"...จริงๆ แล้ว ก่อนเกิดเรื่องนี้ ผมทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาก็เยอะ อาทิ คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ คดีวิกตอเรีย ซีเคร็ท ผมเป็นคนสั่งอุทธรณ์ ฎีกา ไม่มีใครพูดถึง คดีแฟลตตำรวจ คดีโรงพักตำรวจ สมัยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่ผมดำเนินคดีในส่วนแพ่งก็ได้รับชำระหนี้บางส่วนมา 260 ล้านบาท ไม่มีใครพูดถึง ตรงนี้มีหลักฐานชัดเจน ก็อยากให้ลงให้ผมในอีกด้านหนึ่งบ้าง..."
ผมอยากจะเข้ามาชี้แจงข่าวกรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา กับ "สำนักข่าวอิศรา"
จะให้ผมเข้าไปหาได้วันไหน?
คือ เสียงสนทนาของ นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ที่ติดต่อเข้ามายังกองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เพื่อขอความเป็นธรรมให้ช่วยนำเสนอข่าวกรณี นายเนตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด (อสส.) ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีถูกลงโทษทางวินัยร้ายแรงให้ออกจากราชการ ในการกลับคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ซึ่งปรากฎเป็นข่าวโด่งดังในสังคมไทย ช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา
หลังการนัดหมายสิ้นเสร็จ กำหนดการนัดพบกันที่กองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา ในช่วงบ่ายวันที่ 1 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา
นายเนตร นาคสุข ได้เดินทางมาตามนัดหมายก่อนเวลา 15 นาที พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานประกอบจำนวนหนึ่งให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา เพื่อนำไปใช้ประกอบการนำเสนอข่าว
โดยย้ำว่า "ผมเตรียมมาให้พวกคุณดู จะได้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น"
หลังกล่าวคำทักทาย นายเนตร เริ่มต้นเปิดประเด็นว่า
"ผมยืนยันว่าการสั่งคดีไอ้เจ้าบอส เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบทางกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ของผมแล้ว เป็นการทำหน้าที่โดยความสุจริต พิจารณาสั่งคดีจากพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นทั้งสิ้น มีพยานบุคคลและพยานผู้เชี่ยวชาญยืนยันสอดคล้องกันสมเหตุสมผลเชื่อถือได้ รองรับชัดแจ้งและดำเนินการตามระเบียบกฎหมายแล้ว"
"ที่สำคัญก่อนหน้าที่เรื่องจะมาถึงผม ก็ผ่านความเห็นจากอัยการ 4 คน ที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีมาแล้วด้วย"
นายเนตร กล่าวยืนยันกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ก่อนจะระบุไปถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดีนี้ ชุดที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการ ที่แต่งตั้งโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ทำเกินหน้าที่ตามคำสั่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุไว้
"ในคำสั่งนายกฯ ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า คณะกรรมการฯ ชุดของนายวิชา การใช้ดุลยพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระในการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดของนายวิชา ไม่สามารถก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของผมไม่เรื่องนี้ได้ แต่คณะกรรมการฯ ก็ยังทำ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งผมได้มีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ) ให้สอบสวนเรื่องนี้ด้วย เพราะการทำหน้าที่นี้ของนายวิชา ถือเป็นการทำหน้าที่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ"
นายเนตร กล่าวต่อว่า "ส่วนการพิจารณาเรื่องของ ก.อ. ก็น่าจะไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า การสั่งคดีของผม พิจารณาสั่งคดีจากพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นทั้งสิ้น มีพยานบุคคลและพยานผู้เชี่ยวชาญยืนยันสอดคล้องกันสมเหตุสมผลเชื่อถือได้ รองรับชัดแจ้งและดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย และในช่วงการสอบสวน ผมก็พยายามขอเข้าไปชี้แจง ต่อที่ประชุม ก.อ. แต่ก็ไม่ได้รับความยินยอม มีการนำรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ใช่สาระสำคัญแห่งคดีมาพิจารณา ทำให้ผมถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงให้ถูกออกจากราชการ ผมจึงจำเป็นที่จะต้องยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอความเป็นธรรมในครั้งนี้"
"ผมเชื่อว่าการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมกับผม น่าจะเป็นการกลั่นแกล้งกันเพื่อให้สังคมเกิดความพอใจ ในมติของ ก.อ. เพื่อให้ ก.อ.รอดพ้นจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากสังคมจากคดีนี้"
เมื่อถามว่า มติ ก.อ.ระบุว่า การสั่งคดีดังกล่าว เป็นการสั่งคดีที่ไม่รอบคอบ ฟังคำให้การพยานแค่สองปาก ไม่มีการสอบหรือถามไปยังสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพิ่มด้วย
นายเนตร ตอบว่า "ผมพิจารณาจากข้อมูลในสำนวนขณะนั้น ที่ส่งมาโดยพนักงานสอบสวน และเห็นว่ามีน้ำหนักเพียงพอ พยานที่อ้างอิงก็เป็นพยานที่น่าเชื่อถือ"
เมื่อถามว่า แต่ในการสอบสวนภายหลัง ปรากฏข้อมูลเรื่องห้องเปลี่ยนเวลา มีการทำข้อมูลแก้ไขเรื่องความเร็วรถใหม่
นายเนตร ตอบว่า "เรื่องนี้ผมไม่ทราบ ผมพิจารณารายละเอียดในสำนวนที่เสนอมาที่ผมเป็นหลักในขณะนั้น และก็เห็นว่าข้อมูลหลักฐานต่างๆ มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่า ซึ่งถ้ามันจะมีปัญหาอะไร เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่ผม"
นายเนตร ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาประเด็นเรื่องการเปลี่ยนความเร็วของรถ ว่า "ที่ผ่านมาอัยการนั้นให้มีการสอบ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานคดีบอสว่ามีการขับรถกันที่ความเร็วเท่าไหร่กันแน่ พอสั่งสอบไป ตำรวจรายนี้ บอกในปี 2559 ก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่งว่าเขาได้มีการคำนวณความเร็วใหม่เหลือแค่ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผมก็ไปดูเรื่องการการคำนวณเฟรม หารด้วยเวลา ความยาวของรถนายบอส ก็มีการถามว่าทำไมความเร็วที่ ตำรวจรายนี้ ได้ระบุไว้ทั้งสองครั้งถึงแตกต่างกันเยอะระหว่าง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเหลือแค่ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เขาบอกว่าตอนที่ไปครั้งแรกมันเร็ว มันเร่งรีบ วัดระยะไม่แน่นอน เอามาคำนวณแล้วจึงได้ 177 แต่ว่าวิธีใหม่ของเขา เขาใช้วิธีการก็คือว่ามันจะมีต้นไม้อยู่ในกล้องวงจรปิด ซึ่งรถนายบอสได้แล่นผ่าน มันก็จะบอกว่าเป็นความเร็วที่ถูกต้องตามจริงมากที่สุด ก็เลยได้ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วตามกฎหมาย และเมื่อมาสอบถามพยาน 2 คน ได้แก่ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร กับนายจารุชาติ มาดทอง ซึ่งนายจารุชาติได้เสียชีวิตในภายหลัง เขาก็บอกว่าขับมาแค่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง"
"ส่วนเรื่องที่บอกว่ามีการทำห้องไปตกลงเพื่อให้เปลี่ยนความเร็วกันนั้น ขอเรียนว่าอันนี้ไม่เกี่ยวกับผมเลย แต่หลักฐานในมือผมที่มีก็คือว่าความเร็วมันไม่ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วคนที่เสนอข้อมูลมาให้เขาก็คือเห็นตรงกัน ก็คือ นายตำรวจ คนเดิมที่ให้ความเห็นว่า 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ภายหลังให้ความเห็นใหม่ว่าเหลือ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะอะไร ก็เขาให้เหตุผลไปแล้วว่าตอนแรกมันรีบ แต่วิธีใหม่นั้นถูกต้องแล้ว ซึ่งเขาให้ความเห็นเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา"
"เรื่องความเร็วนั้นมันเป็นเรื่องที่เกิดทีหลัง ผมไม่ได้รู้เรื่องอะไรตรงนี้ด้วย มันเกิดขึ้นกันทีหลัง อีกทั้งกรณีนี้นอกจาก พ.ต.อ.ธนสิทธิ์มันก็มี ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำ และหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งคนนี้เขาเป็น ดร.จากอังกฤษ ที่มาคำนวณโดยสอบเป็นพยานในภายหลัง และเขาก็เคยไปให้การที่รัฐสภากับ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี 2557 ซึ่ง ดร.สายประสิทธิ์เขาคำนวณได้แค่นี้จริงๆ สรุปก็คือมันไม่เกินกฎหมายกำหนด"
เมื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้ไหมว่าจะมีการตกลงให้เปลี่ยนความเร็วกัน โดยที่นายเนตรไม่ทราบ ทำให้สั่งคดีไม่ฟ้อง
นายเนตร ตอบว่า "อันนี้ผมไม่รู้ ไม่ทราบจริงๆ ผมสั่งตามที่พนักงานสอบสวนได้มีการนำเสนอมา ถ้าไปเปลี่ยนมันก็ไปเปลี่ยนที่พนักงานสอบสวนเขารับผิดชอบเอง แต่เราดูหลักฐานก็ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย"
เมื่อถามว่า ในเอกสาร ก.อ.ตอนหนึ่งในหัวเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงข้าราชการอัยการระบุว่า “โดยมิได้ดำเนินการให้ได้ข้อยุติเรื่องความเร็วรถยนตร์ ของผู้ต้องหาที่ 1 (นายบอส) จากหน่วยงาน สถาบัน หรือคณะบุคคลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ตรงนี้จะมีข้อโต้แย้งไปอย่างไรบ้าง เพราะนี่อาจจะหมายถึงว่านายเนตรไปสรุปข้อมูลแค่จากความเห็นของนายตำรวจเพียงอย่างเดียว
นายเนตร ตอบว่า "คือเขาไปเขียนอันนี้ มันเป็นความเห็นของเขา ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะว่าความเห็นของผมคือพยานหลักฐาน เท่าที่ปรากฏนั้นยุติแล้ว"
เมื่อถามย้ำว่า สรุปก็คือว่าตอนนี้มันมีข้อขัดแย้งกันอยู่ เพราะว่า นายเนตรบอกว่าฟังจากตำรวจนั้นโอเคแล้ว แต่ว่าทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ ก.อ.แต่งตั้งบอกว่าต้องฟังจากหน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญด้วย
นายเนตร ตอบว่า "ผมเห็นว่าพยานหลักฐานมันชัดเจนแล้ว ไม่จำเป็นต้องฟังจากหน่วยงาน และต่อมาหลังจากนั้น หลังจากที่ผมสั่งไม่ฟ้อง แล้วก็มีการสั่งฟ้องใหม่ เขาก็ให้เอาความเห็นของนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท่านั้น ไม่ใช่เอาความเห็นของหน่วยงานหรือที่เป็นคณะบุคคลเลย เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นความเห็นบุคคลเหมือนกัน โดยนายสธนบอกว่า 199 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นายสามารถบอกว่า 126กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเอามากลับความเห็นของผมว่าเป็นสั่งฟ้องนายบอส
"และผมว่ามันก็มีความไม่เป็นธรรมกับผมอีกประการหนึ่งเพราะว่าครั้งแรกนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อดีต อสส. (1 ต.ค.2564-30 ก.ย. 2565) เคยระบุว่าการสั่งคดีของนายเนตรนั้นเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ตามสำนวนทุกประการ แต่ว่าต่อมาเขากลับบอกว่าผมผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งตรงนี้ผมมีหลักฐาน ให้ดูได้เลยว่านายสิงห์ชัยเคยเซ็นบอกว่าผมทำถูกต้อง นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานครก็บอกว่าผมทำถูกต้อง แต่ว่าไม่มีใครสนใจตรงนี้เลย ไปสนใจแค่นายวิชาคนเดียว"
เมื่อซักถามอีกว่า เอกสารของ กอ.ระบุว่ านายเนตรไม่ยอมฟังพยานของคนที่ชื่อว่านายนายมีทุยหรือหม่อง พยานอีกคนที่อยู่ในพื้นที่และเห็นเหตุการณ์ ทำไมถึงไม่เอามาใช้ประกอบการพิจารณา
นายเนตร ตอบว่า "เพราะว่าคนนี้ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ แต่เห็นหลังเหตุการณ์ไปแล้ว จึงไม่น่าเชื่อถือ"
"ผมเขียนไว้หมดแล้ว ว่าไม่ได้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ คือเห็นหลังเกิดเหตุการณ์แล้ว ซึ่งผมก็ได้เขียนรายละเอียดไป แต่เขาก็เอาเรื่องความเห็นของนายหม่องมาเล่นงานผม ผมบอกว่านายหม่องนั้นโม้ ผมเขียนละเอียดหมด แต่ไม่มีใครฟังผม"
"นายหม่องบอกลากไปไฟแล่บ สะเก็ดไปเกิดขึ้นไปตามถนน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะลากไปขนาดนั้นมันต้องเกิดรอยครูดที่ท้องถนน"
"ส่วนความเห็นของ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีต อสส.ก็เชื่อถือไมได้เช่นกัน เพราะว่า ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์เป็นรองประธานกรรมาธิการที่รัฐสภา เป็นลูกน้องของ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร เป็นคนส่งเรื่องมา ให้สั่งไม่ฟ้อง ให้พิจารณาตามหน้าที่ คือเขาสอบแล้วบอกว่าไม่ผิด แต่พอถึงเวลา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ กลับสั่งให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ทั้งที่ตัวเองเป็นคนส่งมาให้พิจารณาให้ความเป็นธรรม ถามว่าแบบนี้มันจะน่าเชื่อถือได้หรือไม่"
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีรายงานข่าวระบุว่า นายจารุชาติ พยานที่เสียชีวิตไปแล้ว มีความสนิทสนมกับอัยการระดับสูงรายหนึ่ง
นายเนตร ตอบว่า "อันนี้ผมไม่รู้เรื่องเลย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขาเลย ผมสั่งไปตามพยานหลักฐาน เรื่องเขาจะไปนั่นไปนี่ ผมไม่รู้เรื่องเลย แต่ผมยืนยันว่าดูเอกสารก่อนที่จะสั่งสำนวนวันนั้น ส่วนอื่นๆเราไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องเลย คือผมเพิ่งมาเป็นรอง อสส.เมื่อปี 2563 แล้วก็ไม่รู้ด้วยซ้ำตอนนั้นว่าจะได้ทำเรื่องนี้หรือเปล่า"
เมื่อถามว่า มีข่าวว่าหลังจากเกิดเรื่อง นายเนตร ได้เขาไปต่อว่าอัยการระดับสูงรายหนึ่งในห้องทำงาน ว่าถูกหลอกให้เซ็นคำสั่งไม่ฟ้องคดี
นายเนตร ปฏิเสธว่า "ไม่เป็นความจริงเลย ไม่มีข่าวแบบนั้น "
เมื่อถามต่อว่า ก่อนหน้าที่จะลงนามในคำสั่ง ได้มีการปรึกษาหารือกับ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ในขณะนั้นก่อนหรือไม่
นายเนตร ตอบว่า "ไม่เลย เพราะว่ามันเป็นเรื่องผ่านตามกระบวนการตามปกติ ถ้ามีการร้องขอความเป็นธรรม พอเขาร้องขอความเป็นธรรมที่สำนักงาน อสส.มันก็ส่งไปที่สำนักงานกิจการที่อยู่ตรงสนามหลวงแล้วก็ส่งมาที่ผม วันหนึ่งก็พิจารณากันตั้งเยอะแยะ"
"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนายวงศ์สกุล เพราะนายวงศ์สกุลนั้นมอบหมายในเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมมาให้กับผม ซึ่งการร้องขอความเป็นธรรมนั้นเดิมเป็นอำนาจของ อสส.สมัยนายคณิต ณ นครยังเป็น อสส.อยู่ แต่ต่อมาก็มีเรื่องที่ประชาชนและสื่อมวลชนโจมตีคือปัญหากรณีที่ สปก.4-01 พอสั่งปุ๊บมันไม่มีการเสนอไป นายคณิตก็เลยเปลี่ยนระบบว่าต่อไปนี้ให้รอง อสส.สั่งเรื่องการร้องขอความเป็นธรรม โดยการสั่งนั้นจะต้องเป็นไปรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มันก็เป็นไปตามกระบวนการปกติ"
นายเนตร ยังย้ำว่า "ขอเรียนว่าเรื่องนี้ไม่มีกรณีของนายวงศ์สกุลเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ผมเป็นผู้สั่งการตามพยานหลักฐานเป็นหลัก เป็นความรับผิดชอบของผม นายวงศ์สกุลไม่มาเกี่ยวข้องเลย ซึ่งอำนาจการสั่งคดีของผมนั้นมีทั่วราชการจังหวัดในทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการตามพยานหลักฐานมาโดยตลอด แต่ว่านายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กลับไปกล่าวหาผมว่าไปช่วยเหลือผู้ต้องหา ซึ่งกรณีนี้ไม่จริงเลย"
เมื่อถามว่า เกี่ยวกับกรณีการถูกให้ออกจากราชการ มีการอุทธรณ์เรื่องต่อ ก.อ. ไปแล้วหรือไม่
นายเนตร ตอบว่า "ก็ได้แต่ร้องขอความเป็นธรรมให้เพิกถอนมติ ก.อ. ซึ่งเขาไม่พิจารณา มันก็เลยนำมาสู่การฟ้องร้องในครั้งนี้"
"ผมขอไปชี้แจงในที่ประชุม ก.อ.เขาก็ไม่ให้ผมไปชี้แจง ทั้งๆที่ผมก็เป็น ก.อ.คนหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีคำตัดสินว่าให้ผมออกจากราชการ โดยมีเหตุที่เขาให้มีการลงโทษผม เพราะอะไร ก็เพราะว่าเขาต้องการให้สังคมพอใจ ทั้งๆที่ผมไม่ผิดอะไรเลย"
"จริงๆ แล้ว ก่อนเกิดเรื่องนี้ ผมทำงานมากว่า 40 ปี ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาก็เยอะ อาทิ คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ คดีวิกตอเรีย ซีเคร็ท ผมเป็นคนสั่งอุทธรณ์ ฎีกา ไม่มีใครพูดถึง คดีแฟลตตำรวจ คดีโรงพักตำรวจ สมัยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่ผมดำเนินคดีในส่วนแพ่งก็ได้รับชำระหนี้บางส่วนมา 260 ล้านบาท ไม่มีใครพูดถึง ตรงนี้มีหลักฐานชัดเจน ก็อยากให้ลงให้ผมในอีกด้านหนึ่งบ้าง"
เมื่อถามว่า คดีนายบอส เป็นคดีเกี่ยวกับคนใหญ่คนโต เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำรวจ สังคมให้ความสนใจมาก
นายเนตร ตอบว่า "ก็ใช่ แต่ว่าผมดูหมดเพราะว่าอะไร เพราะตำรวจผู้เสียชีวิตนั้นเป็นคนขับรถของสารวัตรป้องกันปราบปราม (สวป.) ทองหล่อ เขาก็ต้องดูแลกันอยู่แล้ว คือดูหมดตั้งแต่บันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหาย ไม่ใช่ว่าดูแค่สำนวนอย่างเดียว ตอนเขาเสียชีวิต ยังใส่เครื่องแบบอยู่เลย อันนี้ผมก็ดู ดูรายงานหมด จนถึงรายงานของ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ส่งมา
เมื่อถามว่า มีข่าวว่าก่อนหน้าที่มติ ก.อ.จะออกมา นายเนตร ได้เคยไปยื่นเรื่องลาออกจากอัยการ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
นายเนตร ตอบว่า "จริง เพราะว่ามันเบื่อ คือ โดนโจมตีเยอะ ก็เลยลาออกจะได้เงียบๆ จะได้พักผ่อนเสียที"
เมื่อถามว่า แล้วทำไมถึงไปสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช.
นายเนตร ตอบว่า "ก็เขาไล่ผมออก ผมก็ต้องสู้ ถ้าหากผมไม่ไปสมัครเป็น ป.ป.ช. เขาก็ว่าผมผิดสิ เราก็ต้องสู้ คือเลือกไปสู้โดยการไปสมัคร ป.ป.ช. เพราะผมยังเหลือเวลาอีก 3-4 ปี ก็เลยสมัครไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ได้ ไปทำงานไปทำคดีสำคัญ มันจะได้กอบกู้ศักดิ์ศรีของผมคืนมา ว่าเราไม่ได้ผิด ผมไปสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช.สมัครไป 3 ครั้ง ครั้งแรกไปสัมภาษณ์ ครั้งสองก็ไม่ได้ ครั้งสามผมก็ไม่ได้รับการสรรหา ทั้งที่ ๆ ผมตอบคำถามได้ทุกประเด็น"
เมื่อถามว่า ชีวิตวันนี้เหลืออะไรบ้างหลังจากที่โดนให้ออกจากราชการ
นายเนตร ตอบว่า "ก็ไม่เหลืออะไร ก็อยู่อย่างนี้ คือ การให้ออกของเขามันก็ยังมีเงินบำเหน็จบำนาญอยู่ แต่ว่าตอนนี้ก็ยังไม่ได้ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เราก็ต้องไปตามต่อทั้งอัยการและกรมบัญชีกลางต่อไป"
"คือวันนี้เราต้องสู้ เพราะถ้าเราอยู่เฉย ๆ ก็เท่ากับว่าเรายอมรับไปแล้วว่าเราผิด ดังนั้น จึงต้องมาชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราพร้อมกับหลักฐานในวันนี้
เมื่อถามว่า หลังจากกรณีการสั่งไม่ฟ้อง ได้เคยเจอกับฝ่ายจำเลยบ้างหรือไม่
นายเนตร ตอบว่า "ไม่เคยรู้จักเลย มันอยู่ในสำนวน ไม่เคยเจอใครเลย ซึ่งที่ผ่านมา เราก็ตัดสินการฟ้องไม่ฟ้อง ก็มีการตัดสินกันจากเอกสารอย่างเดียว หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วก็ไม่ได้มีการไปชวนหรือไปรู้จักกับใคร เราสั่งคดีไปก็ตามหลักฐาน ส่วนเรื่องการเปลี่ยนสำนวน ความเร็วอะไรนั่น อย่างที่บอกว่าเราไม่รู้เรื่องเลย ถ้าหากมีปัญหา ตำรวจที่ทำสำนวนมานั้นต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ไม่ใช่เรา ไม่เกี่ยวกับเราเลย คือเขาสอบกันมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว แต่ผมก็มาตอนปี 2563 ก็คือเขาสอบกันมาตั้งนานแล้วก่อนผมจะมาทำ ดังนั้นผมบอกเลยว่าทำงานโดยสุจริต ไมได้มีการทุจริตแต่อย่างใด"
เมื่อถามว่า ร้จักอัยการชื่อย่อ ช. หรือไม่
นายเนตร ตอบว่า "ไม่เคยรู้จักเลย เขามาทีหลังผม แล้วหลังจากเกิดเหตุเราก็ไม่ได้ติดต่ออะไรเลย มันไม่เกี่ยวกัน หลังจากเกิดเหตุ เขาก็สู้ของเขาไปก็ไม่เกี่ยวกัน"
เมื่อถามว่า หลังเรื่องนี้ เป็นข่าว ได้พูดคุยกับ นายวงศ์สกุล บ้างหรือไม่
นายเนตร ตอบว่า "นายวงศ์สกุล หลังจากเกิดเหตุ ผมก็เคยคุยกับเขาเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ก็คุยกันธรรมดา บอกว่าเราแบ่งงานกันแล้ว ก็สั่งไปตามพยานหลักฐาน นายวงศ์สกุลก็บอกว่าต้องสู้ไปเอง ซึ่งการที่ผมเซ็นสั่งไม่ฟ้อง ก็ไม่เกี่ยวกับนายวงศ์สกุลแต่อย่างใด แต่ว่าเป็นอำนาจของผมที่จะต้องเซ็นตรงสั่งการตรงนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่านายวงศ์สกุลไม่อยู่ผมก็เลยต้องเซ็นแทน"
"คือการที่ผมเซ็นสั่งไม่ฟ้องนั้นตามหลักการแล้วมันก็ต้องไปที่ ผบ.ตร.อีกทีหนึ่ง เพราะเป็นหลักการคานอำนาจ ถ้าเขามีพยานหลักฐานใหม่ก็นำมาพิจารณาใช้เพื่อสั่งฟ้องได้ แต่อย่างที่ผมเรียนไปว่าพยานหลักฐานใหม่ที่เขาใช้มาเพื่อหักล้างผมเพื่อดำเนินการสั่งฟ้องนั้นก็ไม่ใช่คณะบุคคลหรือว่าสถาบันแต่อย่างใด แต่ว่าเป็นความเห็นของนายสามารถและนายสธนเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่า ความเห็น ความไม่พอใจของสังคม ส่งผลกระทบต่อตัวเรายังไง
นายเนตร ตอบว่า "คือเดิมมีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดแรกมาบอกว่าผมบกพร่องเล็กน้อย ให้งดบำเหน็จ แต่ต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนบอกว่าผิดวินัยร้ายแรง ทำให้เสียหายกับทางราชการ ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย ถามว่าเสียหายอย่างไร เพราะมันเป็นกระบวนการยุติธรรมปกติอยู่แล้ว"
"เขา(คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ ก.อ.) ก็อ้างประชาชน อ้างการสั่งคดีไม่ถูกต้องตามสำนวน ต้องถามว่าประชาชนจะรู้อะไรในสำนวน เขา (สื่อมวลชน) ก็ลงเพียงว่าอุ้มคนรวย คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น คือประชาชนเขาแค่เกลียดนายบอส มันเป็นเรื่องความไม่พอใจ ความเห็นเท่านั้นที่ว่านายบอสมีเงิน และไม่ยอมมาขึ้นศาลเท่านั้นเอง แต่ว่ามันไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในสำนวนเลย"
เมื่อถามว่า ถ้านึกย้อนกลับไปได้ คิดว่าคิดผิดหรือไม่ที่เราตัดสินใจสั่งไม่ฟ้อง
นายเนตรตอบว่า "ไม่ได้คิดผิดเลย เพราะว่าผมดูแล้วว่าหลักฐานมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเกิดเราสั่งฟ้องก็เหมือนแกล้งเขา (นายบอส) ก็แล้วแต่เรา มันอยู่ที่เรา ก็คือว่าผมมั่นใจว่าเราใช้ดุลยพินิจถูกต้องแล้ว ผมถึงได้ไปฟ้อง กอ. ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องดูผลของศาลปกครองสูงสุดว่าจะสั่งอย่างไร จะเพิกถอนคำสั่ง กอ.ไหม ถ้าเพิกถอนก็ต้องดูว่าจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าไม่เพิกถอน ก็ต้องหยุดเพราะว่าศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วยกับมติ ก.อ."
เมื่อถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะสั่งคดีแบบเดิมหรือไม่
นายเนตร ตอบชัดเจนว่า "ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะทำแบบเดิม เพราะว่าผมรู้หมด ดูรายละเอียดหมดแล้ว"
“การที่ผมมาให้ข้อมูลข่าวครั้งนี้ ก็เพื่อขอความเป็นธรรมให้ผมบ้าง ไม่เช่นนั้น ผมก็คงจะถูกกระทืบ อ่วมอรทัย ฝ่ายเดียว ซึ่งการที่อิศรา ช่วยนำเสนอข่าวเรื่องนี้ให้ ผมก็ขอขอบคุณมากๆ "
นายเนตร กล่าวทิ้งท้าย กับ "อิศรา" เป็นทางการ