"...ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ที่พึ่งพาต่างประเทศสูง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การใช้บริการชำระเงินระหว่างประเทศแบบดิจิทัลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ทั้งการประหยัดต้นทุนและเวลาได้มาก ขณะที่ฝั่งธนาคารก็จะมีข้อมูลด้านดิจิทัลเพิ่มเติมในการประเมินภาวะธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อหรือบริการทางการเงินได้ดีขึ้นในอนาคต..."
โจทย์ใหญ่ของภาคใต้ : ฟื้นตัวอย่างไรให้มั่นคง
ถ้าพูดถึง “ภาคใต้” เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงทะเลสวยๆ โดยเฉพาะทางฝั่งอันดามัน หรืออาจนึกถึงยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชเกษตรหลักที่อยู่คู่กับภาคใต้มาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ แต่ถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่ยังมีความท้าทายซ่อนอยู่ ทั้งด้านการกระจุกตัวของรายได้และการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ไม่มากนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจการเงินภาคใต้อ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับวิกฤตอย่าง COVID-19 ที่ทำให้ภาคใต้ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภูมิภาคอื่น แม้ว่าปัจจุบันภาคใต้กำลังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว แต่บทเรียนในอดีตที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนกลับมาตั้งคำถามว่า ภาคใต้จะฟื้นตัวอย่างไรให้มั่นคงขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น รวมถึงสามารถเติบโตได้ท่ามกลางกระแสโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
กระแสดิจิทัล และความยั่งยืน : โอกาสสู่ 5 ภาพเศรษฐกิจใหม่ของภาคใต้
COVID-19 เป็นหนึ่งในตัวเร่งที่ทำให้กระแสโลกเปลี่ยนแปลงเร็วและแรงกว่าที่คาด โดยเฉพาะกระแส “ดิจิทัล” และ “ความยั่งยืน” ที่ในด้านหนึ่งถือเป็นความท้าทายในการปรับตัวให้เท่าทัน แต่อีกด้านหนึ่ง ก็นับเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ที่กำลังฟื้นตัวจาก COVID-19 ไปสู่ 5 ภาพใหม่ให้สอดรับกับ 2 กระแสดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย
1)การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness-Tourism) ที่ยกระดับสู่บริการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งกายและใจ ผนวกกับใช้จุดเด่นของทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงและเข้ามาอยู่นาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างก้าวกระโดด
2)การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative-Tourism) ที่ต่อยอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กลายเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ รับประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง เพื่อการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงและลงลึกไปถึงระดับชุมชน
3)การผลิตที่มีมาตรฐานความยั่งยืน (Sustainable Manufacturing) โดยปรับกระบวนการผลิตให้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลมากขึ้น อาทิ มาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ในอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
4)อาหารแห่งอนาคต (Future Food) โดยพัฒนาวัตถุดิบท้องถิ่นให้เป็นอาหารรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อาทิ Functional Food และ Plant-based Food เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารให้ก้าวทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
5)เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ที่ปรับตัวสู่การทำเกษตรยุคดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลในการบริหารจัดการการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มผลิตภาพการเกษตรและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ภาคการเงิน : อีกหนึ่งแรงสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ
การที่ทั้ง 5 ภาพเศรษฐกิจข้างต้นจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน รวมถึงภาคการเงินที่ ธปท. ได้มีการออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (Financial Landscape) เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจปรับตัวให้สอดรับกับกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนได้ดีขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น
1)การเงินดิจิทัล เปิดกว้างให้มีบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบการเงินให้เอื้อต่อการทำธุรกิจดิจิทัลแบบครบวงจรและเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้การทำธุรรรมการค้าง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และด้วยต้นทุนที่ลดลง
2)การเงินเพื่อความยั่งยืน กำหนดทิศทางการดำเนินงานของสถาบันการเงิน เช่น การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคการเงินมีความพร้อมในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้เร็วขึ้น
โดยสรุป ภาคใต้มีความโดดเด่นในหลายด้าน มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มาก ถือเป็นแต้มต่อในการปรับตัวให้สอดรับกระแสโลกใหม่ในอนาคต จึงควรเร่งใช้โอกาสนี้สร้างตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (New Growth Drivers) เพื่อให้ภาคใต้เติบโตได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งขยับออกจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ “กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย” ไปสู่ “เศรษฐกิจมูลค่าสูงและยั่งยืน” ได้ในที่สุด
ภาคใต้ จากอดีตสู่อนาคต
พัฒนาการเศรษฐกิจการเงินภาคใต้
เศรษฐกิจภาคใต้พึ่งพาภาคเกษตรมาอย่างยาวนาน โดยมีพืชเกษตรหลัก คือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเชื่อมโยงต่อเนื่องไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่นำเอาวัตถุดิบเกษตรเหล่านี้มาแปรรูป และแม้ว่าหลังปี 2554 สัดส่วนภาคเกษตรจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่กลายมาเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ภาคเกษตรก็ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่มาก โดยคิดเป็นถึง 22% ของมูลค่าเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2562 (ก่อน COVID-19)
ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ในลักษณะดังกล่าว ซ่อนความท้าทายสำคัญไว้ 2 ประการ คือ 1) เศรษฐกิจกระจุกตัว และ 2) สร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีนและมาเลเซียสูงถึง 41%(1) รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่ในฝั่งอันดามันเป็นหลัก ขณะที่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตพึ่งพาสินค้าน้อยชนิด โดยส่วนใหญ่ยังเป็นการแปรรูปสินค้าขั้นกลางในลักษณะเดิม รวมถึงส่งออกไปตลาดจีนกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด(2)
ทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนภาคใต้ ที่แม้ว่าปัจจุบันจะสูงกว่า ภูมิภาคอื่น แต่เป็นระดับรายได้ที่แทบไม่ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อน ต่างจากรายได้ของครัวเรือนภาคเหนือและภาคอีสานที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20% ขณะที่ในด้านหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนภาคใต้สูงขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าฐานะทางการเงินของครัวเรือนภาคใต้มีความเปราะบางมากขึ้นมาโดยตลอด
COVID-19 บาดแผลใหญ่ของภาคใต้
ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินที่เปราะบาง ทำให้ภาคใต้อ่อนไหวต่อทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคใต้หนักกว่าภูมิภาคอื่น สะท้อนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Regional Product: GRP) ของภาคใต้ในปี 2563 ที่หดตัวถึงร้อยละ 12.3 จากปีก่อน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มูลค่าลดลงเกือบ 2 ใน 3 จากภาวะปกติ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ภาคใต้เจ็บหนักร่วม 2 ปี และกลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแรงขึ้น
เศรษฐกิจภาคใต้บนเส้นทางการฟื้นตัว
หลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุม COVID-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เศรษฐกิจภาคใต้ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ สะท้อนจาก ตัวเลขจำนวนผู้เยี่ยมเยือนภาคใต้ในปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกไตรมาส จากทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งแม้ว่าจะยังเป็นจำนวนที่ห่างจากระดับก่อน COVID-19 อยู่พอสมควร แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวที่น่ายินดี และเป็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่เร็วกว่าภูมิภาคอื่น
นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวยังส่งผลดีต่อเนื่องมายังการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งปรับดีขึ้นในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการค้า สะท้อนจากตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานที่ปรับลดลงเหลือประมาณ 1 แสนคนในไตรมาส 3 ปี 2565 จากระดับ 1.8 แสนคนจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยและการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ในระยะต่อไป
นับจากจุดนี้เป็นต้นไป คำถามสำคัญ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคใต้ควรมีหน้าตาและทิศทางอย่างไร โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ควรเปลี่ยนไปในรูปแบบใด เพื่อให้ภาคใต้มั่นคงขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น และพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งในการตอบคำถามดังกล่าว นอกจากจะมองย้อนหลังเพื่อเรียนรู้บทเรียนจากสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ยังจะต้องมองไปข้างหน้าถึงบริบทโลกใหม่ที่จะแตกต่างไปจากเดิม เพื่อทำให้ภาคใต้พร้อมที่จะปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
กระแสโลกใหม่ : ดิจิทัล และ ความยั่งยืน
ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Megatrends) ในหลากหลายมิติ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ การขยายตัวของสังคมเมือง และการเปลี่ยนขั้วอำนาจของเศรษฐกิจโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤต COVID-19 เป็นหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้หลายกระแสเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงกว่าคาด โดยเฉพาะกระแส “ดิจิทัล” และ “ความยั่งยืน” ที่ได้เข้ามามีบทบาทต่อภาคเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระแสดิจิทัล (Digital)
กระแสดิจิทัล เร่งตัวขึ้นมากจากการที่ทั่วโลกเปลี่ยนมาติดต่อกันผ่านระบบดิจิทัลในช่วง COVID-19 จนกลายมาเป็นวิถีชีวิตใหม่ของโลกปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของ การทำงาน การรับรู้ข่าวสาร หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน
ในระยะต่อไป ด้วยนวัตกรรมด้านดิจิทัลที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการใช้อุปกรณ์ IoT (Internet of Thing) มากขึ้น จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลในแทบทุกมิติและไร้พรมแดน รวมถึงจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เร็วขึ้นกว่าเดิม เช่น Big data ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual reality : VR) ส่งผลให้ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเรียนรู้ และพร้อมปรับตัวให้เท่าทันกับโลกยุคดิจิทัลในอนาคต
กระแสความยั่งยืน (Sustainability)
กระแสความยั่งยืน เป็นที่พูดถึงกันบ้างแล้วตั้งแต่ก่อนเกิด COVID-19 จากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว แต่วิกฤต COVID-19 ที่ทำให้ทั่วโลกเกิดความโกลาหล กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนหันมาจริงจังกับเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรโลกมากขึ้น ตั้งแต่การดูแลรักษาป่าไม้ ความมั่นคงและปลอดภัยของอาหาร ไปจนถึงการลดการปล่อยมลพิษที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
จากปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และทรัพยากรโลกที่มีขีดจำกัดมากขึ้น ทำให้กระแสความยั่งยืนจะยิ่งเร่งตัวอีกมาก และอาจกลายเป็นข้อบังคับหรือข้อกีดกันทางการค้าที่รุนแรงในอนาคต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด
5 ภาพอนาคตเศรษฐกิจการเงินภาคใต้
กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคต ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องเผชิญ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็นับเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจภาคใต้ให้สอดรับกับ 2 กระแสนี้ โดยผู้เขียนขอนำเสนอ 5 ภาพเศรษฐกิจใหม่ที่ภาคใต้มีศักยภาพในการปรับตัว โดยใช้ทรัพยากรและเอกลักษณ์ในพื้นที่มาเป็นปัจจัยสนับสนุน เพื่อเสนอเป็นหนึ่งในแนวทาง (Guideline) สำหรับภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานที่สนใจ ได้นำไปปรับใช้และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ต่อไป
1.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ถือเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุ ตามการเข้าสู่สังคมสูงวัยของหลายประเทศ และวิกฤต COVID-19 ก็ได้กลายมาเป็นตัวเร่งให้ Wellness Tourism มีแนวโน้มเติบโตได้มากขึ้น จาก 1) กระแสรักสุขภาพที่เติบโตขึ้นจากคนทุกกลุ่มทุกวัย ไม่เพียงแต่เรื่องสุขภาพกาย แต่ด้วยสถานการณ์โลกที่ตึงเครียดในปัจจุบัน ทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพจิตใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน และ 2) รูปแบบการทำงานเปลี่ยนมาอยู่บนโลกดิจิทัลมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มอาชีพดิจิทัล (Digital Nomad) ที่เพิ่มขึ้น และการปรับใช้นโยบายทำงานที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) ของบริษัทชั้นนำหลายแห่ง ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมองหาสถานที่ที่สามารถทำงานและบำบัดความเหนื่อยล้าจากการทำงานไปพร้อมกัน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว ทำให้กลุ่มเป้าหมายของ Wellness Tourism กว้างขึ้นมาก และกลายเป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Wellness) ที่ครอบคลุมสุขภาพทั้งกายและใจ ไม่ใช่แค่บริการนวดหรือสปาแบบเดิมอีกต่อไป
สถาบัน Global Wellness Institute (GWI) ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีโอกาสเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 20.9% ต่อปี (ปี 2563-2568) และจะมีมูลค่าแตะระดับ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568 โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง นอกจากนี้ GWI ยังพบว่า นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการใช้จ่ายถึง 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อทริป สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 58% เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและเข้ามาอยู่ในพื้นที่นาน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า Wellness Tourism ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายของหลายประเทศทั่วโลกในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ และเอกลักษณ์ของบริการด้านสุขภาพ เช่น นวดแผนไทย สปาไทย และสมุนไพรไทย โดยการสำรวจของ GWI Wellness Tourism Initiative ปี 2563 พบว่า ประเทศไทยเป็นเป้าหมายที่คนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศออสเตรเลีย
ในระดับภูมิภาค ภาคใต้ที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการต่อยอดไปสู่ Wellness Tourism โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดอันดามันที่มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม และได้รับการฟื้นฟูในช่วง COVID-19 โดยสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเดิมที่มีให้กลายเป็นจุดเด่นสำหรับกิจกรรมเชิงสุขภาพได้ เช่น โยคะริมชายหาด น้ำพุร้อนบำบัด และการออกกำลังกายใต้น้ำ นอกจากนี้ ภาคใต้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่พร้อม เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติในหลายจังหวัด ท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ และท่าจอดเรือยอร์ชที่มีความสะดวกและทันสมัย ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลก รวมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติระดับภูมิภาคได้ในอนาคต
ปัจจุบัน Wellness Tourism เป็นที่พูดถึงกันมากในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภาคใต้ และมีการขับเคลื่อนจากหลายฝ่ายในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งฝั่งของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่ร่วมกันผลักดันและปรับตัวให้สอดรับกับแนวโน้มการเติบโตของ Wellness Tourism ในระยะต่อจากนี้
Andaman Wellness Corridor ยุทธศาสตร์ใหม่สู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
โครงการระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor : AWC) เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับนานาชาติ โดยจะส่งเสริมจุดเด่นของแต่ละจังหวัด และพัฒนาเป็นต้นแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ครบวงจร รวมถึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ให้เกิดเป็นเมืองสุขภาพที่ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้อนุมัติงบประมาณกว่า 5,116 ล้านบาทในการสร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันที่ จ.ภูเก็ต (ระยะเวลาดำเนินการสร้างตั้งแต่ปี 2566-2570) เพื่อเป็นสถานที่ให้บริการรักษาพยาบาล ผลิตบุคลากร และพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้กับภาคใต้ได้ในอนาคต
น้ำพุร้อนบำบัด คุณประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น
น้ำพุร้อนเป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่นของ จ.กระบี่ และ จ.ระนอง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอยู่บ้างแล้ว แต่ด้วยคุณสมบัติของน้ำพุร้อนที่มีประโยชน์เชิงสุขภาพ เช่น ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ และช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้เริ่มเห็นธุรกิจนำน้ำพุร้อนมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการให้บริการเชิงสุขภาพมากขึ้น เช่น การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือลดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยร่วมมือกับธุรกิจโรงพยาบาล เพื่อให้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด
Holistic wellness มิติใหม่ของการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร
ตั้งแต่ที่เปิดประเทศเป็นต้นมา เริ่มเห็นธุรกิจท่องเที่ยวภาคใต้ปรับตัวสู่บริการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Wellness) ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เน้นด้านสุขภาพกาย เช่น สปาและนวดแผนไทย หลายแห่งมีการขยายบริการดูแลสุขภาพจิตใจด้วยเช่นกัน เช่น บริการปรึกษานักจิตบำบัด การใช้ศิลปะบำบัดความเครียด และการใช้ฮอร์โมนบำบัดอาการอารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้ ยังได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้บริการครอบคลุมไปถึงการรับประทานอาหาร และที่อยู่อาศัยของลูกค้าอย่างครบวงจร
ในระยะต่อไป ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้คาดว่าจะเห็น Wellness Tourism ของภาคใต้มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพของคนทั่วโลกได้ ซึ่งจะช่วยให้ภาคใต้ลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิม และยกระดับสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงได้ในอนาคต
2.การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และชูจุดเด่นเรื่องมรดกวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการพาชมสถานที่ประวัติศาสตร์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปที่ทรัพยากรโลกเริ่มมีขีดจำกัด ขณะที่นักท่องเที่ยวเองก็มองหาความแปลกใหม่มากขึ้น หลายประเทศจึงหันมาใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” ในการต่อยอดทรัพยากรเดิมให้กลายเป็นประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่ ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Tourism ได้รับความสนใจอย่างมาก และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก
Creative Tourism เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผ่านการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน เพื่อให้ได้รับประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน โดยการสำรวจของ Booking.com ในปี 2565 พบว่า หลัง COVID-19 นักท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 60% มองหาการท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่น และอยากเรียนรู้วัฒนธรรมที่แปลกใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ อีกกว่า 60% ของนักท่องเที่ยวต้องการหลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวหลักมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสของพื้นที่เมืองรองที่จะใช้แนวทางของ Creative Tourism สร้างจุดเด่นจากวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เช่น งานศิลปะ งานฝีมือ การทำอาหาร การเต้นรำ หรืองานเทศกาลท้องถิ่น เพื่อเป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจให้ทั่วถึงและลงลึกในระดับชุมชนได้มากขึ้น
ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน และเป็นแหล่งรวมของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพุธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม ทำให้แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ศาสนา ศิลปะท้องถิ่น และวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งสามารถหยิบยกมาพัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้แทบทั้งสิ้น
สำหรับจังหวัดเมืองรองของภาคใต้ ถือว่าเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว โดยก่อน COVID-19 จำนวนนักท่องเที่ยวใน 9 จังหวัดเมืองรองของภาคใต้เติบโตสูงกว่า 10% ตลอดระยะเวลา 5 ปี (ปี 2558-2563)(5) ซึ่งในระยะต่อไป กระแสดิจิทัลที่เร่งขึ้นจะช่วยให้คนเข้าถึงข้อมูลของเมืองรองได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการใช้ social media มากกว่ากลุ่มอื่น และนิยม review สถานที่ท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่างๆ จึงนับเป็นโอกาสของเมืองรองที่จะใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ใหม่ๆ หรือการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยปัจจุบัน หลายชุมชนในภาคใต้มีการนำแนวคิดของ Creative Tourism มาปรับใช้บ้างแล้ว โดยนำจุดเด่นด้านวัฒนธรรมหรือผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ มาพัฒนาเป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่น
Songkhla (Oldtown) Creative District หนึ่งในต้นแบบของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
เรื่องราวของย่านเมืองเก่าสงขลา พื้นที่ชุมชนที่มีเอกลักษณ์และมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี ได้ถูกนำมาเล่าใหม่ผ่านโครงการ Songkhla (Oldtown) Creative District ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และกลุ่มนักธุรกิจในพื้นที่ เพื่อแสดงเอกลักษณ์ของย่านเมืองเก่าและดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น ประกวดออกแบบสถาปัตยกรรม ฉายภาพเมืองเก่า รวมถึงกิจกรรมออกแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้ทันสมัยขึ้น ภายใต้โครงการ “Made in Songkhla” โดยใช้ social media หลากหลายช่องทางเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันย่านเมืองเก่าสงขลาก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สำคัญของภาคใต้ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องไม่พลาดหากได้มาเที่ยว จ.สงขลา
เรียนรู้พืชท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์
ภาคใต้เป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรมากมาย และมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยปัจจุบันเริ่มเห็นการต่อยอดภาคเกษตรไปสู่กิจกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบที่สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น Workshop การแปรรูปโกโก้เป็นช็อกโกแลตของ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด ซึ่งให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกโกโก้ ไปจนถึงศิลปะการทำช็อกโกแลตแบบทำมือ (Handcrafted chocolate) หรือจะเป็น Workshop การทำพิซซ่าจากแป้งข้าวสังข์หยดและการทำขนมสาคูต้นกวนของ จ.พัทลุง ซึ่งให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นด้วยตัวเอง ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับชุมชนในแต่ละพื้นที่ได้มากทีเดียว
จะเห็นว่าหลายพื้นที่ของภาคใต้จะเริ่มปรับตัวสู่ Creative Tourism กันบ้างแล้ว และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องและแพร่หลายมากขึ้น ภาครัฐจะเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการของพื้นที่ เช่น การจัดระเบียบร้านค้า หรือจัดหาพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าถึงแหล่งชุมชนห่างไกลมากขึ้น เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต การคมนาคม และโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวภาคใต้ได้ในระยะยาว
3.การผลิตที่มีมาตรฐานความยั่งยืน (Sustainable Manufacturing)
ปัจจุบัน โลกร้อนขึ้นมากกว่าที่คาด และจากการคาดการณ์ของ International Energy Agency ชี้ให้เห็นว่า หากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของทุกประเทศยังเป็นเช่นเดิม อาจทำให้เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ เช่น คลื่นความร้อน และน้ำท่วมที่จะกระทบประชากรกว่า 420 ล้านคน ซึ่งด้วยขนาดของผลกระทบที่มหาศาลเช่นนี้ ทำให้ทั่วโลกหันมาตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้จากการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ในปี 2564 ซึ่งสมาชิกกว่า 140 ประเทศได้ทำข้อตกลงร่วมกันในการรักษาป่าไม้และระบบนิเวศ รวมถึงส่งเสริมการค้า การผลิต และการบริโภคสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)
ด้วยความตื่นตัวดังกล่าว ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจะเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการมองหาสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการผลิตสินค้าทั้งห่วงโซ่อุปทาน ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทชั้นนำของโลกหลายรายให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้น และเลือกซื้อวัตถุดิบที่ผ่านมาตรฐานในราคาที่สูงกว่าปกติ รวมถึงมีการพัฒนาระบบตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและเก็บข้อมูลได้เป็นระบบมากขึ้น เช่น บริษัทล้อยาง Continental ที่เริ่มทดสอบการใช้ Blockchain เพื่อตรวจสอบที่มาของยางพารา และตั้งเป้าว่าจะใช้วัตถุดิบยางพาราที่ได้รับมาตรฐานความยั่งยืนในการผลิตทั้งหมดภายในปี 2593 ดังนั้น ผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้จำเป็น ต้องเตรียมพร้อมรับมือ และคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตของภาคใต้ ประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรมหลักสำคัญ ได้แก่ ยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูป ปาล์มน้ำมัน และอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งล้วนเป็นการนำวัตถุดิบการเกษตรมาแปรรูปเพื่อป้อนสู่ห่วงโซ่อุปทานของโลก ทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงจากกระแสความยั่งยืนของคู่ค้าทั่วโลกได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูป ที่คิดเป็นกว่า 60% ของการผลิตภาคใต้ และเป็นการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 80%(6)
หนึ่งในมาตรฐานความยั่งยืนสากลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางและไม้ยางแปรรูป คือ มาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งให้การรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์ที่มาจากไม้ยืนต้นต่างๆ รวมถึงต้นยางพารา โดยถือเป็นมาตรฐานหนึ่งที่ทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของไทยให้ความสำคัญมากขึ้น โดยข้อมูลจาก FSC International ชี้ให้เห็นว่า นอกจากยุโรปที่ตื่นตัวกับเรื่องทำการมาตรฐานมาโดยตลอด จีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของอุตสาหกรรมยางและไม้ยางภาคใต้ ก็มีการทำมาตรฐาน FSC เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของผู้ผลิตยางพาราสำคัญของโลก จะเห็นว่า ไทยในฐานะผู้ส่งออกยางและไม้ยางแปรรูปอันดับ 1 ของโลก ยังมีจำนวนใบรับรอง FSC น้อยกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ซึ่งในระยะต่อไป หากทั่วโลกมีการบังคับใช้มาตรฐานความยั่งยืนที่เข้มงวดขึ้น อุตสาหกรรมยางพาราของไทยและภาคใต้จำเป็นต้องเตรียมพร้อมทำมาตรฐานให้เท่าทันกับประเทศอื่น
อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป สร้างแต้มต่อด้วยมาตรฐาน FSC
ปัจจุบัน ผู้ผลิตยางพาราแปรรูปจำนวนหนึ่งในภาคใต้ มีการลงทุนปรับกระบวนการผลิตบางส่วนเพื่อให้ได้มาตรฐานความยั่งยืน FSC ตามความต้องการของคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากยุโรป เช่น ธุรกิจน้ำยางข้น และยางแท่ง โดยจะรับซื้อวัตถุดิบจากสวนยางที่ได้มาตรฐาน และแยกสายการผลิต FSC ออกจากสายการผลิตปกติ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีวัตถุดิบที่เป็น non-FSC เข้ามาผสมในการผลิต นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลที่สามารถตรวจสอบการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้าและผู้ตรวจสอบ (Auditor) ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาด ขยายฐานลูกค้าในตลาดใหม่ๆ รวมถึงขายสินค้าได้ในราคาที่สูงกว่าปกติ
อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ต่อยอดความยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของภาคใต้มีการปรับตัวให้ได้มาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ในระดับหนึ่งแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ ยังปรับใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อนำทรัพยากรที่เหลือจากการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำกะลาปาล์มและเส้นใยปาล์มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า นำทะลายปาล์มเปล่าไปทำปุ๋ยเพาะเห็ด และนำน้ำเสียในโรงงานไปทำก๊าซชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ของประเทศไทยอีกด้วย
ในระยะข้างหน้า กระแสความยั่งยืนที่มาเร็วและแรงขึ้น จะเป็นแรงกดดันให้ผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานต้องเตรียมพร้อมปรับตัว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งภาครัฐสามารถมีส่วนช่วยในการสนับสนุนองค์ความรู้และเงินทุน โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและเกษตรกรต้นน้ำ เพื่อให้เกิดการปรับตัวที่เร็วขึ้น และสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมภาคใต้ได้ในระยะยาว
4.อาหารแห่งอนาคต (Future Food)
ภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและความสามารถในการผลิตอาหารของทั่วโลก ประกอบกับจำนวนประชาการโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารที่ก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้เกิดอาหารรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ซึ่งตอบโจทย์ทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหาร กระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับรสชาติอาหารและคุณประโยชน์ต่อสุขภาพควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในบรรดา Future Food ที่เกิดขึ้นมากมาย กลุ่มอาหารที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูงในระยะ 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) และอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Food)
อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food)
อาหารฟังก์ชั่น คืออาหารเพื่อสุขภาพที่มีการเติมสารสำคัญต่างๆ เพื่อเพิ่ม ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เพิ่มแคลเซียมบำรุงกระดูก หรือเพิ่มคอลลาเจนบำรุงผิว ถือเป็นกลุ่มอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้มากจากกระแสรักสุขภาพที่เร่งขึ้นในช่วง COVID-19 โดยทาง Research and Markets คาดว่าตลาดจะขยายตัวได้เฉลี่ยราว 7% ต่อปี (ปี 2563-2573) และยังสามารถสร้างกำไรได้มากกว่าอาหารปกติถึง 3 เท่าตัว
อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Food)
อาหารโปรตีนจากพืช เป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือก (Alternative protein) ที่มีพืช แมลง และเนื้อจากห้องแล็บเป็นแหล่งโปรตีนใหม่ของโลก ปัจจุบัน ตลาด Plant-based มีวัตถุดิบ ที่หลากหลายขึ้น เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย หรือแม้กระทั่งจุลินทรีย์ (mycroprotein) ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคใส่ใจเรื่องความยั่งยืนของโลกมากขึ้น ทำให้ทาง Bloomberg Intelligence คาดว่าตลาดจะมีแนวโน้มเติบโตได้เฉลี่ยสูงถึง 19% ต่อปี (ปี 2563-2573)
ในภาพใหญ่ ประเทศไทยมีจุดแข็งจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีอุตสาหกรรมผลิตอาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลก จนได้รับฉายาว่าเป็น “ครัวของโลก” ซึ่งถือเป็นแต้มต่อสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้ก้าวไปอีกขั้น
สำหรับภาคใต้ ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารมากมาย และมีวัตถุดิบท้องถิ่นที่สามารถพัฒนาเป็นอาหารแห่งอนาคตได้หลายชนิด เช่น อาหารทะเล ปาล์มน้ำมัน ข้าวสังข์หยด ใบเหลียง และเห็ดแครง ซึ่งล้วนแล้วมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งผู้ประกอบการภาคใต้เองก็มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปอาหารมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การแปรรูปขั้นต้นจนถึงขั้นปลาย นอกจากนี้ ภาคใต้ยังมีหน่วยงานการศึกษาที่เป็นตัวกลางให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและภาคธุรกิจ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ที่ช่วยสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้ภาคใต้กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ศักยภาพในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม Future Food ได้ในอนาคต
ปัจจุบันเริ่มเห็นตัวอย่างของธุรกิจที่ปรับตัวมาผลิตอาหารกลุ่ม Future Food มากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการเดิมที่ทำธุรกิจอาหารแปรรูปอยู่แล้ว และผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่
Functional Food จากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมทูน่าแปรรูป
อุตสาหกรรมทูน่าแปรรูป เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคใต้มายาวนาน โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก คือ ทูน่ากระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยงกระป๋อง ซึ่งใช้ส่วนเนื้อปลาทูน่ามาแปรรูปในหลากหลายรสชาติ ขณะที่ส่วนอื่นๆ เช่น หัวปลา ก้างปลา และหนังปลา เดิมไม่ได้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์มากนัก และมักจะถูกนำไปทิ้งเป็นขยะจำนวนมาก อย่างไรก็ดี จากกระแส Functional Food ที่เติบโตขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มลงทุนวิจัยเทคโนโลยีในการสกัดสารที่มีประโยชน์ในส่วนเหลือจากการผลิตเหล่านี้ เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพมากขึ้น เช่น การบีบสกัดน้ำมันปลาทูน่าจากหัวปลาและหนังปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือการสกัดโปรตีนเข้มข้นจากปลาทูน่าเพื่อพัฒนาเป็นสารเพิ่มความอยากอาหารในอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้วัตถุดิบทุกส่วนได้อย่างคุ้มค่า ยังทำให้เกิดเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจได้
เห็ดแครง พระเอกใหม่ในตลาด Plant-based
เห็ดแครงเป็นพืชท้องถิ่นของภาคใต้ที่ให้โปรตีนสูงใกล้เคียงเนื้อสัตว์ และมีสารเบต้า กลูแคนสูงที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งแตกต่างจากวัตถุดิบ Plant-based อื่นที่มีอยู่ตลาด เช่น ถั่ว และข้าวสาลี โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นการนำเห็ดแครงไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ Plant-based มากขึ้น เช่น เนื้อเบอร์เกอร์ หมูปิ้ง และหมูสะเต๊ะ โดยได้รับความสนใจจากตลาดไม่น้อย โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ Plant-based อยู่แล้ว ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันตลาด Plant-based เห็ดแครงจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ถือว่าเป็นหนึ่งในวัตถุดิบทางเลือกที่มีศักยภาพสูงในอนาคต และช่วยยกระดับพืชท้องถิ่นของภาคใต้ให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้
ในระยะต่อไป กระแส Future Food ที่เติบโตขึ้นจะทำให้มีพื้นที่สำหรับผลิตภัณฑ์ Future Food รูปแบบใหม่ๆ ให้เข้าไปแข่งขันในตลาดได้อีกมาก และจะเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของภาคใต้ โดยภาครัฐสามารถมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้า โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ อำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว
5.เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)
ในอนาคตข้างหน้า ภาคการเกษตรทั่วโลกจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำสะอาด ต้นทุนการเกษตรที่สูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ด้วยเหตุนี้ การทำเกษตรแบบดั้งเดิมอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในบริบทโลกใหม่เท่าไรนัก ประกอบกับเทคโนโลยีทางการเกษตรมีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เกิดการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย โดยหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกและมีโอกาสเติบโตสูง คือ “เกษตรแม่นยำ”
เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) มาผสมผสานกับการทำเกษตร โดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ระบบเซนเซอร์ โดรน รวมถึงนาโนเทคโนโลยี เพื่อช่วยในการประเมินวิธีการทำเกษตรที่เหมาะสมและแม่นยำขึ้น โดยหัวใจสำคัญของเกษตรแม่นยำที่แตกต่างไปจากเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) คือ การจัดการข้อมูลและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ตามสภาพแวดล้อมของพืชที่แตกต่างกัน เช่น ข้อมูลสภาพดิน ความสมบูรณ์ของพืช และสภาพอากาศ ทำให้สามารถวางแผนการจัดการการปลูก ลดการใช้ปัจจัยการผลิตที่มากเกินจำเป็น และช่วยเพิ่มผลิตภาพของการทำเกษตรได้
ในระยะต่อไป กระแสดิจิทัลที่เร่งตัวขึ้นจะช่วยให้ต้นทุนของเทคโนโลยีดิจิทัลทางการเกษตรลดลงได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกษตรแม่นยำเติบโตได้มากในอนาคต โดย McKinsey & Company คาดว่าการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในรูปแบบของเกษตรแม่นยำ เช่น การติดตามสุขภาพพืช และการฉีดพ่นที่แม่นยำด้วยโดรน จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคเกษตรได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30%
สำหรับภาคใต้ ในภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวสู่เกษตรแม่นยำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการเกษตรส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชยืนต้นที่ค่อนข้างทนทานต่อสภาพอากาศ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกลุ่มผลไม้ ทำให้ยังไม่มีแรงผลักดันให้เกิดการปรับตัวมากนัก นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรายย่อย และถือครองที่ดินขนาดเล็ก โดยเฉพาะเกษตรกรยางพาราที่กว่า 46% มีที่ดินปลูกยางน้อยกว่า 10 ไร่ ทำให้ต้องอาศัยการรวมกลุ่มเกษตรกรในการลงทุนให้คุ้มค่า ขณะที่การเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งและปลา มีแนวโน้มปรับใช้เกษตรแม่นยำได้มากกว่า
อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคเกษตรภาคใต้ คือ กลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ (อายุ 15-40 ปี) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 36% ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด(7) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่รับช่วงต่อมาจากรุ่นพ่อแม่ หรือกลุ่มที่กลับมาอยู่ต่างจังหวัดเพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายในเมืองหลวง ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะมีความคุ้นชินกับเทคโนโลยี และมีการเปิดรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ดังนั้น หากสามารถนำความชำนาญของเกษตรกรรุ่นเก่ามาผสานเข้ากับจุดแข็งของเกษตรกรรุ่นใหม่ จะทำให้เกิดเป็นเครือข่ายเกษตรกรที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของการเกษตรของภาคใต้ในอนาคต
แม้ว่าเกษตรแม่นยำในภาคใต้จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจไม่น้อย และมีการปรับใช้ในกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่แล้วบางส่วน ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการทำเกษตรได้จริง ตัวอย่างเช่น
ระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง
คุณภาพน้ำมีความสำคัญมากสำหรับการเลี้ยงกุ้ง หากคุณภาพน้ำไม่ดีจะส่งผลให้กุ้งตายได้ง่าย หรือเกิดความเครียดที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้งได้ โดยส่วนใหญ่เกษตรกรมักจะเลี้ยงกุ้งตามประสบการณ์ และใช้เครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในบ่อเลี้ยง แต่เกษตรกรบางส่วนมีการปรับมาใช้ระบบเซนเซอร์วัดคุณภาพน้ำ ซึ่งสามารถวัดค่าออกซิเจน อุณหภูมิ และความเป็นกรดด่างได้แม่นยำและทันที (real-time) ซึ่งช่วยลดอัตราการตายของกุ้ง และช่วยประหยัดต้นทุน เช่น ค่าไฟฟ้าและค่าอาหารกุ้งได้มาก
การใช้โดรนพ่นยากำจัดโรคในสวนทุเรียน
ต้นทุเรียน และกลุ่มไม้ผลอื่นๆ มักจะเผชิญกับปัญหาโรคระบาดอยู่บ่อยครั้ง เช่น โรครากเน่า และโรคราดำ ที่มาจากภาวะฝนตกหนักหรือศัตรูพืชต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาด้วยการให้แรงงานเดินฉีดพ่นยากำจัดโรค ซึ่งใช้เวลานานและใช้ปริมาณยาค่อนข้างมาก อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของแรงงาน ทำให้เกษตรกรบางกลุ่มลงทุนซื้อโดรนมาช่วยในการพ่นยากำจัดโรคต่างๆ โดยโดรนจะมีการบินเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่สวน และความสูงของทุเรียนแต่ละต้น เพื่อนำไปทำแผนการบินแบบ 3 มิติที่แม่นยำ ทั่วถึง และรวดเร็ว ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มาก และสามารถให้ยาได้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
การใส่ปุ๋ยต้นปาล์มตามผลวิเคราะห์ดิน-ใบ
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารสูงในการเจริญเติบโต ทำให้จำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ยค่อนข้างมากและสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะใส่ปุ๋ยแบบเดียวกันทั้งสวน และอาจไม่ได้พิจารณาถึงสภาพดินหรือความสมบูรณ์ของต้นปาล์มมากนัก ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร จึงมีเกษตรกรบางส่วนหันไปใช้บริการตรวจประเมินธาตุอาหารในดินและใบของต้นปาล์ม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งบริการของภาครัฐและเอกชน เพื่อวางแผนการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจริง นอกจากจะช่วยลดต้นทุนจากการใส่ปุ๋ยที่มากเกินจำเป็น ยังช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของปาล์มได้มาก
ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการปรับตัวที่แพร่หลายมากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และการรวมกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อช่วยยกระดับการเกษตรภาคใต้ให้ก้าวไปข้างหน้า และสามารถแข่งขันได้ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ภาคการเงิน อีกหนึ่งแรงสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ
การที่ทั้ง 5 ภาพเศรษฐกิจจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคการเงิน ที่ถูกกระทบจากกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนเช่นกัน ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการวางรากฐานภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (Financial Landscape) ให้สอดรับกับทั้ง 2 กระแสดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน รวมถึงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน
การเงินดิจิทัล
ที่ผ่านมา ภาคการเงินก็เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากดิจิทัลมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทั่วโลกมีการใช้ดิจิทัลแบงก์กิ้ง (Digital banking) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ทั้งในฝั่งของจำนวนผู้ใช้บริการและฝั่งของผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดิจิทัล สะท้อนถึงการเร่งตัวของการเงินดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับภาพของประเทศไทย ที่ประชาชนมีการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น App เป๋าตัง และ Mobile banking
การเงินเพื่อความยั่งยืน
ภาคการเงินทั่วโลกตระหนักและคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เห็นได้จากหลายประเทศมีแรงผลักดันในการปรับตัวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero emission) ในปี 2593 สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนด้านความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านความยั่งยืนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การเงินเพื่อความยั่งยืนในไทยยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ และยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก
การเงินดิจิทัล
นโยบายด้านการเงินดิจิทัลของ ธปท.
ระบบเศรษฐกิจการเงินกำลังเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวเร่งในการยกระดับบริการทางการเงิน และลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคธุรกิจและประชาชน ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงได้วางภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล เพื่อพัฒนาบริการทางการเงินและระบบการชำระเงินให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยุคดิจิทัลมากขึ้น
หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือ การเปิดกว้างให้ภาคการเงินแข่งขันกันได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลายและมีต้นทุนที่เหมาะสม เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล การแลกเงินผ่าน QR code หรือธนาคารที่อยู่บนระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Virtual bank) โดยอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมและยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้ให้บริการมีโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้ทางการเงินดิจิทัลให้กับผู้ใช้บริการ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันจากภัยออนไลน์ที่มีมากขึ้น
ในแง่ของการพัฒนาระบบการเงิน ธปท. มีแผนต่อยอดความสำเร็จของระบบการชำระเงินดิจิทัลภาคประชาชน หรือ PromptPay ไปสู่การชำระเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อภาคธุรกิจมากขึ้น หรือ PromptBiz เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้า การชำระเงิน และการจ่ายภาษี ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้มาก (ให้บริการกลางปี 2566) นอกจากนี้ ธปท. มีแผนจะขยายบริการการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่สามารถชำระเงินผ่าน QR code กับประเทศเพื่อนบ้านได้ และสามารถโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์กับประเทศสิงคโปร์ได้ ต่อไปจะขยายความร่วมมือกับหลากหลายประเทศมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ
ความพร้อมของภาคใต้
ภาคใต้ถือว่ามีความพร้อมด้านการเงินดิจิทัลในระดับหนึ่ง สะท้อนจากตัวเลขการมี smart phone การใช้ internet และการใช้ e-payment ของประชาชนและภาคธุรกิจในภาคใต้ที่ค่อนข้างสูง และถือว่าสูงกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในระยะข้างหน้า
ดังนั้น หากมีการผลักดันให้ใช้การเงินดิจิทัลมากขึ้น จะช่วยทำให้การทำธุรกรรมทางการค้าสะดวกและเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ส่วนใหญ่ยังเก็บข้อมูลบนกระดาษเป็นหลัก นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้ที่พึ่งพาต่างประเทศสูง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การใช้บริการชำระเงินระหว่างประเทศแบบดิจิทัลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ทั้งการประหยัดต้นทุนและเวลาได้มาก ขณะที่ฝั่งธนาคารก็จะมีข้อมูลด้านดิจิทัลเพิ่มเติมในการประเมินภาวะธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อหรือบริการทางการเงินได้ดีขึ้นในอนาคต
การเงินเพื่อความยั่งยืน
นโยบายด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนของ ธปท.
อีกหนึ่งเป้าหมายภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย คือ การกำหนดทิศทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินให้มีความพร้อมรับมือกับโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินทุนสู่ภาคธุรกิจในการปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้อย่างเท่าทัน รวมถึงเป็นแรงสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) โดย ธปท. ให้ความสำคัญกับการวางรากฐาน 5 ด้าน (5 building blocks) ดังนี้
1)สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม (Products and Services) โดยจัดทำแนวนโยบาย การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินให้คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม และมีการประเมินติดตามคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระตุ้นให้ภาคการเงิน มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย เพียงพอ และตอบโจทย์ภาคธุรกิจในการปรับตัวสู่กิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
2)จัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) โดยร่วมพัฒนามาตรฐานกลางในการกำหนดนิยาม และจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงทยอยจัดทำรายละเอียดในแต่ละภาคเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความจำเป็นเร่ง ด่วน เพื่อให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน สามารถประเมินสถานะการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีมาตรฐานและสอดคล้องกัน
3)พัฒนาฐานข้อมูลที่เป็นระบบ และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างระบบข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมถึงกำหนดมาตรฐานการเปิด เผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับสถาบันการเงิน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และพร้อมใช้งานได้ในเชิงลึก
4)สร้างแรงจูงใจ (Incentive) เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินที่เหมาะสม โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจในช่วงเปลี่ยนผ่านให้กับสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และกลไกการค้ำประกัน เพื่อให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่เหมาะสม และปรับตัวได้อย่างทันการณ์
5)เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building) โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาหลักสูตรและ workshop การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บุคลากรสามารถนำความรู้ไปประกอบการประเมินความเสี่ยงธุรกิจ รวมถึงพิจารณาโอกาสทางธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน
ในระยะต่อไป กระแสความยั่งยืนจะกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นโจทย์ของภาคธุรกิจภาคใต้ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ธปท. จึงคาดหวังว่าการดำเนินการตามแนวทางข้างต้น จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตในระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต
ก้าวใหม่ของภาคใต้สู่ “เศรษฐกิจมูลค่าสูงและยั่งยืน”
โดยสรุป กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนจะเป็นกระแสที่มาเร็ว มาแรง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะทำให้ภาพเศรษฐกิจการเงินของภาคใต้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในด้านหนึ่งถือเป็นความท้าทายในการปรับตัวให้เท่าทัน แต่อีกด้านหนึ่ง ก็นับเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (New Growth Drivers) ที่สอดรับกับทั้ง 2 กระแสนี้ โดยอาศัยการร่วมด้วยช่วยกันจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนให้ภาคใต้ฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างมั่นคง พร้อมทั้งขยับออกจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ “กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย” ไปสู่ “เศรษฐกิจมูลค่าสูงและยั่งยืน” ได้ในที่สุด
งานศึกษาชิ้นนี้ได้มีการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ปี 2565 ภายใต้ธีม “ก้าวใหม่เศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ปรับกระบวนทัพรับกระแสโลก” ร่วมกับช่วงสนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และช่วงเสวนากับตัวแทนนักธุรกิจในภาคใต้ ผู้อ่านสามารถรับชมวีดีโอการถ่ายทอดย้อนหลังได้ที่ Facebook ของธนาคารแห่งประเทศไทย
คณะผู้เขียนขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่องานศึกษาชิ้นนี้ ได้แก่
-ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-ผศ.ดร.ณารีญา วีระกิจ คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
-ผศ.ชัยนันต์ ไชยเสน คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
-รศ.ดร.สันทัด วิเชียรโชติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศอาหารสุขภาพและนวัตอัตลักษณ์อาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
-คุณกรกฎ เตติรานนท์ กรรมการหอการค้าไทย และประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช
-คุณพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล กรรมการกลุ่มบริษัท ท่าฉางอุตสาหกรรม และนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย
-คุณปริยะ ศิริกุล กรรมการบริษัท อินโนโฟ จำกัด
-คุณกิตติ ผลคิด ประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ทะเลทรัพย์
นอกจากนี้ คณะผู้เขียนขอขอบคุณคณะผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ สำหรับคำแนะนำและความคิดเห็นที่ทำให้งานศึกษาชิ้นนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ณิชมล ปัญญาวชิโรกุล, พิมพ์ชนก โฮว, ภัทรียา นวลใย