"...ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัท สไตเออร์ มีความผิดในฐานะผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ถูกลงโทษไปแล้วในการกระทำความผิด และสั่งให้ปรับเป็นเงินไทยประมาณเกือบสองแสนเจ็ดหมื่นบาท เป็นอันสิ้นสุดคดีที่ใช้เวลาดำเนินการมากว่า 10 ปี แต่สำหรับตัวผู้เขียนซึ่งมีส่วนในการไต่สวนและพิจารณาคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ยังมีข้อสงสัยหรือคำถามอีก 2-3 ข้อที่ยัง 'คาใจ' อยู่ จึงจะขอถือโอกาสนี้นำคำถามเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อความเข้าใจที่ครบถ้วนของผู้อ่านของสำนักข่าวอิศรา..."
ในที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีประกาศเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมาแจ้งให้ทราบถึงคำพิพากษาจำเลยคนสุดท้ายในคดีรถเรือดับเพลิงที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถและเรือดับเพลิงจากต่างประเทศเมื่อปี 2551 และศาลฯ ได้ตัดสินจำเลย 5 จาก 6 คนที่ถูกฟ้องไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2556 โดยผู้ที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดที่ได้รับโทษไปแล้วมี 2 คน เป็น รมช.มหาดไทยหนึ่งคน และผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ กทม.อีกหนึ่งคน ซึ่งคนทั้งสองได้หลบหนีไปก่อนแล้ว
จำเลยคนสุดท้ายนี้ ที่จริงไม่ใช่บุคคล แต่เป็นบริษัทต่างชาติมีชื่อเรียกย่อๆ ว่า บริษัทสไตเออร์ (Styer) ซึ่งเคยเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรีย แต่ขณะเมื่อถูกฟ้องนั้นได้ถูกบริษัทของสหรัฐอเมริกาชื่อ General Dynamics ควบรวมกิจการไปแล้ว และเลิกผลิตรถเรือดับเพลิงซึ่งเคยเป็นสินค้าหลักในหลายสิบปีก่อน และหันไปผลิตยุทโธปกรณ์ทางการทหาร เช่น รถถังและรถหุ้มเกราะแทนแล้ว
แต่เนื่องจากบริษัทนี้มิได้ส่งตัวแทนมาฟังคำพิพากษา ศาลฯ จึงยังไม่อ่านคำตัดสิน แต่ให้จำหน่ายคดีออกไปก่อน จนกระทั่งเมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ขอให้ศาลยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อในลักษณะลับหลัง ซึ่งในกฎหมายใหม่เมื่อปี 2560 ให้สามารถทำได้ถึงแม้จำเลยจะไม่มาอยู่ต่อหน้าศาลก็ตาม
ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัท สไตเออร์ มีความผิดในฐานะผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ถูกลงโทษไปแล้วในการกระทำความผิด และสั่งให้ปรับเป็นเงินไทยประมาณเกือบสองแสนเจ็ดหมื่นบาท เป็นอันสิ้นสุดคดีที่ใช้เวลาดำเนินการมากว่า 10 ปี แต่สำหรับตัวผู้เขียนซึ่งมีส่วนในการไต่สวนและพิจารณาคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ยังมีข้อสงสัยหรือคำถามอีก 2-3 ข้อที่ยัง 'คาใจ' อยู่ จึงจะขอถือโอกาสนี้นำคำถามเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อความเข้าใจที่ครบถ้วนของผู้อ่านของสำนักข่าวอิศรา
ในข้อแรกนั้น ในเมื่อบริษัทสไตเออร์มีความผิด ทำไมตัวเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและติดต่อให้ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ผู้บริหารงานระดับสูงของไทยได้ทำข้อตกลงและในที่สุดนำมาสู่สัญญาซื้อขายของไทยกับบริษัทสไตเออร์ ซึ่งในขณะนั้นเอกอัครราชทูตผู้นี้ก็รู้อยู่แล้วว่า ได้ถูกเปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว และเลิกผลิตรถเรือดับเพลิงไปแล้วด้วย
จากข้อมูลที่เรามีอยู่ บทบาทของท่านเอกอัครราชทูตผู้นี้ มีมากกว่าการทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทสไตเออร์เท่านั้น แต่ทำตัวเป็น 'เจ้ากี้เจ้าการ' เพื่อให้ข้อตกลงและสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นให้ได้ทั้งๆที่รู้ว่า บริษัทสไตเออร์ดั้งเดิมได้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว
เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่าท่านเอกอัครราชทูตผู้นี้จงใจที่จะปิดบังข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบ หากเป็นเช่นนั้นจริงท่านก็อาจเข้าข่ายจงใจหลอกลวงฝ่ายไทยในการทำธุรกรรมในครั้งนี้
แน่นอนว่าทางฝ่ายไทยในที่สุดต้องรู้ว่าสถานภาพของบริษัทสไตเออร์ได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ทำไมไม่โวยวาย แต่ยอมที่จะดำเนินการในลักษณะที่คนปกติธรรมดาเขาไม่ทำกัน คือซื้อรถกระบะมิตซูบิชิขนาดหนึ่งตันที่ผลิตในประเทศไทย แล้วขนใส่เรือเดินสมุทร ข้ามน้ำข้ามทะเลไปที่เมืองรอตเตอร์แดม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพี่อติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ดับเพลิงของใครก็ไม่รู้แถวนั้น แล้วบรรทุกเรือส่งกลับมายังประเทศไทยว่า นี่คือรถดับเพลิงมาตรฐานยุโรปของบริษัทสไตเออร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องกับการทำเช่นนี้โดยตรงจะได้ประโยชน์อันมิชอบหรือไม่เป็นเรื่องทางอาญา
แต่สำหรับเรื่องทางแพ่งแล้วอย่างน้อยต้องมีความผิดในการปล่อยประละเลยหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้ประเทศเสียหาย และจะต้องรับผิดในทางละเมิด
ที่จริงมีทางออกอยู่อย่างน้อยสองทางที่ท่านทูตผู้นี้อาจนำมาใช้ได้ ทางหนึ่งคืออ้างเอกสิทธิและความคุ้มครองทางการทูต ทำให้ทางการไทยไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายไทยได้ ท่านก็น่าจะรอดตัวไป และอีกทางคือทางการของประเทศของท่านเองไม่เอาเรื่องท่าน
เรื่องนี้ผู้เขียนก็สนใจ อยากรู้ว่าทางการของประเทศออสเตรียจะดำเนินการต่อในเรื่องนี้อย่างไร จึงได้มีหนังสืออย่างไม่เป็นทางการถามไปยังสำนักอัยการของออสเตรียว่าสนใจจะเอาผิด หรือ 'เอาเรื่อง' กับท่านทูตของประเทศท่านคนนี้หรือใม่?
ปรากฏว่าทางการของออสเตรียที่กรุงเวียนนาให้ความสนใจในเรื่องนี้มากถึงขนาดส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาหาข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้เขียนที่กรุงเทพ แต่ในที่สุดก็มีหนังสือตอบกลับมาว่า ทางประเทศออสเตรียไม่สนใจที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เข้าใจว่าท่านทูตผู้นี้คงจะรอดตัวไปโดยสมบูรณ์
ในข้อที่สองนั้น ความเสียหายอันเนื่องมาจากการซื้อสินค้าแพงกว่าที่ควรจะเป็นหลายร้อยล้านบาท แต่ศาลฎีกาของเราปรับบริษัทสไตเออร์แค่ไม่ถึงสามแสนบาท ซึ่งต่ำกว่าความเสียหายที่ได้สูญเสียไปแล้วมาก แต่เรื่องนี้คงไปโทษศาลไทยไม่ได้ เพราะศาลรู้ดีว่า กรณีพิพาทระหว่าง กทม กับ บริษัทสไตเออร์ (หรือบริษัท General Dynamics ซึ่งเป็นบริษัทแม่) ได้ผ่านการพิจารณาของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาแล้วซึ่งคณะตุลาการ 3 คนได้ตัดสินให้สัญญายังคงดำเนินต่อไป ไม่เป็นโมฆะหรือให้เจรจากันใหม่ตามที่ฝ่ายไทยเสนอ
เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายไทยก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาจนครบ แต่อย่างน้อยทางคณะอนุญาโตตุลาการก็เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของบริษัท General Dynamics ที่จะให้เงินชดเชยแก่ กทม เป็นค่าซ่อมแซมและฟื้นฟูบรรดารถดับเพลิงทั้งหลายที่จอดตากแดดตากฝนอยู่ที่แหลมฉบังจนสามารถนำมาใช้การได้ อย่างน้อยก็ยังดีกว่าเสาตอม่อในคดีโฮปเวลล์ หรือโรงงานบำบัดน้ำเสียที่คลองด่านซึ่งสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เคยเปิดใช้งานเลย และเมื่อถึงตอนนี้คงเปิดไม่ติดแล้ว ในขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายระหว่างประเทศก็ต้องถือว่าข้อพิพาทสิ้นสุดแล้วในส่วนนี้
ในข้อที่สาม ถึงแม้เงินค่าปรับจะไม่มากแต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปเก็บเงินกับบริษัทสไตเออร์หรือ General Dynamics อย่างไรเพราะเขาคงถือว่า คดีได้สิ้นสุดไปแล้วที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อปี ค.ศ. 2015 ถึงติดต่อได้ก็ไม่รู้ว่าเขาจะจ่ายหรือไม่จ่าย ถ้าไม่จ่ายก็ไม่แน่ใจว่าบริษัทจะถูกขึ้นบัญชีดำในการทำธุรกิจธุรกรรมอื่นๆกับประเทศไทยในอนาคตหรือไม่ แต่ถ้าจ่ายก็ไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบต่อคำตัดสินของศาอนุญาโตตุลาการที่กล่าวถึงแล้วข้างต้นหรือไม่ เราคงต้องรอดูพัฒนาการในเรื่องนี้ต่อไป
บทเรียนที่เราได้รับจากคดีรถเรือดับเพลิงของ กทม ซึ่งมีความสลับซับซ้อนพอสมควรเพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลและหน่วยงานหลายระดับทั้งในและต่างประเทศก็คือว่า นักการเมืองและเจ้าหนาที่ของรัฐ ไม่เว้นแม้แต่ที่มาจากประเทศทางยุโรปซึ่งได้ชื่อว่ามีภาพลักษณ์แห่งความโปร่งใสปราศจากการทุจริตสูง-มักจะหาโอกาสที่จะแสวงหาประโยชน์อันมิขอบจากความไม่สมมาตรของการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
วิธีแก้ที่สมบูรณ์จริงๆน่าจะอยู่ที่การสร้างจิตสำนึกให้นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้ให้รักษาความซื่อสัตย์สุจริตในการทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัดโดยไม่ต้องมีสิ่งล่อหรือแรงจูงใจพิเศษ แต่ถ้าทำไม่ได้ รัฐจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วที่จะทำให้ผู้กระทำผิดทั้งหลายถูกลงโทษอย่างตรงไปตรงมาและเหมาะสม
เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร. เมธี ครองแก้ว