำงานในวันต่อไป”
รณดล นุ่มนนท์
เขียนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566
หมายเหตุ:
-ขอขอบคุณ คุณอภิสรา เปาอินทร์ และคุณนฤมล ต๊ะปัญญา ที่ไปร่วมสัมภาษณ์ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการเขียน Weekly Mail ฉบับนี้
-ขอขอบคุณประกอบจาก www.smeleader.com/รวมแฟรนไชส์ส้มตำ/
-ขอขอบคุณประกอบจาก www.smeleader.com/ของกินเล่นขายดี-ไก่ทอด/