ผู้เข้าร่วมเสวนาเรื่อง 2023 แพลตฟอร์มเปลี่ยนโลก สื่อปรับใหญ่ คนไทยจะรู้เท่าทันสื่ออย่างไร ชี้สื่อต้องผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ-ต้องทำสิ่งที่ชำนาญ-เข้าใจพฤติกรรมผู้ชม-ผู้บริโภคต้องปรับตัวไปพร้อมกับสื่อ
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานประกาศผลรางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 โดยภายในงานได้จัดเสวนา หัวข้อเรื่อง ‘2023 แพลตฟอร์มเปลี่ยนโลก สื่อปรับใหญ่ คนไทยจะรู้เท่าทันสื่ออย่างไร?’
ในการเสวนาครั้งนี้ผู้เข้าร่วมเสวนามีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน คือ สื่อในปัจจุบันและในอนาคตต้องผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ
ต้องผลิตคอนเทนต์ที่เน้นคุณภาพ
เริ่มที่นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวเปิดเวทีเสวนาว่า ทิศทางการทำสื่อในยุคใหม่จะเน้นไปที่ การผลิตเนื้อหา (คอนเทนต์) เป็นอันดับหนึ่ง การนำเสนอข้อมูลเป็นอันดับสอง การเลือกผลิตสื่อตามกลุ่มเป้าหมายเป็นอันดับสาม
จากนั้นนายระวี กล่าวว่า แพลตฟอร์มการนำเสนอสื่อในปัจจุบันเปลี่ยนโลกการรับรู้ข่าวสาร ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ของแต่ละแพลตฟอร์ม ส่วนสื่อมวลชนในปัจจุบันต้องแข่งขันในด้านการทำ Search Engine Optimization (SEO) เพื่อให้มียอดผู้ชมมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา มีข้อมูลว่าผู้ชมดูสื่อแค่ 3 วินาทีแล้วไม่ดูต่อ แต่สถิติใหม่พบว่าผู้ชมใช้เวลาใหม่แค่ 1.5 วินาที แต่ถ้าคอนเทนต์มีคุณภาพ ผู้ชมก็จะใช้เวลาชมจนจบ อีกทั้งในปีที่ผ่านมามีจำนวนคอนเทนต์มากเกินไป ทำให้คนเลือกที่จะดู ในอนาคตกำลังมองหาคอนเทนต์มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ
"ดังนั้นหลักการทำสื่อของปีหน้าคือ คอนเทนต์ต้องมีคุณภาพดี คนถึงจะดู" นายระวีระบุ
ทิศทางผลิตสื่อในอนาคต ต้องรู้จัก 'ตนเอง' และผู้ชม
นอกจากนี้นายระวียังกล่าวถึงแนวทางการผลิตสื่อในอนาคตว่า ต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมี ซึ่งมี 3 ขั้น ได้แก่
- Quick grab information คือ ผู้บริโภคดูข้อมูลเร็วขึ้น
- Search เมื่อผู้ชมดูแล้วสนใจก็จะไป Search หา เมื่อเจอข้อมูลก็จะดูที่มาของข้อมูล
- Select ผู้ชมเลือกที่จะเชื่อในความเด่นของแต่ละสื่อ แล้วจึงจะกดเข้าไปดู
สื่อแต่ละเจ้าในอนาคตต้องรู้จักตัวเอง สนใจทำอะไร จะทำให้ผู้รับสารสนใจสื่อของเราและอยู่กับเรา อีกทั้งใน Gen-Z จะสนใจในคอนเทนต์ที่ให้ความหวัง เนื่องจากคนในรุ่นนี้โตมากับภาวะวิกฤตที่หลากหลายทั้งโควิด ภาวะโลกรวน เศรษฐกิจถดถอย โดยมีความสนใจในประเด็น 4 ด้าน
- สนใจสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกรวน (Climate Change)
- สนใจค่าครองชีพในอนาคต
- สนใจเรื่องความไม่เท่าเทียม การคุกคามทางเพศ
- สนใจเรื่องสุขภาพจิต
ดังนั้นคนทำสื่อจะต้องทำสื่อที่มีความลึกไม่ใช่แค่รายงานผิวเผิน
องค์กรมีเป้าหมาย คือ ผลิตสื่อที่สนุกและได้ความรู้เพื่อตอบโจทย์ผู้ชม
ต่อมานายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริการ Workpoint Today กล่าวว่า รู้สึกดีกับการทำงานในปีนี้ เนื่องจากในองค์กรมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ทำให้ทำงานได้ดีมากขึ้น มีหลักการคือ ไม่ได้แยกข่าวกับสื่อประเภทอื่น เนื่องจากในปัจจุบันสนใจดูคอนเทนต์ที่สนุกและได้ความรู้ องค์กรเลยมีเป้าหมายว่าจะทำสื่อที่มีความรู้และสนุก และในปีนี้สื่อใหญ่กระโดดลงมาทำสื่อออนไลน์มากขึ้น เช่น ดารามาทำ Youtube สัมภาษณ์กันเอง ถ้ามองในแง่ลบสื่อมวลชนจะอยู่ยังไงตายกันหมดแน่ แต่ถ้ามองในแง่ดีสิ่งนี้ทำให้มองเห็นถึงความจำเป็นของสื่อสารมวลชน เพราะนักสื่อสารมวลชนนำเสนอเนื้อหาเชิงวิเคราะห์ นำเสนอข้อมูลที่มีความลึก ปัจจุบันสื่อแข่งกันทำคอนเทนต์ที่เน้นยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) แต่เราควรถอยออกมา กลับมาเป็นสื่อสารมวลชนที่ดี ต้องเน้นทำคอนเทนต์ที่มีคุณค่า ไม่ต้องสนใจยอด Engagement
ความสนใจของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป
นายนภพัฒน์จักษ์ กล่าวต่อว่า คนรุ่นใหม่สนใจคลิป 90 วินาที มากขึ้น แต่ไม่เรียกว่า Tiktok เพราะคลิปแบบนี้อยู่ในทุกแพลตฟอร์ม แนะนำให้ผลิตสารคดีเชิงลึก
"คอนเท้นต์ที่ดีจะมีคนมาหยิบไปใช้" นายนภพัฒน์จักษ์กล่าว
นอกจากนี้ในด้านองค์กรต้องเข้าใจว่านักข่าวไม่ได้ทำคอนเทนต์ได้ในทุกแพลตฟอร์ม ควรจะมีโปรดิวเซอร์ในแต่ละแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดคุณภาพสูงสุด อีกทั้งนักข่าวจะต้องทำทั้งข่าวเชิงลึกเก็บไว้ลงเรื่อย ๆ และทำข่าวในกระแสเพื่อดึงคนดู
ต้องรู้จุดแข็ง ทำเรื่องที่ชำนาญ
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจําคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานศึกษาปีล่าสุด คนใช้การค้นหา (Search) บน Tiktok มากที่สุด แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ที่พบเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด จากการเก็บข้อมูลในปัจจุบันพบว่าในการค้นหาข้อมูล ถ้ามีคนหรือสื่อมวลชนบนแพลตฟอร์มออนไลน์นำเสอข่าวในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงได้ดี ผู้ชมก็จะตรงเข้าหาไปสื่อรายนั้น และจากการสำรวจพบว่าคนไทยเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเรื่องการเชื่อในข่าว นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าการทำคอนเทนต์จะต้องเน้นไปที่คุณภาพ อีกทั้งการศึกษาผู้ชมในต่างประเทศพบว่าผู้ชมต้องการชมข่าว Solution หรือข่าวการแก้ปัญหา เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสื่อไทยไม่ได้นำข่าวการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนมากนัก จึงอยากให้สื่อไทยนำเสนอข่าวการแก้ปัญหาให้ชัดเจนมากขึ้น
“สื่อต้องรู้จุดแข็งของตนเอง ไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่องอีกต่อไป ควรทำเรื่องที่ชำนาญ ทำข่าวที่มีความลึกมากขึ้น เพื่อผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ” ผศ.ดร. สกุลศรีระบุ
ต้องมีกลยุทธ์
ผศ.ดร.สกุลศรี อธิบายเพิ่มเติมว่า นักข่าวจะต้องทำคอนเทนต์ 2 ด้าน ได้แก่ข่าวเชิงลึกและทำข่าวในกระแสเพื่อดึงคนดู ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่นายนภพัฒน์จักษ์กล่าวไว้ อีกทั้งสำนักข่าวจะต้องมีกลยุทธ์ในการนำเสนอ ไม่ใช่ทำทุกแพลตฟอร์ม ต้องสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดกับสำนักข่าว วิธีเหล่านี้จะทำให้มี Engagement มากขึ้น
"เราต้องสร้างแฟนข่าว ดังนั้นต้องกลับไปเข้าใจ Audience ให้ชัดเจน เข้าใจว่าเขาต้องการอะไร เข้าใจปัญหาในชีวิตของเขา แล้วเราจะได้ Design คอนเท้นต์ที่ตอบสนองความต้องการของเขาได้"
อีกทั้งการหาคุณค่าที่มากกว่าการแก้ปัญหาของคนดู จะทำให้สื่อมีความแตกต่าง นอกจากนี้การสร้างแบรนด์ขององค์กรข่าวต้องทำซ้ำ ๆ จนคนจำได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา
ทุกฝ่ายต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่สื่อ
ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวของแต่ละฝ่ายว่า เวลาที่สังคมมีเสียงสะท้อนให้สื่อปรับตัว สื่อจะปรับเพียงฝั่งเดียวไม่ได้ ผู้ชมก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ในปัจจุบันมีโครงการรู้เท่าทันสื่อเป็นจำนวนมาก แต่ว่าขอให้มีการอบรมแบบเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับลักษณะข่าวสารที่ดี มีประโยชน์ต่อประชาชน และวิธีการหาข้อมูลที่ดีเพิ่มขึ้นด้วย เพราะในปัจจุบันสื่อพยายามปรับตัวแต่ผู้ชมไม่เห็น และสื่อก็ไม่นำสิ่งดี ๆ ออกมานำเสนอตัวสื่อเองอีกด้วย ถ้าสื่อนำสิ่งดี ๆ ออกมานำเสนอให้ผู้ชมเห็นบ่อย ๆ ผู้ชมก็จะเห็นว่าสื่อเปลี่ยนแปลง และข้อน่ากังวลในปัจจุบัน คือ ผู้ชมที่มักจะไปหาข้อมูลผ่าน Influencer แต่ขณะเดียวกัน Influencer เหล่านั้นอาจจะมีความเชื่อเป็นของตนเอง จึงมักจะนำเสนอข้อมูลที่ขาดความเป็นธรรมไม่เอนเอียง ต่างจากสื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน
“ดังนั้นจึงขอฝากว่าถ้าอยากให้สื่อปรับตัวได้ สิ่งที่ท้าทายคือจะทำอย่างไรกับคนดูข่าว กับ Agency ให้เข้าใจในส่วนนี้ เพื่อช่วยกันสนับสนุนให้อุตสาหกรรมข่าวไปต่อได้”
เรียนรู้ผ่านผู้รับทุน
นางสาวพัชรพร พงศ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทัน และเฝ้าระวังสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากองทุนสื่อฯ เรียนรู้ผ่านผู้รับทุน พบว่าแพลตฟอร์มหลัก (โทรทัศน์) มีปัญหา คนที่รับทุนส่วนใหญ่ไม่สนใจการผลิตสื่อเพื่อออกโทรทัศน์ แต่จะไปนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่า พอทุกคนมุ่งไปที่ออนไลน์จะทำให้การเข้าถึงลำบาก เช่น เฟซบุ๊กที่มีการปรับ Algorithm ทำให้ยอดเข้าถึงสื่อลดลง ขณะเดียวกันเวลาที่ผู้ชมใช้ชมสื่อก็ลดลง ในปัจจุบันจึงมีโครงการพัฒนาผู้ผลิตสื่อเพื่อให้ปรับตัวทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
“อยากฝากว่าเวลาที่ทำคอนเทนต์ต้องศึกษาผู้รับสารด้วย เพราะคนแต่ละกลุ่มมีรสนิยม และการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน จากนั้นก็ปรับการนำเสนอให้เข้ากับผู้รับสารแต่ละกลุ่ม จึงจะสามารถช่วยให้สื่ออยู่รอดต่อไปได้”
นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวทิ้งท้ายโดยเชิญชวนให้สื่อมาร่วมกับสมาคมฯ เพราะจะทำให้สื่อมีอำนาจต่อรองกับรัฐมาขึ้น
“สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ปัจจุบันมี 38 ผู้ผลิตสื่อ เรายังอยากรับสมาชิกเพิ่ม เราไม่ serious ว่าคุณจะผลิตข่าวเยอะหรือไม่ สิ่งที่เรา serious คือ คุณเป็นผู้ผลิตข่าวที่รับผิดและรับชอบต่อสังคมหรือไม่ ถ้าเป็นนิติบุคคลอย่างชัดเจนก็ยินดีที่จะรับสมาชิกเพิ่ม” นายระวีกล่าวทิ้งท้าย