“…การบุกรุกครอบครอง หรือการฮุบที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบด้วยกฎหมายของกลุ่มนายทุน ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ใช้วิธีการส่งนอมินีเข้าไปครอบครองที่ดิน โดยมีข้าราชการทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมมือกันทำผิด…”
.....................................
หมายเหตุ : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เขียนบทความเรื่อง ‘ปัญหาการ “ฮุบที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมายต้องแก้ด้วยการถ่ายโอนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแทน’ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565
ตามที่ สื่อมวลชนเสนอข่าว ว่ามีกลุ่มบุคคลทำงานในบริษัทตลาดหลักทรัพย์บุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือที่ดิน ส.ป.ก.พื้นที่ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอหมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เนื้อที่มากกว่า 1,000 ไร่ เป็นที่ดินที่ล้อมรอบภูเขาทั้งลูก ถือเป็นความล้มเหลวในการบริหารและการจัดการที่ดิน ส.ป.ก.ที่เป็นรูปแบบ “รัฐรวมศูนย์”
ทั้งที่คุณสมบัติผู้จะได้สิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก.จะต้องเป็นเกษตรกร ต้องดูถึงความสามารถในการเข้าทำประโยชน์โดยดูถึงสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่มีรายได้เพียงพอกับการยังชีพหรือไม่มีรายได้ประจำอื่นเป็นหลัก เช่นรับราชการ พนักงานเอกชนมีประกันสังคม มีรายการเสียภาษี หรือได้รับเงินเดือนประจำ ผู้ที่จะรู้คุณสมบัติดังกล่าวดีที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนหมู่บ้าน แต่กลับไม่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการที่ดิน ส.ป.ก.
หากย้อนไปนับตั้งแต่ที่มีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบันประเทศมีพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งหมดราว 40,134,230 ไร่ โดยในจำนวนนี้ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรแล้วจำนวน 36,182,056 ไร่ แต่พบว่ายังเกิดปัญหาสั่งสมต่อเนื่อง
ทั้งการทับซ้อนแนวเขตระหว่างหน่วยงาน การประกาศครอบคลุมทั้งอำเภอที่กระทบต่อการออกเอกสารสิทธิของประชาชน ข้อพิพาทระหว่างผู้ถือครองและทำประโยชน์ การครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ที่ขอแยกได้ 4 ประการ คือ
ประการแรก ปัญหาพบว่ามีการบุกรุกครอบครอง หรือการฮุบที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบด้วยกฎหมายของกลุ่มนายทุน ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ใช้วิธีการส่งนอมินีเข้าไปครอบครองที่ดิน โดยมีข้าราชการทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมมือกันทำผิด
คาดการณ์ว่าทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ที่ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ขาดคุณสมบัติ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และผู้เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามหรือไม่บังคับตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ยังมีเกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
ประการสอง ปัญหาข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ไม่มีชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น อาทิ แนวเขตป่าไม้ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ จึงทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการใช้ประโยชน์ ไม่ได้รับสิทธิอย่างถูกต้อง เสี่ยงต่อการถูกยึดที่ดินคืนและคดีความ
ประการสาม ปัญหาการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินแปลงใหญ่ทับทั้งอำเภอ จำนวน 122 อำเภอ ในพื้นที่ 21 จังหวัด ส่งผลให้ประชาชนที่ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินเดิมที่มีสิทธิในการขอออกเอกสารสิทธิที่ดินประเภทโฉนดไม่สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิอันพึงได้ ในกรณีที่พบว่าเป็นพื้นที่ซ้อนทับกับแนวเขตป่า ส่งผลประชาชนที่เข้าทำประโยชน์อยู่ไม่สามารถดำเนินการขอรับรองสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ได้ ซึ่งกระทบสิทธิอันพึงได้ในที่ดินดังกล่าว
ประการสี่ ปัญหาการขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการหรือการส่งเสริมศักยภาพชุมชนในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ไม่สามารถดำเนินการมากกว่าประเด็นการประกาศแนวเขตที่ดิน อาทิ การสร้างภูมิคุ้มกันครัวเรือนเกษตร การแก้ปัญหาหนี้สิน การยกระดับวิถีเกษตรที่เหมาะสมและยั่งยืนตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน
ข้อเสนอเร่งด่วน รัฐต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหามีมาตรการให้เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโดยมิชอบและมีเอกสาร ส.ป.ก. เท็จ น่าจะผิดต่อ ก.ม.หลายลักษณะ เช่น 1.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต 2.มาตรา 54, 72 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ
3.ส่วนประชาชนผู้ครอบครองและผู้บงการ ใช้ จ้าง ว่านมีความผิดฐานผู้ใช้หรือสนับสนุน จพง.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 4.มาตรา 9, 108, 108 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ 5.เป็นผู้ใช้หรือตัวการร่วมแบ่งหน้าที่กันทำ ฐาน แจ้งความเท็จ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ
ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ส.ป.ก. เสนอให้เปลี่ยนแปลงจาก ส่วนรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีหน้าที่และอำนาจ หรือเรียกว่า “รัฐราชการรวมศูนย์” ไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชนเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจแทน ส่วน สำนักงาน ส.ป.ก.ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลระดับกรม ทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวม (Regulator) ที่เป็นมาตรฐานหลักเกณฑ์ในฐานะผู้รักษาพระราชบัญญัติ
ให้ “องค์กรปกครองท้องถิ่น” เป็นเจ้าภาพหลักแก้ปัญหา ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการในกิจการ (Operator) ของ ส.ป.ก. จะทำให้ปัญหาการ “ฮุบที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย” หมดไปสามารถแก้ไขปัญหาทั้งสี่ประการที่กล่าวข้างตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบเก็บภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างจะเป็นผู้รู้ดีว่า ใครเป็นเกษตรกรและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ท้องถิ่นต้องตรวจสอบสิทธิของผู้ได้รับ ส.ป.ก. ทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลผู้ถือครองจริง ในปัจจุบัน ว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรตามคุณสมบัติหรือไม่
ซึ่งหากเป็นผู้ที่ผิดคุณสมบัติตามระเบียบกฎหมาย ต้องเร่งดำเนินการเพิกถอนสิทธิและจัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติต่อไปเชื่อว่าจะสามารถคืนที่ดิน ส.ป.ก.จากผู้ขาดคุณสมบัติ จัดสรรให้เกษตรกรมากกว่าล้านไร่ และกรณีแปลงที่ดินที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าประชาชนหรือชุมชนใดได้อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ มาก่อนการถูกประกาศเขตปฏิรูปที่ดินหรือเขตที่ดินอื่นของรัฐ ให้กันแนวเขตที่ดินดังกล่าวออกและดำเนินการ ออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชน
ในด้านนโยบายที่ดิน ส.ป.ก.นั้น ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยึดมั่นหลักการเพื่อการใช้ ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม แม้ในข้อเท็จจริงจะพบว่าบางกรณีมีการเปลี่ยนแปลงในสภาพที่ดินหรือ ลักษณะการใช้ประโยชน์ แต่การพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบาย ส.ป.ก. นั้น
ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นตั้งแต่ระดับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บนฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงและ การวิเคราะห์เชิงสหวิชาการอย่างรอบด้าน เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความเหลื่อมล้าเชิงโครงสร้างของประเทศที่สัมพันธ์โดยตรงกับการจัดการที่ดิน
ถึงเวลาที่ต้องแก้ไข พระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสถานการณ์ปัจจุบันโดยใช้ลักษณะของญี่ปุ่นมาเป็นตัวตั้งนั่น คือ เน้นที่พื้นที่ต้องทำการเกษตร ส่วนใครจะมาทำการเกษตรนั้นควรจะเปิดกว้างได้อย่างมีเงื่อนไข