"...ถามว่ามีความเป็นไปได้มั้ยที่จะพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งแล้วเสร็จในโอกาสสุดท้ายที่เหลืออยู่วันเดียว 10 สิงหาคม ตอบว่าในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ แต่ในทางความเป็นจริงถือว่ายากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้..."
ตารางการนัดประชุมสภาช่วงก่อนหลัง 15 สิงหาคมจะเป็นประมาณนี้
8-9 สิงหาคม - ประชุมวุฒิสภา
10 สิงหาคม - ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
11 สิงหาคม - ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
12-14 สิงหาคม - วันหยุดราชการ
15-16 สิงหาคม - ประชุมวุฒิสภา
17-19 สิงหาคม - ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระ 2-3
10 สิงหาคมจึงจะเป็นวันประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันสุดท้ายก่อน 15 สิงหาคมวันครบกำหนด 180 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จ ถ้าไม่เสร็จ จะถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญร่างหลักที่ใช้ในการพิจารณาวาระ 2
ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (1) และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 101 ขอขยายความชัด ๆ อีกครั้งนะครับ
เริ่มที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132 (1) “ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน …. ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131”
ต่อด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 “ในกรณีท่ีรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาหน่ึงร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาให้บรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่สอง…”
กรณีนี้ต้องพิจารณาประกอบกัน เพราะข้อบังคับการประชุมเป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการ ข้อบังคับการประชุมขยายความในรายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้มีการเสนอเข้ามา 4 ร่าง มีหลักการใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100
1. ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของกกต.
2. ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย
3. ร่างที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล
4. ร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล
ทุกร่างใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 รัฐสภามีมติรับหลักการทั้ง 4 ร่าง และได้มีมติให้ใช้ร่างที่ 1 เป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระ 2 ร่าง 1 คือร่างของคณะรัฐมนตรี เป็นร่างที่เสนอมาเบื้องต้นจากกกต. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับแก้แล้ว เป็นกรณีที่เข้าเกณฑ์ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 101 นั่นหมายถึงการสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ ‘หาร 100’ ที่เสนอโดยกกต. จะกลับมาทันทีในกรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งเมื่อได้พิจารณาตารางเวลาแล้วแทบไม่มีอุปสรรคขวากหนามอีก เพราะไม่มีวันเหลือให้นัดประชุมร่วมได้อีกแล้ว เรียกว่าเป็นการกลับมาตาม ‘ช่องทางพิเศษ’ ก็ว่าได้ !
หากถามว่าเหตุไฉนวุฒิสภาไม่สละวันประชุมในวันอังคารที่ 9 สิงหาคมให้เหมือนเคย จะได้มีเวลาเพิ่มขึ้นสำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีก 1 วันเต็ม ๆ ตอบว่าเพราะในสัปดาห์หน้าวุฒิสภามีความจำเป็นต้องประชุม 2 วันตามปกติ ทั้งวันจันทร์ที่ 8 และวันอังคารที่ 9 ไม่อาจสละเวลาเปิดทางให้มีการประชุมร่วมฯในวันอังคารที่ 9 ได้ เพราะมีวาระสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จตามหน้าที่โดยเฉพาะที่มีกรอบระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญบังคับไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้สูญหาย พ.ศ. … ที่มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน และจะครบกำหนดกรอบระยะเวลาบังคับให้ต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2565
ถามว่ามีความเป็นไปได้มั้ยที่จะพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งแล้วเสร็จในโอกาสสุดท้ายที่เหลืออยู่วันเดียว 10 สิงหาคม ตอบว่าในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ แต่ในทางความเป็นจริงถือว่ายากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้
วันนี้ การเมืองไทยในระบบรัฐสภาเดินมาถึงจุดที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแถลงเปิดเผยอย่างมั่นใจว่าการไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมถือเป็นการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนประการหนึ่งในกรณีที่เห็นว่าการประชุมนั้นกำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือออกกฎหมายไม่ถูกต้อง การอยู่ร่วมเป็นองค์ประชุมเพื่อเป็นเสมอเพียงเครื่องมือให้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้นเสียอีกที่ควรถูกตั้งคำถามเช่นกัน
โอกาสครบองค์ประชุมให้ตลอดรอดฝั่งในวันที่ 10 สิงหาคมจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ยิ่งมีปัจจัยเสริมที่วันนั้นบังเอิญตรงกับวันกำนันผู้ใหญ่บ้านที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งมีภารกิจที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าต้องร่วมงานในพื้นที่ จึงแทบ ‘ปิดประตู’ ไปเลยว่าร่างกฎหมายเลือกตั้งสูตรหาร 500 จะพิจารณาแล้วเสร็จจนผ่านวาระ 3
เอาแค่ในวันที่ 10 สิงหาคมสามารถเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้โดยไม่ล่าช้าเกินไปนัก และสามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ได้จนจบวาระ 2-3 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับ ‘ปิดประตูตาย’ เสียทีเดียว เพราะเส้นทางที่จะกลับมาได้ของสูตรคำนวณ ‘หาร 100’ นั้นยังมีช่องทางปกติอีกถึง 3 ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งที่กำลังพิจารณาค้างคาอยู่นี้ไม่ผ่านวาระ 3 หรือผ่านวาระ 3 แต่กกต.ให้ความเห็นกลับมาว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติแล้วสมาชิกรัฐสภาลงมติแก้ไขกลับเป็นหาร 100 ตามความเห็นกกต. หรือยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพียงแต่ทั้ง 3 ช่องทางปกตินั้นไม่เร็วและแน่นอนเบ็ดเสร็จเหมือนช่องทางพิเศษ
ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักของสมาชิกรัฐสภาว่าผลของการเลือกช่องทางพิเศษนั้นคุ้มค่าแล้วกับความเสื่อมศรัทธาต่อระบบของพี่น้องประชาชนที่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการเข้าร่วมประชุมเป็นการทำหน้าที่พื้นฐานของสมาชิกรัฐสภาทุกคน
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
5 สิงหาคม 2565