"...ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายของการเตรียมการได้ว่า นายกสภาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยจะเป็นกลุ่มบุคคลชุดเดิมที่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ กรณีดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็น 'การผลัดกันเกาหลัง' โดยอาศัยความชอบธรรมจากกฎระเบียบ ข้อบังคับที่ตนเองได้นำเสนอและประกาศบังคับใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตนเองไม่หลุดจากตำแหน่งที่ตนมุ่งหมายไว้อย่างแน่นอน..."
หมายเหตุ : เป็นหนังสือที่คณะบุคลากรมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.)กลุ่มหนึ่งร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลของ มสธ. มีรายละเอียดังนี้
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ดำเนินการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นเวลามากว่า 40 ปี และหลักธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาถือได้ว่าเป็นหลักการที่มีความสำคัญ โดยปรากฏในพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 9(5)) ที่กำหนดให้ การจัดการอุดมศึกษาต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ประกอบกับมาตรา 19 ที่กำหนดว่า สถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล และสถาบันอุดมศึกษายังต้องจัดให้มีระบบควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและขจัดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การทุจริตและประพฤติมิชอบ
นอกจากนี้ ได้มีการประกาศแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาต้องดำเนินงานหรือบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล อย่างไรก็ดี การดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในหลากหลายส่วนอาจขัดหรือไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลซึ่งสามารถชี้แจงได้เป็นประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 การมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการใช้สิทธิเพื่อช่วยเหลือกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับรูปแบบวิธีการสรรหานายกและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัย ได้มีเสนอให้มีการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับใหม่ๆที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมเพื่อสนับสนุนให้ตนเองได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนในการตัดสินใจ พิจารณาผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยอาจอ้างได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา
แต่ในความเป็นจริง พบว่า สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยถือว่าเป็นบุคคลภายนอกให้ทำหน้าที่เสนอชื่อบุคคลที่ควรได้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่ง และยังมีหน้าที่ในการพิจารณาสรรหานายกสภาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยอีกด้วย (รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ 1 และ 2) นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้สมาคมสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีส่วนในการเสนอชื่อนายกสภาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยอีกด้วย (รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ 3)
ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายของการเตรียมการได้ว่า นายกสภาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยจะเป็นกลุ่มบุคคลชุดเดิมที่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ กรณีดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็น 'การผลัดกันเกาหลัง' โดยอาศัยความชอบธรรมจากกฎระเบียบ ข้อบังคับที่ตนเองได้นำเสนอและประกาศบังคับใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตนเองไม่หลุดจากตำแหน่งที่ตนมุ่งหมายไว้อย่างแน่นอน
สำหรับประเด็นนี้ คณะมีความประสงค์ให้ท่านรัฐมนตรีได้โปรดกรุณาตรวจสอบ
(1)เหตุผลในการแก้ระเบียบข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาว่าดำเนินการโดยชอบหรือไม่ หรือดำเนินการภายใต้การควบคุมของบุคคลใด (เอกสารแนบ 4)
(2)ระยะเวลาในการให้คณาจารย์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณา เสนอความเห็นตามหลักการมีส่วนร่วม เป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่ ประกอบการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบหรือข้อบังคับได้ทำการการตามหลักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่
(3) ระยะเวลาที่ให้แต่ละหน่วยงานเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งว่า เป็นไปโดยเหมาะสมหรือไม่ เหตุใดจึงต้องกระทำด้วยความเร่งด่วน กรณีดังกล่าวสามารถจัดเตรียมและดำเนินการล่วงหน้าได้เป็นระยะเวลานาน (เอกสารแนบ 5)
(4)การแต่งตั้งบุคคลโดยสภามหาวิทยาลัยเพื่อเสนอชื่อและทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหานั้น เป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เหตุใดจึงต้องเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ดังกล่าว และเหตุใดสมาคมสุโขทัยธรรมาธิราชจึงมีสิทธิที่จะเสนอผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่ง การเสนอนั้นกระทำโดยความสุจริตโปร่งใส ยุติธรรม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ (รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ 1,2และ 3)
(5) การใช้สิทธิของกรรมการสภามหาวิทยาลัยในฐานะของผู้ทรงคุณวุฒิและสมาคมสุโขทัยธรรมาธิราชในการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่ง ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์สำหรับกลุ่มบุคคลเดิมหรือไม่ (เอกสารการประชุมหรือการเสนอชื่ออยู่ในความครอบครองของมหาวิทยาลัย)
นอกจากนี้แล้ว คณะมีความประสงค์ให้ท่านรัฐมนตรีได้โปรดกรุณาตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ว่าการดำเนินการต่างๆ ของสภามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นไปภายใต้หลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วการดำเนินการดังกล่าวสามารถที่จะกระทำได้โดยไม่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ด้วยเหตุเพียงเป็นการบริหารจัดการภายในของมหาวิทยาลัยแต่เพียงเท่านั้น
ประเด็นที่ 2 การดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี ของนายกสภาและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ
ตามแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ข้อ 14 กำหนดให้ 'นายกสภาสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิควรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกินสี่ปีและไม่ควรดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่าแปดปี'
ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แม้ว่าจะมีการแก้ไขข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา แต่สาระสำคัญในข้อที่ 14 กลับมิได้ถูกพิจารณาหรือได้รับแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติ (รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ 4)
เหตุผลประการสำคัญอาจเนื่องจาก หากมีการแก้ไขข้อความให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาในข้อ 14 แล้วนั้น จะทำให้บุคคลบางท่านไม่สามารถดำรงตำแหน่งอยู่ได้
ดังนั้น การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในเรื่องวาระในการดำรงตำแหน่งของนายกสภาและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิจึงมิได้เกิดขึ้น
สำหรับประเด็นนี้ คณะมีความประสงค์ให้ท่านรัฐมนตรีได้โปรดกรุณาตรวจสอบ
(1) การไม่ดำเนินการตามแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ในข้อ 14 นั้น สามารถกระทำได้หรือไม่
(2) เหตุผลที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ข้อ 14 ทั้งที่สามารถกระทำได้ แต่ไม่ดำเนินการ (รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ 4)
(3) แนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาในข้อ 14 แม้จะมีการใช้คำว่า 'ควร' แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงเป็นไปเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาปฏิบัติตามใช่หรือไม่ และหากสถาบันอุดมศึกษาสามารถดำเนินการได้ แต่ไม่กระทำเพียงเพราะการอ้างเหตุผลบางประการเพื่อให้บุคคลบางคนได้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป การดำเนินการเช่นนั้นจะมีผลอย่างไร และท่านรัฐมนตรีสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลได้หรือไม่
(4) เจตนารมณ์ของแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ในข้อ 14 บัญญัติขึ้นเพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปทุกสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่ หรือเป็นเพียงทางเลือกของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง จะเลือกปฏิบัติหรือเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามก็ได้
ประเด็นที่ 3 การรับผลตอบแทนนอกเหนือจากฐานะนายกและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ตามแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ข้อ 15 วรรคสอง ที่กำหนดว่า 'ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตามวรรคหนึ่ง ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากในฐานะนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้น เว้นแต่เป็นไปตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ' แม้จะได้มีการประกาศใช้แนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ตามความที่ทราบแล้วนั้น
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้มีการแต่งตั้งตนเอง ให้ดำรงตำแหน่งในคณะต่างๆ เพื่อรับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนอื่นๆ มีการเข้ามาดำเนินการราวกับเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการของมหาวิทยาลัย มิใช่ผู้กำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัย (รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ 6)
สำหรับประเด็นนี้ คณะมีความประสงค์ให้ท่านรัฐมนตรีได้โปรดกรุณาตรวจสอบ
(1) การรับค่าตอบแทนหรือเบี้ยประชุมของนายกสภาและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขัดต่อหลักแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลหรือไม่
(2) เหตุผลและความจำเป็นที่นายกสภาและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองแทนที่จะเป็นบุคลากรอื่นของมหาวิทยาลัย หรือการดำเนินการด้วยตนเองของนายกสภาและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิเป็นไปเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเบี้ยประชุม
(3) แนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาในข้อที่ 15 นี้ สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติหรือไม่ หากไม่ดำเนินการจะมีผลอย่างไร หรือเป็นเพียงทางเลือกหรือการบริหารจัดการภายในของมหาวิทยาลัย จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ ฯ
จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาท่านรัฐมนตรี ให้ความกรุณาตรวจสอบความถูกต้อง ชอบธรรม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ให้เป็นบรรทัดฐาน และ ใช้เป็นแนวทางต่อสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษามากขึ้นและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
อ่านเพิ่มเติม:
คนดี คนเก่ง มีน้อย! (ว่าที่) นายก มสธ.วัย 83 ปี นั่งมาแล้ว 5 แห่ง ทรัพย์สิน 44.5 ล.
อธิการฯ ขอตรวจก่อน! ‘วีระ สมความคิด’ จี้ มสธ.สงสัยจ้างระบบทดสอบออนไลน์มีผลปย.ทับซ้อน
ลาออกก่อนแล้ว! มสธ.ตอบ‘วีระ' จ้างระบบทดสอบออนไลน์ 'วิจิตร ศรีสอ้าน’ ไม่มีผลปย.ทับซ้อน
อว.แจ้งเป็นความลับ! 'มานิตย์' ไม่สามารถชี้แจงได้ปมชะลอเสนอชื่อนายก-กก.สภา มสธ.โปรดเกล้าฯ