“...ตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และขอย้ำว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจนับ จากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า โซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เอกสาร 23 หน้าที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี โดยมีรายงานว่าผู้ที่จัดทำคำชี้แจงคือ พล.ต.วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำคำชี้แจง โดยสาระสำคัญของการชี้แจงดังกล่าวมี 8 ข้อ ดังนี้
1. การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้
เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง 'ขาดตอน' จากวันที่รัฐธรรมนูญ2560 บังคับใช้ (6เม.ย.2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้
ส่วนการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว
2. การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 เป็นการกำจัดสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่าหมายรวมถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น และโดยหลักตีความทางกฎหมายแล้ว หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน จะตีความในทางจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้ ซึ่งตรงกับแนวทาง ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 มาเพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน ได้แก่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ,นายนรชิต สิงหเสนี ,นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย ,นายประพันธ์ นัยโกวิท ,นายปกรณ์ นิลประพันธ์ ,นายอัชพร จารุจินดา และนายอุดม รัฐอมฤต
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 7 คน เห็นว่าบทบัญญัติ กำหนดวาระ 8 ปี ดังกล่าว หมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น
ข้อ 3. ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 และ 2561 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีของ ว่า คณะรัฐมนตรี ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560
ข้อ 4 ยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตน ไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพราะการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ตามมาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม ไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจอยู่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยาวนานเกินไป ไม่ปล่อยให้คนทุจริต มีอำนาจทำการทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และข้อกำหนดนี้มิใช่ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ยังระบุคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า
“ข้าพเจ้าขอกราบเรียนชี้แจงว่า ข้าพเจ้าสำนึกและปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตลอดมา ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด”
“ข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้าสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และการดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย อันเป็นหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ไม่ใช่เฉพาะแต่ฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้ไม่ยิ่งหย่อนและไม่น้อยไปกว่าผู้ร้อง”
“ข้าพเจ้าเชื่อเช่นกันว่าคนที่มีอำนาจเด็ดขาดจะทำให้ผู้นั้นทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัดถ้าปล่อยให้มีคนที่มีอำนาจโดยเด็ดขาดเป็นระยะเวลายาวนานเกินไป ก็เท่ากับปล่อยให้ผู้นั้นสามารถทุจริตโดยไม่มีข้อจำกัด และข้าพเจ้าเชื่อเช่นกันอีกด้วยว่าคนที่มีอำนาจเหนือคนอื่น มีแนวโน้มที่จะทุจริตหรือใช้อำนาจในทางที่มิชอบได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าเป็นอำนาจในการเป็นผู้นำประเทศก็ย่อมมีโอกาสก่อผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติอย่างรุนแรงได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือสาธารณะจะต้องตกเป็นผู้รับผลร้ายนั้นในที่สุด ดังเช่นที่มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมในประเทศของเราเมื่อไม่นานมานี้”
“ข้าพเจ้าจึงยึดมั่นที่จะใช้อำนาจการเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อประโยน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติสูงสุด เพื่อมิให้เกิดผลร้ายแก่ประชาชนเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศของเราเมื่อไม่นานมานี้”
“อีกทั้งข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า ไม่ว่าข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นระยะเวลาเท่าใดก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าไม่เคยใช้อำนาจการเป็นผู้นำประเทศหรืออำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวข้าพเจ้าเอง หรือของวงศาคณาญาติ หรือของพวกพ้อง และไม่เคยแม้แต่จะคิดช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ผู้ที่เคยเป็นผู้นำประเทศที่มีลักษณะเช่นที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าว หรือวงศาคณาญาติของผู้นั้นที่เคยทำความเสียหายให้ประเทศหรือประโยชน์สาธารณะของประชาชนชาวไทย กลับมามีอำนาจหรือกลับมาเป็นผู้นำประเทศเพื่อใช้อำนาจในการเป็นผู้นำประเทศซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในประเทศก่อผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติอย่างรุนแรงได้อีก”
ดังนั้น ไม่ว่าข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าใด ตราบใดที่ข้าพเจ้ามิได้ประพฤติปฏิบัติตนในสักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศหรือประโยชน์สาธารณะของประชาชนแล้ว ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าก็มิได้ขัดต่อหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 158วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่อย่างใด...
ข้อ 5 บันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ที่ระบุความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธ์ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สามารถนับรวมระยะเวลาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นั้น พบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของนายมีชัย กับนายสุพจน์ ไข่มุก เท่านั้น
ข้อ 6 ข้ออ้างที่ระบุ ว่า ข้าพเจ้าไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้
ข้อ 7 ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตีความและใช้รัฐธรรมนูญ วินิจฉัยลักษณะและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไม่ใช่ตามข้อเท็จจริงรับรู้โดยทั่วไปของประชาชน เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญเพราะการรับฟังข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป เป็นหลักที่ใช้ในการฟังพยานหลักฐานของศาลเท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความกฎหมาย
ข้อ 8 ขอกล่าวโดยสรุปว่า การกล่าวหาว่า ตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และขอย้ำว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจนับ จากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้
และการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกไม่เกิน 8 ปีนั้นหมายถึงการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น ดังนั้น ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตามหลักนิติธรรม จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง.
อ่านประกอบ :
- คำชี้แจง 'มีชัย ฤชุพันธุ์' วาระนายกฯ 8 ปีเริ่มนับ 6 เม.ย.60
- ประธานศาล รธน.สั่งสอบเอกสาร'มีชัย'หลุดว่อนเน็ต ย้ำ 8 ก.ย.ยังไม่มีคำวินิจฉัย 8 ปีนายกฯ
- ฝ่ายค้าน ยื่นความเห็นถึงศาลรธน.โต้ ‘มีชัย’ ย้ำวาระ 8 ปีนายกฯ นับปี 2557
- 'วิษณุ'เผยทีมกฎหมาย'ประยุทธ์'ส่งคำชี้แจงให้ศาล รธน.แล้ว ชี้ชัดไม่นับ 8 ปีจาก 24 ส.ค.57