"...จากประวัติความเป็นมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า กว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางการเงินของไทยไว้ และในช่วงเวลา 80 ปี อดีตผู้บริหารและพนักงานได้ดำเนินรอยตามแบบอย่างที่ดีของการเป็นนายธนาคารกลาง ตามค่านิยม “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” เป็นไปตามที่นายดับเบิลยู บี ฮันเตอร์ ที่ปรึกษาพระคลังมหาสมบัติ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่จะทำงานในธนาคารชาติไทยคือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรู้จักอุปนิสัยของคน ความรู้รอบตัว และสามัญสำนึกที่เป็น common sense ส่วนความรู้ทางทฤษฎีนั้นเป็นเรื่องสุดท้าย” ถือเป็นความภูมิใจของพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย และพร้อมจะสานต่อรุ่นต่อรุ่นเพื่อธำรงไว้ซึ่งบทบาทของธนาคารกลางชาติไทยสืบต่อไป..."
Weekly Mail สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงความพยายามจัดตั้งธนาคารกลางในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ข้อเสนอล้วนแล้วมาจากชาวตะวันตกที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของตน จึงถูกปฏิเสธ
ทั้งนี้ ความคิดในการจัดตั้งได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎร แต่กลับไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จนเมื่อพลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2481 และนายปรีดีฯ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้รื้อฟื้นการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น โดยมอบหมายให้นายวิลเลี่ยม อัลเฟด มิลเนอร์ ดอลล์ (William Alfred Milner Doll) ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง เป็นผู้ร่างกฎหมายจัดตั้ง แต่ด้วยนายดอลล์ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งในช่วงเวลานั้น โดยอ้างถึงความไม่พร้อมต่าง ๆ นานา
ดังนั้น เมื่อนายดอลล์กลับไปพักผ่อนยังบ้านเกิด หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงฉวยโอกาสอาศัยช่วงจังหวะนั้นมอบหมายให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมศุลกากรให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลัง เป็นพระองค์แรก และให้เร่งรีบจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น เพราะสงครามโลกครั้งที่สองที่ปะทุขึ้นในยุโรปจะส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยในไม่ช้า
ทั้งนี้ การจัดตั้งถูกเสนอเป็นสองระยะคือ ในระยะแรก จัดตั้งเป็นสำนักงานธนาคารชาติไทยให้มีฐานะเป็นทบวงการเมือง สังกัดกระทรวงการคลัง ต่อจากนั้นในระยะที่สองจะได้มีการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมเพื่อจัดตั้งธนาคารชาติต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อ พ.ร.บ. จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พร้อมมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่ทำให้มีการจัดตั้งธนาคารชาติในเวลาต่อมา คือ การยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 พร้อมยื่นข้อเสนอเข้ามาบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง โดยหนึ่งในข้อเสนอ คือ การจัดตั้งธนาคารกลาง เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้างานเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลรับไม่ได้ จึงอ้างว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการจัดตั้งธนาคารกลางอยู่แล้ว พร้อมให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เร่งรีบร่างพระราชบัญญัติธนาคารชาติแห่งประเทศไทยขึ้น โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบและเปลี่ยนชื่อเป็น พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2485 ใช้เวลาไม่ถึง 4 เดือนในการออกประกาศใช้ และมีพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 [2]
เบื้องหลังของการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ธนาคารชาติแห่งประเทศไทย น่าสนใจมาก พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วแปลเป็นภาษาไทย พร้อมตั้งพระทัยที่จะร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวในหลักการและบทบาทของธนาคารกลาง โดยไม่ลงในรายละเอียด จึงมีเพียง 43 มาตรา โดยท่านได้ตรัสไว้ว่า “เรื่องธนาคารกลางนั้นมีน้อยคนที่เข้าใจ ข้าพเจ้าวิตกอยู่ว่าถ้าร่าง พ.ร.บ. ที่มีข้อความโดยละเอียด ก็จะผ่านสภาฯ ได้โดยยาก เพราะอาจมีผู้ขอแก้ไขให้ผิดหลักการไป จริง ๆ ดูเหมือนมีหลายคนที่เห็นธนาคารกลางเป็นต้นกัลปพฤกษ์ที่ขึ้น 4 มุมเมือง เช่น เมื่อแรกเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทย บุคคลคนแรกที่มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ได้มาติดต่อเพื่อขอกู้เงิน” และเพื่อให้ผู้แทนราษฎรและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ได้จัดทำบันทึกอธิบายร่าง พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายความเป็นมาและเหตุผลการเขียนในแต่ละมาตราแนบไว้ด้วย
เป็นที่น่าสนใจว่า ในมาตรา 3 ท่านได้เขียนว่า “ผู้ประศาสน์การ” เป็นผู้จัดการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น“ผู้ว่าการ”) อย่างไรก็ดี ในเรื่องความเป็นอิสระของการบริหารงานนั้นยังไม่ได้มอบให้แบงก์ชาติอย่างเต็มที่ เพราะในมาตรา 14 ยังคงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำกับกิจการของแบงก์ชาติโดยทั่ว ๆ ไป2/ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม ผู้สนใจและค้นคว้าวิจัยประวัติธนาคารแห่งประเทศไทยและเป็นผู้เขียนประวัติธนาคารแห่งประเทศไทยครบรอบ 72 ปี ให้ความเห็นว่า ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินงานของแบงก์ชาติ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย มีความประสงค์เน้นการสร้างความน่าเชื่อถือมากกว่าความเป็นอิสระ สอดรับกับความเห็นของผู้ว่าการพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ (ผู้ว่าการฯ คนที่ 8 ในช่วงวันที่16 สิงหาคม 2514 ถึง 23 พฤษภาคม 2518) ที่ให้นิยามอิสรภาพของธนาคารกลางว่า “Independence within the Government ไม่ใช่ Independent from the Government หมายถึงอิสรภาพภายในกรอบนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่อิสรภาพที่จะไม่ขึ้นกับรัฐบาล โดยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และธนาคารกลางจะต้องให้คำปรึกษาอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าจะไม่เป็นที่ชื่นชอบ และต้องเกิดความขัดแย้งกับแนวคิดของรัฐบาลก็ตาม” [3]
จากประวัติความเป็นมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า กว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางการเงินของไทยไว้ และในช่วงเวลา 80 ปี อดีตผู้บริหารและพนักงานได้ดำเนินรอยตามแบบอย่างที่ดีของการเป็นนายธนาคารกลาง ตามค่านิยม “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” เป็นไปตามที่นายดับเบิลยู บี ฮันเตอร์ ที่ปรึกษาพระคลังมหาสมบัติ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่จะทำงานในธนาคารชาติไทยคือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรู้จักอุปนิสัยของคน ความรู้รอบตัว และสามัญสำนึกที่เป็น common sense ส่วนความรู้ทางทฤษฎีนั้นเป็นเรื่องสุดท้าย” ถือเป็นความภูมิใจของพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย และพร้อมจะสานต่อรุ่นต่อรุ่นเพื่อธำรงไว้ซึ่งบทบาทของธนาคารกลางชาติไทยสืบต่อไป
อ่านเพิ่มเติม : เส้นทางชีวิต 80 ปีของแบงก์ชาติ
แหล่งที่มา:
[1] พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม ปรีดี พนมยงค์ กับธนาคารชาติ 28 Jun 2017 ปรับปรุงจากหนังสือ 72 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (2557) โดย พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม จัดพิมพ์โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.the101.world/pridi-and-bot/
[2] ดวงมณี วงศ์ประทีป และคณะจัดทำ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย 2485-2535 พิมพ์ที่บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด หน้า 39-47
[3] วิวัฒนไชยานุสรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2504 หน้า 1-72 https://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/view/23445-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C