"...เป้าหมาย การก่อรูปความตระหนักของสังคมในทุกภาคส่วนในครั้งนี้ คือ มติสมัชชาสุขภาพที่มีส่วนร่วมในเชิงสัญญะ ไม่เพียงมติที่เป็นลายลักษณ์อักษร สาระของมติที่ตอบโจทย์ปัญหานี้เป็นเรื่องไม่เกินพลังคิดของเครือข่ายภาคีจำนวนมากที่เป็นสมาชิกสมัชชา แต่ความตื่นตัวต่อปัญหาที่จะลงมือสร้างพันธะสัญญาร่วมถือเป็นความสำคัญยิ่ง..."
วิกฤตการทำร้ายหมู่ ที่หนองบัวลำภู มีลักษณะรุนแรง นอกจากเรียกร้องความต้องการทั้งการแก้ไขและป้องกันอย่างเร่งด่วนแล้ว ยังต้องการรูปธรรมทางออกรับมือวิกฤตในอนาคตต่อไป
วิกฤตดังกล่าวจึงต้องการ ความร่วมมือร่วมมือเชิงรุกอย่างกว้างขวาง มีกลไกสังคมติดตาม เฝ้าระวัง อย่างต่อเนื่อง ป้องกันการเกิดซ้ำ หรือ หากเกิดแล้วภาคส่วนต่างๆ จะระวังผลข้างเคียงอย่างไร อะไรที่ต้องไม่ทำ และ อะไรที่ต้องไม่ทำซ้ำ
นอกเหนือจากการป้องกันแก้ไข การเกิดการทำร้ายหมู่ที่มีความยากเนื่องจากความซับซ้อนของปัญหาแล้ว การเกิดเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ มีผลติดตามมา ในส่วนที่สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์มากคือการสื่อสารเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปอย่างกว้างขวาง และ เป็นโอกาสที่จะได้นำไปปรับปรุง
การที่สถาบันสื่อมวลชน ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ถือว่า สังคมยังให้ความสำคัญและยอมรับ แต่มีการเรียกร้องให้ปรับปรุงเพื่ออภิวัฒน์สถาบัน
มีการกล่าวว่า ในวิกฤติ มีโอกาส การนำวิกฤตมาสร้างเป็นโอกาสในกรณีนี้เป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยความรุนแรงของเหตุการณ์ที่ส่งผลระดับสากล
เหตุการณ์นี้เป็นที่กล่าวถึงในระดับนานาชาติ ดังผู้นำหลายประเทศแสดงความเห็นสาธารณะเนื่องด้วยวิกฤตนี้อาจเคลื่อนตัวในระดับสากลที่ไร้พรมแดน เพราะโลกาภิวัฒน์การสื่อสารในปัจจุบัน
การที่มีการนำเสนอวิธีการแก้ไขจำนวนมากในเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องดี ถือเป็นการตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆที่มีความตระหนัก แต่ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง ความตื่นตัวอาจจางหายไป หากไม่มีเจ้าภาพใดในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างกลไกรองรับ
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพในมิติสุขภาวะองค์รวม ไม่เพียงการแพทย์ ยา หรือโรคเท่านั้น แต่ครอบคลุม ทั้งกาย จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
ในเดือนธันวาคม จะมี การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกปี จึงเป็นโอกาส ที่จะนำประเด็นการเกิดวิกฤตการทำร้ายหมู่ และ การสื่อสารที่เหมาะสมในวิกฤตดังกล่าว ถือเป็น วาระเร่งด่วนเฉพาะต่อวิกฤตรุนแรง ที่สังคมตื่นตัวและมีความตระหนัก เป็นการตอบสนองปัญหาแบบไม่ยึดแบบแผนขั้นตอนปกติ แต่คำนึงความรุนแรงของปัญหาและการนำพาสังคมแก้วิกฤต อย่างกระตือรือร้นและเร่งด่วน
การสร้างให้เกิดความตระหนักในเรื่องนี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมนี้ถือเป็นการสร้างโอกาส ด้วยวิกฤตดังกล่าวเป็นปัจจัยนำเข้าและภาวะแวดล้อมเกื้อหนุนให้เกิดการเห็นความสำคัญปัญหาจากภาคีสมาชิกจำนวนมาก
เป้าหมาย การก่อรูปความตระหนักของสังคมในทุกภาคส่วนในครั้งนี้ คือ มติสมัชชาสุขภาพที่มีส่วนร่วมในเชิงสัญญะ ไม่เพียงมติที่เป็นลายลักษณ์อักษร สาระของมติที่ตอบโจทย์ปัญหานี้เป็นเรื่องไม่เกินพลังคิดของเครือข่ายภาคีจำนวนมากที่เป็นสมาชิกสมัชชา แต่ความตื่นตัวต่อปัญหาที่จะลงมือสร้างพันธะสัญญาร่วมถือเป็นความสำคัญยิ่ง
สิ่งที่อาจเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เป็นรูปธรรม คือ ธรรมนูญ(สุขภาพ) การสื่อสารของสื่อสารมวลชนในวิกฤตการทำร้ายหมู่ ที่น่าจะเกิดมีขึ้น แต่จำเป็นต้องให้เกิดการเห็นพ้องของสถาบันการสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทและได้รับการยอมรับในปัจจุบัน
กลไกสมัชชาสุขภาพ และ การสร้างธรรมนูญ(สุขภาพ) การสื่อสารของสื่อสารมวลชนในวิกฤตการทำร้ายหมู่ อาจเป็นเพียง หัวหมู่ทะลวงฟันกลไกหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องผูกขาดการเป็นเจ้าของปัญหา เนื่องด้วยอาจมีวิธีดีๆอื่นได้
ในความเป็นจริงเมื่อสังคมมีความตื่นตัวสูง ภาคีต่างๆก็จะตระหนักและพร้อมเข้าร่วมสร้างสรรค์รูปแบบนวัตกรรมสังคมแก้ปัญหา สถาบันการสื่อสารมวลชนเป็นองค์กรนำที่สำคัญยิ่งด้วยจะเป็นกลไกเชิงปฏิบัติในประเด็นการสื่อสารเมื่อเกิดเหตุ ต่อ
ยอดจากที่ได้มีแถลงการณ์ออกไปแล้ว
ขอถือโอกาสนี้ สื่อสารถึงสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หารือ สถาบันการสื่อสารมวลชนเพื่อพัฒนานวัตกรรมสังคมเชิงนโยบายและปฏิบัติการในการยกระดับการแก้วิกฤตอุบัติใหม่ เช่นในกรณีนี้และกรณีอื่น ให้สังคมไทยมีภูมิและพลังรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ
เขียนโดย วิทยา กุลสมบูรณ์
เขียนเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565