"...ทั้ง 8 ข้อนี้ล้วนสำคัญ สงสัยอยู่แต่ว่า วันนี้เรายังพูดได้อีกไหมว่า “ส.ส. เป็นปากเสียงแทนประชาชน” เพราะในโลกแห่งความจริงดูเหมือนว่า เงินซื้ออำนาจทางการเมืองได้ ทำให้นักการเมืองจำนวนมากมองผลประโยชน์ของพวกพ้อง นายทุนพรรคและพรรคการเมือง สำคัญเหนือทุกสิ่งไปแล้ว..."
“ส.ส. มีไว้ทำอะไร” เป็นสาระที่เราควรเข้าใจร่วมกัน เพื่อตรวจสอบว่า ส.ส. แต่ละคนใช้อำนาจหน้าที่ของตนอย่างมีธรรมภิบาล รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินและคนไทยเพียงใด
1. ตั้งรัฐบาล เลือกนายกรัฐมนตรีและจับมือกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
2. กำหนดอนาคตประเทศ โดยการให้ความเห็นชอบนโยบายของรัฐบาลและการออกกฎหมายใดๆ
3. กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ผ่านการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณประจำปีของรัฐบาล
4. ตรวจสอบการใช้อำนาจและงบประมาณของรัฐมนตรีและทุกหน่วยงานรัฐ
5. เป็นปากเสียงแทนประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
6. มีส่วนร่วมแต่งตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระฯ
7. ตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช.
8. ใช้อิทธิพลจากตำแหน่ง/หน้าที่ (เป็นอำนาจ บารมีและคอนเนคชันนอกหน้าที่ตามกฎหมาย เกิดจากความเกรงกลัวหรือเกรงใจหรือสายสัมพันธ์ ถูกใช้ไปในทางที่ดีก็มี เช่น แก้ปัญหาที่ติดขัดจากขั้นตอนของราชการให้เร็วขึ้น ทางที่เลวร้ายก็มาก เช่น เอื้อประโยชน์พวกพ้องและการรีดไถ)
ทั้ง 8 ข้อนี้ล้วนสำคัญ สงสัยอยู่แต่ว่า วันนี้เรายังพูดได้อีกไหมว่า “ส.ส. เป็นปากเสียงแทนประชาชน” เพราะในโลกแห่งความจริงดูเหมือนว่า เงินซื้ออำนาจทางการเมืองได้ ทำให้นักการเมืองจำนวนมากมองผลประโยชน์ของพวกพ้อง นายทุนพรรคและพรรคการเมือง สำคัญเหนือทุกสิ่งไปแล้ว
การเลือกตั้ง 2566 ใกล้เข้ามา คำหวานที่ว่า “รักประชาชน” เริ่มหนาหู บ่งบอกว่าอำนาจกลับมาอยู่ในมือคนไทยอีกแล้ว แต่ครั้งนี้ คนไทยจำเป็นต้องบอกพรรคการเมืองและนักเลือกตั้งทั้งหลายว่า เราอยากได้ อยากเห็นอะไรเปลี่ยนแปลง เพื่อเมืองไทยจะได้สูงขึ้น เจริญขึ้นก้าวทันโลก
ขอเชิญชวนทุกท่านมาช่วยกันคิด ช่วยกันส่งเสียงให้ดังก่อนถึงวันเลือกตั้งครับ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ