“…มาตรการอื่นๆ นอกจากการฉีดวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อเรามีมาตรการป้องกันร่วมกับการฉีดวัคซีนกระตุ้น ก็จะช่วย แม้ว่าจะมีการติดเชื้อก็จะไม่รุนแรง และเราก็จะยังอยู่กับมันได้ เพราะว่าเราจะต้องอยู่กับมัน เพราะเชื้อไวรัสเกิดขึ้่นแล้ว เมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เราก็ต้องหาวิธีและปรับตัวอยู่กับมัน เป็นเหมือนเชื้อโรคอื่นๆ ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน…”
เรารู้จักและอยู่ร่วมกับโควิด-19 มาแล้ว 4 ปีเต็ม แม้ว่าขณะนี้เชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องและยังคงสร้างความกังวลใจอยู่ไม่น้อย แต่วัคซีนยังถือเป็นอาวุธสำคัญในการต่อกรกับเชื้อไวรัสนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ถึงประเด็นสถานการณ์โควิด-19 และการฉีดวัคซีน
นพ.นคร กล่าวถึง สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปลายปี 2565 ว่า จากเดิมสายพันธุ์โอไมครอนที่มีการระบาดตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสอง จากนั้นสถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมในประชากรไทยสูง และสิ่งที่น่าพอใจ ก็คือประชากรได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่า 70% โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้ที่มีโรคร่วม ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่า 80% ซึ่งเป็นความครอบคลุมในระดับที่น่าพอใจ
สำหรับสายพันธุ์โอไมครอน การเกิดโรคนั้น แม้ว่าจะไม่รุนแรงแต่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ด้วยระบบการบริการสาธารณสุขที่ดีกับจำนวนการเจ็บป่วยที่จะต้องเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าช่วงระบาดของสายพันธุ์เดลต้าทำให้สถานการณ์โดยรวมในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น
ตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา มีทั้ง 2 ปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้น คือ 1) ระดับภูมิคุ้มกันในประชากรภาพรวมลดน้อยลง เนื่องจากระยะเวลาการฉีดวัคซีนที่ล่วงเวลามานานพอสมควร และไม่ได้เข้ารับการฉีดเข็มกระตุ้นกันในจำนวนที่มากเพียงพอ และ 2) การรีรอไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากได้ข่าวเรื่องวัคซีนรุ่นที่ 2 หรือวัคซีนสองสายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำเฉพาะเจาะจงสำหรับสายพันธุ์โอไมครอน แต่เมื่อเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ความจำเพาะเจาะจงหรือความสามารถในการป้องกันโรคก็จะลดลง ก็จะเข้าสู่ลักษณะคล้ายกับวัคซีนรุ่นเดิม เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้รับการฉีดวัคซีนรุ่นเดิม ที่เป็นวัคซีนตั้งต้น ก็ยังสามารถช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคได้
“เป็นเรื่องที่ สธ.-สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รณรงค์และเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ไม่ต้องรอ ไม่ต้องเลือก ไม่รอ คือ เมื่อรับวัคซีนเข็มล่าสุดมามากกว่า 6 เดือน ก็ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เลย ไม่ต้องเลือกว่า วัคซีนที่มี ไม่ว่าจะเป็น mRNA หรือ ไวรัลเวกเตอร์ หลักฐานทางด้านการแพทย์ มีข้อมูลวิจัยที่ชัดเจนแล้วว่า สามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรอ ไม่ต้องเลือก เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นกัน จะได้ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคได้”
วัคซีนไม่ช่วยกันติดเชื้อ เลยไม่อยากฉีดอีก
นพ.นคร กล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดว่าการฉีดวัคซีน ไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ หรือฉีดแล้วก็ติดอยู่ดี จึงเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันสื่อสาร เพราะสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบันดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถจะตามแก้ไขได้ทัน มีการส่งต่อข่าวสารโดยไม่มีการอ้างอิงตามหลักวิชาการ บางข่าวใช้ความรู้สึกหรือความคิดเห็นมากกว่าหลักฐานอ้างอิง
ทั้งนี้ มีหลักฐานว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นมีประสิทธิผลช่วยลดอาการรุนแรงได้ดีมากๆ การฉีดจะช่วยให้เราแม้ว่าจะติดเชื้อโควิด อาการก็จะน้อยมาก ไม่รุนแรง เหมือนเป็นหวัดธรรมดา 3-4 วันก็อาการดีขึ้น ซึ่งจะดีกว่าที่เราป่วยเชื้อลงปอด ปอดอักเสบ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องนอนไอซียู หรือต้องเสียชีวิต
“อย่าคิดว่า ฉีด 2 เข็มแล้ว ฉีดอีก ก็ติดอยู่ดี แต่การติดเชื้อนั้น หากได้รับวัคซีนมาก่อน อาการจะไม่รุนแรง หรืออาจจะไม่มีอาการ ซึ่งสามารถลดการเสียชีวิตได้ ขอให้รับฟังข้อมูลจาก สธ. เพราะข้อมูลที่เรามีก็อ้างอิงจากหลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ และผลการศึกษาวิจัย” นพ.นคร ย้ำ
คนฉีดน้อย ทำให้มีวัคซีนค้างสต็อก-หมดอายุเหลือทิ้ง
นพ.นคร ชี้แจงว่า เป็นธรรมดาของการบริหารจัดการ เพราะความต้องการวัคซีนและการเข้ารับการฉีดวัคซีน มีความไม่แน่นอนอยู่สูงมาก ถ้าเปรียบเทียบความต้องการวัคซีนเมื่อปลายปี 2564 กับปี 2565 จะพบว่ามีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่การเตรียมการจัดหาวัคซีนจะต้องทำล่วงหน้า เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีวัคซีนหมดอายุการใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการบริหารจัดการในสภาวะฉุกเฉิน เราก็ต้องมีไว้ให้เพียงพอ อาจารย์หลายท่านให้ความเห็นว่า ‘เหลือดีกว่าขาด’ ถ้าไม่มีวัคซีน ประชาชนจะเจ็บป่วยหนักจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
ฉะนั้นการบริหารจัดการวัคซีน เราก็ต้องใช้วิธีการบริหารจัดการตามสถานการณ์ ขณะนี้ความต้องการวัคซีนน้อยลง การจัดหาวัคซีนล่วงหน้าก็มีความจำเป็นลดน้อยลง บริษัทผู้ผลิตก็ผลิตวัคซีนได้มากขึ้น มีเจ้าใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราก็จะบริหารจัดการได้ดีขึ้น ปัญหาการเกิดวัคซีนค้างสต็อกหมดอายุก็จะน้อยลงในปี 2566
ไทยเริ่มจัดซื้อวัคซีนเจนใหม่หรือยัง?
นพ.นคร ตอบคำถามว่า ตอนนี้อยู่ในระหว่างการติดตามข้อมูล วัคซีนเจนใหม่ที่พัฒนาให้มีความจำเพาะต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งโอไมครอนเกิดเมื่อเดือน พ.ย. 2564 การพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลากว่าจะได้วัคซีนจำเพาะโอไมครอนมาปลายปี 2565 ซึ่งเชื้อไวรัสก็เกิดสายพันธุ์ใหม่แล้ว
ประเด็นที่สำคัญ คือ ต้องพิจารณาว่า วัคซีนจะใช้การได้ดีกับสายพันธุ์ใหม่ เมื่อเทียบกับวัคซีนเก่าหรือไม่ ถ้ามันไม่ต่างกันเรื่องการป้องกันความรุนแรงแรงของโรคในแง่ของการเจ็บป่วย ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้วัคซีนเจนใหม่ ต้องดูข้อมูลทางการแพทย์
ณ ขณะนี้ เราได้ทราบข่าวแล้วว่า สายพันธุ์ย่อยอันใหม่ ก็เข้ามามีสัดส่วนที่มากขึ้นตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาชี้แจง สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่เข้ามามากกว่า 70% แล้ว ถ้าเราจัดหาวัคซีน
โอไมครอนมา จะใช้ได้ดีกับสายพันธุ์ย่อยที่กำลังระบาดอยู่หรือไม่ เป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป
“ไม่ต้องรอ ฉีดวัคซีนกันเถอะ ขอเน้นย้ำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังได้ผลดี ลดความรุนแรงของโรคได้แน่นอน ถ้าฉีดใหม่ๆ ก็จะป้องกันการเจ็บป่วยได้ดี ไม่ใช่ว่าจะไม่ป้องกันเลย นั่นเป็นการเข้าใจผิด วัคซีนดั้งเดิม เมื่อฉีดใหม่ 1-2 เดือนแรก มีประสิทธิผลการป้องกันการเจ็บป่วยได้ด้วย แต่ก็ลดลงตามเวลา ฉะนั้นที่เราไปสรุปกันว่าฉีดไปแล้วก็ติดอยู่ดี ก็เพราะเราฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายกันมานานแล้ว” นพ.นคร กล่าวย้ำอีกครั้ง
วัคซีนไม่มีวันตามทันไวรัสกลายพันธุ์
นพ.นคร อธิบายว่า ไวรัสกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อการกลายพันธุ์ทำให้ติดเชื้อมากกว่าปกติ หรืออาการรุนแรงขึ้น นั่นคือสิ่งที่น่ากลัว แต่ตอนนี้เท่าที่เราได้สังเกตกันมา ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่ารุนแรงมากไปกว่าเดิม อาจจะติดง่ายกว่าเดิม แต่ไม่ได้รุนแรงกว่าเดิม และจะรุนแรงน้อยกว่าเมื่อได้รับการฉีดวัคซีน
ถามว่าต้องกังวลใจหรือไม่ อยากให้เปลี่ยนการกังวลใจ เป็นการตั้งคำถามว่า ได้รับการปกป้องหรือดูแลตัวเองดีแล้วหรือยัง ถ้ากังวลใจก็ไปรับการฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก ดูแลสุขอนามัยให้ดี ถ้าเรามัวแต่ตระหนกกังวลใจ แต่ไม่ทำอะไร นั่นไม่ใช่วิธีทางที่ดี
“เรื่องไวรัสกลายพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เห็นมาตลอด 3 ปี ห้ามมันไม่ได้ แต่จะชะลอมันได้ จะต้องทำให้ไม่เกิดการระบาด สุดท้ายก็วกกลับมาที่ตัวเรา ต้องเริ่มที่ตัวเราทุกคน ดูแลตัวเอง เมื่อป่วยก็อย่าไปแพร่เชื้อ และรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ขอให้ประชาชนช่วยกันปฏิบัติ”
ส่วนการพัฒนาวัคซีน นพ.นคร กล่าวว่า ในสถานการณ์ตอนนี้ เพราะว่าการที่เราจะพัฒนาวัคซีนจำเพาะสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ได้ ก็ต้องเจอไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นปัญหาก่อน และถ้าระหว่างที่พัฒนา เกิดการกลายพันธุ์อีก การพัฒนาวัคซีนก็จะตามสายพันธุ์ใหม่ไม่ทัน ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์พยายามพัฒนาวัคซีนสำหรับสายพันธุ์เดลต้า ยังไม่ทันเสร็จ ก็เกิดการระบาดของเชื้อโอไมครอน เพราะฉะนั้นสถานการณ์มันบอกอยู่แล้วว่าเราทำวัคซีนตามการกลายพันธุ์ของไวรัสไม่ทัน มันเป็นเรื่องธรรมชาติ มีหลายสาเหตุที่ไวรัสกลายพันธุ์ ได้แก่ 1) ติดต่อง่าย ติดผ่านทางเดินหายใจ การติดต่อระหว่างบุคคล เช่น ไอจาม สัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ และ 2) การที่มีการระบาดต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ก็จะทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมา
“เราจำได้ไหมว่า สายพันธุ์เดลต้า เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ในอินเดีย และพอเกิดการระบาดใหญ่ในแอฟริกาใต้ ก็เกิดสายพันธุ์โอไมครอนขึ้นมา ถ้าเรายังปล่อยให้เกิดการระบาดใหญ่ไปเรื่อยๆ มันก็จะมีสายพันธุ์ใหม่มาเรื่อยๆ วิธีที่จะหยุดยั้ง คือต้องป้องกันด้วยมาตรการที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง สำหรับคนไทยนั้น ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สัดส่วนการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง การหมั่นล้างมือ ยังทำได้ดีมากๆ สถานการณ์การระบาดของโอไมครอนของไทย จึงไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ”
นพ.นคร กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้น มาตรการอื่นๆ นอกจากการฉีดวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อเรามีมาตรการป้องกันร่วมกับการฉีดวัคซีนกระตุ้น ก็จะช่วยลดอาการรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อ และเราจะสามารถอยู่กับโรคนี้ได้ เพราะเชื้อไวรัสเกิดขึ้นแล้ว และเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เราก็ต้องหาวิธีและปรับตัวอยู่กับมัน เหมือนเชื้อโรคอื่นๆ ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน
การใช้ยาฟาวิฯ ทำให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์
นพ.นคร กล่าวว่า น่าจะข่าวลือหรือป่าว ที่บอกว่ามีงานวิจัยนั้น ไม่จริง เชื้อกลายพันธุ์เกิดตามธรรมชาติ เกิดจากการติดเชื้อจากอีกคนสู่อีกคน ไวรัสมีการพัฒนา ไม่เกี่ยวกับการใช้ยารักษา เป็นเรื่องการผสมกันเฉยๆ
“เวลาที่เราได้รับข่าว ให้เราชั่งใจไว้ก่อน ให้พิจารณาว่า คำว่า 'เขาว่า' เขานั้นคือใคร เขาว่าอย่างนู้น เขาว่าอย่างนี้ เขามีหลักฐานทางด้านการแพทย์ไหม เขามีทัศนคติอย่างไร เพราะเวลาที่เสพข่าวเสพสื่อ ขึ้นอยู่กับคนที่อยากจะให้ข่าว ถ้าทัศนคติอยากสร้างความกลัว ก็จะบอกแค่เฉพาะส่วนหนึ่ง อีกส่วนบอกไม่ครบ ฉะนั้นข้อมูลที่เราต้องฟังคือข้อมูลทางด้านวิชาการ ซึ่งทาง สธ.จะกลั่นกรองออกมาดีแล้ว และพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อ ประชาชนไม่มีเหตุที่จะต้องให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เวลาเสพข่าวก็จะต้องดูแหล่งที่มา สื่อมวลชนเช่นเดียวกัน ก็ขอให้เช็กข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนขยายต่อ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการขยายและส่งต่อข่าวลวงข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกและเข้าใจผิด”
ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตลอดไป?
นพ.นคร เปิดเผยว่า จากข้อมูลทางด้านวิทาศาสตร์ ในขณะนี้หลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุดไปแล้ว 4-6 เดือน ก็ควรฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง 608 และสำหรับประชาชนทั่วไปก็ยังแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น หลังจากฉีดเข็มล่าสุดไปแล้ว 6 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดูข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ เราต้องติดตาม ถ้ามีข้อมูลมากขึ้นว่าจะต้องฉีดห่างเท่าไหร่ ก็จะมีข้อแนะนำทางการแพทย์ออกมา ซึ่งในส่วนนี้ องค์การอนามัยโลกก็กำลังรวบรวมข้อมูลทางด้านวิชาการกันอยู่ ข้อมูลทางวิชาการก็จะเกิดจากทุกประเทศส่งข้อมูลไป ฉะนั้นไทยเองก็จะต้องมีการติดตามข้อมูลทางด้านการระบาด ทางด้านการฉีดวัคซีน
คาดวัคซีนโควิดไทยได้ขึ้นทะเบียนปี 66
นพ.นคร เปิดเผยถึงการพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 สัญชาติไทย ว่า ของเราทำได้ไม่เร็วนัก เป็นเรื่องของปัจจัยทั้งหมด เพราะการพัฒนาวัคซีนไม่ใช่เรื่องที่ง่าย จะเห็นได้ว่า เราเห็นวัคซีนที่ใช้ได้ดี แต่เบื้องหลังที่เราได้ยินชื่อวัคซีนฮิตๆ ยังมีอีกเป็นร้อยวัคซีนที่กำลังพัฒนากันอยู่ หมายความว่า ทุกคนไม่ได้หยุดวิจัยพัฒนา เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ยังไม่ได้หยุดพัฒนา
เป้าหมายของเราคือ เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของเราให้สามารถผลิตวัคซีนโควิด อย่างน้อยถ้าได้มาตัวแรกแล้ว ก็จะต่อยอด เช่นเดียวกับบริษัทวัคซีนอื่นๆ เขาทำ
คาดหมายว่าในปี 2566 จะมีวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งของประเทศไทยที่สามารถที่จะ เดินหน้าถึงขั้นได้คำตอบว่า วัคซีนจะสามารถขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ เพราะการทำวิจัยก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการวิจัย ถ้าผลวิจัยดี วัคซีนมีประสิทธิผล ก็จะสามารถขึ้นทะเบียนนำมาใช้ป้องกันโรค
แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างวิจัย ไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้แน่ๆ แต่ทุกคนก็เห็นผลแล้ว ก็คิดว่าน่าจะได้ เพราะเราใช้วิธีการเทียบเคียงผลกับวัคซีนอื่นๆ ที่มีใช้ในขณะนี้ ผลก็มีความเทียบเคียงไม่ได้ต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าทำได้ตามขั้นตอน ก็เชื่อมั่นในตัววัคซีนว่าจะได้ผล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัววัคซีนด้วยที่เราได้วิจัยกันมา
ส่วนเรื่องสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป จะมีผลต่อการพัฒนาวิจัยวัคซีนหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีผล เพราะเราจะพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า วัคซีนที่มีอยู่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเพียงพอเมื่อเทียบกับวัคซีนที่มีอยู่ท้องตลาดหรือป่าว และถ้ามีปัญหาสายพันธุ์ ตอนนี้เป็น BA.2.75 ไม่รู้ว่าปีหน้าจะเป็นตัวไหน เรื่องสายพันธุ์ไม่ต้องกังวล ต้องปรับให้มันสอดคล้องเมื่อมีความจำเป็น แต่ข้อสำคัญ จะต้องได้ตัวหนึ่งที่ใช้ได้ขึ้นมาก่อน และเมื่อภายหน้าเจอกับสายพันธุ์อื่น เราก็ต้องวิจัยเพิ่มเติม และปรับให้สอดคล้องกับเชื้อที่มีการระบาด สุดท้ายก็กลับไปที่โจทย์เดิม ‘จะทำวัคซีนทันกับไวรัสที่กลายพันธุ์ไหม’ สุดท้ายก็อาจจะกลับไปคำตอบที่ว่าทำวัคซีนต้นฉบับให้มันดี กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและลดความรุนแรงของโรค
เมื่อไหร่ไทยจะถอดหน้ากาก เหมือนต่างประเทศ?
นพ.นคร กล่าวว่า มาตรการการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย ยังคงเป็นมาตรการที่ดีเมื่อเราอยู่ในสภาวะการระบาดของโรคยังไม่สงบ
นพ.นคร กล่าวขยายความคำว่า ‘สงบ’ คือ อยู่ในสภาวะที่ควบคุมโรคได้ทั่วโลก โรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย เมื่อเราเปิดประเทศ มีการติดต่อไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศ โอกาสการแพร่ระบาดก็ยังมี ต้องช่วยกันทำให้มันสงบทั้งโลก เมื่อมันสงบลงแล้ว เราก็จะรับมือกับมันได้มากขึ้น เมื่อโรคสงบลงแล้ว ก็จะดูแลกันได้ดีขึ้น ฉีดวัคซีนกันได้ครอบคลุมมากขึ้น
ในตอนนี้ ปัญหาระดับโลก คือกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา อัตราการเข้าถึงวัคซีนยังต่ำมาก แม้ว่าจะนับการฉีดเฉพาะครบ 2 เข็ม ก็ยังต่ำ ซึ่งแบบนี้ทำให้เกิดการระบาดเป็นแห่งๆ เป็นคลัสเตอร์อยู่ เพราะฉะนั้นในระดับโลกก็ต้องช่วยกัน ในประเทศ เราก็ต้องช่วยกัน อย่าให้เกิดการระบาดใหญ่ เพราะการที่จะควบคุมการระบาดได้ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน เพราะที่ผ่านมา ที่ไทยจัดการกับโควิดได้ดี ส่วนใหญ่มาจากความร่วมมือของประชาชน
ไทยไม่มีรายงานตัวเลขรายวันจะรู้ได้ไงว่าเกิดการระบาดใหญ่?
นพ.นคร ตอบว่า ขณะนี้จับตาดูเรื่องจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล เพราะว่าใช้เป็นตัวชี้วัดเบื้องต้น เพราะปัจจุบันไม่ได้เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเคส ถ้าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ.มากขึ้น ก็เป็นตัวชี้วัดได้ เพราะสามารถคำนวณเป็นค่าสถิติย้อนกลับไปได้
โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการเก็บจำนวนผู้ป่วยอยู่ ทำให้ทราบว่าตอนนี้ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาใน รพ.มีแนวโน้มสูงขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เมื่อเราจับตาดู ก็จะสามารถออกมาตรการที่สอดรับกับสถานการณ์ได้
โควิดจะสงบได้อย่างไร เมื่อเราต้องเปิดประเทศ และแต่ละประเทศมีมาตรการที่ไม่เข้มเท่ากัน?
นพ.นคร กล่าวว่า เราปิดประเทศตลอดไม่ได้ ต้องหาสมดุล ขณะที่เรามีวัคซีน มีเครื่องไม้เครื่องมือ มียา มีความรู้ความชำนาญมากขึ้น อีกด้านหนึ่งก็เรื่องการใช้ชีวิต สังคม เศรษฐกิจ ต้องสมดุลระหว่างเศรษฐกิจสังคม ซึ่งต้องมาคู่กับสาธารณสุข โรคจะสงบได้ก็เพราะพวกเรา เราไม่ได้เพิ่งเปิดประเทศ การเปิดประเทศ เราก็ยังควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ในส่วนของประเทศอื่นๆ ก็ต้องดูแลบริหารจัดการเช่นเดียวกัน ทั่วโลกต้องร่วมมือกัน แต่เราจะไปบังคับหรือเกี่ยงว่า คนอื่นไม่ทำ เราก็ไม่ทำนั้นไม่ได้ เราต้องทำตัวเราให้ดี ส่วนของคนอื่นจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน
“เราก็จะใช้ชีวิตร่วมกับโควิดได้ โดยที่ไม่ยากลำบากนัก ใกล้เคียงกับสภาวะก่อนมีโควิด ตอนนี้ก็ใกล้เคียง ธุรกิจก็พอที่จะดำเนินต่อไปได้ สังคมก็ติดต่อไปมาหาสู่กันได้ สถานการณ์โรคก็ควบคุมได้ ผู้ป่วยไม่ล้นโรงพยาบาล ทั้งหมดเป็นเรื่องสมดุลการจัดการในภาวะโรคระบาด” นพ.นคร กล่าวทิ้งท้าย