"...เวลา 24.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงจะเป็นวันสุดท้าย นาทีสุดท้าย และโอกาสสุดท้าย การนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเวลา 9.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงเกิดขึ้นโดยบัญชาของประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน นายชวน หลีกภัย..."
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มักจะนัดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเวลา 9.00 น. และเมื่อถึงเวลา 9.00 น.ของแต่ละวันอันเป็นกำหนดนัดตามเอกสารที่มีไปถึงสมาชิกของทั้ง 2 สภา ท่านจะขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ตรงเวลาเป๊ะทันที ไม่ว่าจะมีสมาชิกนั่งอยู่ในห้องกี่คน ไม่ว่าในเวลานั้นสมุดลงนามเข้าร่วมประชุมจะมีสมาชิกมาลงลายมือชื่อกี่คน
ท่านจะเริ่มต้นด้วยประโยคง่าย ๆ ว่าขณะนี้เวลา 9 นาฬิกา เป็นกำหนดนัดประชุม มีสมาชิกมาลงชื่อแล้ว … คน ยังไม่ครบองค์ประชุม ขอให้เพื่อนสมาชิกที่มาถึงแล้วกรุณาไปลงชื่อด้วย บางครั้งก็จะกล่าวในรายละเอียดลงไปว่าในจำนวนสมาชิกที่มาลงชื่อแล้ว เป็นส.ส.กี่คน ส.ว.กี่คน หรือบางครั้งเท่าที่พอจำได้ก็มีต่อท้ายว่ายังขาดอยู่อีกกี่คน
แล้วท่านก็ลุกขึ้นเดินลงจากบัลลังก์ไป
ท่านจะขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีสมาชิกลงชื่อในสมุดครบองค์ประชุม ชนิดพอดีเป๊ะ หรือเกินสักคนสองคน ซึ่งส่วนใหญ่จะตกเวลาประมาณ 9.30 - 9.45 น. หรืออย่างช้าก็ประมาณ 10.00 น.
นี่คือกิจวัตรปกติของประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน
ล่าสุด ท่านนัดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 9.00 น.เช่นเดิม
วันนี้เป็นวันพิเศษ เพราะเป็นวันสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่รัฐสภาจะสามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาขิกสภาผู้แทนราษฏรให้เสร็จสิ้นจนจบวาระ 2 และ 3 ได้ภายในกำหนด 180 วันตามบังคับในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ถ้าไม่เสร็จจะถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างที่เสนอเข้ามาในขั้นแรกเมื่อ 6 เดือนก่อน ทั้งหมดนี้กำลังเป็นเกมการเมืองกันอยู่ โดยสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งใช้มาตรการไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้ได้กฎหมายอย่างที่ฝ่ายตนเห็นว่าถูกต้องและต้องการ ตามที่ทราบกันอยู่
หลายคนคิดว่าเกมจบแล้วเมื่อการประชุมร่วมกันของรัฐสภานัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ล่ม แม้แต่ผมก็ยังติดประมาทคิดไปว่าวันที่ 10 สิงหาคม 2565 เป็นวันสุดท้ายและโอกาสสุดท้ายแล้ว
แต่ทุกคนคิดผิด !
เวลา 24.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงจะเป็นวันสุดท้าย นาทีสุดท้าย และโอกาสสุดท้าย การนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเวลา 9.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงเกิดขึ้นโดยบัญชาของประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน นายชวน หลีกภัย !
ทำให้ผมหวนระลึกถึงวัตรปฏิบัติของประธานสภาผู้แทนราษฎรในอดีตอีกท่านหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งช่วงสั้น ๆ ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2499 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
นายพึ่ง ศรีจันทร์ (ชาตะ 14 พฤษภาคม 2450 มรณะ 13 ตุลาคม 2535)
ผมเกิดไม่ทันท่านหรอก แต่ติดตามอ่านจากเรื่องราวที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อ่านซ้ำหลายครั้ง และสมัยรัฐสภายังอยู่ที่ถนนอู่ทองใน ผมชอบเดินไปดูภาพวาดของท่านที่ติดประดับไว้บนผนังห้องประขุมสภาชั้น 2 เรียงรายอยู่กับอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติทุกคนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
นายพึ่ง ศรีจันทร์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 สมัย สมาชิกวุฒิสภา 1 สมัย เป็นรัฐมนตรี 2 ครั้ง และเป็นเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ท่านเดินขึ้นนั่งบนบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2490 เพื่อเริ่มประชุม ตามที่ได้นัดประชุมไว้ล่วงหน้า
การประชุมวันนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาไม่ครบองค์ประชุม
เนื่องจากมีการรัฐประหารครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
นายพึ่ง ศรีจันทร์เดินลงจากบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฏรโดยมีนายทหารคนสำคัญในคณะรัฐประหารมาเชิญตัวท่านไป
แม้จะอยู่ต่างยุคต่างสมัย เหตุการณ์ที่ผมเล่ามาก็ต่างกรรมต่างวาระ แต่จุดร่วมคือทั้ง 2 ประธานสภาต่างทำหน้าที่จนโอกาสสุดท้าย
ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับที่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในยุคที่มีประธานรัฐสภาขื่อชวน หลีกภัย
ผมจะไปลงชื่อในสมุดหน้าห้องประชุมในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ตั้งแต่ก่อน 8.00 น. และจะเข้าไปนั่งรอในห้องประชุมรัฐสภาตั้งแต่ก่อน 9.00 น.
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
แหล่งที่มา : https://bit.ly/3pcnbJp