คณะแพทย์ รพ.รามาฯ เผยไทยพบผู้ป่วย 'ปอดอักเสบรุนแรง EVALI' มีประวัติใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตทุกวันประมาณ 6 เดือน เจอไขมันในปอดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโรคอื่น ห่วงแนวโน้มพุ่ง เหตุเข้าถึงง่าย-คนเข้าใจผิดว่าปลอดภัย
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว เรื่อง 'ไทยพบป่วยปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) อีก!! จากบุหรี่ไฟฟ้า หวั่นคนไม่รู้อันตราย' โดยมุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่ได้มีการวิจัยและค้นคว้าหาข้อมูลในด้านอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมวงกว้าง
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวัยรุ่นมีความเข้าใจผิดร้ายแรงว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยคิดว่าควัน ไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงละอองน้ำ ไอน้ำมีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม อ้างว่าสูบชนิดที่ไม่มีนิโคติน ซึ่งในความเป็นจริง ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เห็นมีฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM 2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว
สำหรับที่มาของโลหะหนักอาจจะมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา ขณะที่สารปรุงแต่งกลิ่นรสที่มีนับพันชนิดที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหยที่บางท่านอาจจะเคยได้ทราบกันว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพคือทำให้มีภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน และโรคอื่นได้ ที่สำคัญมากอีกประเด็นคือ บุคคลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะพัฒนาต่อไปเป็นสูบบุหรี่ธรรมดาด้วย
ศ.นพ.วินัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลเมื่อปี 2562 แพทยสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากไม่ปลอดภัย มีผลกระทบต่อการเกิดโรคปอดซึ่งเป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยในตอนนั้นมีผู้ป่วยรายงานปอดอักเสบที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือ E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury (EVALI) สูงถึง 450 ราย ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวนมาก และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 7 รายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน (รายงานเดือนสิงหาคมถึงเดือน ก.ย. 2562)
จากนั้นศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC, Center of disease control and Prevention) ได้มีการประกาศและเฝ้าระวังโรค มีรายงานโรคจากทั่วประเทศ 50 รัฐ รวมถึงเขตโคลัมเบีย และเขตปกครองของสหรัฐอเมริกา 2 แห่งคือเปอร์โตริโกและหมู่เกาะเวอร์จิน ยอดผู้ป่วยจนถึงวันที่ 18 ก.พ. 2564 พบผู้ป่วย EVALI ที่ต้องนอนโรงพยาบาลทั้งสิ้น 2,807 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 68 ราย
หลังจากผู้คนมีความตระหนัก ก็มีการควบคุมการใช้ มีการนำสารเคมีบางชนิดออกจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีรายงานจำนวนผู้ป่วย EVALI ในสหรัฐอเมริกาน้อยลง
"ก่อนหน้านี้จะพบผู้ป่วย EVALI แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน ซึ่งอาการของโรคเรียกได้ว่าเป็นภาวะกึ่งเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นกับปอดโดยมีสาเหตุจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอันตรายนั้นเกิดจากความเข้มข้น การเผาไหม้ และปริมาณที่สูดเข้าไปในร่างกายโดยตรง ส่วนโรคมะเร็งนั้นเป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะพบ แต่บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งจะมีมาได้ไม่นาน ตอนนี้เชื่อว่าแนวโน้มพบผู้ป่วยได้เรื่อย ๆ แต่อยากให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กประถมและมัธยม ที่ความเข้าใจผิดร้ายแรงว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย อยากย้ำอีกครั้งว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่ปลอดภัย " ศ.นพ.วินัย กล่าว
ศ.นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า ระยะหลังพบการแพร่หลายของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสังคม วัยเยาวชน วัยผู้ใหญ่ วัยทำงาน มีมากขึ้น ในประเทศไทยเคยมีการรายงานพบผู้ป่วย EVALI ประปราย แต่อาจจะไม่ได้ส่งตรวจยืนยันวินิจฉัยทุกราย จึงอยากตอกย้ำถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้คนอาจไม่ทราบ มองข้ามหรือละเลยไป
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์
ทางด้าน พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทบุหรี่มักจะโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าปราศจากสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น tar และ carbon monoxide ต่างจากบุหรี่มวน แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสาร Nicotine, สารปรุงแต่งกลิ่น, Propylene glycol, vegetable glycerin และสารที่มีอยู่ในกัญชา เช่น Δ-9-tetrahydrocannabinol (THC), cannabidiol (CBD), butane hash oil (BHO) การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด/หลอดลมอักเสบ มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด มีโลหะหนักปนเปื้อน และโรคปอด EVALI
ทั้งนี้ มักจะมีคนพูดว่า เกิดมะเร็งได้น้อยกว่า แต่ที่จริงแล้วโรคมะเร็งนั้นเกิดช้าใช้เวลาหลาย 10 ปี ทำให้ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มวนแม้จะเลิกสูบไปแล้ว ก็สามารถพบโรคมะเร็งได้ อีกทั้งการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้อัตราการสูบบุหรี่มวนลดลง
“ปกติการหายใจทั่วไป สูบบุหรี่ธรรมดา ก็จะไม่เจออนุภาคไขมันในปอดแล้วมีเม็ดเลือดขาวมากินไขมัน จะเจอในกลุ่มอมน้ำมันพ่นไฟ ที่สำลักน้ำมันเข้าปอด ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีการใส่สารต่างๆ ที่โดนความร้อนแล้วระเหยเป็นอนุภาคไขมัน เช่น propylene glycol , vegetabla glycerin สารปรุงแต่งกลิ่น สารสกักน้ำมันกัญชา เช่น vitamin E acetate เป็นต้น แต่จากข้อมูลไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่สารน้ำมันกัญชาก็พบ EVALI เช่นกัน” พญ.นภารัตน์กล่าว
จากรายงานที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร New England Journal of Medicine เรื่อง Pulmonary illness related to e-cigarette use in Illinois and Wisconsin preliminary report ซึ่งรายงานกรณีศึกษาผู้ป่วยจำนวน 53 คนในช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2019 พบว่าผู้ป่วยส่วนมากอายุเฉลี่ยเพียง 19 ปี และมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสาร THC ประกอบประมาณ 80% แต่มี 20% ที่ไม่ได้ใช้ THC ก็สามารถเกิด EVALI ได้
โดย 95% ของผู้ป่วยมีอาการ ไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่พบว่า 77% ของผู้ป่วยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีภาพ x-ray และ CT scan ปอดที่ผิดปกติ และถ้าเอาน้ำล้างปอดไปตรวจจะพบ น้ำล้างปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวกินอนุภาคไขมัน โดยตรวจไม่พบหลักฐานการติดเชื้อ
พญ.นภารัตน์ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิด EVALI ว่า ในตอนแรก สมมติฐานว่าเกิดจากสาร propylene glycol, vegetable glycerin (glycerol), สารปรุงแต่งกลิ่น สารสกัดจากน้ำมันกัญชาหลายชนิด เช่น vitamin E acetate และมีสารอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งสารเหล่านี้หลายชนิดไม่มีในบุหรี่มวน โดยสาร vegeteble glycerine เป็นสารที่มีรสหวาน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สกัดจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เมื่อโดนความร้อนจากอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะระเหยเป็นไอน้ำ และถูกสูบเข้าปอด
ส่วนการวินิจฉัยเพื่อระบุว่าเป็นผู้ป่วยยืนยัน EVALI คือ มีประวัติการใช้บุหรี่ไฟฟ้า 90 วัน ก่อนเกิดอาการ มีอาการหอบเหนื่อย ไข้ แม้ช่วงนั้นอาจไม่ได้ใช้ ตรวจทางรังสี เอกซเรย์พบฝ้าขาวทั้งสองข้าง ไม่พบการติดเชื้อ ไม่มีภาวะหัวใจวาย มะเร็ง ที่ทำให้พบอาการคล้ายกัน และน้ำล้างปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวกินไขมัน
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ปีค.ศ. 2020 พบว่ามี vitamin E acetate ในน้ำล้างปอดของผู้ป่วย EVALI ถึง 94% ซึ่ง vitamin E acetate ถูกใส่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าหลาย ๆ ยี่ห้อตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มพบการระบาดของ EVALI ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าการสูดสาร vitamin E acetate ที่โดนความร้อนจนระเหย ทำให้เกิดการบาดเจ็บของปอดและทำให้การทำงานของปอดผิดปกติไป
ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในยอดผู้ป่วยที่รายงาน 2,807 รายจนถึงก.พ. 2564 นั้น มีอายุเฉลี่ยเพียง 24 ปี (13-85 ปี) ผู้ป่วยที่ปอดอักเสบเฉียบพลันจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 2,022 ราย 14% สูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉพาะที่มีสารนิโคติน 33% สูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉพาะที่มีสารกัญชา 53% สูบบุหรี่ไฟฟ้าหลายประเภท ดังนั้น จึงอาจไม่ใช่วิตามินอะซีเตตในสารกัญชาเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง
นอกจากนี้ รายงานสำรวจของ WHO ในวัยรุ่นไทย พบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 6-7% เป็น 10% ใน 5 ปี อีกทั้งเด็กประถมเข้าถึงซื้อได้ แบบพอร์ตที่ใช้แล้วทิ้ง แล้วอ้างผู้ปกครองว่า ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า เพราะไม่มีการชาร์จไฟ
ส่วนกรณีได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองนั้น อ.พญ.นภารัตน์ กล่าวว่า ผู้ที่ได้สูดดมควันบุหรี่ไฟฟ้า จะได้รับฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM 2.5 รวมถึงนิโคติน หากอยู่ในพื้นที่ปิดอาจส่งผลต่อความดันและชีพจรของผู้ที่ได้สูดดมควัน การทดลองในหนูทดลองที่รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองดมทุกวัน มีปอดอักเสบ ใน 1 เดือนเกิดถุงลมโป่งพองได้ มีมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
นอกจากนั้น สิ่งที่น่ากังวลคือ พบเด็กประถมซื้อบุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตมาใช้ เพราะพอตมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย แล้วบอกผู้ใหญ่ว่าไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากไม่ได้ชาร์จไฟ สามารถใช้แล้วทิ้งได้เลย
พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ
ขณะที่ นพ.ธนัญชัย เพชรนาค อาจารย์สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีผู้ป่วย EVALI ว่า ผู้ป่วยอายุระหว่าง 20-30 ปี เดิมมีโรคประจำตัวเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งรักษาและควบคุมอาการได้ดี เดิมไม่มีอาการผิดปกติ แข็งแรง สามารถทำงาน ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติเหมือนคนทั่วไป ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการ เหนื่อย ไอ และมีไข้ โดยเริ่มมีอาการไอ และรู้สึกเหนื่อยง่ายมาประมาณ 1 เดือน อาการเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ ไอมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น ออกแรงได้ลดลง ทำงานได้ลดลง ต้องนั่งพักบ่อยขึ้น
โดย 3 วันก่อนที่จะมาโรงพยาบาลผู้ป่วยเริ่มเหนื่อยมากขึ้น มีอาการเหนื่อยถึงแม้จะไม่ได้ออกแรง ยังมีไข้และไอ มีอาการเหนื่อยมากจึงมาตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แรกรับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ป่วยมีไข้ และหายใจเร็วมาก มีปัญหาเรื่องออกซิเจนในเลือดต่ำมาก ต้องได้รับการรักษาเบื้องต้นด้วยออกซิเจนชนิด high flow nasal canula เอกซเรย์ปอดพบว่าผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง
นพ.ธนัญชัย กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต เนื่องจากภาวะปอดอักเสบรุนแรงสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ปอดอักเสบจากยาบางชนิด ปอดอักเสบจากการฉายแสง รวมถึงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ ทางทีมแพทย์จึงรีบทำการตรวจหาสาเหตุของปอดอักเสบด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด และซักประวัติเพิ่มเติม ในตอนแรกผู้ป่วยให้การปฏิเสธการสัมผัสสารเคมี การสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า
ต่อมาทางทีมแพทย์พบว่าผู้ป่วยเคยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน พบลักษณะความผิดปกติของปอดที่พบในผู้ป่วยสูบบุหรี่ (respiratory bronchiolitis interstitial lung disease) จึงกลับไปซักประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ใหม่ ผู้ป่วยจึงให้ประวัติว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตแบบใช้แล้วทิ้งมาประมาณ 6 เดือน โดยใช้ทุกวัน ซื้อทางกรุ๊ปไลน์ ใช้ประมาณ 2 หลอดต่อสัปดาห์ ไม่ได้สูบบุหรี่ปกติ ไม่ได้ใช้กัญชา หรือสารเสพติดชนิดอื่นร่วมด้วย
ทางทีมแพทย์จึงสงสัยภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า EVALI จึงได้ทำการส่องกล้องหลอดลมผู้ป่วยและตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยภาวะ EVALI โดยพบว่าผลตรวจทางพยาธิวิทยา และผลตรวจทางเซลล์วิทยาเข้าได้กับภาวะ EVALI ที่เคยมีการรายงานในวารสารทางการแพทย์ต่าง ๆ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยอาการดีขึ้นตามลำดับ และสามารถกลับบ้านได้ ตอนนี้อาการผู้ป่วยกลับสู่ปกติ โดยผู้ป่วยกล่าวว่าจะไม่กลับไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีก และได้ชักชวนเพื่อนที่รู้จักกันที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และพอตเลิกใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย
"ระยะเวลาของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเกิด EVALI จะใช้เวลา 3 เดือนขึ้นไป คนไข้แต่ละคนจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ความรุนแรงของโรคจะเกิดได้หลายรูปแบบ แต่ยิ่งเกิดเร็วอาการจะรุนแรง หากเกิดภายใน 1-2 สัปดาห์อาการจะรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยที่อาการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นคือ การสูบสิ่งแปลกปลอมเข้าไปที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบโดยตรง เพราะมีสารมากมายผสมเข้าไป เช่นเดียวกับที่คนเคยนิยมสูบบารากุ มีรายงานของปอดอักเสบรุนแรงเช่นกัน" นพ.ธนัญชัย กล่าว
นพ.ธนัญชัย เพชรนาค อาจารย์สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ