ยังมีข้อครหาและข้อกังขาว่าได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิผู้เสียหาย ซึ่งในกรณีนี้ก็คือญาติของเด็กๆและก็ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์มากน้อยแค่ไหน จากการรายงานข่าว อันนี้คือจุดที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการชี้แจงที่ชัดเจนจากสำนักข่าว CNN เพราะคิดว่าไม่เฉพาะสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย หรือสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทยที่สงสัยในประเด็นนี้ เท่าที่ทราบจากฟีดแบคของสิ่งที่ CNN ชี้แจงมา ใครที่เข้าไปติดตาม ก็ตั้งคำถามกลับไปมากมายว่าสิ่งทีเกิดขึ้น CNN มีคำอธิบายที่ชัดเจนในเชิงปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
หมายเหตุ: สืบเนื่องจากข้อครหากรณีที่ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำข่าวเกี่ยวกับการที่เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บ โดยปรากฎภาพในทั้งในช่องสื่อของ CNN และในสื่ออื่นๆว่านักข่าว CNN ได้รุกล้ำเข้าไปในบริเวณเขตหวงห้ามของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อทำการบันทึกภาพข่าวและเผยแพร่ออกอากาศ ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเป็นจุดเกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่ได้กั้นพื้นที่และห้ามสื่อมวลชนอื่นๆเข้าไปด้านใน หรือที่เรียกว่า crime scene
โดยในเวลาต่อมาสำนักข่าว CNN ก็ได้ลบคลิปวิดีโอดังกล่าวออกไปพร้อมกับมีแถลงการณ์เบื้องต้นว่ามีการเข้าใจผิดเกิดขึ้น และยืนยันว่าเพราะเข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นได้รับอนุญาตไปแล้ว
ล่าสุดนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเหตุการณ์นี้นั้น มันคือสิ่งที่สำนักข่าว CNN ต้องตอบคำถามให้ชัดเจนอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายไทย ในการที่จะเข้าไปในเหตุหวงห้ามหรือการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่ทำให้เกิดการยุ่งเหยิงต่อพยาน หลักฐาน ในที่เกิดเหตุหรือไม่ ซึ่งทางต้นสังกัดเข้าได้มีการชี้แจงว่าได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและก็อ้างว่าไปพร้อมกับสื่ออื่นๆ แต่ว่าเท่าที่ทราบมาในขณะนี้ก็ไม่เห็นว่ามีสื่ออื่นได้มีการรายงานข่าวในที่เกิดเหตุเหมือนอย่าง CNN ดังนั้นเป็นจุดที่่ CNN อาจต้องไปชี้แจงกับทางตำรวจ ตรงนี้ทางสมาคมสื่อไม่ได้มองว่ามันเป็นประเด็นที่ใหญ่สำหรับวงการสื่อมวลชน
ประเด็นที่ใหญ่กว่าก็คือกรณีการนำเสนอที่ยังมีข้อครหาและข้อกังขาว่าได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิผู้เสียหาย ซึ่งในกรณีนี้ก็คือญาติของเด็กๆและก็ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์มากน้อยแค่ไหน จากการรายงานข่าว อันนี้คือจุดที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการชี้แจงที่ชัดเจนจากสำนักข่าว CNN เพราะคิดว่าไม่เฉพาะสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย หรือสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทยที่สงสัยในประเด็นนี้ เท่าที่ทราบจากฟีดแบคของสิ่งที่ CNN ชี้แจงมา ใครที่เข้าไปติดตาม ก็ตั้งคำถามกลับไปมากมายว่าสิ่งทีเกิดขึ้น CNN มีคำอธิบายที่ชัดเจนในเชิงปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
เพราะถ้าหากว่าความชัดเจนมันไม่เกิดขึ้น ในอนาคต ถ้า CNN จะนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ของใครต่อใครทั่วโลก มันจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อความเป็นสำนักข่าวของตัว CNN เอง
เมื่อถามว่าเหตุผลของการชี้แจงต่างๆ อาทิ เช่นในเรื่องของภาษา ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเข้าใจผิด มันเป็นสิ่งที่ควรถูกนำมาอ้างถึงหรือไม่ นายมงคลกล่าวว่าเรื่องนี้มันเป็นหลักจริยธรรมสากล ในกรณีของการปฏิบัติหน้าที่ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมาย คิดว่าถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป คิดว่าต่อให้อ้างว่าไม่รู้กฎหมาย ถ้ามันผิดกฎหมายก็คือผิดกฎหมาย แต่ว่าผู้สื่อข่าวที่พร้อมจะไปปฏิบัติหน้าที่นอกประเทศของตัวเอง มันก็ต้องเตรียมการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับอะไรที่ไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายในจุดที่ตัวเองไปทำงานอยู่ ก็คือต้องทำการบ้าน เรียนรู้ความถูกผิดในเชิงของกฎหมายด้วย
เมื่อถามว่าหลังจากนี้คิดว่าถ้ามีแถลงการณ์อะไรออกมาอีก จะทำให้ประเด็นข้อครหาลดลงหรือไม่ นายมงคลกล่าวว่าสิ่งที่รอความชัดเจนก็คือคำอธิบายเกี่ยวกับการรายงานข่าวในเชิงจริยธรรม อย่างที่ย้ำไว้ก็คือว่า CNN ได้มีกระบวนการกลั่นกรองก่อนไปปฏิบัติหน้าที่ และก็มีกระบวนการกลั่นกรองหลังจากที่มีการรายงานข่าวมากน้อยแค่ไหน ข้อผิดพลาด ถ้ามีขึ้น มันเกิดขึ้นในระดับไหน ในระดับที่ผู้สื่อข่าวในพื้นที่สามารถเผยแพร่ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกองบรรณาธิการหรืออย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ CNN จะต้องอธิบายมาตรฐานการทำงานของตัวเองให้โลกได้รับทราบ
เมื่อถามต่อว่าเรื่องแบบนี้ จำเป็นจะต้องตั้งกติกา เป็นลายลักษณ์อักษรเลยหรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันปัญหา นายมงคลกล่าวว่าก็เห็นว่าเวลามีปัญหากระทบกับเสรีภาพต่างๆ สื่อโดยเฉพาะสื่อต่างชาติเขาก็จะรู้ดี เขามักจะอ้างว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎเหล่านี้อยู่แล้ว
อนึ่ง สำหรับนักข่าว CNN ที่ตกเป็นข้อครหาดังกล่าวนี้ มีการรายงานไปแล้วว่าคือนางแอนนา โคเรน สัญชาติออสเตรเลีย โดยในเว็บไซด์ CNN ระบุตอนหนึ่งว่านางโคเรน เป็นผู้สื่อข่าวประจำอยู่ที่สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ CNN ประจำฮ่องกง จบปริญญาตรีสาขาการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ สจ๊วต ในประเทศออสเตรเลีย เป็นนักข่าวมาแล้วกว่า 20 ปี เป็นผู้รายงานข่าวเหตุการณ์สำคัญ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น ข่าวการต่อสู้เพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายไอเอสในอิรัก เหตุการณ์วิกฤตยูเครน สถานการณ์พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดถล่มฟิลิปปินส์ ข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของผู้นำสูงสุดคิม จอง อิล ของเกาหลีเหนือ ข่าวแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิในญี่ปุ่น ข่าววิกฤตินิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ รวมทั้งข่าวน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย เมื่อปี 2554
และนางโคเรนยังเคยไปรายงานข่าวที่อัฟกานิสถานหลายรอบ และล่าสุดเมื่อปี 2564 นอกจากนี้ยังเคยทำข่าวเหตุการประท้วงในฮ่องกง ในปี 2562 และ 2563 ทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวสำหรับรายการสด ซีเอ็นเอ็น นิวส์รูม จากสตูดิโอในฮ่องกง และเป็นผู้ดำเนินรายการ ทอร์ก เอเชีย สัมภาษณ์ผู้นำโลก นักกีฬา นักธุรกิจชั้นนำ และผู้ทรงอิทธิพลต่าง ๆ ของโลก
รางวัลที่นางโคเรนเคยได้รับ เช่นปี 2563 เป็นหนึ่งในทีมข่าว CNN ที่ชนะรางวัลข่าวด่วน จากสมาคมรอยัลเทเลวิชันโซไซตี ในการติดตามทำข่าวประท้วงที่ฮ่องกงในปี 2562 และรางวัลอื่น ๆ
โดยล่าสุดมีรายงานว่าทั้งนางโคเรน และนายแดน ผู้เป็นตากล้องได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าพร้อมที่จะขอโทษคนไทยและจะกลับประเทศออสเตรเลียทันทีเพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่าย
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางสำนักข่าว CNN ได้มีการออกแถลงการณ์ระบุแค่ว่าตอนไปทำข่าว ไม่มีเทปของตำรวจปิดกั้นอยู่ แต่พอหลังจากทำข่าวได้ 15 นาที ทีมข่าวจึงออกมา แต่ประตูทางเข้าได้ถูกปิด และมีการใช้เทปตำรวจปิดล้อมแล้ว
“ทีมข่าวเข้าไปในอาคารด้วยเจตนาดี เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน และฉายภาพความเป็นมนุษย์แก่ผู้ชมถึงโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น”แถลงการณ์ระบุ