"...อย่างไรก็ดี ในความเห็นลึก ๆ ยังมีความต้องการให้มีธนาคารกลางขึ้นเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศ โดยกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลต่อรัชการที่ 5 ว่า “การที่ให้ที่ปรึกษาต่างชาติชาวอังกฤษช่วยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการตั้งธนาคารชาติคงจะไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะที่ปรึกษาเหล่านี้อาจจะรู้สึกว่าไทยกำลังจะตัดประโยชน์ของชนชาติอังกฤษ ซึ่งเขาจะต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้” นำไปสู่แนวคิดตั้งธนาคารพาณิชย์มาแข่งขันกับชาวตะวันตก โดยจัดตั้ง แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ในต้นปี 2449..."
“80 ปี” เป็นช่วงเวลายาวนานพอที่จะเผชิญชีวิตในทุกรูปแบบ มีบทเรียนมากมายที่สามารถเล่าให้ลูกหลานได้รับฟัง แบงก์ชาติซึ่งดำเนินการมาครบ 80 ปี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ได้มีบทบาทในฐานะธนาคารกลาง รักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงิน ผ่านมรสุมทางเศรษฐกิจมาหลายระลอก พร้อมความท้าทายจากทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิวัฒนาการทางการเงินและเทคโนโลยี ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กร และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรมาอย่างต่อเนื่อง
ในความเป็นจริง แนวคิดก่อตั้ง “ธนาคารกลาง” ในประเทศไทยมีมานานแล้ว โดยต้องย้อนไปถึงการเปิดประเทศให้มีการค้าระหว่างประเทศแบบเสรีจากสนธิสัญญาเบาว์ริงเมื่อปี พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของไทยผูกขาดมาเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี มีการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีทางการค้าแลกมากับการสูญเสียเอกสิทธิทางการคลังให้กับประเทศตะวันตก เพราะสนธิสัญญากำหนดการเก็บภาษีขาเข้าตามราคาสินค้าไว้ไม่เกินร้อยละ 3 (แทนการเก็บภาษีโดยการวัดความยาวของเรือ) ทำให้รายได้ของรัฐลดลง ในขณะที่ไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจากปัญหาผลผลิตข้าวตกต่ำ และเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงในปี 2462 เศรษฐกิจไปสู่ภาวะถดถอย ราคาเนื้อโลหะเงินสูงขึ้นมาก สูงกว่ามูลค่าเงินที่ตราในเหรียญบาทขณะนั้น ทำให้เกิดการขาดแคลนเงินภายในประเทศ ในขณะที่ระบบเงินตราของไทยถูกกำหนดค่าไว้กับทองคำบริสุทธิ์ การกำหนดค่าของเงินไว้แน่นอนเริ่มมีปัญหา ประชาชนจึงถอนเงินฝากที่เป็นเงินบาทไปซื้อเงินตราต่างประเทศกระทบถึงสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ด้วยภาวะดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเห็นความจำเป็นของการจัดตั้งธนาคารกลางที่ทำหน้าที่ ออกเงินตรานายธนาคารของภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ [1]
ทั้งนี้ ชาวตะวันตกได้ยื่นข้อเสนอที่จะจัดตั้งธนาคารกลางตั้งแต่ปี 2431 ปีเดียวกับที่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ มาเปิดกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นแห่งแรก โดยกลุ่มชาวอังกฤษนำโดย พลโทเซอร์ แอนดูรว์ คลาร์ก ได้เสนอจัดตั้งธนาคารกลางของรัฐบาลชื่อว่า แบงก์หลวงกรุงสยาม (Royal Bank of Siam) มีทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านปอนด์สเตอร์ลิง และเปิดโอกาสให้ชาวไทยซื้อหุ้นได้แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นธนาคารที่ออกธนบัตร และเป็นนายธนาคารให้รัฐบาล โดยขอดำเนินการเป็นระยะเวลา 100 ปี เมื่อพ้น 100 ปีแล้ว ก็ยังคงสิทธิตลอดไปที่จะดำเนินกิจการธนาคารทั่วไปได้
ข้อเสนอนี้ได้ถวายผ่านกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น (เจ้าของวังเทวะเวสม์ที่ตั้งภายในบริเวณแบงก์ชาติในปัจจุบัน) ท่านได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งได้ถวายความเห็นว่า ชาวอังกฤษกลุ่มนี้คิดจะเอาประโยชน์ในทุกทาง และไม่มีข้อเสนอที่คำนึงถึงผลประโยขน์ของฝ่ายไทยเลย ในที่สุดไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งขึ้น แม้จะมีข้อเสนอใหม่ลดเวลาดำเนินการลงจาก 100 ปี มาเป็น 50 ปีก็ตาม
นอกจากข้อเสนอของกลุ่มตระกูลคลาร์กแล้ว ยังมีข้อเสนอจาก ดุ๊ก เดก มารียอง กับพวกได้ยื่นข้อเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเสด็จประพาสยุโรปในปี 2440 ในชื่อแบงก์หลวงแห่งสยาม (Royal State Bank of Siam) ตลอดจนข้อเสนอของชาวเดนมาร์ก และชาวรัสเซียในเวลาต่อมา ข้อเสนอทั้งหมดล้วนแต่มุ่งประโยชน์ต่อชาวตะวันตกทั้งสิ้น จึงถูกปฏิเสธไปและความสนใจจัดตั้งธนาคารกลางได้จางหายไปจากผลกระทบภาวะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก ประกอบกับนายริเวต คาร์แนค ที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีความเห็นในปี 2441 ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น เพราะยังมีเรื่องธนบัตร การปรับปรุงการบริหารและการเงิน ที่รัฐบาลควรต้องรอให้มีบุคลากรที่มีประสบการณ์มากขึ้นก่อน ทำให้ความคิดจัดตั้งธนาคารกลางถูกพับไป
อย่างไรก็ดี ในความเห็นลึก ๆ ยังมีความต้องการให้มีธนาคารกลางขึ้นเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศ โดยกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลต่อรัชการที่ 5 ว่า “การที่ให้ที่ปรึกษาต่างชาติชาวอังกฤษช่วยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการตั้งธนาคารชาติคงจะไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะที่ปรึกษาเหล่านี้อาจจะรู้สึกว่าไทยกำลังจะตัดประโยชน์ของชนชาติอังกฤษ ซึ่งเขาจะต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้” นำไปสู่แนวคิดตั้งธนาคารพาณิชย์มาแข่งขันกับชาวตะวันตก โดยจัดตั้ง แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ในต้นปี 2449
ทั้งนี้ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์แบงก์จีนสยาม ทุนจำกัด ล้มในปี 2456 เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแบงก์สยามกัมมาจลมาเป็นธนาคารชาติ โดยนายดัลเบิลยู บี ฮันเตอร์ หัวหน้าผู้จัดการธนาคารแห่งมาดราส ประเทศอินเดีย ที่ปรึกษาของรัฐบาลได้เสนอให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศและระบบการธนาคาร โดยธุรกิจของธนาคารต้องไม่มุ่งแสวงหากำไร ได้รับสิทธิให้ออกบัตรธนาคาร และให้ความสะดวกทางการเงินและการหมุนเวียนของธนบัตร โดยแนะนำให้มีการส่งบุคลากรเข้าฝึกงานและรับการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ จนแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดได้กลายมาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน
เหตุการณ์ใดที่ทำให้การจัดตั้งธนาคารกลางเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ขอได้ติดตามใน Weekly Mail ฉบับหน้าครับ อนึ่ง พวกเราคงได้ค้นพบรูปตัวเองในบอร์ดโมเสกที่นำรูปพนักงานปัจจุบันทุกท่านมาแสดงไว้ร่วมกับบอร์ดอื่น ๆ ในนิทรรศการ “80 ปี ธปท.” บริเวณชั้น 1 อาคารสำนักงานใหญ่ เพื่อสร้างความผูกพันและการเรียนรู้ร่วมกันแล้วนะครับ
แหล่งที่มา:
[1]ดวงมณี วงศ์ประทีป และคณะจัดทำ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย 2485-2535 พิมพ์ที่บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด หน้า 39-47