วงเสวนาชี้ความรุนแรงในสังคมไทยฝังรากลึก ด้านโครงสร้าง-วัฒนธรรม สื่อมีเอี่ยว เหตุส่งต่อความเกลียดชัง ทวีความรุนแรงขึ้น ย้ำแก้ได้ แต่ต้องใช้เวลา
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดวงเสวนา 'ศึกศักดิ์ vs ศรี ถึงกรณีล็อกคอ ฤาความรุนแรงคือคำตอบสำหรับความขัดแย้งทางการเมืองไทย' โดยมีนักวิชาการ ภาคประชาชนและภาคการเมืองเข้าร่วม
ในการเสวนาผู้เข้าร่วมการเสวนาล้วนมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมฝังรากลึก อีกทั้งสื่อตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันยังคงผลิตซ้ำและถ่ายทอดความเกลียดชัง
การใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างทางการเมืองมีตั้งแต่สมัย ‘นาซี’
น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ตนไม่แปลกใจกับการปรากฎตัวของเค ร้อยล้านในงานสัปดาห์หนังสือ เพราะทางนั้นได้มีการขมขู่ว่าจะมาก่อความวุ่นวายในงานนี้ ซึ่งตนก็ประมาทด้วยที่คิดว่างานสัปดาห์หนังสือที่เป็นงานใหญ่มีผู้ร่วมงานที่มีลักษณะเป็นครอบครัวอยู่ในงาน จะไม่มีคนก่อความวุ่นวาย ต่างจากการปราศัยหาเสียง ตอนแรกธนาธรบอกว่าเรื่องเล็ก แต่ต่อมาถึงตระหนักได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าอีกฝ่ายมีมีดธนาธรก็ตายได้เลยนะ และน่าจะมีคนตายอีกหลายคน เพราะช่วงที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมาก โดยเค ร้อยล้านเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง แล้วแสดงออกเป็นรูปธรรม แต่เค ร้อยล้าน ไม่ใช่คนแรกที่ตนเจอ
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า รูปแบบของการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีความเห็นต่างทางเมืองสามารถมองย้อนกลับไปได้ถึงสมัยของนาซี เหตุการณ์ตุลา 19 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์มีการใช้รูปแบบที่ทำให้คนที่เห็นต่างจากตนเองไม่มีความเป็นมนุษย์ เป็นปีศาจร้าย เป็นคนที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่า
มี ‘ชื่อเล่น’ เพื่อด้อยค่าและนำไปสู่การปฏิบัติที่เหยียดหยามความเป็นมนุษย์
"การเรียกช่อว่าอีช่อเป็นส่วนหนึ่ง มันจะมีนิคเนม การเริ่มต้นความรุนแรงจะเริ่มจากความคิดและการใช้ภาษา ก็จะมีการตั้งนิคเนม อย่างช่อก็จะเป็นอีช่อ อีคางทูม การใช้ bodyshaming ไอ้ธร ไอ้ตี๋ ปิยบูด การตั้งชื่อแบบนี้ฟังดูเหมือนจะตลก แต่ว่ามันได้มีการผลิตซ้ำไปเรื่อย ๆ คนที่ใช้แล้วเชื่อก็จะเริ่มรู้สึกว่ามนุษย์คนนี้มีค่าต่ำกว่าคนอื่น ๆ เป็นคนที่ถูกเรียกอย่างตลกขบขันหรือถูกเรียกอย่างด้อยค่า อันนี้มันจะเป็น pattern ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในสมอง" น.ส.พรรณิการ์ ระบุ
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีชื่อเล่นที่ด้อยค่าแล้วก็จะนำไปสู่การพยายามทำให้เห็นว่าการทำสิ่งที่รุนแรงกับคนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุการณ์การหาเสียงช่วงเลือกตั้ง อบจ.ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2564 ที่มีการใช้ความรุนแรงกับตนและคณะก้าวหน้ารุนแรงมากขึ้น
น.ส.พรรณิการ์ อธิบายว่า ช่วงที่มีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ลานพญานาค มธ. ซึ่งเป็นม็อบที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นจุดเปลี่ยนมุมมองของคนที่เห็นต่างทางการเมือง เมื่อก่อนคนเหล่านั้นอาจจะมองว่าคณะก้าวหน้าเป็นมนุษย์อันตราย เมื่อผ่านม็อบ 10 สิงหาไป เขามองคณะก้าวหน้าว่าเป็นปีศาจไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม-เดือนธันวาคม ระยะเวลากว่า 4 เดือน ทำให้ความเกลียดชังสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพ
โดยตนจำได้ว่าเหตุการณ์แรกก็คือเหตุการณ์การปิดล้อมโรงแรมที่นครศรีธรรมราช เหตุการณ์ที่ชาวนครฯ ปิดล้อมโรงแรมที่ธนาธรไปพักขณะลงพื้นที่ทำกิจกรรม โดยเป็นการปิดล้อมที่มีความคล้ายกับการปิดล้อมคูหาเลือกตั้งโดยกกปส. ซึ่งเหตุการณ์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งมาตรฐานการปฏิบัติต่อคนที่เห็นต่างทางการเมือง ว่าคนพวกนี้เป็นปีศาจจะทำอย่างไรก็ได้กับคนเหล่านี้
จากนั้น น.ส.พรรณิการ์ กล่าวถึงเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงทางวาจาที่พัฒนาเป็นการขว้างปาสิ่งของในขณะลงพื้นที่หาเสียงในภาคใต้ที่ตนและคณะก้าวหน้าประสบมา ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากการจัดตั้งมาตรฐานการปฏิบัติต่อคนที่เห็นต่างกลายเป็นการกระทำโดยธรรมชาติ
สื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยถ่ายทอดความเกลียดชัง
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า สื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยถ่ายทอดความรุนแรงและความเกลียดชังที่เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ตนไปหาเสียงแล้วถูกเปิดเพลงหนักแผ่นดินใส่ คลิปเหตุการณ์นั้นกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ มีคนแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นการผลิตซ้ำภาพจำของความรุนแรงที่สามารถกระทำต่อคนที่ทีความเห็นต่างทางการเมืองได้
"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างทางการเมือง ถูกทำให้ขึ้นอย่างจงใจโดยผู้สูญเสียอำงนาจหรือผู้กลัวจะสูญเสียอำนาจ ส่วนใหญ่เขาเป็นผู้ที่มีอำนาจในมือ เป็น establishments เป็นผู้ที่กุมอำนาจอยู่ เขามีศักยภาพในการจัดตั้งระบบที่ทำให้เกิดความด้อยคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเรา ผ่านสื่อมวลชน ผ่านการผลิตซ้ำ" น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สาเหตุที่ตนไม่ค่อยพูดถึงเหตุการณ์ที่ตนถูกปฏิบัติอย่างด้อยคุณค่าความเป็นมนุษย์กับสื่อมวลชน เพราะตนคิดว่าไม่ควรผลิตซ้ำมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองอย่างด้อยคุณค่าความเป็นมนุษย์ ตนไม่ต้องการให้คนที่เกลียดผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองเข้าใจว่าการกระทำเช่นนี้สามารถทำได้
"ความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา ทางออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจากฝั่งไหน สุดท้ายแล้วขัดขวางการรณรงค์ทางการเมือง เพราะเมื่อไหร่เกิดความรุนแรงขึ้น คนไม่พร้อมที่จะฟัง การทำงานการเมืองคุณต้องการให้คนฟัง เชื่อ และเปลี่ยนใจคุณถึงจะชนะทางการเมือง เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความรุนแรง ในท่ามกลางสมรภูมิมันอื้ออึงเกินกว่าที่เราจะเปลี่ยนใจใครได้" พรรณิการ์กล่าว
นอกจากความรุนแรงทางกายและวาจายังมีความรุนแรงทางโครงสร้าง
น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวต่อว่านอกจากความรุนแรงทางกาย วาจาที่พรรณิการ์กล่าวมาแล้ว ยังมีความรุนแรงทางโครงสร้าง เช่น การใช้ความรุนแรงด้วยกฎหมาย โดยปนัสยายกตัวอย่างจากกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นการใช้ความรุนแรงเชิงกฎหมาย หรือการออกพรก.ฉุกเฉินโดยรัฐบาลที่จำกัดการชุมชนุมของนักศึกษาและประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เป็นต้น
น.ส.ปนัสยา กล่าวถึงบุคคลที่แสดงความเห็นต่างทางการเมืองแล้วถูกรัฐดำเนินคดีมีจำนวนหลายร้อยคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถมองอย่างผิวเผินได้ เนื่องจากการที่รัฐใช้กฎหมายปราบปรามคนเหล่านั้นคือการเสริมความรุนแรงในตัวกฎหมายเพื่อจัดการผู้เห็นต่าง เช่น การคุกคาม การติดกำไลอีเอ็ม การจำกัดพื้นที่ เป็นต้น
สันติวิธีคือทางออกที่ดีที่สุด
น.ส.ปนัสยา ยังกล่าวถึงการใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า สันติวิธีไม่ใช่เรื่องโลกสวย กลับกันตนคิดว่านี่เป็นวิธีที่อยู่ในโลกตามความเป็นจริง เป็นวิธีที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันการใช้สันติวิธีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นวิธีที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะมากในการเคลื่อนไหว เช่น การใช้อารมณ์ขันที่ใช้การวาดรูปล้อเลียนเผด็จการ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนที่ติดโบว์สีขาว การเล่นดนตรีของวงสามัญชน เป็นต้น
“สันติวิธีคือสิ่งที่เราเลือกใช้ที่จะสู้กับเผด็จการในตอนนี้ เราคิดว่าเราเห็นประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยมามากพอแล้ว เราจะไม่อยากทำให้ภาพเดิมมันกลับมา ทำให้ภาพความรุนแรงที่เราไม่ปรารถนาจะกลับมา คือเราพยายามสร้างสังคมใหม่ เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ปรารถนาและมีความหวังอย่างเป็นที่สุดว่า ในอนาคตทุกคนจะได้อยุ่ในสังคมที่ปลอดภัย สังคมที่เป็นมิตรกัน สังคมที่ความเห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่ต้องมีความรุนแรงด้วยก็ได้”
“สันติวิธีไม่ได้การันตีว่าเราจะไม่ถูกใช้ความรุนแรง แต่ในฐานะที่เลือกใช้วิธีนี้ไปแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือการอดกลั้นให้ได้ ไม่ใช่ว่าเราตอบโต้ไม่ได้ซะทีเดียว แต่ว่าเราต้องอดกลั้นให้กับการกระทำที่เขาทำกลับมา และเราต้องพยายามที่จะไม่ให้ตัวเราหรือเพื่อน ๆ เราใช้ความรุนแรงในระดับที่มากกว่าที่เขากระทำมา หรือความรุนแรงในระดับที่เราไม่อาจจะรับได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง” น.ส.ปนัสยา ระบุ
น.ส.ปนัสยา อธิบายต่อว่า สันติวิธีไม่ใช่การยืนนิ่ง ๆ ให้คนมาตี สันติวิธีสามารถโต้กลับได้แต่ต้องมีเป้าหมายในการโต้กลับที่ชัดเจนว่าไม่ได้โต้กลับเพื่อทำร้าย แต่โต้กลับเพื่อป้องกันตนเอง ว่าเราไม่ใช่คนที่จะยอมให้เขามาทำร้ายเราได้ เราโต้กลับเพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันผิดและเรามีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเอง
“สันติวิธีเป็นความหวังที่น่าจะมีโอกาสมากที่สุดแล้วสำหรับพวกเราในตอนนี้” น.ส.ปนัสยา กล่าวทิ้งท้าย
ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก
ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า กรณีของลุงศักดิ์กับศรีสุวรรณ ตนรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการกระทำของลุงศักดิ์และไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ศรีสุวรรณทำ แต่คนส่วนมากกลับรู้สึกว่าศรีสุวรรณสมควรโดนแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ากลไกของรัฐไร้ประสิทธิภาพ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ระยะยาวจะพัฒนากลายเป็นการที่ประชาชนทุกคนต้องมีอาวุธไว้ป้องกันตัว เพราะการกระทำเช่นนี้ของลุกศักดิ์หรือเคร้อยล้านสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน คนจึงหวาดกลัวและหาวิธีป้องกัน เพราะกลไกของรัฐไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถคุมครองและมอบความปลอดภัยให้กับประชาชน
ผศ.ดร.บุญเลิศ ยังกล่าวถึงการต่อสู้แบบสันติวิธีว่าเป็นวิธีที่ดี แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีคนส่วนหนึ่งเริ่มหันเหออกจากการใช้สันติวิธีและไปใช้ความรุนแรงเป็นทางออก
“ผมถามนิดเดียว คำถามที่มักจะถามกลับมาสู่ขบวนการที่เลือกใช้สันติวิธี ว่าใช้สันติเมื่อไหร่จะชนะสักที ถามกลับ แล้วคุณใช้ความรุนแรงคุณจะชนะเหรอครับ ผมว่าคำถามนี้ต้องถามกลับมาก ๆ ว่าคุณใช้ความรุนแรงแล้วจะชนะหรือ คุณมีอาวุธมากพอที่จะตั้งกองทัพแล้วยึดอำนาจหรือ มันทำไม่ได้” ผศ.ดร.บุญเลิศ ระบุ
ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าหากการใช้ความรุนแรงสามารถทำให้ชนะได้ แต่จะทำให้สังคมที่ผ่านการใช้ความรุนแรงกดปราบเป็นสังคมที่ไร้สันติ สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือการอดทน และใช้วิธีการสร้างสรรค์ต่อสู้
“ถ้าเราเชื่อมั่นในแนวทางนี้ (สันติวิธี) และแนวทางอื่นยิ่งไม่มีความหวังมากกว่าที่จะชนะ แต่ว่าแนวทางนี้ต้องการความอดทนและความ create” ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวทิ้งท้าย
เป็นการใช้ความรุนแรงทั้งสองกรณี
น.ส.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่าตนคิดว่ากรณีของลุงศักดิ์ที่ต่อยศรีสุวรรณ และกรณีเค ร้อยล้านล็อคคอธนาธรเป็นความรุนแรงทั้งสองกรณี การบอกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นความรุนแรงไม่ต้องดูที่เจตนา ความรุนแรงไม่ขึ้นอยู่กับความชอบธรรมหรือกฎหมาย เช่น กรณีเหตุการณ์ตากใบที่เป็นการใช้รุนแรงโดยกฎหมายโดยรัฐ ซึ่งคนที่กระทำการเหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย ทำให้หลายคนมองว่าความรุนแรงจากรัฐไม่ใช่เรื่องที่ผิด
นอกจากนี้ น.ส.ชญานิษฐ์ยังกล่าวถึงลักษณะของความรุนแรงที่มองไม่เห็นว่า มี 2 ประเภท ได้แก่
1.ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือ ‘อะไรก็ตาม’ ที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์กับสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่จริง โดยเฉพาะ ‘อะไรก็ตาม’ นั้นไม่ใช่บุคคลแต่เป็นระบบโครงสร้าง เธอยกตัวอย่างจากกรณีของษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่โพสต์ถึงกรณีที่ตนถูกศรีสุวรรณฟ้องร้องจนถูกถอนทุนการศึกษา สูญเสียโอกาสทางการศึกษา
2.ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม คือ แง่มุมของวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ประเพณี ค่านิยม ที่สนับสนุนความรุนแรงหรือสนับสนุนความรุนแรงเชิงโครงสร้าง โดยเธอยกตัวอย่างของเค ร้อยล้าน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของความรุนแรงในด้านนี้ ที่เค ร้อยล้านดำเนินการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกับตนแล้วมีคนสนับสนุน
สื่อยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดความเกลียดชัง
โดย น.ส.ชญานิษฐ์ ยังแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่พรรณิการ์กล่าวถึงการสร้างภาพของคนเห็นต่างทางการเมืองโดยสื่อว่าคนเหล่านี้เป็นปีศาจว่า ตนเห็นด้วยกับสิ่งที่พรรณิการ์พูด โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่มีการนำศพของผู้เสียชีวิตที่เป็นนักศึกษาไปทรมาน เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มเชื่อในสิ่งที่สื่อที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่นักศึกษาเรียกร้องนำเสนอ
“เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นผลมาจากสิ่งที่เรียกว่าวิทยุยานเกราะ ข้อสังเกตก็คือตอนนี้ที่เรามีสื่อที่บางครั้งก็นำเสนอเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง บางทีไม่ให้ฟังบทสัมภาษณ์โดยตรง แต่ว่าผู้สื่อข่าวหรือคนเล่าข่าวเฟรมเรื่องให้ผู้ฟังเสร็จเรียบร้อย ทำไมคุณถึงจะแปลกใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณธนาธรจะเกิดขึ้นกับคนอื่นที่ถูกป้ายสีให้น่าเกลียดน่ากลัวเป็นปีศาจเช่นเดียวกันไม่ได้”
“หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนทำอะไรอยู่ ทำไมถึงเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อการนำเสนอเฟคนิวส์ครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความเกลียดชังทางการเมืองสารพัด เราผ่านเหตุการณื 6 ตุลามา คุณไม่ทราบจริง ๆ หรือว่าเรากำลังเดินเข้าไปสู่หลุมพรางแบบไหน” น.ส.ชญานิษฐ์ กล่าว
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างคือตัวเลือกที่ดีที่สุด
การหยุดความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางวัฒนธรรมจะต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ถึงแม้ว่าการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างจะไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมได้แต่ก็สามารถลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ การที่เราให้โอกาสให้กับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างย่อมใช้เวลานาน แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่สามารถใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้
“ถ้าจุดหมายปลายทางของเรา คือการมีสังคมการเมืองที่เปิดกว้าง พร้อมรับฟังกันและกันอย่างมีอารยะ คำถามก็คือเราจะเดินไปถึงจุดนั้นด้วยวิถีทางที่ไม่เปิดกว้าง ไม่พร้อมรับฟังกันและกัน แต่พร้อมจะสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อคนที่คิดเห็นแตกต่างจากเราได้อย่างไร” น.ส.ชญานิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
ความรุนแรงเชิงโครงสร้างถูกคนไทยมองข้าม
น.ส.งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับชญานิษฐ์ในประเด็นเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมในสังคมไทย ตนมองว่าความรุนแรงทั้งสองประเภทข้างต้นทับถมอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
“ความรุนแรงทางวัฒนธรรมในสังคมไทยมันอยู่แน่น อยู่ลึก เรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐหรือว่าของประชาชนด้วยกันเอง แล้วมันไปทำงานในชั้นของโครงสร้าง มันออกมาในเชิงนโยบาย แล้วมันส่งผลกับความรุนแรงทางกายภาพ นั่นคือสิ่งที่มันเกิดขึ้น เราคิดว่าอันนี้ที่บางครั้งเราไม่เข้าใจว่าความรุนแรงมันมีหน้าตาเป็นอย่างไร”
“ลองไปอ่านของคุณศรีสุวรรณดู คุณศรีสุวรรณบอกว่าผมไม่นิยมความรุนแรง แม้ว่าเขาจะสามารถจัดการใช้ความรุนแรงได้แต่เขาไม่ใช้ แต่ผมเลือกใช้กฎหมาย เท่ากับว่าคุณศรีสุวรรณหรือประชาชนทั่วไปจำนวนมาก แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ตามไม่เคยเห็นว่ากฎหมายในประเทศนี้มันผิดปกติ กระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยว อันนี้แหละที่สังคมไทยควรมาดูว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่มันไม่เห็นเลือดเนื้อ แต่ว่ามันทำลายชีวิตผู้คนได้ เราอยากให้ทำความเข้าใจตรงนี้ใหม่” น.ส.งามศุกร์กล่าว
ทบทวนว่า ‘เรา’ กลับมาคุยกันได้
น.ส.งามศุกร์ ยังกล่าวอีกว่าตนเห็นด้วยกับการต่อสู้แบบสันติของปนัสยาและกล่าวยกตัวอย่างเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจัดการกับคนที่เห็นต่างกับรัฐ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความเลือดเย็นที่เกิดขึ้น และเธอกล่าวต่อไปว่า เมื่อมองย้อนกลับไปก่อนปี 2540 ที่มีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง แต่ในปัจจุบันประชาชนกลับแบ่งแยกแบ่งขั้ว จะมีวิธีอะไรบ้างที่ทำให้เรากลับมาคุยกันได้
“คิดว่าอยากให้เราลองกลับมาทบทวนการฟื้นคืนควาสัมพันธ์ของพวกเราในสังคมที่ถูกแบ่งแยกแบ่งขั้วจากรัฐ มันกลับมาได้หรือไม่เพื่อที่เราจะสร้างอนาคตใหม่ไปด้วยกัน เราอาจจะจินตนาการไม่ออกเลย เพราะว่าอยู่กับความรุนแรงมานาน แล้วก็อยู่กับการแบ่งขั้ว จนเราลืมไปแล้วว่าเราสามารถสนทนากันได้” น.ส.งามศุกร์ กล่าว