"...เดิมอาคารนี้มีการขออนุญาตเพียงใช้งานเป็นร้านอาหารเท่านั้น แต่กลับเปลี่ยนมาเป็นสถานบริการที่เรียกว่า Pub ซึ่งจะมีการบรรเลงดนตรีที่ส่งเสียงดังมาก และจากการตรวจสอบพบว่า ได้มีการใช้วัสดุติดไฟไปอุดตามช่องว่างต่างๆตามบริเวณผนัง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงลอดออกไปได้ จึงกลายเป็นวัสดุติดไฟที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีและมีความพร้อมในการจุดไฟติดและลุกลาม จนทำให้ออกซิเจนในอาคารลดลงอย่างรวดเร็ว และเกิดขบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ที่เป็นกระบวนการเปลี่ยนสภาพเชื้อเพลิงด้วยความร้อนโดยไม่มีการเผาไหม้ ทำให้เชื้อเพลิงให้กลายสภาพเป็นแก๊สพิษที่ไม่สามารถควบแน่นได้ (non-condensable gas) ซึ่งล้วนมีค่าทางความร้อนสูงมากและพร้อมจะประทุขึ้นอย่างรุนแรงทันทีที่มีออกซิเจนกลับเข้ามาใหม่ ดังนั้นเมื่อส่วนหนึ่งของหลังคาที่ทนความร้อนไม่ได้ พังลงมาเป็นช่องเปิด ทำให้อ๊อกซิเจนถูกดูดจากภายนอกเข้ามาปะทะกับแก๊ซพิษจำนวนมาก จึงเกิดระเบิดเป็นลูกไฟ (Fireball) พุ่งสวนออกมาในช่องเปิดอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Backdraft ซึ่งผมไม่เคยพบมาก่อนในกรณีอัคคีภัยในประเทศไทย..."
จากกรณีไฟไหม้ผับ Mountain B ที่สัตหีบ หลังจากที่ ”สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร” ได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดแล้ว ได้ทำรายงานแถลงข่าวให้สังคมได้ทราบข้อเท็จจริง ดังภาพในอัลบั้มในโพสต์นี้
ผมขอสรุปเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ นับเป็นบทเรียนที่คลาสสิกมาก ในเรื่องการไม่ปฏิบัติตาม “หลักการพื้นฐานของการบริหารความปลอดภัยจากอัคคีภัย” โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ
(1) ขั้นตอนการป้องกันเพลิงใหม้ - มาตรการ คือ การควบคุม 3 องค์ประกอบแห่งการลุกไหม้ของไฟให้แยกจากกัน ได้แก่ แหล่งความร้อน เชื้อเพลิง และ อ๊อกซิเจน ในสามองค์ประกอบนี้ หนึ่งที่ควบคุมไม่ได้ คือ อ๊อกซิเจนเพราะต้องใช้หายใจ สิ่งที่ทำได้คือ การแยกเชื้อเพลิงออกจากแหล่งความร้อน กรณีอาคารประเภทที่มีกิจกรรมชุมนุมชน ซึ่งไม่สามารถควบคุมแหล่งความร้อนได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงคือ การงดใช้วัสดุ (เชื้อเพลิง) ที่ติดไฟได้ เรื่องนี้มีกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่า “อาคารสถานบริการจะต้องใช้วัสดุตกแต่งภายในและผนังกันเสียงที่ไม่ติดไฟ” นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้าต้องมีระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อมีไฟฟ้ารั่ว เพื่อกันประกายความร้อน
(2) ระบบป้องกันไฟลาม - ทันทีที่เกิดเหตุไฟลุก อาคารจะต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองทันที โดยครอบคลุมพื้นที่สถานบริการทั้งหมด อีกทั้งต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับไฟตามจุดต่างๆ ทั้งนี้เพื่อจำกัดพื้นที่การลามของเพลิงไหม้
(3) ระบบช่วยชีวิตคนในอาคาร – สถานบริการที่มีการชุมนุมคนลักษณะนี้ จะต้องมีระบบส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ และระบบแสงสว่างฉุกเฉิน ที่สำคัญที่สุดคือ ช่องทางหนีไฟออกสู่นอกอาคารต้องเป็นไปตามมาตรฐาน โดยกำหนดว่า ผู้ติดอยู่ในอาคารในขณะเพลิงไหม้ต้องสามารถออกสู่นอกอาคารได้ภายใน 3 นาที ในกรณีสถานบริการ Mountain B แห่งนี้ คำนวณว่าสามารถบรรจุผู้ใช้บริการราว 200-400 คน ดังนั้นช่องทางออกจะต้องมีไม่น้อยกว่า 3 ประตู แต่ละประตูต้องกว้างอย่างน้อย 3 เมตร
ข้อเท็จจริงที่พบ คือ อาคาร Mountain B ขาดองค์ประกอบแห่งความปลอดภัยทั้งสามขั้นตอนโดยสิ้นเชิง และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาคารไม่สามารถทำประกันภัยได้
เดิมอาคารนี้มีการขออนุญาตเพียงใช้งานเป็นร้านอาหารเท่านั้น แต่กลับเปลี่ยนมาเป็นสถานบริการที่เรียกว่า Pub ซึ่งจะมีการบรรเลงดนตรีที่ส่งเสียงดังมาก และจากการตรวจสอบพบว่า ได้มีการใช้วัสดุติดไฟไปอุดตามช่องว่างต่างๆตามบริเวณผนัง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงลอดออกไปได้ จึงกลายเป็นวัสดุติดไฟที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีและมีความพร้อมในการจุดไฟติดและลุกลาม จนทำให้ออกซิเจนในอาคารลดลงอย่างรวดเร็ว และเกิดขบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ที่เป็นกระบวนการเปลี่ยนสภาพเชื้อเพลิงด้วยความร้อนโดยไม่มีการเผาไหม้ ทำให้เชื้อเพลิงให้กลายสภาพเป็นแก๊สพิษที่ไม่สามารถควบแน่นได้ (non-condensable gas) ซึ่งล้วนมีค่าทางความร้อนสูงมากและพร้อมจะประทุขึ้นอย่างรุนแรงทันทีที่มีออกซิเจนกลับเข้ามาใหม่ ดังนั้นเมื่อส่วนหนึ่งของหลังคาที่ทนความร้อนไม่ได้ พังลงมาเป็นช่องเปิด ทำให้อ๊อกซิเจนถูกดูดจากภายนอกเข้ามาปะทะกับแก๊ซพิษจำนวนมาก จึงเกิดระเบิดเป็นลูกไฟ (Fireball) พุ่งสวนออกมาในช่องเปิดอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Backdraft ซึ่งผมไม่เคยพบมาก่อนในกรณีอัคคีภัยในประเทศไทย
ปรากฎการณ์ Backdraft นี้จะไม่เกิด ถ้าสถานบริการแห่งนี้ดำเนินตามกฏหมาย ที่กำหนดให้อาคารทึบที่ไม่มีช่องระบายอากาศสู่ภายนอกโดยตรง ต้องมีการติดตั้งระบบควบคุมการแพร่กระจายของควัน เช่น พัดลมสำหรับดูดควันไฟออกจากพื้นที่ในขณะเกิดเพลิงไหม้ และสายไฟฟ้าของระบบควบคุมการแพร่กระจายของควันจะต้องเป็นชนิดทนไฟได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงตามมาตรฐาน
สุดท้าย ผมขออนุญาตให้คำแนะนำผู้จำเป็นต้องไปใช้สถานบริการประเภทชุมนุมคนในอาคารปิดล้อมทึบเช่นนี้ว่า สิ่งแรกที่ท่านควรจะทำ คือ การสำรวจทางเข้าทางออกของอาคารว่ามีกี่ช่องทาง และลองซ้อมว่า ถ้าเกิดเพลิงไหม้และท่านจะต้องหนีไฟออกในแต่ละช่องทาง ท่ามกลางความมืดและความชุลมุน ท่านสามารถนำตัวท่านออกจากอาคารได้ภายใน 3 นาทีตามมาตรฐานได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ ท่านจงออกจากสถานบริการนั้นทันที
หมายเหตุ สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร เดิมใช้ชื่อว่า ชมรมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร ซึ่งก่อตั้งโดย ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ประธานคณะกรรมการอัคคีภัยของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการป้องกันอัคคีภัยในคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติอีกตำแหน่งหนึ่ง การจัดให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์อัคคีภัยในอาคารอย่างสม่ำเสมอโดยผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นทะเบียนไว้ ถือเป็นความสำเร็จในข้อเสนอหนึ่งต่อรัฐบาลผ่านคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ โดยอาศัยบทเรียนจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ใหญ่ในประเทศไทยสองครั้ง ได้แก่ ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 และโรงแรมรอยัลจอมเทียนเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซี่งทั้งสองเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต
อดีตประธาน"คณะอนุกรรมการศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านอัคคีภัย
ในคณะกรรมการอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.)