"เริ่มตั้งแต่ปีนี้ ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยที่สมบูรณ์แล้ว แต่การนับอายุตามปฏิทินเวลาไม่ได้สะท้อนถึงอายุทางชีวภาพ เพราะคนวัย 70 ในปัจจุบัน แท้จริงมีสภาพทางชีวภาพเทียบเท่ากับคนอายุ 51 ในปี 2513 เท่านั้น"
ตามคำจำกัดความของสหประชาชาติ “สังคมที่กำลังสูงวัย (Aging Society)” เป็นนิยามสำหรับประเทศที่มี“ประชากรสูงวัย (ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป)”ตั้งแต่ร้อยละ 7 ขึ้นไป และ“สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)” ใช้เรียกประเทศที่มีประชากรสูงวัยจำนวนร้อยละ 14 ขึ้นไป จนเมื่อสัดส่วนประขากรสูงวัยเพิ่มมากกว่าร้อยละ 20 ประเทศก็จะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับยิ่งยวด (Super-Aged Society)"
ด้วยนิยามข้างต้น ในปี 2565 ประเทศไทยได้เดินตามรอยญี่ปุ่น (2537) ฮ่องกง (2555) เกาหลี (2560) ไต้หวัน (2562) และ สิงคโปร์ (2564) รวมเป็น 6 เศรษฐกิจในเอเชียที่ได้เข้าสู่”สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” โดยมีสัดส่วนประชาการผู้สูงวัยจำนวนร้อยละ 14.15 (ภาพที่ 1) ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2545 ไทยเป็น”สังคมที่กำลังสูงวัย” โดยในปีนั้นไทยมีประชากรสูงวัยร้อยละ 7.02 และคาดการณ์ว่า อีกเพียง 10 ปีข้างหน้า คือ ปี 2574 ไทยจะตามญี่ปุ่นเป็น”สังคมผู้สูงวัยระดับยิ่งยวด” โดยจะมีประชากรสูงวัยเกินร้อยละ 20%
"ประเทศไทย 70 คือ 51 ใหม่"
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการชราภาพได้ชะลอลงอย่างรวดเร็ว โดยเห็นได้จากอายุขัยของมนุษย์ที่ยาวขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์และสุขอนามัยที่ดีขึ้น การวัด”ความชราภาพตามปฏิทินเวลา” จึงไม่อาจสะท้อนถึง "ความชราภาพทางชีวภาพ" ที่เราพอรู้สึกได้ ในประเด็นนี้ หากเราพิจารณากราฟอายุขัยของประชากรไทยดังแสดงในภาพที่ 2 คนไทยอายุ 70 ปีในปี 2564 มีลำดับความชราในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 89.95 ของอายุขัย เมื่อเทียบด้วยค่าเปอร์เซ็นไทล์ลำดับที่เท่ากันในปี 2513 จะเท่ากับคนอายุ 51 ปี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คนไทยอายุ 70 ปีในปัจจุบัน มีความชราทางชีวภาพไม่ต่างจากคนไทยอายุ 51 ปีในปี 2513 นั่นเอง
ภาพที่ 1 ปิรามิดประชากรไทยช่วงที่เป็นสังคมวัยหนุ่มสาว (1970) สังคมกำลังสูงวัน (เริ่ม 2002) และสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (เริ่ม 2022)
"หมดยุคครรลองชีวิตสามช่วง"
การแบ่งครรลองชีวิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงการศึกษา ช่วงการทำงาน และช่วงเกษียณ ซึ่งแต่ละช่วงเกิดภายในกรอบเวลาเดียวกันสำหรับมนุษย์ในวัยใกล้เคียงกัน ครรลองชีวิตแบบนี้มนุษย์ได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเหมาะกับยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเกิดอย่างช้าๆต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนกำลังจะล้าสมัยในโลกดิจิทัลที่มนุษย์ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้
ในสังคมยุคดิจิทัล การเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพบ่อยครั้งจะกลายเป็นเรื่องปกติ ครรลองชีวิตแบบสามช่วงจึงเป็นเรื่องล้าสมัย ครรลองชีวิตโลกยุคดิจิทัล จะเป็นแบบเปิดกว้างและวนเวียนสลับกันไปมาระหว่างช่วงกิจกรรมต่างๆ (Open-Loop Model) โดยมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ในทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยยี่สิบ สามสิบหรือหกสิบก็ตาม เช่นเดียวกัน การทำงานก็ไม่ถูกจำกัดด้วยวัยเช่นกัน โดยสามารถทำงานหรือเป็นผู้ประกอบการได้ทุกวัย ในวัยสิบหก สามสิบ ห้าสิบหรือเจ็ดสิบ ตราบใดที่สุขภาพยังเอื้ออำนวยอยู่
"ผู้สูงวัยต่างจากผู้ชราภาพ"
ปัจจุบัน คือ รอยต่อระหว่างอดีตกับอนาคต ปัจจุบันจึงเป็นจุดที่มนุษย์อาศัยประสบการณ์ในอดีตมาคาดการณ์และวางแผนอนาคต แต่ในยุคปัจจุบันนี้ อนาคตข้างหน้าล้วนเป็นบริบทใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต แนวความคิดในการจัดการกับอนาคตจึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมด
การที่คนไทยมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ชี้ว่า ผู้สูงวัยในประเทศไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ สังคมจึงจำต้องเปลี่ยนกรอบความคิด (mindset) ที่ว่า ผู้สูงวัยคือผู้ชราภาพ ปัจจุบัน สังคมสูงวัยมาพร้อมกับช่วงอายุขัย (life span) และช่วงสุขภาพดี (health span) ที่ยาวขึ้น ผู้สูงวัยส่วนใหญ่จึงยังอยู่ในสภาพที่ทำงานได้ รัฐจึงต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆให้เกิดความยืดหยุ่น เพื่อช่วยให้สังคมได้ประโยชน์จากผู้สูงวัยที่มากไปด้วยปัญญาและประสบการณ์ ดังนั้น "สังคมสูงวัย" จึงไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวอีกต่อไป สำหรับผู้สูงวัย การมีอายุยืนยาวไม่ใช่แค่การนับจำนวนปีปฏิทินที่มีชีวิตอยู่ แต่เป้าหมายคือ การยืดความหนุ่มสาวหรือช่วงที่มีสุขภาพดีให้ยาวออกไป จนครอบคลุมส่วนใหญ่ของอายุขัย โดยลดช่วงความชราทางชีวภาพให้เหลือสั้นที่สุดในบั้นปลายของชีวิต
การกำหนดอายุที่ต้องเกษียณตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เมื่อมนุษย์มีอายุเกินตัวเลขหนึ่งก็จะหมดสภาพการทำงาน ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ง่ายเกินไปและคงถูกยกเลิกไปในอนาคต ด้วยอายุขัยคนไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อว่า คนไทยที่อยู่ในช่วงวัย 40 ปีในวันนี้ คงสามารถทำงานไปจนถึงอายุ 70 ปีสบายๆ ส่วนคนในช่วงวัย 20 ปี เชื่อว่า เขาจะทำงานจนถึงอายุ 70 ปลายๆ หรือ 80 ต้นๆ ในอนาคต
ภาพที่ 2 กร๊าฟอายุขัยประชากรไทย 1950-2021
"สงครามแย่งชิงปัญญาชน"
ประเทศที่จะมีเศรษฐกิจดีในทศวรรษหน้า คือ ประเทศที่มีประชากรจำนวนมากพอและส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน ต่างจากสังคมสูงวัยที่อัตราการเกิดลดลงและอายุวัยทำงานลดลง ประเทศเหล่านี้จำเป็นจะต้องนำบุคคลต่างชาติให้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเสริมทัพในประเทศ หากปราศจากประชากรวัยทำงานเข้ามาแทนที่ผู้สูงวัย ผลผลิตทางเศรษฐกิจก็จะตกต่ำ และขาดประชากรวัยทำงานมาช่วยดูแลประชากรผู้สูงวัย
ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในการดึงดูดปัญญาชนต่างชาติเข้ามาร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าของประเทศ การแย่งชิงปัญญาชนต่างชาติมีการแข่งขันกันอย่างหนักในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ สามารถเข้าถึงบุคคลที่มีคุณสมบัติสูงเหล่านี้ด้วยผลตอบแทนและเงื่อนไขที่ดีกว่า ดังนั้น ไทยควรเน้นที่การดึงดูดคนต่างชาติมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน โดยการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยไทยได้พัฒนาความเป็นสากล (Internationalization) เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งเมื่อจบแล้วมีโอกาสสูงที่พวกเขาจะประกอบอาชีพ สร้างธุรกิจ สร้างงาน และสร้างนวัตกรรมให้แก่ไทย นี่ควรเป็นยุทธศาสตร์ของชาติที่สำคัญยิ่งในการเตรียมพร้อมสำหรับยุคที่ประเทศไทยจะต้องเขยิบขึ้นไปเป็น”สังคมสูงวัยระดับยิ่งยวด”ในอีกสิบปีข้างหน้า
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย, ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1 มกราคม 2566
Source: https://www.facebook.com/100005249319513/posts/2163404513844505/?mibextid=cr9u03