"...ในโลกแห่งความจริง เมื่อมีการใช้จ่ายงบประมาณและมีการจัดซื้อจัดจ้างฯ เพิ่มขึ้นมาก บวกกับการผ่อนปรนกฎระเบียบในช่วงโควิด เราควรเจอการคอร์รัปชันมากขึ้นทั้งในปีที่ผ่านมาและปีต่อๆ ไป เรื่องนี้อาจต้องรออ่านรายงานที่ ป.ป.ช. ให้ทุนนักวิจัยจาก มอ. วิเคราะห์ความเสี่ยงการใช้งบเร่งด่วนเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ประกอบกับคดีและเรื่องร้องเรียนที่จะปรากฏในวันข้างหน้า..."
ตื่นเต้นมากเมื่อพบข้อมูลที่ทำให้เข้าใจว่าคอร์รัปชันกำลังลดน้อยลง แต่ดีใจได้แค่สองวันเท่านั้น เพราะหลังจากส่งข้อมูลชุดนี้ให้หลายท่านที่ผมเคารพได้พิจารณา ความเห็นที่กลับมาไม่ใช่อย่างที่คิดแถมยังมีการบ้านให้ต้องทบทวนและค้นคว้ามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและความเห็นเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองแน่นอน ผมจึงแชร์มาให้ทุกท่านได้ทราบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
คดีลดลง – ผลงานการตรวจสอบและเอาผิดดีขึ้น
ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้การลดลงของคอร์รัปชันได้อย่างไรบ้าง
1. จำนวนเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. โดยรวมลดลงต่อเนื่อง (1 - 3)
2. ป.ป.ช. ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างชัดเจนในการไต่สวน ชี้มูลความผิดคดี (4) ทำให้มีการเอาผิดลงโทษคนโกงมากขึ้นต่อไปด้วย สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นในการยึดทรัพย์คดีร่ำรวยผิดปรกติ และการทำงานเชิงรุกหลายแนวทาง
3. มีคดีคอร์รัปชันขึ้นศาลน้อยลง (5 - 6) ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องร้องเรียนลดลงต่อเนื่อง (แต่ทำไมตัวเลขนี้จึงขัดแย้งกับจำนวนคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดมากขึ้น?)
ข้อมูลยัง “น้อยไป - ไม่น่าเชื่อ”
ผู้รู้หลายท่านให้ข้อคิดเห็นตรงกันว่า ปัจจุบัน “มีการพัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ลำพังข้อมูลเชิงปริมาณหรือตัวเลขเหล่านี้ ยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินว่าคอร์รัปชันของไทยกำลังลดลงจริงหรือไม่” จำเป็นต้องศึกษาเนื้อแท้หรือข้อมูลเชิงคุณภาพให้มากกว่านี้ เป็นต้นว่า
1. ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดมากขึ้นถือเป็นเรื่องดี น่าชื่นชม แต่ควรเทียบอัตราคดีที่ศาลรับฟ้องด้วยว่า “สำเร็จ” แค่ไหน เพราะอาจเป็นคดีเก่าค้างสต็อกมานาน แล้วมาเร่งทำให้เสร็จในช่วงนี้ ส่งผลให้พยานหลักฐานแน่นหนาน้อยลง จนโอกาสชนะคดียากขึ้น
2. ศาลตัดสินคดีลดลง อาจเพราะทำงานน้อยลงจากการล็อกดาวน์ จึงต้องพิจารณาปริมาณคดีสะสมด้วย แต่ยังมั่นใจได้ว่า ศาลมีขีดความสามารถในการรับคดีอีกมาก หากแต่คดียังคงกระจุกคอขวดที่ ป.ป.ช. และอัยการ
3. จำนวนตัวเลขที่ลดลง ควรวิเคราะห์ให้ละเอียดว่า เป็นเพราะเรื่องน้อยลงจริงหรือหน่วยงานเปลี่ยนวิธีการทำสถิติ และควรนำความรุนแรงหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมาเปรียบเทียบด้วย
4. เรื่องร้องเรียนลดลง อาจเป็นเพราะในช่วงโควิดผู้คนสนใจปัญหาสุขภาพและปากท้องมากกว่าเรื่องคอร์รัปชัน กลไกตรวจสอบภาครัฐทำงานมีข้อจำกัดมากขึ้น การตรวจพบย่อมลดน้อยลงด้วย
5. มีประเด็นที่ควรจับตา คือ รายงานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ป.ป.ช. ครั้งที่ 4-2565 ระบุว่าปี 2563 - 64 เป็นสองปีที่ไม่มีคดีเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชี้มูลความผิดได้เลย
6. โดยรวมทุกหน่วยงานที่กล่าวถึง ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังต้องพัฒนาบุคลากร ระบบและเครื่องมือให้เท่าทันกลโกงที่ปรับตัวตลอดเวลา มีการประกาศใช้หรือออกแบบชุดมาตรการและเครื่องมือในการป้องกันและปราบปราบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ย่ำอยู่กับที่ ให้สมกับงบประมาณและบุคลากรจำนวนมากที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
บทสรุป
ในโลกแห่งความจริง เมื่อมีการใช้จ่ายงบประมาณและมีการจัดซื้อจัดจ้างฯ เพิ่มขึ้นมาก บวกกับการผ่อนปรนกฎระเบียบในช่วงโควิด เราควรเจอการคอร์รัปชันมากขึ้นทั้งในปีที่ผ่านมาและปีต่อๆ ไป เรื่องนี้อาจต้องรออ่านรายงานที่ ป.ป.ช. ให้ทุนนักวิจัยจาก มอ. วิเคราะห์ความเสี่ยงการใช้งบเร่งด่วนเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ประกอบกับคดีและเรื่องร้องเรียนที่จะปรากฏในวันข้างหน้า
วันนี้ประเทศของเรามีการพัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันที่ดีขึ้นแล้วระดับหนึ่ง ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับ ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐและคนไทยทุกคนที่เป็นความหวังในการกอบกู้บ้านเมืองจากวิกฤตคอร์รัปชันครับ
ดร. มานะ นิมิตมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)