"...กรณีนี้เป็นบทเรียนสำหรับการออกแบบอาคารที่ปิดทึบ ว่า วัสดุที่ใช้ทุกประเภทต้องเป็นวัสดุไม่ติดไฟอย่างเคร่งครัด และถ้าให้ดี ต้องพิจารณาให้มีช่องระบายอากาศแบบเปิดอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟไหม้ เพื่อให้ความร้อนและแก๊ซพิษลอยตัวระบายออกเหนืออาคารได้ ทำให้โอกาสจะเกิด pyrolysis และ backdraft ก็จะไม่มีครับ..."
ตามที่เราทราบโดยทั่วกันแล้วว่า การเกิดการเผาไหม้ หรือ เพลิงไหม้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ แหล่งความร้อน เชื้อเพลิง และออกซิเจน
ในกรณีที่ออกซิเจนมีจำนวนจำกัด ไฟก็จะค่อยๆมอดลงเอง แต่ถ้าความร้อนที่เกิดขึ้นจากเชื้อเพลิงที่ไหม้ไปบางส่วนยังไม่มีช่องทางระบายออก ก็จะทำให้เกิดขบวนการไพโรไลซิส (Pylorisis) ที่เป็นกระบวนการเปลี่ยนสภาพเชื้อเพลิงด้วยความร้อนโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้ ให้กลายสภาพเป็นถ่าน (Charcoal) น้ำมันดิน(Bio-oil) และก๊าซพิษที่ไม่สามารถควบแน่นได้ (non-condensable gas) ที่ล้วนมีค่าทางความร้อนสูงมากและพร้อมจะเกิดเพลิงไหม้ประทุอย่างรุนแรงทันทีที่มีออกซิเจนกลับเข้ามาใหม่ทางช่องเปิด โดยจะเกิดระเบิดเป็นลูกไฟ (Fireball) พุ่งสวนออกมาในช่องเปิดอย่างรุนแรง
ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ เรียกว่า Backdraft ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีเพลิงไหม้ Mountain B Pub ที่สัตหีบ
อาคารผับแห่งนี้ เป็นอาคารที่ปิดทึบและมีวัสดุเชื้อเพลิงมากมาย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ในระยะแรก (ซึ่งตามข่าวอาจเกิดจากประกายไฟฟ้าลัดวงจร) เชื้อเพลิง คือวัสดุฝ้าและผนังฟองน้ำรังไข่ซับเสียงที่จะลามติดไฟอย่างรวดเร็ว สักพักเดียว ออกซิเจนในอาคาร จะถูกดึงมาใช้ในการเผาไหม้จนเหลืออย่างจำกัด เมื่อขาดออกซิเจน ไฟก็คงจะค่อยๆมอด (ระหว่างนี้ ผู้คนที่ติดอยู่ภายในจะขาดออกซิเจน อาจหมดสติเสียชีวิตได้) แต่ว่าเป็นไปได้ว่า หลังคาอาคารทนความร้อนไม่ได้ เกิดทะลุหรือพังทลายลงมา ทำให้เกิดช่องเปิดนำเอาออกซิเจนเข้ามาเติมในอาคาร ทำให้เชื้อเพลิงที่อยู่ในสภาพก๊าซพิษหลัง Pyrolysis เกิดประทุอย่างรุนแรง จนเกิดระเบิดเป็นลูกไฟ (Fire Balls) พุ่งออกจากหลังคาอาคารอย่างรวดเร็วและรุนแรงพร้อมด้วยควันดอกเห็ดที่ปรากฏเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ ที่ประกอบไปด้วยเขม่าจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อมองจากภายนอก
กรณีนี้เป็นบทเรียนสำหรับการออกแบบอาคารที่ปิดทึบ ว่า วัสดุที่ใช้ทุกประเภทต้องเป็นวัสดุไม่ติดไฟอย่างเคร่งครัด และถ้าให้ดี ต้องพิจารณาให้มีช่องระบายอากาศแบบเปิดอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟไหม้ เพื่อให้ความร้อนและแก๊ซพิษลอยตัวระบายออกเหนืออาคารได้ ทำให้โอกาสจะเกิด pyrolysis และ backdraft ก็จะไม่มีครับ
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย
อดีตประธาน"คณะอนุกรรมการศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านอัคคีภัย ในคณะกรรมการอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.)
8 สิงหาคม 2565