"...คนไทยที่ตื่นตัวและพร้อมจับมือกันสู้กับคอร์รัปชันมีอยู่อีกมาก แต่ละคนไม่ได้คาดหวังตำแหน่งเงินเดือนอะไร ขอเพียงผู้มีอำนาจยอมรับฟังความคิดเห็น เปิดโอกาสและให้เกียรติประชาชนด้วยใจจริง..."
บันทึกการรวมตัวของประชาชนเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เกิดการรวมตัวของภาคประชาชนเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันบ่อยครั้ง ที่สร้างผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับทั่วไปคือ เครือข่ายต่อต้านการทุจริตยา (พ.ศ. 2542) และการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย (พ.ศ. 2557) ขณะที่เครือข่ายอื่นๆ สามารถบรรลุเป้าหมายมากบ้างน้อยบ้าง มีอายุการดำเนินงานสั้นยาวต่างกันไปตามเป้าหมายการรวมตัว มีหลายเครือข่ายต้องเจอแรงกดดันและอุปสรรคบั่นทอนจนต้องยุติบทบาทไป เช่น ถูกคุกคามจากผู้เสียผลประโยชน์หรือถูกโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทางการเมือง ขาดแคลนบุคลากรและเงินทุน
เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยที่ตื่นตัวและพร้อมจับมือกันสู้กับคอร์รัปชันมีอยู่อีกมาก แต่ละคนไม่ได้คาดหวังตำแหน่งเงินเดือนอะไร ขอเพียงผู้มีอำนาจยอมรับฟังความคิดเห็น เปิดโอกาสและให้เกียรติประชาชนด้วยใจจริง
เพื่อบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ ผู้เขียนจึงรวบรวมรายชื่อเครือข่ายประชาชนและภาคเอกชนที่รวมตัวกันต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ดังนี้
จากอดีตถึงปัจจุบัน
เครือข่าย 30 องค์กรทางด้านสาธารณสุขที่ต่อสู้กับการทุจริตยา (2542), เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน - คปต. (2544), กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน (2545), มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (2546), เครือข่าย 84 องค์กรภาคีต่อต้านทุจริต (2547), มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด (2549), ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง (thaiswatch.com), เครือข่าย ป.ป.ช. ภาคประชาชน (2552)
เครือข่ายสมัชชาคุณธรรม (2554), องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (2554), ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (2553), เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป (2555), สมาคมภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาล
ปัจจุบันมีเครือข่ายภาคประชาชนที่ดำเนินการและมีผลงานต่อเนื่อง ดังนี้
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (นายวิเชียร พงศธร ประธาน)
- มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (รศ.ดร. จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการ)
- มูลนิธิต่อต้านการทุจริต (ศ. วิชา มหาคุณ ประธาน)
- มูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พล.อ.อ. วีรวิท คงศักดิ์ ประธาน)
- มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ประธาน)
- แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC สถาบัน IOD)
- กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (CG – Fund)
- กองทุนสื่อเพื่อความเป็นธรรมในสังคม (นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน)
- เครือข่ายวิชาการ เช่น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม. หอการค้าไทย, สถาบัน ทีดีอาร์ไอ, สยามแล็บ (เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ), สถาบันประเทศไทยต่อต้านการทุจริต ม. รังสิต, โดยมีหน่วยงานที่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนทุนวิจัย เช่น วช. และ สกสว.
- เครือข่ายภาคประชาชนที่รวมตัวกันเข้มแข็งในต่างจังหวัด เช่น โคราช ขอนแก่น ชลบุรี เป็นต้น
- เครือข่ายอื่นๆ เช่น มูลนิธิเพื่อคนไทย, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, หมาเฝ้าบ้าน, แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม, สุจริตไทย, ต้องแฉ, คะน้าเล่าเรื่อง, Change Fusion, Open Dream, เครือข่ายแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม (ประเทศไทย), ชมรมรู้ทันกันโกง, บุญมีแล็บ, Learn Education, เครือข่าย Corrupt Zero, เครือข่าย Strong จิตพอเพียง, ชมรมเครือข่ายสื่อสืบสวนสอบสวน, สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชัน, เป็นต้น
- สื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญกับข่าวคอร์รัปชัน อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมานาน เช่น สถาบันอิศรา รายการคอลัมน์หมายเลข 7 ทางทีวีช่อง 7 ฯลฯ
- มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรการต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่, คณะนิติศาสตร์ ม. แม่ฟ้าหลวง, และอีกกว่าร้อยมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ตามแนวทาง ป.ป.ช.
จาก 12 แผนปฏิรูปประเทศ มีเพียงเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันเท่านั้น ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องสร้าง ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ แต่รัฐก็สอบไม่ผ่าน สาเหตุหลักคือ 1. ขาดความจริงจังในการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส 2. ขาดเทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลของรัฐที่กระจัดกระจายตามหน่วยงาน และต้องเป็นเทคโนโลยีที่ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ และ 3. ขาดมาตรการปกป้องประชาชนที่เปิดโปง แสดงความเห็นต่อพฤติกรรมที่ฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐ
รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ได้วางหลักการเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไว้มากถึง 22 มาตรา แต่นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ นิยมที่จะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของพวกตน จึงตีความหรืออ้างข้อจำกัดและกฎระเบียบที่พวกเขาต่างเขียนกันขึ้นมาเอง เพื่อปิดกั้นการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชน
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)