"...ถ้าเป็นกระทรวงอื่น เช่น มหาดไทย การโยกย้ายเป็นเรื่องธรรมดาด้วยเหตุผลที่ว่าอยู่นานแล้วอาจจะมีอำนาจในพื้นที่มากเกินไป สั่งย้ายเมื่อไหร่ต้องไปเลย ทั้งเจ้าตัวและมวลชนไม่ต้องต่อรอง แต่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้วว่าให้หมออยู่ชนบทประจำพื้นที่ได้จนเกษียณจะได้ทำให้การพัฒนาชนบทต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หน่วยงานสาธารณสุขเป็นหน่วยราชการที่ได้รับความยอมรับจากประชาชนมากกว่าหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งหมด..."
มีหลายท่านแนะนำให้ผมเขียนเรื่องนี้ ผมคิดอยู่สองสามวันว่าจะเขียนดีไหม และจะเขียนอย่างไรที่จะช่วยหาทางออกให้คนที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่มีใครต้องรู้สึกไม่ดีมากเกินไป
ก่อนอื่น ต้องเปิดเผยว่าผมสนิทกับหมอสุภัทรมากกว่าตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้ ผมรู้จักกับเขาตั้งแต่เขาเริ่มทำงานในยุคต่อต้านพฤษภานองเลือดปี พ.ศ. 2535 ในฐานะของคนใต้ที่ส่งกำลังทั้งทางตรงและทางอ้อมไปช่วยคนกรุงเทพฯ ในตอนนั้น แต่เราร่วมทำงานด้วยกันไม่มากนัก
ผมรู้จักเขามากขึ้นในยุคต่อต้านท่อแก๊ส ซึ่งผมเอาใจช่วยอยู่ห่าง ๆ ผมไม่ชอบใจที่ชาวบ้านถูกรัฐบาลรังแกด้วยกำลังอำนาจรัฐทำร้ายร่างกายและใช้กฎหมายฟ้องร้องจนชาวบ้านแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวไม่เป็นอันทำมาหากิน เพราะโดนรัฐเรียกไปขึ้นศาล แต่ผมก็ไม่ได้เข้าช่วยเหลืออะไรมากนักนอกจากไปเยี่ยมกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกรัฐกักขัง
ช่วงเวลาที่ผมทำงานกับหมอสุภัทรมากที่สุด คือ ช่วงไฟใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ต่อเนื่องมานับสิบปี เริ่มแรกเราและหมออีกสองสามคนไปชวน ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย เป็นประธานจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ในปี 2553 อาจารย์ธาดาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของคุณหมอมงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น นำทีมออกเยี่ยมโรงพยาบาลต่าง ๆ ในช่วงวิกฤต เมื่อสิ้นอาจารย์ธาดาไป พรรคพวกก็เลือกผมเป็นประธานมูลนิธินี้ต่อ พวกเราอันประกอบด้วยอาจารย์แพทย์และแพทย์ผู้ใหญ่ออกเยี่ยมโรงพยาบาลในพื้นที่และชาวบ้าน คุณหมอสุภัทรเป็นแกนหลักในการระดมทุนมาใช้ในกิจกรรมเยียวยาเหล่านี้ ปัจจุบันมูลนิธินี้ก็ยังคงอยู่ แต่กิจกรรมน้อยลงเนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ เราร่วมมือกันในเรื่องการส่งเสริมพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ เช่น กิจกรรมบัณฑิตอาสา การเรียนการสอนนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยดำเนินการทั้งพื้นที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับหมอสุภัทรเท่านั้น
ความสนิทสนมทำให้ผมเห็นด้านดีที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ คุณหมอสุภัทรเป็นคนกล้าหาญ เข้ากับมวลชนได้ดี การบริหารโรงพยาบาลทำได้ดี ผมไม่ได้ยินเสียงตำหนิติติงจากมวลชนและทีมงานสาธารณสุขเลย ในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด ความเชื่อมั่นต่อโรงพยาบาลทำให้มวลชนนำญาติพี่น้องที่กลับจากประเทศที่มีการระบาดเข้ามาให้หมอสุภัทรและทีมงานกักตัวถึงสองสัปดาห์ช่วยป้องกันการระบาดในช่วงนั้นได้ดี ชาวบ้านชื่นชม นำเอาพืชผักผลไม้ กุ้งหอยปูปลาที่เขาพอหาได้มามอบเป็นของขวัญต่อทีมงานในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง
ส่วนที่ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับหมอสุภัทรเลย คือ กิจกรรมของชมรมแพทย์ชนบทซึ่งคุณหมอเป็นประธานอยู่ รวมทั้งเรื่องการต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมผมก็ดูอยู่ห่าง ๆ เหมือนยุคท่อแก๊ส ความจริงแล้วผมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบทประมาณปี 2518 มีพี่หมออุเทน จารณศรี เป็นประธาน ตอนนั้นเราเรียกว่า สหพันธ์แพทย์ชนบท ได้รับความช่วยเหลือจากอย่างดีจากโรงเรียนแพทย์ แต่ในที่สุดก็ถูกปิดไปในช่วงรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519
ในส่วนของผู้ใหญ่ทางกระทรวงสาธารณสุขนั้น ส่วนใหญ่ผมจะทำงานกับกรมควบคุมโรค (สมัยก่อนเรียกว่ากรมควบคุมโรคติดต่อ) เพราะความเชี่ยวชาญของผมคือระบาดวิทยา โดยเฉพาะความเข้าใจสถานการณ์โรคต่าง ๆ ในภาคใต้ซึ่งผมทำงานวิจัยมา 40 ปีแม้จะเกษียณราชการมาได้ 12 ปีแล้วก็ตาม แพทย์ชนบทในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีการโยกย้ายไม่มากนักในขณะที่นักการเมืองและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขระดับสูงผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
เมื่อเกิดการระบาดของโควิด ทางกรมควบคุมโรคได้ชวนให้ผมไปอยู่ในทีมที่ปรึกษาของท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทีมนี้ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ใหญ่อาวุโสหลาย ๆ ท่าน โอกาสนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้จากท่านเหล่านั้น และเห็นวิธีการทำงานของท่านรัฐมนตรีและทีมงานในกระทรวง
ในช่วง 2-3 ปีของการระบาดของโควิด ผมเห็นว่าทีมงานการเมืองทั้งท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรองนายก ฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขด้วยทำงานประสานกันได้ดีมาก และประสานกับข้าราชการ นักวิชาการด้านสาธารณสุขตลอดจนกรมกองต่าง ๆ ได้ดีมาก น่าประทับใจ ท่านรัฐมนตรีมีอัธยาศัยดีเป็นกันเอง ทำให้ใคร ๆ อยากช่วยเหลือร่วมมือ แต่ถ้าใครมาต่อว่าท่านก็จะตอกกลับผ่านสื่อมมวลชนบ้างเหมือนกัน ส่วนคุณหมอโอภาส การย์กวินพงศ์ ท่านเป็นคนเอาการเอางาน สุขุม ติดตามงาน ในช่วงที่ท่านเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในยามดึกดื่นท่านก็ยังโทรศัพท์คุยกับผมในเรื่องห้องปฏิบัติการตรวจโควิดของโรงพยาบาลยะลา หลังจากเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรค ท่านทำงานเข้ากับท่านรัฐมนตรีได้ดี จึงไม่แปลกใจว่าท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขในที่สุด
พูดด้านดีของทุกฝ่ายมามากแล้ว ผมก็จะขอพูดด้านที่บางคนว่าถูก บางคนว่าผิด (ภาษาอังกฤษเรียกว่า controversial แปลว่า เป็นที่ถกเถียงกัน) บ้าง ความถูกผิดนี่แล้วแต่คนจะมอง
ความที่คุณหมอสุภัทรเป็นคนกล้า ไม่กลัวอำนาจ เขาก็มีโอกาสที่จะทำอะไรที่ล้ำเส้นฝ่ายผู้มีอำนาจไปบ้าง ทีมงานจากชมรมแพทย์ชนบทมีบทบาทขัดแย้งกับกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางเป็นระยะ ๆ แพทย์ส่วนหนึ่งบางครั้งก็รู้สึกไม่ชอบใจ
นอกจากนี้ ในทางการเมือง คุณหมอสุภัทรสนับสนุนคนรุ่นใหม่มากกว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยธรรมชาติแล้วคนรุ่นใหม่ก็จะสร้างความสนใจจากสังคมโดยการแสดงออกอย่างแรง ๆ บางคนก็เห็นว่าเป็นธรรมชาติและสิทธิ์ของคนรุ่นใหม่ บ้างก็เห็นว่าเป็นกลุ่มก้าวร้าวและล้ำเส้นมากเกินไป คุณหมอสุภัทรไปช่วยน้อง ๆ เหล่านี้บ้างในบางโอกาส ทำให้มีทั้งคนรักและคนชัง รวมสองข้างแล้วอาจจะมากกว่าคนที่รู้สึกกลาง ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งของการเมืองไทย
นอกจากทางการเมือง ผมได้ข่าวว่าคุณหมอสุภัทรถูกตั้งกรรมการสอบสวน 5-6 กระทง เข้าใจว่าเรื่องทั้งหมดเกิดจากทางส่วนกลางรู้สึกว่าคุณหมอล้ำเส้นมากเกิน ผู้ใหญ่อาจจะมองว่าทำให้การบริหารสั่งการราชการไม่มีประสิทธิภาพ
เนื่องจากความเป็นมนุษย์ปุถุชน ฝ่ายการเมืองที่ผมยกย่องในเบื้องต้นว่าบริหารเรื่องโควิดได้ดีมาก ก็คงมี controversial เหมือนกัน
ธรรมดานักการเมืองที่ถูกใจมหาชนมักจะต้องกล้าได้กล้าเสีย กล้าลุยในเรื่องที่ controversial เมื่อประเมินดูแล้วว่านโยบาย controversial แบบนั้นจะทำให้ฝ่ายตนชนะเลือกตั้งได้
ขอย้ำอีกครั้ง ผมใช้คำว่า controversial แปลว่าเป็นที่ถกเถียงกัน ไม่ได้แปลว่าถูกหรือผิด นโยบายทางการเมืองที่เป็น controversial จะไม่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคัดค้านย่อมเป็นไปไม่ได้ การเมืองที่ใช้นโยบาย controversial ในเรื่องพืชที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพย่อมได้รับการคัดค้านจากคุณหมอหลายฝ่าย คุณหมอสุภัทรคัดค้านออกหน้าต่อนโยบายนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เข้าใจได้
สุนทรภู่ท่านสอนผ่านพระอภัยมณีที่สอนสินสมุทรว่า “อันวิสัยในพิภพแม้นรบกัน ย่อมหมายมั่นที่จะได้ชัยชนะ” ในที่สุดคุณหมอสุภัทร ก็เลยถูกผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเพิ่งจะเข้ามารับงานในพื้นที่ได้ไม่กี่วัน สั่งให้หมอสุภัทรย้ายออกจากฐานที่มั่นอำเภอจะนะให้ไปอยู่ที่อำเภอสะบ้าย้อย แยกน้ำออกจากปลา แยกนักเคลื่อนไหวออกจากมวลชน
เห็นว่าคุณหมอสุภัทรร้องศาลปกครองว่าถูกกลั่นแกล้ง ฝ่ายการเมืองก็แจ้งสื่อมวลชนบอกว่าการโยกย้ายไม่ได้มาจากฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องของข้าราชการประจำ คำสั่งย้ายลงนามโดยผู้ตรวจราชการสาธารณสุขภาคใต้ตอนล่างคนใหม่ คุณหมอสุภัทรให้ความเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่ปลัดกระทรวง และ รัฐมนตรีบอกว่าผมไม่เกี่ยว ให้ไปถามผู้ตรวจราชการโน่น
ถ้าเป็นกระทรวงอื่น เช่น มหาดไทย การโยกย้ายเป็นเรื่องธรรมดาด้วยเหตุผลที่ว่าอยู่นานแล้วอาจจะมีอำนาจในพื้นที่มากเกินไป สั่งย้ายเมื่อไหร่ต้องไปเลย ทั้งเจ้าตัวและมวลชนไม่ต้องต่อรอง แต่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้วว่าให้หมออยู่ชนบทประจำพื้นที่ได้จนเกษียณจะได้ทำให้การพัฒนาชนบทต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หน่วยงานสาธารณสุขเป็นหน่วยราชการที่ได้รับความยอมรับจากประชาชนมากกว่าหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งหมด
ในชายแดนใต้ มีหมอประจำอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอต่าง ๆ แต่ละคนอยู่มาเป็นเวลานาน ทุกคนเป็นที่รักของมวลชน และเป็นแกนหลักที่ช่วยให้รัฐไทยเข้าได้ดีกับชาวบ้านมลายูที่มีวัฒนธรรมต่างจากชาวสยามส่วนใหญ่ การย้ายคนที่ชาวบ้านรักออกไปโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏมาก่อน
เหตุผลของการย้ายคุณหมอสุภัทรไปประจำโรงพยาบาลอำเภอสะบ้าย้อยอีกประการหนึ่ง คือ สะบ้าย้อยอยู่ลึกเข้าไปในชุมชนมลายูต้องการให้คนเก่งอย่างคุณหมอสุภัทรไปแก้ปัญหาพื้นที่ซึ่งยากลำบากกว่าอำเภอจะนะ แต่การย้ายทำในช่วงที่เจ้าตัวมีความขัดแย้งกับนักการเมืองและเจ้าตัวไม่เต็มใจ น่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ผมก็ไม่ทราบว่าในที่สุดใครจะแพ้จะชนะ ผมเดาว่าฝ่ายการเมืองและข้าราชการชั้นสูงน่าจะชนะในทางกฎหมาย แต่การชนะแบบนี้ก่อให้เกิดรอยร้าวหรือรอยตำหนิในทางการเมือง ผมอยากได้นายกรัฐมนตรีที่ถ้าจะชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องได้รับการยอมรับทางการเมืองจากคนส่วนน้อยทางชายแดนใต้ด้วย ในฐานะของนักสาธารณสุข ผมอยากได้ระบบการโยกย้ายข้าราชการสาธารณสุขที่มี legitimacy
ผมเคยให้ความเห็นไว้แล้วว่า คำว่า legitimacy มีสองความหมายอยู่ในตัว ความหมายแรกแปลว่า ถูกต้องตามกฎหมาย ความหมายที่สองแปลว่าถูกต้องทำนองคลองธรรม ผมอยากเห็นการโยกย้ายในกรณีนี้มี legitimacy ทั้งสองอย่าง ไม่ใช่มีอำนาจตามกฎหมายแล้วก็สั่งการโดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม
เรื่องที่คุณหมอสุภัทรถูกกล่าวหา 5-6 กระทง ดูเหมือนเขาถูกกล่าวหาทำนองล้ำเส้นทางนโยบายและการบริหารของส่วนกลาง เขาไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบในพื้นที่ซึ่งต้องย้ายออกเพื่อให้สอบสวนได้สะดวก การโยกย้ายครั้งนี้จึงดูไม่ชอบธรรม
ส่วนแนวคิดที่จะให้หมอสุภัทรไปช่วยพัฒนาอำเภอสะบ้าย้อยเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องชอบธรรม เพราะอำเภอสะบ้าย้อยมีปัญหาสาธารณสุขมากกว่าอำเภอจะนะ แต่ย้ายโดยเขาไม่เต็มใจและทำให้เขาลำบากดูจะเป็นการลงโทษโดยไม่สมเหตุสมผล เกิดผลเสียมากกว่าผลดีทั้งต่อหมอสุภัทรที่จะต้องลำบากขึ้น และต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้ตรวจราชการอันเป็นห่วงโช่ของอำนาจในกระทรวง Loss-loss ไม่ใช่ win-win รัฐมนตรีทำในสิ่งที่ความจริงแล้วไม่อยากทำ ปลัดกระทรวงและผู้ตรวจการขัดใจผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เข้ามาในร่างแหความขัดแย้ง คุณภาพชีวิตส่วนตัวเลวลง
ผมมีข้อเสนอทางออก win-win ให้พิจารณา คือ ผมอยากเสนอให้ท่านผู้ทรงอำนาจพิจารณาให้หมอสุภัทรได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลควบสองอำเภอทั้งจะนะและสะบ้าย้อย เพื่อเป็นบทพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มิได้เป็นการกลั่นแกล้งแต่อย่างไร ห่วงโซ่อำนาจก็จะได้ความพอใจจากมวลชนในพื้นที่ด้วย
ผมเขียนเรื่องนี้และเสนอเรื่องนี้โดยไม่ได้ปรึกษาหมอสุภัทรแม้แต่น้อย ถ้าทางผู้ใหญ่จัดการให้คุณหมอควบสองอำเภอ ผมก็อยากจะขอร้องในฐานะรุ่นพี่ให้คุณหมอสุภัทรรับคำท้า ยอมเหนื่อยหน่อยเพื่อทำทั้งสองอำเภอให้เจริญยิ่งขึ้น ผนังทองแดงกำแพงเหล็กก็จะยิ่งมั่นคงขึ้น
ส่วนการถกเถียงรณรงค์ในเรื่อง controversial ทางนโยบายนั้นก็ต่างคนต่างทำภายใต้กติการัฐธรรมนูญเถิดครับ ถ้างานราชการไม่เสีย ความเห็นทางจะแตกต่างกันบ้างก็ไม่น่าจะเป็นไร ความถูกผิดของนโยบาย controversial ที่ว่านี้จะถูกตัดสินด้วยหลักฐานทางระบาดวิทยาในประเทศไทยในวันข้างหน้าไม่ใช่จากความเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่อย่างไร ทางคณะวิจัยในประเทศไทยจะหาคำตอบให้เอง
สุดท้ายนี้ ผมต้องขออภัยท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงที่ผมเข้ามาให้ความเห็นในเรื่องนี้โดยไม่ได้รับเชิญ ผมเคยเรียนท่านรัฐมนตรีสมัยได้รับแต่งตั้งไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องโควิดว่า คำปรึกษาทั้งหลายของผมที่ผมแจ้งต่อทีมที่ปรึกษาจะไม่เป็นความลับแม้แต่น้อย ถ้าผมจะทำประโยชน์ได้บ้างก็ควรมีความเห็นแตกต่างจากผู้อื่น และเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความเห็นมีทั้งถูกและผิด ท่านจะเห็นด้วยหรือช่วยไม่ได้ก็แล้วแต่ ทั้งท่านและคุณหมอสุภัทรเป็นบุคคลสาธารณะและเป็นผู้นำที่จะทำให้สังคมดีขึ้นหรือเลวลง ผมเป็นแค่คนดูและเชียร์ท่านทั้งหลายอยู่ห่าง ๆ บางครั้งก็ออกเสียงเตือน ขออย่าถือสา