“...การพยายามให้รายละเอียดของบุพการีหรือบุคคลใกล้ชิดของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รวมถึงการพยายามสัมภาษณ์บุพการีหรือผู้ปกครองของเด็กหรือบุคคลใกล้ชิดของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) ประกอบกับมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยผู้เสียหายย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า หลังจากเหตุการณ์กราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 36 ราย ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กเล็ก และจากเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมา สื่อมวลชนมักจะถูกตั้งคำถามถึงการนำเสนอข่าวในลักษณะเผยแพร่ความรุนแรงบ่อยครั้ง โดยครั้งนี้หน่วยงาน 3 หน่วย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้ออกแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชน มีใจความสำคัญ ดังนี้
@กสทช.: ระวังการให้สัมภาษณ์ผู้สูญเสีย
ผศ.ดร. ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ ปฏิบัติการแทน เลขาธิการ กสทช. มีหนังสือถึง องค์กรวิชาชีพด้านกิจการโทรทัศน์ ความว่า ตามที่ปรากฏเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายราย โดยมีการเผยแพร่ภาพของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต บุพการีหรือผู้ปกครองของเด็ก หรือบุคคลใกล้ชิดของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต
การพยายามให้รายละเอียดของบุพการีหรือบุคคลใกล้ชิดของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รวมถึงการพยายามสัมภาษณ์บุพการีหรือผู้ปกครองของเด็กหรือบุคคลใกล้ชิดของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) ประกอบกับมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยผู้เสียหายย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ในการที่จะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหรือแสดงความคิดเห็นหรือตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือไม่ก็ได้ ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาข่าวในลักษณะดังกล่าวรวมถึงการพยายามสัมภาษณ์ผู้เสียหายนั้น อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของผู้เสียหาย อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง อันอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ
ทั้งนี้ หากการนำเสนอข่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อาจมีความผิดตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และผู้เสียหายอาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวดังกล่าวได้ นั้น
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จึงขอความร่วมมือจากท่านในฐานะองค์กรวิชาชีพที่ดูแลและเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน โปรดดำเนินการตรวจสอบและกำชับเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหารายการของสื่อมวลชนตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ ตลอดจนให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป
@กสม.: รัฐ-สื่อ ต้องช่วยบรรเทา เยียวยาเหตุการณ์
ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กรณีเหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ความว่า ตามที่ปรากฏเหตุอดีตตำรวจนายหนึ่งก่อเหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ก่อนปลิดชีพตนเองพร้อมลูกและภรรยา เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้
(6 ตุลาคม 2565) เป็นเหตุให้มีเด็ก และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จำนวนหลายสิบรายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอประณามการก่อเหตุอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังกล่าว และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุอุกอาจสะเทือนขวัญที่กระทำด้วยความโหดร้ายทารุณ
ไร้มนุษยธรรม และผิดต่อกฎหมาย อันพรากสิทธิในชีวิตและร่างกายของหลายคนไปอย่างไม่ควรเกิดขึ้น
โดยเฉพาะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคมซึ่งสมควรต้องได้รับการปกป้องยิ่ง ดังที่หลักการสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของทุกคนไว้ เช่นเดียวกับอนุสัญญาว่าด้วย
สิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีซึ่งกำหนดให้รัฐภาคียอมรับว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิต และประกันอย่างเต็มที่ให้เด็กได้มีชีวิตอยู่รอดและได้รับการพัฒนา
กสม. จึงขอเรียกร้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ ปฏิบัติและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุสลดครั้งนี้ร่วมกัน ดังต่อไปนี้
1. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาความเสียหาย และฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็วและทั่วถึง
2. ขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสวนมูลเหตุที่มาของการก่อเหตุ และวางมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดอันกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางเช่นนี้ได้อีก
3. ขอความร่วมมือสื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอข่าว เผยแพร่ หรือส่งต่อภาพ/คลิปวิดีโอความโหดร้ายและรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมความรุนแรงหรือความเศร้าสลดอันส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของญาติผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ และทำให้บุคคลทั่วไปสามารถล่วงรู้ถึงตัวตนของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้เสียหายหรือครอบครัวของผู้กระทำผิดที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 รวมทั้งแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ที่ร่วมกันกำหนดโดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชน
@สมาคมสื่อ: แนวทางนำเสนอข่าว
ปิดท้ายด้วยท่าทีของสมาคมสื่อ ประกอบด้วย 3 องค์กรคือ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ออกแถลงการณ์ เรื่อง การนำเสนอข่าวคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงนักเรียน ครู และประชาชน ความว่า
ตามที่สื่อมวลชนหลายแขนง นำเสนอข่าวกรณีเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงนักเรียนและครูภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู รวมทั้งระหว่างทาง
ได้ก่อเหตุขับรถชน และทำร้ายประชาชนในสถานที่ต่างๆ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 36 คน บาดเจ็บ 12 คน เมื่อบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2565 นั้น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม มีความห่วงใยต่อการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้การนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนเป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวดังกล่าว จึงขอความร่วมมือมายังสื่อมวลชน ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก ดังต่อไปนี้
1. พึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ที่มีลักษณะอุจาดและสร้างความรู้สึกสยดสยอง
2. พึงระมัดระวังการตั้งคำถาม และนำเสนอภาพ ในลักษณะซ้ำเติมความทุกข์โศกของญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงการกดดันซ้ำเติม หรือเป็นการดูถูกเหยียดหยามผู้ก่อเหตุแม้จะเสียชีวิตแล้วก็ตาม
3. พึงระมัดระวัง การนำเสนอข่าว ในลักษณะขุดคุ้ยเรื่องราวทั้งผู้เสียชีวิต และผู้ก่อเหตุ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ ต่อครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องในระยะยาว
4. พึงระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลของคนร้าย รายละเอียดของการกระทำ ประวัติในอดีต หรือสิ่งที่คนร้ายเคยแสดงออก เช่น โพสต์ระบาย หรือจดหมายก่อนลงมือก่อเหตุ
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนใช้วิจารณญาณในการแก้ไขข้อมูล การเผยแพร่ภาพ และเนื้อหาข่าว ที่ยังคงสามารถสืบค้นย้อนหลังในระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมครอบครัวผู้สูญเสียที่ตกเป็นข่าว อีกทั้งยังอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามกฎหมายอีกด้วย