"...ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” วรรคสาม บัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และวรรคท้าย บัญญัติว่า “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้..."
หมายเหตุ : องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) , สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) .มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ,สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ,คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ,ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.) ,สถาบันสังคมประชาธิปไตย และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาข้อห่วงกังวลกรณีการดำเนินคดีและการประกันตัว ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง ตะวัน แบมและสิทธิโชค
สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมในคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มีถูกศาลสั่งให้ขังในชั้นสอบสวนหรือในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล จำนวนกว่า 15 คน โดยศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว บางคนถูกกักขังมาแล้ว 300 กว่าวัน บางกรณีได้รับการประกันตัว แต่ต้องยอมรับเงื่อนไขติดอุปกรณ์ติดตามตัว หรือ Electronic Monitoring (EM) ตลอดเวลา บางคนถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากบ้านตลอด 24 ชั่วโมง และมีข้อกำหนดอื่นๆ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอีกมากมาย หรือไม่ก็ถูกถอนประกันและนำตัวไปคุมขังอีกนั้น
องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อท้ายจดหมายฉบับนี้เห็นว่า การกล่าวหา ดำเนินคดี ตลอดจนการกำหนดหลักประกันและเงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ต้องหา/จำเลยเหล่านี้ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น มีลักษณะที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ
1.การดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม ผู้ต้องหา/จำเลยซึ่งเป็นแกนนำนักกิจกรรมทางสังคมการเมืองหลายคนถูกกล่าวหาและดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารและโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากพวกเขามีความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ ตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพอันสัมบูรณ์ (Absolute Right) ของบุคคล ที่รัฐหรือผู้มีอำนาจใดๆ ไม่อาจอ้างเหตุผล หรือสถานการณ์ใดๆ เพื่อจำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ แต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยกลับถือว่า “ความคิดความเชื่อของบุคคลที่ต่างจากผู้มีอำนาจเป็นอาชญากรรม” และกระทั่งได้กล่าวหาและดำเนินคดีนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองที่มีความคิด ความเชื่อ ต่างจากรัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล และการแสดงออกซึ่งความคิดเชื่อในเรื่องดังกล่าวโดยสงบอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในสังคประชาธิปไตย ว่าพวกเขา กระทำผิดตามประมวลกฎหมายนอาญามาตรา112 มาตรา 116 พ.ร.ก. การบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎหมายอื่นๆ ทำให้พวกเขาตกเป็น “นักโทษทางความคิด” (Prisoner of Science) ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมอารยะไม่อาจยอมรับได้
2.หน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารโดยฝ่ายตุลาการ ศาลซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการที่ต้องทำหน้าที่และมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มงวด ต่อการกล่าวหาและการดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ เป็นมืออาชีพ โดยปราศจากอคติและการแทรกแซงทั้งปวง ตามหลักนิติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาบางคน ในคดีที่นักกิจกรรมดังกล่าวตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลย เห็นว่าไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทั้งสองหลักการดังกล่าว ทั้งในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวและการพิจารณาพิพากษาคดี จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล ได้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และใช้กระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อขจัดหรือปิดปากฝ่ายตรงข้าม (Judicial Harassment) อย่างได้ผล
3.ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการประกันตัว ผู้ต้อง/จำเลยนักกกิจกรรมทางสังคมและการเมือง นอกจากไม่สมควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีเพราะเหตุที่มีความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองและการแสดงออกแล้ว พวกเขายังถูก “ปฏิบัติเป็นพิเศษ” ที่แตกต่างจากผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญาทั่วไป รวมทั้งคดีอุกฉกรรจ์อีกด้วย อันถือเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า
“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” วรรคสาม บัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และวรรคท้าย บัญญัติว่า “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้...”
ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง แต่ในการปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับการยึดถือและปฏิบัติอย่างแท้จริง
(1)ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ถูกขังหรือถูกถอนประกันทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ตรงกันข้ามพวกเขากลับแสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังว่าพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต่อสู้เพื่อยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองและมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อดังกล่าว ต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของพวกเขา และต่อสู้เพื่อให้ศาลซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลตัดสิน ว่าการจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อดังกล่าวของประชาชนโดยรัฐ ไม่ชอบธรรมและไม่อาจกระทำได้ โดยพวกเขาคาดหวังว่า ศาลจะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายตุลาการตามหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
(2)คำสั่งของผู้พิพากษาหลายคน ในการขังผู้ต้อง/จำเลยนักกิจกรรม เป็นการปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนหนึ่งเป็น“ผู้ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดแล้ว” โดยอ้างเหตุผลในการขังและการถอนประกันว่า ผู้ต้องหา/จำเลยเหล่านั้นจะไป “กระทำเช่นเดียวกันกับที่กล่าวหา” อีก หรือ ได้ไป “กระทำเช่นเดียวกันกับที่กล่าวหา” เช่น การชุมนุม การแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อที่รัฐบาลและอัยการอ้างว่าเป็นการก่ออาชญากรรมและหยิบยกขึ้นกล่าวหาและดำเนินคดีพวกเขา ทั้ง ๆ ที่ศาลยังมิได้พิจารณาและตรวจสอบพยานหลักฐานที่อัยการจะต้องเสนอต่อศาลเพื่อพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยอันสมควรว่า พวกเขาเป็นผู้กระทำผิดจริงตามกล่าวหา อีกทั้งพวกเขายังไม่เป็น “ผู้ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดแล้ว” แต่อย่างใด ดังนั้นการสั่งขังหรือถอนประกันผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมในหลายคดี อาจเข้าข่ายเป็น “การตั้งธงพิพากษาไว้ก่อนโดยอคติ (Prejudge)” ซึ่งขัดต่อหลักแห่งความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง และอาจถือว่าเป็นการ “ลงโทษขัง” ผู้ต้องหา/จำเลย ทั้งที่ต้องถือว่าพวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
(3)จริงอยู่ ผู้ต้องหา/จำเลยที่เป็นนักกิจกรรมบางคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือการประกันตัว แต่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เสมือนหนึ่งว่าพวกเขาว่าเป็นนักโทษที่ต้องคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดและต้องรับโทษแล้ว การห้ามไป “กระทำเช่นเดียวกันกับที่กล่าวหา” เช่นห้ามร่วมกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยที่พึงกระทำได้ ห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล (House Arrest) ติด Electronic Monitoring (EM) หรือกำไล EM เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างยิ่งยวดทั้งสิ้น และเป็นมาตรการที่อาจใช้ได้เฉพาะต่อนักโทษที่ศาลได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่ามีความผิดและต้องรับโทษเท่านั้น
(4)การขังในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดี การถอนประกันและการกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะการติดกำไล EM นอกจากมีลักษณะเป็น “การลงโทษ” ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางสังคมการเมืองแล้ว ยังเป็น”การด้อยค่าและละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ไม่อาจกระทำได้ ไม่ว่าโดยเหตุผล หรือในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่บางคนในกระบวนการยุติธรรมในชั้นเจ้าพนักงาน และในชั้นศาล ที่ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ได้มีการร้องเรียน อุทธรณ์ต่อศาลสูง แต่หลายกรณีไม่ได้รับการแก้ไขเยียยา ยังมีผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมอีกจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี ขัง และปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในลักษณะดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้น เมื่อการเรียกร้องสิทธิตามขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่หมดสิ้นหนทาง พวกเขาจึงจำเป็นต้อใช้กระบวนการนอกศาล อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนสามารถกระทำได้ด้วยความเป็นธรรม โดยการชุมนุม ประท้วง กระทั่งถอนประกันตนเอง อดข้าว อดน้ำ เพื่ออุทธรณ์ต่อประชาชนและนานาชาติ ดังกรณีของ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ นางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม นักกิจกรรมหญิงทั้ง 2 ราย ที่ได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวชั่วคราวของตนเอง และและสิทธิโชค เศรษฐเศวต เพื่อประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง รวมถึง ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2) ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง 3) เรียกร้องทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ขณะนี้นักกิจกรรมหญิงทั้งสองได้อดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 จนมีสภาพร่างกายอิดโรยและถูกส่งตัวเข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และอยู่ในขั้นวิกฤติที่อาจเสียชีวิตได้ในไม่ช้านี้
กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอให้ท่านในฐานะประธานของฝ่ายตุลาการดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ฝ่ายตุลาการสามารถมีบทบาทเป็นเสาหลักในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อำนวยความยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและนำมาซึ่งสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม ได้อย่างแท้จริง ตามหลักการของสังคมประชาธิปไตย ต่อไป
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.)
สถาบันสังคมประชาธิปไตย
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35