"...หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชื่อมั่นในหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะว่าโลกเปลี่ยนแปลงและความรู้ไม่หยุดนิ่ง จึงตั้งความหวังสำหรับมหาบัณฑิตทุกคนที่จบการศึกษาจากหลักสูตรฯ ไปแล้วจะมีโอกาสได้ทำงานในองค์กรและสังคมแห่งการเรียนรู้ และนำแนวทางการเรียนรู้จากสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งทำความเข้าใจสิ่งเฉพาะและสากล เข้าใจสากลในบริบทเฉพาะ และการประสานส่วนทั้ง 2 เข้าด้วยกันให้ลงตัวเพื่อตอบโจทย์ของโลกและโจทย์ของเรา ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในการพัฒนาตนเองและสังคม สมดังปณิธานการเรียนรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตราบเท่าที่ยังอยู่ในเส้นทางของการเรียนรู้ ใครก็ไม่อาจทำลายคุณค่าของผู้เรียนรู้ลงไปได้..."
จดหมายเปิดผนึกถึงคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 31 ธันวาคม 2565
เรื่อง การจัดการคุณภาพหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เรียน คณบดี ผ่านหัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ตามที่มีคลิปการตรวจผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะ และเนื้อหาในคลิปดังกล่าว ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งข้อกังขาต่อเป้าหมายวัตถุประสงค์และคุณภาพโดยรวมของหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความเป็นไปและบริบทในการประชุมดังกล่าวจะเป็นอย่างไร บุคคลภายนอกไม่อาจทราบได้โดยละเอียด แต่เมื่อส่วนที่เผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะ แม้อาจพอรับฟังและพิจารณาเป็นความเห็นหนึ่งสำหรับการพัฒนาหลักสูตรในโอกาสต่อไป แต่ก็อาจเป็นไปในทางที่ก่อผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการจัดการคุณภาพและการเรียนการสอนของหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เช่นกัน กระผมจึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ออกคำชี้แจงให้สาธารณะทราบ และในนามของหลักสูตรฯ ขอนำเรียนคณบดี ดังนี้
หนึ่ง เป็นเวลาหลายปีติดต่อกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในสาขาวิชาต่าง ๆ โดย QS World University Rankings ทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าการเรียนการสอนและการวิจัยด้าน Politics and International Studies เป็นหนึ่งในสาขาทางสังคมศาสตร์ที่ช่วยสร้างชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับหลักสูตรอื่น ๆ ของคณะรัฐศาสตร์ในการจัดคุณภาพการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับและนำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัย
สอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นทั้งสาขาวิชาการและเกี่ยวข้องกับภาคปฏิบัติในการเมืองโลก การสร้างความรู้จึงมีทั้งส่วนที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ในด้านแนวคิดทฤษฎี และความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้กำหนดและผู้มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงนโยบาย การจัดโครงสร้างสถาบัน และแบบแผนวิถีปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และด้วยเหตุที่มิติการต่างประเทศได้สานแทรกอยู่ในนโยบายและกิจกรรมสาธารณะทุก ๆ ด้าน ผู้เรียนจึงมีความมุ่งหมายในการเรียนรู้แตกต่างกัน การจัดหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงออกแบบหลักสูตรไว้เป็น 2 ทางเลือก เพื่อให้สามารถตอบสนองการเรียนรู้และการสร้างความรู้ได้ตรงกับเป้าหมายของนิสิตผู้เรียน ความเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนตามกรอบการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย และข้อกำหนดมาตรฐานคุณภาพที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีเสมอกันทั้ง 2 แบบ ทำให้หลักสูตรฯ พร้อมรับการตรวจสอบจากภายนอกได้เสมอ
สาม หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชื่อมั่นในหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะว่าโลกเปลี่ยนแปลงและความรู้ไม่หยุดนิ่ง จึงตั้งความหวังสำหรับมหาบัณฑิตทุกคนที่จบการศึกษาจากหลักสูตรฯ ไปแล้วจะมีโอกาสได้ทำงานในองค์กรและสังคมแห่งการเรียนรู้ และนำแนวทางการเรียนรู้จากสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งทำความเข้าใจสิ่งเฉพาะและสากล เข้าใจสากลในบริบทเฉพาะ และการประสานส่วนทั้ง 2 เข้าด้วยกันให้ลงตัวเพื่อตอบโจทย์ของโลกและโจทย์ของเรา ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในการพัฒนาตนเองและสังคม สมดังปณิธานการเรียนรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตราบเท่าที่ยังอยู่ในเส้นทางของการเรียนรู้ ใครก็ไม่อาจทำลายคุณค่าของผู้เรียนรู้ลงไปได้
โดยเหตุที่การจัดการหลักสูตรฯ กลายเป็นประเด็นซึ่งอาจสร้างผลกระทบกระเทือนต่อผลการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย ที่คณะรัฐศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยึดถือให้ความสำคัญเสมอ กระผมจึงขอนำเรียนคณบดีในการชี้แจงเพื่อความเข้าใจของสาธารณะต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
รศ.ดร. ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อ่านประกอบ: